อินเดียในไสยเวทจีน (4) : ปวงเทพและเทวาจารย์จากอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ดังที่ได้เคยกล่าวแล้วว่า ไสยเวทพื้นบ้านจีน โดยเฉพาะสายลื่อซานซำต๋านนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญจากพุทธศาสนาสายมนตรยานตะวันออกที่มีต้นกำเนิดจากอินเดีย ถึงกับนับถือพระนาคารชุนเป็นหนึ่งในตรีบูรพาจารย์

มีการเอ่ยถึง “อยู่ก่าก่าว” ในบทเทพมนต์เชิญครู คำว่า “อยู่ก่า” ในที่นี้มิใช่คำจีนแต่เป็นเสียงจีนของคำสันสกฤตว่า “โยคะ” (บางครั้งก็ออกเสียงว่า อยู่แก) ซึ่งมิได้หมายถึงโยคะทั่วๆ ไป แต่หมายถึง โยคะตันตระ หรือการบำเพ็ญเพียรทางจิตของฝ่ายวัชรยานหรือฝ่ายปรัชญาโยคาจาระ ส่วน “ก่าว” หมายถึงลัทธิหรือศาสนา

ดังนั้น อยู่ก่าก่าวที่ปรากฏในเทพมนต์ จึงหมายถึงบรรดาบูรพาจารย์ของฝ่ายโยคาจาระหรือมนตรยานโดยรวมนั่นเอง

 

เหตุใดอิทธิพลของฝ่ายมนตรยานถึงมีมากในในฝ่ายไสยเวท

ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า การเข้ามาของมนตรยานในจีนนั้น เฟื่องฟูรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ถัง-ซ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนตอนใต้โดยเฉพาะฝั่งหมิ่นหนาน-ฮกเกี้ยน รับเอาวัฒนธรรมและความเชื่อจากยุคนี้สมัยนี้ไว้มาก ทั้งยังสามารถรักษาสืบทอดไว้จวบจนปัจจุบัน

อีกเหตุผลหนึ่ง ผมคิดว่า ความเป็นวัชรยาน-มนตรยาน ไปกันได้ดีกับไสยเวทวิทยาอยู่แล้ว ดังเช่นในอินเดียเอง วัชรยานเริ่มต้นจากเหล่านักสิทธิ์หรือบรรดามหาสิทธาที่ประสานเอามรรควิถีของพวกพ่อมดหมอผีพื้นบ้านมาใช้ แต่ทำให้พิธีกรรมเหล่านั้นเข้ากับมโนคติของพุทธศาสนา

เมื่อเข้ามาสู่จีน ความเป็นมนตรยาน-วัชรยานจึงเข้ากันกับวิถีของพ่อมดหมอผีเช่นเดียวกับในอินเดีย

 

เทวาจารย์อีกองค์หนึ่งแม้จะมิใช่ชาวอินเดีย แต่มีพระนามปรากฏในบทเทพมนต์ เป็นพระภิกษุชาวคีรกิชสถานจากเอเชียกลางคือพระโพธิสัตว์ซื่อจิ้ว ว่ากันว่าท่านเป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวร เดินทางเข้ามาจีนในสมัยถัง มีผู้เคารพนับถือมาก และอาจเกี่ยวข้องกับมนตรยานในทางใดทางหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า การนับถือเทวาจารย์ในลื่อซานซำต๋านนั้นสัมพันธ์กับยุคสมัยอย่างใกล้ชิด

เทวาจารย์ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและสืบมาแต่อินเดียโดยผสมกับความเชื่ออย่างจีน ถูกระบุไว้อีกสี่องค์ในบทเชิญครู คือ เฮี้ยงซาน ซวดซาน ฮ่อกาหลอ และโลเชี้ยไท่จู้

“เฮี้ยงซาน” ในภาษาฮกเกี้ยนหมายถึงภูเขาหอม ซึ่งอาจารย์ของผมท่านอธิบายว่า หมายถึง ภูเขาคันธมาทน์ ซึ่งมักปรากฏในวรรณกรรมพุทธศาสนาไม่ว่าจะฝ่ายสันสกฤตและบาลี

คันธมาทน์กูฏ แปลว่า ภูเขาที่มีกลิ่นหอม (คันธะ) จนบรรดาสัตว์ยินดีหรือมึนเมา (มาทนะ) เป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยไม้หอมหลากชนิด เช่น กฤษณา ไม้จันทน์ ฯลฯ ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา เป็นหนึ่งในขุนเขาที่ล้อมรอบสระอโนดาต มีความสูงถึงสองร้อยโยชน์

ที่นับถือว่าเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนานั้น ก็เพราะเหตุว่าเป็นเขาที่งดงามและเปี่ยมไปด้วยกลิ่นหอมจากไม้มีค่าอันเป็นลักษณะมงคล ยังเป็นภูเขาที่บรรดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปอาศัยอยู่ในที่นั้น เรื่องนี้ระบุไว้ในจักรวาฬทีปนีและไตรภูมิกถา

ทั้งยังมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในทุกวันอุโบสถทั้งเพ็ญเดือนหงายและเดือนดับ ภูเขาลูกนี้จะส่องแสงสว่างโชติช่วงเป็นที่อัศจรรย์

ส่วน “ซวดซาน” หมายถึงภูเขาหิมะ ผมเข้าใจว่าคือคือภูเขาซึ่งมีหิมะปกคลุม (ตรงกับคำแขกว่าหิมาลัย) หรือภูเขาไกรลาสตามความเชื่อของชาวอินเดียนั่นเอง

 

ไกรลาสหรือพระสุเมรุเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าในพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดู ในพุทธศาสนาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล รายรอบด้วยสัตว์ในตำนานซึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขานั้น (คำว่าหิมพานต์ หมายถึง มีหิมะมาก ประกอบด้วยหิมะ) ทั้งยังมีทวยเทพและเหล่าอมนุษย์อาศัยอยู่มาก

ส่วนในศาสนาฮินดู อาจกล่าวว่าไกรลาสเป็นภูเขาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะเป็นที่ประทับของพระศิวะจอมเทพ กับชายาของพระองค์

การนับถือภูเขาทั้งสองลูก (ซึ่งรวมถึงเทพยดาซึ่งสถิตในที่นั้น เช่น พระศิวะ) เข้ากันได้ดีกับคติความเชื่อเรื่องการนับถือภูเขาซึ่งมีในจีนอยู่แล้ว ดังเราคงทราบดีว่า ชาวจีนนับถือภูเขาไท่ซานเป็นพิเศษ เชื่อว่าเทพแห่งเขาไท่ซานเป็นจอมเทพดูแลปรโลกตามความเชื่อพื้นบ้าน หรือการนับถือปัญจมหาคีรีอันเป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์สำคัญทั้งห้าพระองค์ เช่น อู่ไถซานของพระมัญชุศรี ผู่ถัวซานของพระอวโลกิเตศวร หรือจิ่วหัวซานของพระกษิติครรภโพธิสัตว์ เป็นต้น

เทพเซียนและอริยบุคคลต่างๆ ก็มักอาศัยอยู่บนภูเขาอันสงบวิเวก นอกจากนี้ ศาสนาเต๋าและพุทธก็มักใช้นามภูเขาเป็นการแบ่งลัทธินิกายหรือสำนัก เช่น เหมาซาน ลื่อซาน หมงซาน เป็นต้น

ในทางไสยเวทวิทยา เทพแห่งภูเขาศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีอิทธิคุณที่ปรากฏเด่นชัด จึงอัญเชิญมาช่วยเหลือเหล่าศิษย์ในพิธีกรรมได้ เช่น ซวดซานหรือเทพภูเขาหิมะ (พระศิวะ) มีอิทธิคุณด้านความเยือกเย็น จึงอาราธนามาในพิธีเพื่อดับพิษร้อนต่างๆ หรือขจัดโทษภัยของไฟ

 

เทพฮินดูจากอินเดียอีกองค์ซึ่งจีนรับมาผ่านพุทธศาสนาอีกชั้นหนึ่งคือนาจาหรือในภาษาฮกเกี้ยนว่า โลเชี้ย นาจาเป็นคำแผลงมาจากคำสันสกฤตว่า นล หรือ นฏ เพราะเทพองค์นี้คือ นลกุเวรหรือนฏกุวร ผู้เป็นบุตรของท้าวกุเวร

แม้ในศาสนาฮินดู นลกุเวรจะมีบทบาทค่อนข้างน้อย แต่ฝ่ายมนตรยานกลับให้ความสำคัญในฐานะเสนายักษ์ผู้มีบริวารมากซึ่งปรากฏในคัมภีร์ของฝ่ายนั้น จัดเป็นธรรมบาลที่สำคัญองค์หนึ่ง อาราธนามาปกป้องรักษาพิฆาตฆ่าผีหรือเหล่า “มาร” และเริ่มปรากฏในจีนตั้งแต่ช่วงต้นราชวงศ์ซ่ง

ครั้นถึงสมัยหมิง เกิดวรรณกรรมห้องสินหรือวรรณกรรมตั้งเทพ บรรดาเทพต่างๆ ที่เคยนับถือกันอยู่เดิมถูกทำให้เป็นจีนจากตำนานดังกล่าว นาจาหรือโลเชี้ยจึงถูกกลืนกลายสู่ความเป็นจีนอย่างสมบูรณ์

นาจามีบทบาทมากในไสยเวทจีน เป็นเทพสำคัญองค์หนึ่งที่เกี่ยวพันกับสมาธิจิตของผู้ใช้อาคม และถือเป็นส่วนหนึ่งของ “มณฑล” ตามมโนคติมนตรยาน ทั้งยังสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องภาวะเด็กหรือภาวะเยาวัยในคคติของเต๋าด้วย

ส่วนไสยเวทแบบชาวบ้านนั้น นาจาเป็นเทพที่ชาวบ้านคุ้นเคยมากที่สุดองค์หนึ่งผ่านวัฒนธรรมการเข้าทรงนั่นเอง

เรื่องโลเชี้ยหรือนาจาโดยละเอียดผมได้เขียนไว้แล้วในบทความชื่อ เบื้องลึก ‘นาจา : ‘เทพอินเดีย’ ที่กลายเป็นเทพจีนยอดนิยม” ท่านใดสนใจลองย้อนกลับไปอ่านดูได้ครับ

 

นอกจากนี้ ยังมีเทพที่มีศีรษะเป็นสัตว์หรือเป็นสัตว์ เช่น “ฮ่อกาหลอ” ชื่อเทพเจ้าองค์นี้น่าสนใจ เพราะคำว่า “ฮ่อ” แปลว่า เสือ ส่วน “กาลหลอ” เป็นเสียงจีนของคำสันสกฤตว่า “กาละ” หรือหมายถึง มหากาละหน้าเสือ-มหากาละหัวเสือ เทพหมวด “กาละ” เป็นหมวดเทพพื้นบ้านของฮินดู ที่ถูกยกให้เป็นธรรมบาลในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน

จึงเป็นไปได้ว่า ฮ่อกาหลอที่ปรากฏในเทพมนต์นี้มาจากอินเดียผ่านพุทธศาสนา แล้วเข้ามาสนิทสนมหลอมรวมกับการนับถือเทพเจ้าเสือของพื้นบ้านจีนซึ่งมีอยู่แล้ว กลายเป็นเทพเจ้าอีกองค์ที่สำคัญในทางไสยเวท ที่มักต้องอัญเชิญมาเพื่อขจัดภูติผีปีศาจโดยเฉพาะเบื้องล่างพื้นปฐพี

ยังมีเทพที่มีศีรษะเป็นสัตว์อีกหลายองค์ เช่น เทพหัวม้า-เทพหัววัวซึ่งมักปรากฏในฐานะนายนิรยบาลแลเทพบริวาร จึงเคารพกันมากในผู้นับถือเทพฝ่ายปรโลก ซึ่งตรงกับรูปลักษณะของนายนิรยบาลในอินเดีย

ส่วนอีกองค์ที่มีกล่าวถึงในมณฑลพิธีอยู่บ้าง แต่มิได้ปรากฏนามชัดเจน คือเทพหัวช้าง

ผมมั่นใจว่าผู้อ่านก็เดาได้ว่าคือพระพิฆเนศวร์ เพราะพระพิฆเนศวร์ก็เป็นเทพฮินดูอีกองค์ที่พุทธศาสนารับเข้ามา ทั้งยังปรากฏในมณฑลของพระไวโรจนะตามคติของฝ่ายมนตรยานด้วย

รวมทั้งเทพหัวหมู (ป่า) ซึ่งผมสันนิษฐานว่ามาจากพระเทวีวราหี หนึ่งในเจ้าแม่สัปตมาตฤกา มากกว่าจะเป็นพระวราหะซึ่งเป็นพระวิษณุอวตาร เพราะเจ้าแม่สัมพันธ์อยู่กับความเชื่อพื้นบ้าน ซึ่งจะพัฒนาไปสู่มนตรยาน-วัชรยานมากกว่า

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ผมมิได้จะลดทอนคุณค่าของวัฒนธรรมจีนแล้วแทนที่ด้วยอินเดีย เพราะทั้งจีนและอินเดียต่างเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก จะแลกเปลี่ยนความเชื่อกันบ้างก็ไม่แปลก อย่างเจ้าแม่กวนอิม ทุกคนก็รู้ว่าท่านมาจากพระอวโลกิเตศวรของอินเดีย พุทธศาสนาในจีนก็มาจากอินเดีย แต่อยากให้เห็นว่า จีนกับอินเดียนั้นใกล้กันมากโดยเฉพาะในด้านไสยเวท ซึ่งเราอาจยังไม่ค่อยเห็นความเชื่อมโยงนั้นมากสักเท่าไหร่

ผมสันนิษฐานว่า ความสัมพันธ์จีนกับอินเดียผ่านทางไสยเวทก็น่าจะมีอีกนิดหน่อยในด้านพิธีกรรม เช่น พิธีลุยไฟ ปีนบันไดมีด ฯลฯ ขอเวลาไปค้นคว้ามาเพิ่มเติมเสียก่อน

แล้วจะได้นำเสนอท่านผู้อ่านต่อไปครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง