ขวัญ มิ่ง หิง แนน และแถน คืออะไร? (1)

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คําว่า “เทียน” ในสำเนียงจีนกลางซึ่งแปลว่า “สวรรค์” หรือ “ฟ้า” นั้น ตรงกับคำว่า “แถน” ในภาษาไทย แถมยังมีร่องรอยอีกด้วยว่า ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท อย่างพวกไทดำ ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามนั้น ก็ใช้คำว่า “เทียน” ที่แปลว่า “ฟ้า” แทนคำว่า “แถน” อย่างเป็นปกติกันเลยทีเดียว

ที่สำคัญก็คือ ความรู้ความเข้าใจดังกล่าวก็ดูจะเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเลยทีเดียว ดังมีตัวอย่างปรากฏในหนังสือ พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) จากข้อความที่ว่า

“แถน คือ เทียน ในภาษาจีน แปลว่าฟ้า”

ในวัฒนธรรมจีนนั้นถือว่า “จักรพรรดิ” นั้น เป็น “โอรสสวรรค์” ซึ่งก็คือ “เทียน” นั่นแหละ แต่สวรรค์นั้นเป็น “สถานที่” (แม้จะเป็นสถานที่ในปรัมปราคติ ที่ไม่แน่ว่าจะมีอยู่จริงหรือเปล่าก็เถอะ) ไม่ใช่ตัวบุคคล แล้วจะมีลูกสาว ลูกชายไปได้อย่างไรกันล่ะครับ?

ข้อมูลจากการศึกษากระดูกเสี่ยงทาย (Oracle Bone) ในวัฒนธรรมจีนโบราณ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (หรือที่ในโลกภาษาไทยมักจะเรียกกันตามสำเนียงที่ไม่ใช่จีนกลางว่า ฮวงโห) ในยุคสำริดที่มีการใช้กระดูกเสี่ยงทายนั้น ได้เกิดการผสมผสานระหว่างลัทธิบูชาเทพเจ้าแห่งดิน ซึ่งเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่แพร่มาจากดินแดนเมโสโปเตเมีย เข้ากับลัทธิการบูชาบรรพชนที่มีอยู่เดิมในวัฒนธรรมจีนเอง

ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับที่ประวัติศาสตร์จีนอ้างว่า ราชวงศ์ชาง (ราว 3,600-3,000 ปีมาแล้ว) มีอำนาจเหนือลุ่มแม่น้ำหวงเหออยู่ ความเชื่อดังกล่าวจึงหลอมรวมให้ผีบรรพชนของราชวงศ์ซางที่เรียกว่า “ซางตี้” (Shangdi) กลายเป็นหนึ่งเดียวกันกับเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ไปด้วย

ต่อมาในสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งสถาปนาราชวงศ์ โดยการเถลิงอำนาจขึ้นเหนือลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ต่อจากราชวงศ์ซางนั้น ได้เปลี่ยนคำศัพท์ที่ใช้สำหรับเรียก “ชางตี้” เป็นคำว่า “เทียน” ที่แปลว่า “ฟ้า” หรือ “สวรรค์” แทน

พูดง่ายๆ ว่า “เทียน” หรือ “แถน” คือ “สวรรค์” หรือ “ฟ้า” ที่ว่านั้น ก็คือสิ่งที่กลายรูปมาจาก “ผีบรรพชน” ที่ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชนนั่นเอง ดังนั้น ถ้าจักรพรรดิ ซึ่งก็คือผู้นำของชุมชน จะถูกยกให้เป็นโอรสของบรรพชนผู้ล่วงลับ ก็ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหน?

 

ความเชื่อเรื่องแถนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” โดยในสำเนียงจีนกลางนั้นก็มีคำพ้องเสียงกับคำว่าขวัญคือคำว่า “เฮวิ๋น” ไม่ต่างไปจากไปจากคำว่าแถนเลยนะครับ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ “ขวัญ” จะเป็นความเชื่อที่ไม่มีในอินเดีย

ภูมิภาคอุษาคเนย์ยุคก่อนรับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย เชื่อว่าวัตถุต่างๆ ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ต่างก็มีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน

คือส่วนที่เป็นตัวตนได้แก่ “ร่างกาย” กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือ “ขวัญ”

แม้แต่ สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ ต่างก็มีขวัญกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา จึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะมี พิธีแรกนาขวัญ เพื่อเป็นการทำขวัญของท้องนา

“ขวัญ” จึงต่างจากสิ่งที่เรียกว่า “วิญญาณ” ตามคำสอนทางศาสนาจากอินเดียมากทีเดียว เพราะเมื่อคนตายวิญญาณก็ดับหายไป หรือจะวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละศาสนา

แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ในทางตรงข้าม ขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ที่ส่วนไหนของโลก

ขวัญ มีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน และมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย เพราะร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ฉะนั้น ร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ

ดังนั้น ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ของอุษาคเนย์ จึงแตกต่างจาก “วิญญาณ” เป็นอย่างมาก เพราะวิญญาณตามความเชื่อที่เราอิมพอร์ตมาจากอินเดียนั้น เรามีอยู่เพียงคนละดวงเท่านั้น ผิดจากขวัญ ที่เราแต่ละคนมีกันอยู่ให้เพียบดวงเลยทีเดียว

 

ที่คู่กันกับ “ขวัญ” อีกอย่างก็คือ “มิ่ง” ดังที่มักจะใช้คู่กันว่า “มิ่งขวัญ” โดยเป็นที่น่าสนใจว่า ความหมายดั้งเดิมของคำว่า มิ่ง นั้น ดูจะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา จนทำให้ในปัจจุบันคำดังกล่าวนี้ มีความหมายที่คลุมเครืออยู่มาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ความเชื่อลาว และอีสาน อย่าง อ.ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ ได้รวบรวมความหมายของคำว่า “มิ่ง” จากพจนานุกรมฉบับต่างๆ เอาไว้ในบทความที่ชื่อ “งันขอน เรียกผีขวัญ งันเฮือนดี ส่งผีขวัญ” ตีพิมพ์ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 45 ฉบับที่ 5 ประจำเดือน มีนาคม 2567 เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“ประมวลศัพท์ภาษาลาวในเอกสารโบราณ ของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร…อธิบายว่า ‘มิ่ง ถ้าเป็นคำนามแปลว่า ขวัญ ของดี ของเป็นมงคล ถ้าเป็นคำวิเศษ แปลว่า ดี ยอด ประเสริฐ ที่รักที่สุด เช่น มิ่งขวัญ, เป็นคำกริยา แปลว่า ฉิว, มือหน้า สลบ ลืมสติ หรือตายไป’

ในพจนานุกรมศัพท์ล้านนาเฉพาะคำที่ปรากฏในใบลาน…อธิบายว่า ‘มิ่ง หมายถึง ขวัญ หรือ ใจ’

ส่วนสารานุกรมภาษาของ ปรีชา พิณทอง…อธิบายว่า ‘มิ่ง เป็นคำนาม หมายถึงสิ่งเป็นสิริมงคล’…” (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านสะดวกขึ้น โดยผู้เขียน)

จะเห็นได้ว่า ทั้งประมวลศัพท์ภาษาลาว และพจนานุกรมศัพท์ล้านนาฯ นั้น จำกัดความว่า “มิ่ง” ก็คือ “ขวัญ” (ส่วนความหมายอื่นที่มีระบุถึงอยู่นั้น ไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้) ในทำนองเดียวกับสารานุกรมภาษาของ ปรีชา พิณทอง ที่ให้ความหมายว่า สิ่งเป็นสิริมงคล อย่างไรก็ตาม อ.ยุทธพงศ์ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ในบทความชิ้นเดิมด้วยว่า

“ในภาษาไทยปัจจุบันคำว่ามิ่งเป็นคำที่ใช้คู่กับคำว่าขวัญ ซึ่งน่าจะแตกต่างจากความหมายในอดีต ผู้เขียนเห็นว่าในระบบขวัญนั้น มิ่งน่าจะหมายถึง ‘หลัก’ หรือ ‘เสา’ ในเชิงนามธรรม ที่ทำหน้าที่รองรับขวัญในแนวดิ่ง ได้อีกนัยหนึ่ง เช่น เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เป็นมิ่งขวัญ นอกจากจะหมายถึงสิ่งนั้นเป็นสิริมงคลแล้ว ยังหมายถึงสิ่งนั้นเป็นหลักให้ยึดเหนี่ยวได้ด้วย”

 

ปรมาจารย์ทางด้านจีนศึกษาคนปัจจุบันของไทย อย่าง อ.ถาวร สิกขโกศล ได้กล่าวถึงที่มาของคำว่า “มิ่ง” ว่าควรจะมีที่มาจากภาษาจีนอย่างน่าสนใจเอาไว้ในหนังสือเรื่อง “ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ อัตลักษณ์สำคัญเบื้องต้นของคนจีน” (ศิลปวัฒนธรรม ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2559) ว่า

“อักษร มิ่ง (หมายถึง อักษรจีน-ผู้เขียน) เดิมหมายถึง ผู้ใหญ่ใช้งานผู้น้อย สั่ง คำสั่ง ต่อมาความหมายขยายตัวหมายถึง คำสั่งของสวรรค์หรือลิขิตของฟ้า แล้วหมายถึงโชคชะตาที่ฟ้าลิขิตอีกด้วย คนจีนโบราณเชื่อว่า อายุชีวิตและอายุขัยของคนได้รับอิทธิพลจากชะตาฟ้าลิขิต มิ่งจึงมีความหมายครอบคลุมถึงอายุขัย ชีวิต ดำรงชีวิต ยังมีชีวิตอยู่…

…อนึ่ง คำว่า ‘มิ่ง’ ของจีนนี้เป็นคำเดียวกับคำว่า ‘มิ่ง’ ของไทย คำนี้หมายถึง ‘ชีวิต’ คู่กับคำว่า ‘ขวัญ’…”

น่าสนใจนะครับ เพราะอะไรที่พี่ไทยเราเรียกว่า “มิ่ง” นั้น เป็นหน่วยหนึ่งที่อยู่ในระบบความเชื่อเรื่องขวัญ (อย่างที่ อ.ยุทธพงศ์ ท่านว่าไว้) ดังนั้น ถ้าทั้งคำว่า แถน และขวัญ จะมีที่มาจากภาษาจีนแล้ว คำว่า “มิ่ง” จะมาจากภาษาจีนด้วยก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลก (มีต่อ) •

ขวัญ มิ่ง หิง แนน และแถน คืออะไร? (จบ)