“อำนาจ-หน้าที่วุฒิสภา” สว.ชุดที่ 13 | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

“ลึกแต่ไม่ลับ” ฉบับที่แล้ว มี “คิวแทรก” เรื่องของคนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ที่เดินทางไปหาเสียงให้กับการเมืองท้องถิ่น เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ร้อนแรงขึ้นมาอย่างกะทันหัน ต้องหลบฉาก พักเบรก ประเด็น “อำนาจ-หน้าที่วุฒิสภา” ชุดที่ 13 มาเว้าต่อในฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม “อำนาจ-หน้าที่ของ ส.ว.” มีมากมายหลากหลาย เช่น “การพิจารณากฎหมายงบประมาณ” ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ส.ว.มีอำนาจน้อยกว่า ส.ส. เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายงบประมาณในวาระหนึ่ง ฝั่งวุฒิสภาก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างได้ แต่ไม่สามารถแปรญัตติแก้ไขกฎหมายได้ จะปรับลดงบประมาณใดก็ทำไม่ได้เช่นกัน มีบทบาทเป็นผู้ทบทวนร่างในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น

แต่ที่ฟูลออปชั่นมากที่สุดคือ “เคาะรายชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ” ตามหลักเกณฑ์การแบ่งแยกอำนาจ องค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต่างมีความสัมพันธ์ในการตรวจสอบถ่วงดุลกัน

การกำหนดให้บุคคลที่ตำแหน่งในองค์กรบริหาร หรือองค์กรตุลาการต้องผ่านความเห็นชอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ มีความยึดโยงกับประชาชน เป็นหนึ่งในกลไกที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนปวงชนได้ตรวจสอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นสร้างความชอบธรรมให้ตำแหน่งที่จะต้องผ่านความเห็นชอบโดยอำนาจที่มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ดังนี้

1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2.ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 3.คณะกรรมการการเลือกตั้ง 4.คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน 5.ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 6.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 7.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิในการเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ สิทธิในการเสนอความเห็นในกรณีร่าง พ.ร.บ.มีข้อความหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ สิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกในกรณี พ.ร.ก.นั้นไม่เป็นไปตามมาตรา 172 สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อคณะรัฐมนตรีขอให้ความคิดเห็นในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม และยังมีสิทธิในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย

 

นอกจาก “ส.ว.ชุดที่ 13” มีขอบข่ายอำนาจครอบอาณาจักร สิทธิประโยชน์ก็มีมากมาย ทั้งเงินเดือนบวกเงินประจำตำแหน่ง 113,560 บาท ขณะที่ประธาน ส.ว.ได้รับ 119,920 บาท ยังมีเบี้ยประชุมกรรมาธิการอีกครั้งละ 1,500 บาท และยังสามารถแต่งตั้งผู้ช่วยประจำตัวได้อีก 8 คน

แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ 1 คนรับเงินเดือน 24,000 บาท ผู้ชำนาญการ 2 คน และผู้ช่วยดำเนินงาน 5 คน รับเงินเดือนคนละ 15,000 บาท

และยังสามารถเบิกค่าเดินทางได้ตามจริงทั้งใการดูงานในประเทศหรือต่างประเทศ และการเดินทางมาประชุม รวมถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลทั่วไปครั้งละจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท กรณีผู้ป่วยนอกจำนวนเงินไม่เกิน 90,000 บาท

ยังมีบำนาญ ส.ว.ในรูปกองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกองทุนประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง และป็นกองทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา โดยหักจากเงินเดือนประจำตำแหน่งไม่เกินร้อยละ 5 และขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ด้วย

ดังที่บอกเล่าเก้าสิบมาแล้วว่า ส.ว.ชุดปัจจุบัน “สายสีน้ำเงิน” ยึดเป็นฐานอำนาจได้เรียบวุธ นอกจากกรรมาธิการ 20 ชุดแล้ว ยังโชว์พลังเกินเบอร์เป็นเชิงประจักษ์ได้เรื่อยๆ ล่าสุดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วย การออกเสียงประชามติ ที่ประชุมร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ผลการลงมติโหวตเสียงข้างมาก ให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข 13 เสียง แก้ไขเพิ่มเติมตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ 9 เสียง งดออกเสียง 3 คนจากองค์ประชุมทั้งหมด 25 คน

เท่ากับว่า ส.ว.สีน้ำเงินชนะขาดอีกครั้ง เป็นมรรคผลให้ต้องนำร่างกฎหมายยกกลับเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาความเห็น หากสภาใดไม่เห็นชอบด้วย สามารถลงมติยับยั้งร่างกฎหมายและเสนอกลับเข้ามาใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่าฟาก ส.ส.คงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ ส.ว.จึงต้อง “ดองเค็ม” พักร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ 180 วัน แล้วจึงเสนอกลับมาเข้าใหม่ได้

โมเมนตัมของ ส.ว.ชุดนี้ จุดไคลแมกซ์น่าจะอยู่ภายในต้นเดือนธันวาคม ผลสืบเนื่องมาจากองค์กรสำคัญคือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เกิดมหกรรมผลัดใบ เนื่องจาก “นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ “นายปัญญา อุดชาชน” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน เพราะได้ดำรงตำแหน่งมาครบ 9 ปีบริบูรณ์ ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลือ 7 คน ประกอบด้วย “นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม-นายวิรุฬห์ แสงเทียน-นายจิรนิติ หะวานนท์-นายนภดล เทพพิทักษ์-นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์-นายอุดม รัฐอมฤต-นายสุเมธ รอยกุลเจริญ”

วันเวลาใกล้เคียงกัน “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” หรือ ป.ป.ช. ที่แต่งตั้งมาสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.” บางคนเอ๊กซ์ปาย อายุราชการครบกำหนด ได้แก่ “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ประธาน ป.ป.ช. และ “นางสุวณา สุวรรณจูฑะ” ป.ป.ช. จะก้าวย่างพ้นตำแหน่งพร้อมกัน บวกกับที่ยังค้างคาอยู่อีก ปรากฏว่า มีนักกฎหมาย และอดีตข้าราชการ แห่นาคไปยื่นสมัคร เป็น ป.ป.ช.เสียบแทนตำแหน่งที่ว่างกันจำนวนมาก

กับข้ามห้วยต้นปีหน้า 2568 “นายอิทธิพร บุญประคอง” ประธานคณกรรมการการเลือกตั้ง “นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์” และ “นายปกรณ์ มหรรณพ” คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็กอดคอพ้นจากเก้าอี้ ต้องเข้ากระบวนการสรรหากันใหม่

ทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ “ศาลรัฐธรรมนูญ-คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ต้องผ่านด่านสำคัญ คือที่ประชุม ส.ว. ซึ่งดังที่ทราบว่า เสียงข้างมากเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มาจาก “สายแข็งสีน้ำเงิน”

“ศูนย์อำนาจ” กำลังจะเปลี่ยนทิศ