ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
การเมืองไทยช่วงนี้สนุกจริงๆ
และฉันคิดว่าเราโชคดีมากที่ได้ร่วมเป็นพยานการรู้เห็นพลวัตระยะเปลี่ยนผ่านของการเมืองที่น่าตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา
จากการรัฐประหารปี 2549 สู่การชุมนุมต้านรัฐประหารโดยมวลชนที่ชัดเจนว่าเป็นผู้รักพรรคเพื่อไทย รักทักษิณ ยกระดับเป็นผู้รัก “การเลือกตั้ง” สู่การนิยามประชาธิปไตยอย่างเรียบง่ายที่สุด นั่นคือ “หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง” ในห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน
การต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นที่สุดไม่ใช่แค่การต่อสู้กันระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการแต่คือการเข้าไป “รื้อถอน”
อุดมการณ์ทางการเมืองไทยที่ถูกนิยามไว้ด้วยฝ่ายหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาของไทยว่า ประชาธิปไตยที่ดีคือประชาธิปไตยโดยคนดี และความล้มเหลวของการเมืองไทยเกิดจากนักการเมืองชั่ว นักการเมืองโกง ประชาชนจนและโง่เง่า
เมื่ออยู่ในวังวนของอุดมการณ์นี้ทำให้ทางออกของการเมืองไทยในอดีตมีสองทางคือ
ฝ่ายขวาที่หัวก้าวหน้าผลิต “เรื่องเล่า” และ “คำอธิบาย” มาสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารว่า การเมืองโดยนักการเมืองนั้นสกปรก เราควรเฟ้นหานายกฯ หรือผู้ปกครองที่มีคุณธรรม เป็นที่ยอมรับจากวัตรปฏิบัติที่ซื่อสัตย์ สุจริต
กลุ่มนี้ไม่เอาประชาธิปไตยเสียงข้างมาก มองว่าเป็นเรื่องของ “พวกมากลากไป” ไม่ตั้งอยู่บนหลักคุณธรรมความดี
ฝ่ายซ้าย (ที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้าโดยอัตโนมัติ) คิดว่าตัวเองเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” เป็น “สายลมแห่งความหวัง” มักสวมบทบาท “พระผู้ช่วยให้รอด” กลุ่มนี้ประกอบไปด้วยนักวิชาการ สื่อน้ำดี เอ็นจีโอ นักกิจกรรม พวกเขาคิดว่าปัญหาของประเทศคือทุนสามานย์จับมือกับชนชั้นนำ กดขี่ประชาชน จองจำประชาชนด้วยผลประโยชน์ระยะสั้น
มีนักการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์จากการเข้าสู่อำนาจรัฐและเอื้อประโยชน์ให้นายทุน จากนั้นใช้เงินและนโยบาย “แจก” ซื้อใจประชาชนเพื่อจะชนะการเลือกตั้ง
คนกลุ่มนี้เห็นว่าจะต้อง “ทำงานทางความคิด” เพื่อให้ประชาชนเลิกเห็นแก่อามิสสินจ้างเล็กๆ น้อยๆ
หันมาเลือกนักการเมืองที่ “ดี” นักการเมืองที่เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตัวเองและนายทุนเป็นที่ตั้ง
กลุ่มนี้เห็นว่านายกฯ ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มักจะไม่พอใจเมื่อคนที่ตัวเองชอบไม่ได้รับการเลือกตั้ง พวกเขาจึงมักวนกลับไปที่วาทกรรม “ประชาชนยังเห็นแก่อามิสสินจ้าง”
รัฐประหารปี 2549 และการเกิดขึ้นของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงอันเป็นตัวละครใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย คนเสื้อแดงไม่ใช่ฝ่ายขวาอนุรักษนิยมชนชั้นนำ
ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงก็ไม่ใช่นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ ไม่ใช่สมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่มีแนวคิดสังคมนิยม
แต่กลุ่มคนเสื้อแดงคือขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รวมเอากลุ่มคนที่มีความเชื่อ ความฝัน ชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ ที่แตกต่างหลากหลาย ไม่มีอะไรลงรอยกันเลยแม้แต่น้อย
เช่น มีตั้งแต่มหาเศรษฐี นายทุนใหญ่ นายทุนท้องถิ่น มีมนุษย์เงินเดือน มีชาวชนบท มีทั้งคนจนที่สุดและคนที่ร้ำรวยที่สุด มีคนซ้ายสุด มีคนขวาสุด มีคนสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ มีคนที่เกลียดเหยียดเพศ มีคนคลั่งศาสนาพุทธสุดโต่ง
ในกลุ่มคนเสื้อแดงมีคนทุกแบบที่ไม่ควรจะร่วมเป็นขบวนการทางการเมืองเดียวกันได้
แต่ก็ร่วมเพราะมีอุดมการณ์เดียวที่ยึดโยงคนกลุ่มนี้เอาไว้คือ “รัฐบาลที่ชอบธรรมคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”
ระหว่างที่มีการชุมนุมคนเสื้อแดง เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวทีปราศรัยที่มีขึ้นทุกวันทั่วประเทศที่มีการถ่ายทอดไปทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ที่เราเรียกกันว่า “ช่องเสื้อแดง” กลายเป็น “มหาวิทยาลัยเปิด” ทางการเมืองศึกษา ประชาธิปไตยศึกษา
ปรากฏการณ์ตาสว่าง ไม่ใช่แค่เรื่อง “มือที่มองไม่เห็น”
แต่การเปิดโปงถอดรื้อวาทกรรมการเมืองคนดี กลายเป็นกระบวนทัศน์ทางการเมืองอันใหม่
เป็นครั้งแรกที่คนอย่างประเวศ วะสี พระไพศาล อานันท์ ปันยารชุน และเครือข่ายคนดี ทั้งหมดถูกตั้งคำถามว่า เครือข่ายของคนดีเหล่านี้เป็นคุณหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความเข้มแข็งของประชาธิปไตย
และจนกระทั่งนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ก็หันมาทำวิจัย เขียนบทความในประเด็น “คนดี” งานด้านรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องระบบอุปถัมภ์ เจ้าพ่อท้องถิ่น การซื้อเสียง
เป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางว่ามันมีความซับซ้อน มีพัฒนาการ และ “แว่น” ที่ใช้มองความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนก็เป็นแว่นที่เน้นพัฒนาการของความสัมพันธ์และพัฒนาการทางการเมืองมากกว่าจะเห็นภาพนิ่งว่านักการเมืองชั่ว ชาวบ้านโง่
แม้แต่หนังสือ “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ของประจักษ์ ก้องกีรติ ก็เป็นงานศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้นในบริบทของบรรยากาศทางภูมิปัญญาที่เปลี่ยนไปหลังมีการรัฐประหาร และหลังจากเกิดขบวนการเสื้อแดง
เพราะคนต้องการหาคำตอบว่า “ทำไมคนดีในประเทศไทยถึงสนับสนุนรัฐประหาร”
และ “ขบวนการของคนเสื้อแดงเป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเป็นแค่ขบวนการของคนรักทักษิณ ชินวัตร”
จนช่วงท้ายๆ ของม็อบ กปปส. ที่ฉันคิดว่าทัศนคติของคนไทย สังคมไทยที่มีต่อนักการเมืองเริ่มเปลี่ยนไป นั่นคือไม่ได้มองคุณภาพของนักการเมืองจาก “ความซื่อสัตย์สมถะ” แบบในยุคที่สังคมไทยคลั่งคนแบบชวน หลีกภัย หรือจำลอง ศรีเมือง
แต่วัดคุณภาพของนักการเมืองจากจุดยืนในการสนับสนุนประชสาธิปไตย และจุดยืนในการต่อต้านรัฐประหาร
ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก จากที่เคยยกย่องนักการเมืองว่า
“คนนี้ซื่อสัตย์ ไม่โกง ขับรถเก่าๆ อยู่บ้านเช่า อาบน้ำห้าขัน” เปลี่ยนมาเป็น
“คนนี้ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย”
“คนนี้ชั่วมากไปเป่านกหวีด”
“คนนี้ชั่วมากเคยนั่งสภาปฏิรูป”
“คนนี้ชั่วมากเคยเชียร์รัฐประหาร”
ในยุคก่อนจะมีพรรคอนาคตใหม่ นักการเมืองที่สังกัดพรรคเพื่อไทย เกือบทั้งหมดจะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองฝั่ง “ต้านรัฐประหาร”
และเราจะค่อยๆ เห็นภาวะ “ขาลง” ของนักการเมืองที่เคยรุ่งโรจน์อย่างที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และใครอีกหลายคนที่แม้แต่ฉันเองยังจำชื่อพวกเขาไม่ได้ด้วยซ้ำไป ณ ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้
ฉันคิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งบทที่ต้องบันทึกไว้ถึงพัฒนาการของการเมืองไทยในมิติที่ก้าวหน้ามากขึ้น
นั่นคือสังคมไทยไม่ได้มีแต่ฝ่ายขวาจัด อนุรักษนิยมที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง
กับฝ่ายซ้ายที่เป็นนักอุดมคติและหล่อเลี้ยงชีวิตและความสำคัญของตัวเองด้วยการมีอยู่ของฝ่ายอนุรักษนิยมในฐานะที่เป็น “ศัตรู”
แต่เรามีการเมืองที่ประชาชนเข้าใจแล้วว่า พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมันก็สะท้อนความปรารถนาของผู้เลือกคือตัวเราเอง ประชาธิปไตยไม่มีคำว่า “ดีที่สุด” หรือ ถูกต้องที่สุด คำว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เป็นคำที่ผิดตรรกะด้วยตัวของมันเอง เพราะกำเนิดของประชาธิปไตยไม่ได้หวังผล “สมบูรณ์”
และเป็นเพียงการมีฉันทามติจากเสียงส่วนใหญ่ว่าใครจะได้ครองอำนาจรัฐ ใครจะได้สิทธิในการบริหารประเทศ และ “อำนาจ” ที่ถือครองนั้น ถือครองได้แต่เพียงชั่วคราว
ทุกๆ สี่ปีต้องคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วหาฉันทามติใหม่จากผลการเลือกตั้งร่วมกัน
ดังนั้น พลวัตของการเมืองประชาธิปไตยจึงแปรผันตามความต้องการหรือแม้ “อารมณ์” ของประชาชนอยู่เสมอ
ไม่ต้องพูดถึงว่าหลายต่อหลายครั้งประชาชนเลือกด้วยอารมณ์ล้วนๆ ไม่มีเหตุผลเจือปนเลย
ดังนั้น คำว่าประชาธิปไตยจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำคุณศัพท์ว่า ดี เก่ง ซื่อสัตย์ ฉลาด คมคาย หล่อ สวย โง่ ดี สมบูรณ์
ในหนึ่งสังคมสามารถมีได้ทั้งผู้นำจากประชาชนที่ฉลาดมากและโง่มาก จิตใจดีมาก และฉ้อฉลมาก แล้วแต่ว่าประชาชนจะเลือกอะไรในแต่ละห้วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ท่ามกลางปัจจัย ท่ามกลางความหวังและความกลัวแบบไหน
ยิ่งหลังการเลือกตั้งปี 2566 ยิ่งสนุก เพราะถ้าเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ตั้งรัฐบาลได้ง่ายๆ หนีบเอาพรรคก้าวไกลมาเป็นพรรคร่วม ก็อาจจะราบรื่นไปอีกแบบ
แต่ในเมื่อฉันทามติของประชาชนที่แสดงออกผ่านผลการเลือกตั้งไม่อนุญาตให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
ทำให้เกิดเงื่อนไขของการตั้งรัฐบาลในแบบที่พรรคเพื่อไทยต้องไปจับมือกับพรรคการเมืองที่เคยอยู่ฝั่งตรงกันข้ามหรือแม้แต่พรรคการเมืองที่ในอดีตเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในมิติของการเป็นเครือข่ายของกลุ่มที่ไปร่วมรัฐบาลกับผู้ทำและผู้สนับสนุนรัฐประหารปรากฏการณ์นี้สำหรับฉันมันส่งให้สังคมไทยเรียนรู้ที่จะมีวุฒิภาวะทางการเมืองไปอีกระดับหนึ่ง
มองอย่างผิวเผิน จากแว่นของการมองโลกที่มีสีดำสีขาว หรือแว่นของการแบ่งขั้วว่าสังคมมีแต่เขากับเรามีแต่ประชาธิปไตยที่อยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ ก็อาจทำให้เข้าใจว่า “แย่แล้ว พรรคเพื่อไทยไปผสมพันธุ์กับเผด็จการ”
หรือ “พรรคเพื่อไทยละทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยแล้วเพียงเพราะอยากครองอำนาจรัฐ”
แต่หากมองจากแว่นของคนให้ความสำคัญของพลวัตของสังคมจะเห็นว่าสิ่งนี้คือประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน ฝ่ายประชาธิปไตยยังแก้กติกาที่เขียนไว้โดยฝ่ายอำนาจเดิมได้ แต่ฝ่ายอำนาจเดิมยอมถอยจากอำนาจ แล้วเขย่าหน้ากระดานใหม่
การรุกคืบของฝ่ายไม่เอารัฐประหารคือการเข้าไปครองอำนาจรัฐให้ได้ หากชนะแลนด์สไลด์ก็ถือว่ามีหลังพิงคือประชาชน สามารถ “กร้าว” ต่ออำนาจเดิมรุกคืบได้ไกลขึ้น
แต่ถ้าไม่ชนะในการเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สิ่งที่ต้องทำคือแบ่งอำนาจให้เขาด้วย
ไม่ใช่บีบให้อีกฝ่ายแร้นแค้นจนไม่มีที่อยู่ที่ยืนเพราะทำเช่นนั้นก็เท่ากับเปิดเกมการต่อสู้ขึ้นมาใหม่โดยที่ทางเราก็ไม่ได้มีประชาชนเป็นหลังพิงขนาดนั้น
เพราะฉะนั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำตามคณิตศาสตร์การเลือกตั้งคือให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยยอมเป็นเพียง “พรรคร่วม” ให้ก้าวไกลนำไปเลย ในฐานะที่มี ส.ส.น้อยกว่า
แต่เมื่อก้าวไกลรวมเสียงในสภาได้ไม่พอ พรรคเพื่อไทยขึ้นมา “นำ” ทุกอย่างก็เป็นไปตามคณิตศาสตร์
พรรคเพื่อไทยไปรวมกับทุกพรรคที่ยินดีร่วมรัฐบาลและโหวตให้แคนดิเดตจากเพื่อไทยเป็นนายกฯ พร้อมๆ กับเงื่อนไขว่าต้องไม่มีก้าวไกล
ถามว่าในฐานะพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ที่แม้จะอยู่ในฝั่ง “ประชาธิปไตย” เหมือนกัน แต่ก็เป็นคู่แข่งทางการเมืองกันอย่างเปิดเผย การที่เพื่อไทยต้องปล่อยมือกับก้าวไกลเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาก
เพราะไม่อย่างนั้น สิ่งที่สองพรรคนี้ควรทำร่วมกันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งคือทำ MOU ว่าจะ “ฮั้ว” กันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง
การปล่อยมือจากก้าวไกลจึงเป็น “ภาคบังคับ” ที่ดีสำหรับพรรคเพื่อไทยคือ
หนึ่ง ได้เป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล
สอง ได้เป็นนายกฯ
สาม ได้ดึงศัตรูเก่ามาเป็นพันธมิตรทางการเมือง เพราะถึงที่สุดแล้วใครๆ ก็อยากเป็นรัฐบาล ใครๆ ก็อยากได้โควต้ารัฐมนตรี ไม่ใช่เพราะจะเข้าไปกอบโกย
แต่เพราะเก้าอี้รัฐมนตรีและการได้เป็นรัฐบาลมีโอกาสในการทำงานเพื่อสร้างคะแนนนิยมหรือสร้างผลงานได้มากกว่าเป็นฝ่ายค้าน (เว้นแต่บางคนบางพรรคได้ตำแหน่งไปแล้วโกยอย่างเดียว หวังจะเป็นรถด่วนขบวนสุดท้ายกินก่อนตาย ก็ถือว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ธรรมชาติคัดสรรให้สูญพันธุ์ไปตามเป้าประสงค์)
สี่ ได้อำนาจรัฐมาทำงานหาคะแนนนิยมส่งไปเป็นคะแนนเสียงสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
อีกพลวัตหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้และเป็นปัจจัยตามธรรมชาติคือ การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรในประเทศ ในปี 2567
กลุ่มคนที่เคยเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของพันธมิตรเสื้อเหลืองถ้าไม่ชราภาพจนหมดไฟก็น่าเสียชีวิตด้วยโรคชราไปมากเหลือเกินแล้ว
ส่วนกลุ่มเป่านกหวีดร้อยละแปดสิบมาตามกระแสดาราคนดัง ถึงวันนี้เกือบทั้งหมดของพวกเขาได้เปลี่ยนไปสมาทานสีส้มแล้ว เพราะสีส้มไม่มีทักษิณและตระกูลชินวัตร (สิ่งที่พวกเขาออกมาเป่านกหวีดไล่)
และสีส้มมีทุกอย่างเหมือนเวทีเป่านกหวีด เช่น ด่านายกฯ หญิงโง่ ด่าพรรคเพื่อไทยโกง และตามไล่ล่าทักษิณเรื่องนักโทษชาย สุดท้ายที่ตรงกันคือการเมืองใหม่ ประชาธิปไตยแบบคนมีการศึกษา
เมื่อไม่ได้เป็นรัฐบาลสิ่งที่พรรคส้มใช้เป็นอาวุธโจมตีพรรคเพื่อไทยทันทีคือวาทกรรมตระบัดสัตย์ ซึ่งโหวตเตอร์เพื่อไทยก็งงๆ ว่าตระบัดสัตย์ใคร? เพราะคนเลือกเพื่อไทยพอใจที่พรรคดิ้นรนจนได้เป็นรัฐบาล และคนเชียร์เพื่อไทยก็พอใจมากที่ประวิตร วงษ์สุวรรณ หายไปจากฉากการเมือง
สำหรับคนเชียร์เพื่อไทย ณ วันนี้ไม่มี “ลุง” แล้ว มีแต่พรรคที่เคยเป็นของลุง และวันนี้ต้องมาอยู่ “ร่วม” กับเพื่อไทย
วาทกรรมตระบัดสัตย์จึงเป็นวาทกรรมเอ็กโค่แชมเบอร์กันเองกับส้มด้วยกัน และสามเดือนแรก “สื่อ” ก็สนุกกับเรื่องนี้เพราะมันเป็นเรื่อง “เผ็ด” ตอบโต้กันดุเดือด
แต่ท้ายที่สุด เมื่อความพลุ่งพล่นทางอารมณ์ของสังคมสงบลง พวกเขาก็เริ่มมีสติที่จะฟังข้อเท็จจริงมากขึ้นว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงแต่ผลการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยมีแค่ 141 ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องตั้งรัฐบาลผสมแม้จะข้ามขั้ว สิ่งนี้ไม่ผิดกติกาสากลใดๆว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา
สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้จุดยืนในฐานะพรรค “ประชาธิปไตย” ของพรรคเพื่อไทยด่างพร้อย
การทิ้งพรรคก้าวไกลไม่ได้ทำให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็นเผด็จการ
พรรคเพื่อไทยไม่ได้ติดหนี้สินใดๆ กับพรรคก้าวไกล ดังนั้น พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีหน้าที่ “แบก” พรรคก้าวไกลไว้ติดตัวตลอดเวลา
ทั้งสองพรรคต่างก็เป็นพรรคการเมืองที่มีอิสระเป็นของตนเอง เมื่อไม่ลงตัวที่จะร่วมกันก็ต้องแยก
และการที่มีจุดยืน “ประชาธิปไตย” เหมือนกัน มันไม่จำเป็นต้องรักกัน
เมื่อถึงเวลาต้องแข่งขันกันในทางการเมืองก็แข่งกันให้เต็มที่ไปเลย
สิ่งที่เรามักได้ยินจาก “กูรู” ฝั่งส้ม หรือแกนนำฝั่งส้มแม้กระทั่งตัวพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เองมักพูดเรื่องการเมืองสามก๊กบ้างหรือ การที่เพื่อไทยกับก้าวไกลต้องแตกหักกันเพราะเป็นประสงค์ของผู้มีอำนาจบ้าง
ฉันฟังแล้วเห็นว่าไร้สาระ และดูถูกเอเยนซี่หรือเจตจำนงของประชาชนอย่างยิ่ง
ก้าวไกลกับเพื่อไทยไม่ได้แตกหักกันเพราะผู้มีอำนาจ
สองพรรคนี้แตกหักกันเพราะเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่แชร์ “ตลาด” เดียวกันเท่านั้นเอง
คือตลาดที่ครั้งหนึ่งเป็น นปช. เป็นเสื้อแดง และอีกตลาดหนึ่งคือ ม็อบไล่ประยุทธ์ปี 2566 ที่เพื่อไทยคิดว่าจะเป็นโหวตเตอร์ของตัวเอง
แต่ไม่ทันคิดว่าคนกลุ่มนี้จริงๆ แล้วเคยเป่านกหวีดสมาทานการเมืองคนดีมาก่อน
พวกเขาแค่เอือมประยุทธ์ และแค่จับกระแสได้ว่าเทรนด์ล่าสุดคือต้องต้านรัฐประหารถึงจะเท่ คนกลุ่มนี้คือโหวตเตอร์พรรคส้ม
การเมืองไทยหลังจากนี้ไม่ใช่การเมืองสามก๊กอะไร
แต่จะเข้าสู่โหมดสังคมที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยจะเข้มแข็งขึ้น
ทุกพรรคการเมืองจะใส่ใจกับยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง การคัดตัวแคนดิเดต ส.ส.
การยึดครองการนำในการเมืองท้องถิ่น เพราะมันคือการต่อยอดคะแนนนิยมมาที่การเมืองระดับชาติ
สนามการเมืองระดับเทศบาล ระดับ อบจ. คือ สนามไว้คัดตัวรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ทั้งหมดนี้ฉันคิดว่าตัดเรื่องเราเชียร์พรรคไหนออกไป มันคือสัญญาณว่าประชาธิปไตยในบ้านเราจะเข้มแข็งขึ้น การเมืองจะไม่มีก๊ก มีแต่พรรคการเมืองแข่งกันช่วงชิงความนิยมจากประชาชน ไม่มีพรรคฝ่ายประชาธิปไตย พรรคนั่งร้านเผด็จการ
มีแค่พรรคอนุรักษนิยม พรรคก้าวหน้า พรรคเสรีนิยม พรรคแบบท้องถิ่น เช่น ประชาชาติ กับ ชาติไทยพัฒนา
พรรคเฉพาะกิจอย่างพรรคพลังประชารัฐน่าจะไม่ไปต่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นพรรคอนุรักษนิยมที่ไม่แน่ว่าอนาคตอาจสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในอีกบริบทหนึ่งของประเทศไทยจนกลายเป็นพรรค “สำคัญ” ขึ้นมาก็ได้ เพียงแต่ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการ “บ่ม” (ฉันเดาล้วนๆ)
พรรคที่ทำงานยากที่สุดคือพรรคเพื่อไทย
ไม่ใช่เรื่องตระบัดสัตย์ที่ทำให้พรรคส้มเละเป็นโจ๊กไปแล้วเพราะวาทกรรมนี้มันกลับทิ่มแทงพรรคส้มเองในฐานะ “ดีแต่สร้างวาทกรรม”
แต่ความยากของพรรคเพื่อไทยคือการแข่งขันกับความสำเร็จของตนเองในอดีตที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน
ไม่ว่าพรรคจะทำอะไรในวันนี้ก็จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จในอดีต
ความยากที่สุดของพรรคเพื่อไทยคือการแบกรับความคาดหวังของผู้คน ถ้าทำดีก็เสมอตัว ถ้าทำพลาดก็โดนยำเละทั้งจากฝ่ายกองเชียร์และจากฝ่ายตรงกันข้าม
ความท้าทายของพรรคเพื่อไทยคือ จะคงความเป็นพรรคที่ติดดิน เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่หอคอยงาช้าง ไม่ woke ตามเทรนด์
ขณะเดียวกันก็มีความกล้าหาญ แหลมคมในการอธิบายจุดยืน อธิบายหลักคิด หลักการทำงาน ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังของแต่ละนโยบายไปจนถึงระบบการได้มาซึ่งแคนดิเดต ส.ส. ที่ต้องอิงกับระบบคุณธรรมมากกว่าระบบเส้นสาย
ไปจนถึงการขยายเครือข่ายของพรรคไปสร้างแนวร่วมกับภาคประชาสังคมที่ไม่ได้หวังผลแค่กระแสหรือการแคมเปญ
แต่สร้างมรรคผลที่ต่อยอดเป็นนโยบายหรือสอดประสานกับงานของพรรคหรืองานของรัฐบาลอย่างเป็นระบบ
ส่วนพรรคประชาชน ฉันอยากให้เขาเป็นคู่ต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยที่สมน้ำสมเนื้อกว่านี้
นั่นคือต้องทบทวนว่า การเมืองยุคหลังประยุทธ์คือช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองเลือกตั้งที่ไม่มีขั้วพระเอกและผู้ร้ายอีกต่อไป
ทุกคนต่างเป็นผู้ร้ายในบางเรื่องและเป็นพระเอกในบางสถานการณ์แปรผันไปเงื่อนไขของความสัมพันธ์ในหลายมิติตั้งแต่อำนาจ เครือข่าย ผลประโยชน์ คะแนนนิยม และพรรคประชาชนก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น การสร้างตัวตนและความนิยมที่มีต่อพรรคไม่อาจเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนบนการสร้างความเป็นอื่นให้กับคู่แข่ง
ตอนเป็นรัฐบาลประยุทธ์มันชัดเจนว่าเข้าสู่อำนาจโดยมิชอบ แต่พอเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง พรรคส้มจะเพียรสร้างผีตระบัดสัตย์ ผีกทักษิณ ผีชั้นสิบสี่ไปเรื่อยๆ ไม่ได้
หรือบางครั้งเลื่อนเปื้อนไปพูดเรื่องไม่มีแผ่นดินจะอยู่
เพราะน่าเสียดายที่พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่อุตส่าห์เขียนนโยบายออกมาหลายร้อยนโยบายแต่ภาพจำของพรรคส้มในขณะนี้กลายเป็นพรรคที่คอยไล่ล่าทักษิณ หรือเป็นพรรคที่เที่ยวดูถูกเหยียดหยามคนอื่นไปทั่ว ตัวเองดี ตัวเองเก่งอยู่พรรคเดียว
ยํ้าอีกครั้งว่าไม่มีหรอกการเมืองสามก๊ก มีแต่ทุกพรรคการเมืองแข่งขันกัน
อย่าลืมว่าไม่ได้มีแต่ฝ่ายการเมืองที่ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลกและยุคสมัย
และความผิดพลาดของฝ่าย “ก้าวหน้า” ของไทยก็ชอบคิดว่าฝ่ายขวาโง่ ซึ่งไม่จริง
มากไปกว่านั้นเอาอะไรไปคิดตัวเองจะเป็นตัวตั้งตัวตีไปจัดะเบียบแก้กฎหมายเพื่อความสง่างามของเขา
ทำไมถึงคิดไม่ได้ว่าฝ่ายขวาเขาเชี่ยวชาญเรื่องการสร้าง “ความสง่างาม” มากกว่าชาวบ้านร้านช่องอย่างพวกเรามาก
พรรคเพื่อไทยถ้าเป็นรัฐบาลแล้วผลงานไม่น่ากระทับใจโอกาสจะชนะการเลือกตั้งระดับชาติก็เป็นงานหิน ไม่เหมือนพรรคร่วมที่ดีๆ ชั่วๆ ก็อาจจะแค่เสมอตัว
แต่พรรคส้มหากยังคงภาพจำของพรรคในแคแร็กเตอร์ห้าวหาญ ดุดัน เกรี้ยวกราดไปเรื่อยๆ จนกลบเนื้อหาอื่นๆ ที่พรรคมี ก็น่าสนใจว่าพรรคจะหากินกับความโกรธไปได้อีกกี่สมัย
ความพ่ายแพ้ของการเลือกนายก อบจ.ที่อุดรฯ หรือแม้แต่การเลือกตั้งซ่อมที่พิษณุโลกยืนยันว่า การขายความเกลียดชังและการย้อนยุคไปใช้บริการผีทักษิณไม่ได้ช่วยให้ได้ชัยชนะ
แต่การมีทักษิณบนเวทีของพรรคเพื่อไทยต่างหากที่ทำให้บรรยากาศการเมืองดีๆ แบบก่อนมีรัฐประหารปี 2549 กลับมาอยู่ในการรับรู้ของคนไทยอีกครั้ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022