‘โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ ประเมินดุลยภาพ ‘เพื่อไทย-ประชาชน’ หลังศึก ‘นายก อบจ.อุดรธานี’

หมายเหตุ “รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว” นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยบูรพา ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวมติชนทีวี ภายหลังทราบผลเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

: ชัยชนะของเพื่อไทยในการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ส่งผลต่อพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนอย่างไรบ้าง?

อันดับแรก ผมคิดว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่อุดรฯ มันไม่ได้เกินความคาดหมายของคนที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมือง เพราะตัวผู้สมัครเขาก็เป็นนักการเมืองมีเครือข่ายและมีแรงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย รวมทั้งกระแสของคุณทักษิณ (ชินวัตร)

หลังจากนี้ไป (กระแสคุณทักษิณ) จะเป็นดัชนีชี้วัดขั้นพื้นฐานว่า พรรคเพื่อไทยก็จะกุมความได้เปรียบ กระแสพี่น้องมวลชนเสื้อแดงก็จะฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งมันเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้เพื่อไทยในการทำงานการเมือง เพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยความมั่นใจมากขึ้น

ไม่ใช่มั่นใจเฉพาะแค่เพื่อไทยหรือคุณทักษิณ แต่รวมไปถึงชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ ที่ต้องพึ่งพาเพื่อไทยเวลานี้ ก็มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยจะเป็นพรรคที่คอยรับใช้บริการ

ในขณะที่พรรคประชาชนสำหรับผม แพ้อย่างมีนัยยะสำคัญ คือถ้าเราไม่ได้ดูว่าแพ้ทั้งหมด ถ้าเรามองอย่างฉาบฉวยผิวเผิน (จะเห็นว่า) แพ้อีกแล้ว แพ้อีกแล้ว

แต่คะแนนครั้งนี้มีนัยยะมากที่จะบอกว่า พรรคประชาชนเริ่มจุดติดแล้วในสนามการเมืองท้องถิ่น อาจจะแพ้ แต่เริ่มจุดติด และเริ่มสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้แล้วว่า ถ้าอยากทำงานการเมืองท้องถิ่นระยะยาว จะต้องให้น้ำหนักกับคนกลุ่มไหนเป็นพื้นฐาน

อันดับแรกเลยก็คือกลุ่มคนเมือง ถ้าเราดูเขตเมือง เขตชุมชนเมือง เขตอำเภอที่มีชนชั้นกลาง พรรคประชาชนชนะหมด อันนี้เป็นหลักประกันว่า โอกาสในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าที่อุดรฯ ประชาชนก็มีโอกาส ไม่ใช่ไม่มีโอกาส

ประการต่อมา ประชาชนจะต้องเร่งถอดบทเรียนหลังจากนี้ว่า จะไปทำงานการเมืองท้องถิ่นในเขตรอบนอกอย่างไร จะขายนโยบายแค่นี้พอไหม นโยบายน้ำประปากินได้อะไรพวกนี้

อาจจะต้องไปพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์พี่น้องในระดับรากหญ้าที่ไกลออกจากตัวเมือง หรืออาจจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นเพิ่มเติม

อันนี้ผมคิดว่าพอมีนัยยะที่แบบไม่ได้แพ้เลย แต่แพ้แล้วสามารถที่จะถอดบทเรียนได้

: คุณทักษิณย้ำตลอดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ต้อง “ชนะขาด” ซึ่งน่าจะหมายถึงชนะคู่แข่งด้วยระยะห่างระดับหลักแสนคะแนนขึ้นไป แต่พอผู้สมัครฝั่งเพื่อไทยชนะผู้สมัครฝั่งประชาชนด้วยระยะห่างไม่เกินแสนคะแนน มันมีนัยยะทางการเมืองอะไรบ้าง?

คือขาดไม่เกินแสน ก็อย่างที่ผมบอกเมื่อสักครู่ว่า กระแสของพรรคประชาชนเริ่มขายได้ เริ่มจุดติด ทำให้ประชาชนสามารถเอาไปถอดบทเรียนในการปรับปรุงแก้ไขในสนามการเมืองท้องถิ่น ว่าทำแบบนี้จะคุ้มไหม หรือปรับวิธีการแบบใหม่

แต่ถ้า (เพื่อไทย) ชนะขาดมากกว่านี้ มันก็บอกได้ชัดเจนว่า พรรคประชาชนล้มเหลวในการเมืองท้องถิ่น ทำให้คุณทักษิณเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมประเมินว่า ลึกๆ ใจของคุณทักษิณก็อยากให้พรรคประชาชนพอมีกระแสอยู่แบบนี้บ้าง ที่บอกว่าต้องชนะแบบขาดลอย เป็นภาษาทางการเมือง

แต่ถ้าประชาชนแพ้แบบยับเยิน มันก็ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย ผมมองว่าสองพรรคนี้จะต้องรักษา “ดุลยภาพทางอำนาจ” แบบนี้ไว้ตลอด พรรคใดพรรคหนึ่ง โดยเฉพาะประชาชนกระแสตกเมื่อไหร่ พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีความจำเป็นอีกแล้วสำหรับชนชั้นนำ

ผมมองว่า การมีอยู่ของพรรคประชาชน มันทำให้พรรคเพื่อไทยอยู่ได้ คุณทักษิณไม่ต้องมีปัญหาเรื่องชั้น 14 มันคือ “แรงดึงดูด” ซึ่งกันและกัน

คุณดูนะ 17-18 จังหวัด ภูมิใจไทยมาเงียบๆ ตลอดเลยนะครับ เท่ากับว่าพวกการเมืองท้องถิ่น อบจ. พาดกับบ้านใหญ่ทั้งนั้น แสดงว่าบ้านใหญ่เขาเริ่มมองพรรคภูมิใจไทยแล้วเหมือนกัน

ถ้าเกิดว่ากระแสพรรคประชาชนตกต่ำ พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว โอกาสที่จะโดนยุบก็มี เพราะมีคนร้องยุบรายวันเหมือนกัน ถ้าพรรคเพื่อไทยโดนยุบเมื่อไหร่ บรรดา ส.ส.บ้านใหญ่ ไหลมาภูมิใจไทยหมด

แล้วพรรคประชาชน ถ้าเป็นฝ่ายค้านเหลือสัก 40-50 เสียง ขนมหวานเลย เพราะ ส.ว.เขามีความใกล้ชิดกับภูมิใจไทยอยู่

 

: จากผลการเลือกตั้งท้องถิ่นคราวนี้ จะมีผลทำให้ในการเลือกตั้ง ส.ส.รอบหน้าที่ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยที่ได้คุณทักษิณกลับมา สามารถต่อสู้กับคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคภูมิใจไทย ด้วยความมั่นใจที่มากขึ้นไหม

มีผล เพราะการที่คุณทักษิณไปอุดรฯ เที่ยวนี้ ผมก็พูดตลอดเวลาว่า คุณทักษิณไม่ได้ไปหาเสียงนายก อบจ. คุณทักษิณไปหาเสียงให้กับคุณแพทองธาร (ชินวัตร) และพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะปลุกกระแสคะแนนนิยมของพี่น้อง นปช. สอง ก็เหมือนกับตั้งป้อมในการที่จะเตรียมสู้กับพรรคภูมิใจไทย

เพราะคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยรู้ว่า พรรคภูมิใจไทยเขายึดกุมอีสานใต้ได้แล้ว เขาเริ่มขยับเข้ามา เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องวางยุทธศาสตร์ในการป้องกัน การไปอุดรฯ เที่ยวนี้ ทำให้บรรดาพวกบ้านใหญ่ พวก ส.ส.ที่กำลังลังเลใจว่าจะย้ายไปอยู่ภูมิใจไทยหรือไม่ เกิดความลังเลใจ (มากขึ้น)

และการเลือกตั้งเที่ยวนี้ก็จะเป็นหลักประกันว่า อย่างไร (ส.ส.กลุ่มนั้น) ก็น่าที่จะต้องอยู่กับพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณต่อ

เพราะว่าถ้า “ดุลยภาพทางอำนาจ” แบบนี้ พรรคเพื่อไทยคงจะไม่มีโอกาสโดนยุบ คุณทักษิณคงจะไม่มีโอกาสโดนเรื่องชั้น 14