ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
เกมชิงอำนาจดุเดือดขึ้น
เมื่อทักษิณหลุดจากกับดัก
เกมการเมืองยังเดินเร็วต่อ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องที่กล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ว่ามีการกระทำอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ใน 3 จังหวัดใหญ่ (ซึ่งถ้ามีการเลือกตั้งใหญ่จะมี ส.ส.ร่วมกันถึง 28 คน คือที่สุรินทร์ 8 อุดรธานี 10 และนครศรีธรรมราช 10) ปรากฏการณ์ทั้งสองเรื่องนี้ เป็นตัวชี้วัดแนวโน้มทางการเมืองในระยะต่อไป
การหลุดจากกับดักทางการเมืองครั้งนี้ถือว่านายกฯ ทักษิณลุยไฟผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ
แน่นอนว่าเมื่อมีคนจุดไฟก็มีอีกกลุ่มหนึ่งมีหน้าที่มาฉีดน้ำดับไฟ มีนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดเดาผลตัดสินถูกต้อง เพราะเขามองว่าปัญหาประเทศชาติขณะนี้มีเรื่องใหญ่โตมากมาย คงไม่มาสะดุดเพราะปัญหาเล็กๆ น้อยๆ โดยประเมินจากการที่นายกฯ ทักษิณแสดงความมั่นใจออกไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. และยังให้สัมภาษณ์ถึงการกลับมาของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เมื่อต่างฝ่ายต่างทำตามข้อตกลง เส้นทางจึงถูกเคลียร์ให้เรียบพอที่รถจะวิ่งได้ พรรคเพื่อไทยก็ต้องขับรถลุยไปตามเป้าหมาย นายกฯ ทักษิณไม่สามารถทำหน้าที่เป็นคนขับถือพวงมาลัยได้ แต่ยังสามารถทำหน้าที่เป็นเนวิเกเตอร์ อยู่ข้างคนขับ และตอนนี้ผู้โดยสารจำนวนมากก็เชื่อมั่นว่าเนวิเกเตอร์คนนี้จะสามารถนำพารถคันนี้ไปตามเส้นทางอย่างถูกต้อง รอดผ่านจากหุบเขาแห่งความยากลำบาก
จะไปได้ถึงไหน ยังไม่มีใครมั่นใจ แต่ก็คิดกันว่าน่าจะดีกว่าคนขับคนเก่า ที่ดันพารถเข้ามาในหุบเขา ซึ่งมีทั้งโรคภัยไข้เจ็บและความอดอยาก
แต่แน่นอนว่าในรถคันนี้มันไม่ได้มีผู้ที่เห็นด้วยกันทั้งหมด และก็ยังมีผู้ที่ต้องการชิงอำนาจอยากจะเป็นคนขับ อยากจะไล่เนวิเกเตอร์ลงจากรถ การต่อสู้แข่งขันกันภายในรถจึงยังมีต่อไป
เกมต่อไปที่ดำเนินต่อเนื่อง
คือ ศึกชิง อบจ. 52 จังหวัด
เชื่อว่านายกฯ ทักษิณยังจะลงพื้นที่หลายจังหวัด เพราะนี่คือหยั่งกำลังแต่ละจังหวัดก่อนศึกใหญ่ นายก อบจ.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งครั้งละสี่ปี โดยหากนายก อบจ.ดำรงตำแหน่งจนครบวาระสี่ปีก็จะพ้นจากตำแหน่งและจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน
หลังการรัฐประหาร 2557 มีการเลือกตั้ง อบจ.พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด
สมาชิกสภา อบจ. (ส.จ.) และนายก อบจ.ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 กกต.ได้จัดการเลือกตั้ง โดยจะรับสมัครรับเลือกตั้ง วันที่ 23-27 ธันวาคม 2567 และเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
ที่ผ่านมามีนายก อบจ. 29 จังหวัด ที่ลาออกหรือพ้นตำแหน่งด้วยวิธีอื่นๆ ก่อนครบวาระ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งนายก อบจ.ก่อน ดังที่เป็นข่าว เช่น อุดรธานี ฯลฯ
การเลือกนายก อบจ.ที่ลาออกในเดือนธันวาคม 2567 จะมีอีก 5 จังหวัดคือ กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี ซึ่งศึกใหญ่ที่สุดคืออุบลราชธานี (เพราะมี ส.ส. 10 เขตในการเลือกตั้งใหญ่) เลือกวันที่ 22 ธันวาคม 2567 พอวันที่ 23-27 ธันวาคม 2567 ก็เปิดรับสมัครอีก 47 จังหวัดที่จะอยู่จนครบวาระ
มีการหาเสียงข้ามปีใหม่ ไปถึงตรุษจีน 29 มกราคม 2568 พอรับอั่งเปาเสร็จ ก็เลือกตั้ง อบจ. 1 กุมภาพันธ์ 2568 พอดี
การแข่งขันกันในศึกชิง อบจ.
จากนี้คือเกมของ 3 พรรคใหญ่
ปัจจุบันคนในท้องถิ่นที่ต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำในแต่ละจังหวัด มีมากพอควร เป็นความต้องการตามแรงผลักดันของตระกูลหรือบ้านใหญ่หรือบ้านรอง แม้ในตระกูลเดียวกันก็อาจต้องแข่งขันกันเองตัวอย่างที่จังหวัดสุรินทร์
ที่สำคัญเป็นความต้องการของพรรคการเมืองที่ต้องการวางฐานกำลังไว้ก่อนการเลือกตั้งปี 2570 ดังนั้น ทุกพรรคก็จะเปิดหน้าสนับสนุนออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจังหวัดที่มั่นใจ เพราะนี่คือการหยั่งกำลังแต่ละจังหวัดก่อนศึกใหญ่
พรรคเพื่อไทยบอกว่าไม่ได้สนับสนุนผู้สมัครหมดทุกจังหวัด มีจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังไม่ได้แถลงว่า มีกี่จังหวัด คาดว่าคงไม่น้อยกว่า 30 จังหวัด
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และแกนนำกลุ่มก้าวหน้าก็ออกลุยเช่นกันพรรคประชาชนก็แถลงออกมาแล้วว่าน่าจะส่งผู้สมัครประมาณ 15 จังหวัด ซึ่งพวกเขาคงมั่นใจว่ามีโอกาสชนะได้ แต่จะชนะกี่จังหวัดยังไม่รู้
พรรคภูมิใจไทยก็เตรียมการมานาน และก็หวังผลต่อเนื่องถึงการเลือกตั้งปี 2570 ดังนั้น พวกเขาก็จะเลือกสนับสนุนผู้สมัครที่หวังผลได้เช่นกัน
ที่ภาคใต้คงมี ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ ดวลกัน
แต่ปัญหาของทุกพรรคการเมืองก็คือ บางทีในจังหวัดเดียวกันแต่มีผู้ที่ต้องการลงในนามของพรรคเกินกว่า 1 คน และก็มีคุณสมบัติบารมีใกล้เคียงกัน บางครั้งเป็นคนในตระกูลเดียวกัน ญาติกันด้วย บางทีถึงกับทำให้ประกาศการสนับสนุนไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นการสู้กันเอง
การเลือกตั้ง อบจ.มีผลอย่างไร
1.เป็นการวัดกระแสของพรรค
การจะเอาผลการเลือกตั้ง อบจ.แต่ละจังหวัดไปประเมินการเลือกตั้งใหญ่ของพรรคการเมิอง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2570 อาจจะวัดกันไม่ได้ตรงๆ โดยผลคะแนนรวม
แต่สามารถสำรวจกระแสทั่วไปซึ่งเป็นกระแสความนิยมพอได้เพราะเรื่องนี้ยังเกี่ยวกับผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ.ด้วยว่าเป็นคนมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมากขนาดไหน
การชนะในศึก อบจ. จะมีผลในทางจิตวิทยาต่อประชาชนในจังหวัด มีผลต่อผู้สมัคร การดึงตัวผู้สมัคร การดึงตัวผู้สนับสนุนและหัวคะแนน เพราะคนส่วนใหญ่อยากอยู่ฝ่ายชนะ
2. รายละเอียดของคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง คือลายแทงคะแนนเสียงในพื้นที่ต่างๆ
สำหรับนักการเมืองแล้วสามารถนำคะแนนที่ปรากฏในทุกหน่วยเลือกตั้ง ไปหาลายแทงซึ่งมีรายละเอียดของตนเองและคู่แข่ง ในระดับอำเภอและตำบล พอไปรวมเป็นเขตเลือกตั้งต่างๆ ก็จะประเมินได้ว่าเขตไหนใครมีคะแนนเท่าไร จะแพ้หรือชนะ
เช่น การเลือกตั้ง อบจ.นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทยชนะคะแนนรวมทั้งจังหวัดได้เป็นนายก อบจ. แต่จริงๆ แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ชนะ 11 อำเภอ เท่ากับภูมิใจไทย แต่พรรคประชาธิปัตย์ชนะเล็กน้อย และไปแพ้เยอะที่อำเภอเมืองและทุ่งสง ถ้าแบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง 10 เขต ปชป.ยังสามารถชนะได้ในเขตที่เข้มแข็ง
3. เป็นการวัดบารมีของผู้นำ
เช่น กรณีเลือก อบจ.อุดรธานี การลงหาเสียงของอดีตนายกฯ ทักษิณในฐานะผู้ช่วย และสามารถชนะการเลือกตั้ง ก็แสดงว่ายังมีบารมีที่ทำให้คนนิยมชมชอบในจังหวัดอุดรธานี
และคะแนนที่ปรากฏในระดับอำเภอ ตำบลก็เป็นการวัดบารมีของผู้นำท้องถิ่นที่สมัคร ส.จ. หรือต่อไปจะสมัคร ส.ส. หรือเทศบาล
4. ผลของคะแนนจะทำให้แก้ไขเตรียมการได้ล่วงหน้า เช่น การเลือกตั้ง อบจ.อุดรธานีทั้งเพื่อไทยและประชาชน ต่างก็เห็นคะแนนหลายอำเภอที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะมีผลต่อคะแนน ส.ส.เขตในครั้งหน้า การชิงหัวคะแนน และตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส.จะง่ายขึ้น
ศึก อบจ.ที่อุดรธานี ที่นครศรีธรรมราช คือสัญญาณเตือนว่าการแข่งขันครั้งหน้าในหลายพื้นที่จะใกล้เคียงกันมาก การเตรียมรับศึก 52 จังหวัดจึงจำเป็น
เชื่อว่า เดือนธันวาคม นายกฯ ทักษิณจะลงพื้นที่เลือกตั้ง ธนาธร แกนนำคณะก้าวหน้า และแกนนำภูมิใจไทย ก็ต้องลงไปเช่นกัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022