ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
จิตร ภูมิศักดิ์
เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ? (2)
: จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ
ประการแรกที่จิตร ภูมิศักดิ์ แสดงถึงความเข้าใจในทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ได้แก่มโนทัศน์ว่าด้วยวิวัฒนาการของสังคมในประวัติศาสตร์ จิตรก็รับแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวนี้มาเหมือนกับชาวลัทธิมาร์กซ์คนอื่นๆ ในขบวนการปฏิวัติในเอเชีย
เห็นได้จากความพยายามและจุดยืนอันเหนียวแน่นในการเสนอประวัติศาสตร์ของระบบศักดินาไทยว่าต้องพัฒนาสืบทอดต่อมาจากระบบการผลิตก่อนหน้านี้ซึ่งคือระบบการผลิตแบบทาส
หากพิจารณาจากวิธีวิทยาใน “โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน” แน่ชัดว่าจิตรใช้ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ที่สำคัญคือปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในการวิเคราะห์และวิพากษ์พัฒนาการของชุมชนและรัฐไทยแต่โบราณมาถึงยุคศักดินา
จิตรใช้ข้อมูลและประวัติศาสตร์ไทยประกอบคำอธิบายทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ซึ่งอาศัยแต่ประวัติศาสตร์ยุโรปด้านเดียวทำให้ถูกวิจารณ์ได้ว่าไม่รอบด้าน
เช่น ความหมายของศักดินาคือ “อำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหากิน” ซึ่งครอบคลุมถึงอำนาจและอิทธิพลเหนือไพร่เลกและยังกำหนดรูปแบบชีวิตของพวกนั้นอีกด้วย
ทำให้เห็นถึงลักษณะทั่วไปของทฤษฎีว่าใช้เป็นตัวแบบในการอธิบายระบบศักดินาในไทยได้เหมือนกับที่ใช้ในระบบฟิวดัลในยุโรปอย่างไม่ต้องสงสัย จึงไม่มีความจำเป็นจำแนกข้อเหมือนและต่างออกจากกัน
น่าสนใจว่าจิตรมีความเข้าใจในลักษณะของทฤษฎีอย่างลึกซึ้ง นั่นคือต้องเข้าใจถึงความเป็นนามธรรมของมันให้ได้โดยผ่านความเป็นเหตุเป็นผลในการปฏิบัติของคนและในความเข้าใจในการปฏิบัตินี้เองที่ทำให้ทฤษฎีไม่เป็นสิ่งลี้ลับ (Marx, Theses on Feuerbach, VIII. “All mysteries which lead theory to mystification find their rational solution in human practice and in the comprehension of this practice”)
ในประเด็นเรื่องวิวัฒนาการของระบอบสังคมและวิถีการผลิต ก็ต้องแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง ภายใต้กฎของความสัมพันธ์ทางการผลิต นั่นเองคือที่มาของการที่จิตรพยายามแสดงว่าการจะเข้าใจระบบศักดินาและบทบาทของระบบศักดินาในประวัติศาสตร์นั้นไม่อาจทำได้โดย “ไม่เข้าใจถึงกำเนิดของมันอันต่อเนื่องมาจากระบบทาส”
เขาจึงเรียบเรียงประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ให้เป็นทฤษฎีภายใต้หัวข้อ “กำเนิดของระบบศักดินาโดยทั่วไป” หัวใจของข้อนี้คือการที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสังคมหรือวิถีการผลิตหนึ่งดำเนินไปภายใต้กฎที่เป็นวิภาษวิธี ที่ไม่อาจเปลี่ยนหรือปฏิเสธได้ตามความพอใจของอัตวิสัย (หรือบิดา)
จิตรตอกย้ำทฤษฎีวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์อย่างหนักแน่นว่า “ระบบศักดินาเกิดขึ้นได้โดยผ่านการพัฒนาเป็นระดับขั้นของการผลิตในสังคม ถ้าปราศจากการพัฒนาเป็นระบบขั้นของการผลิตเสียแล้ว ระบบศักดินาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย นี่เป็นกฎทางภววิสัยอันตายตัว”
พอวางพื้นฐานทางทฤษฎีและประวัติศาสตร์วัตถุนิยมเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถดำเนินต่อไปในตอนที่เป็นหัวใจของหนังสือคือ “กำเนิดของระบบศักดินาในประเทศไทย”
ปัญหาแรกที่จิตรต้องเผชิญคือเพดานความคิดของประวัติศาสตร์ไทยที่เริ่มต้นใน พ.ศ.1800 หรือยุคสุโขทัย โดยมี “บิดาของประวัติศาสตร์ไทย” คือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นครูใหญ่
จิตรเลือกการวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักด้วยการเปิดประเด็นด้วยคำถามว่า “สังคมไทยมีระบบทาสไหม” ซึ่งเป็นคำถามที่ครอบคลุมทั้งปัญหาเฉพาะอันเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ไทย กับปัญหาทั่วไปคือทฤษฎีวิวัฒนาการของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์
เพราะถ้าหากคำตอบคือไม่มี ก็ไม่มีทางที่เขาจะดำเนินการวิเคราะห์กำเนิดของระบบศักดินาต่อไปได้ เพราะทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ที่เขาได้เสนอก่อนหน้านี้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าระบบผลิตต่างๆ นั้นต้องเกิดจากระบบผลิตก่อนหน้านี้ ไม่มีระบบสังคมอะไรที่เกิดมาด้วยตัวมันเองได้ มันต้องมาจากระบบอะไรสักอย่างหนึ่ง
ปมเงื่อนเรื่องสุโขทัยต้องมีทาสและระบบทาสมีก่อนแล้วในประวัติศาสตร์โบราณของคนชาติไทย เป็นปัญหาทางทฤษฎีที่เขาเข้าใจ ว่ายุคแห่งวิถีการผลิตทั้งหลายในประวัติศาสตร์นั้นจะต้องดำเนินต่อกันไปอย่างเป็นเส้นตรง
แนวคิดเรื่องวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรงนี้ ผมคิดว่าวิพากษ์จิตรได้ว่าเป็นลัทธิคัมภีร์
แต่ในตอนหลังผมพบว่าจิตรเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในแนวคิดนี้ ซึ่งทำให้เขามีความเป็นวิพากษ์มากกว่าคัมภีร์หากพิจารณาโดยรวม
เช่นนี้เองที่ผมคิดว่าจิตรไม่ใช่เป็นนักลัทธิคัมภีร์อย่างที่กล่าวหากัน เพราะหากเขาต้องการยึดถือมติของนักลัทธิมาร์กซ์สายแข็งที่ในที่สุดต้องตัดสินกันที่การกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นอย่างเดียวเท่านั้น เขาก็เพียงไปหาหลักฐานและการขูดรีดทาสในประวัติศาสตร์ที่อื่น เช่น ในโรมันที่ยกกันมาอ้างมากที่สุดคือการกบฏของทาสสปาร์ตาคัส ซึ่งเขียนเล่าโดยนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังและไม่มีหลักฐานร่วมสมัยเลย น่าเป็นนิยายหรือตำนานเสียมากกว่า
ดังนั้น การพิสูจน์การมีอยู่ของระบบทาสด้วยการหาตัวทาสและรูปธรรมของการขูดรีดออกมาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและทำให้ยอมรับข้อเท็จจริงนั้นเลยก็ไม่ใช่ง่ายเช่นกัน
จิตรจึงใช้ความชำนาญเฉพาะตัวของเขาคือภาษามาช่วยเป็นหลักฐานว่าในสังคมไทยและขอมอดีตมีคำว่าทาสใช้ก่อนแล้ว แสดงว่าก็ต้องมีคนที่เป็นทาส ส่วนการกดขี่ขูดรีดมากน้อยก็มาจากความสัมพันธ์ในการผลิตระหว่างเจ้าทาสกับทาสที่ต้องแสดงให้เห็นต่อไป
ทั้งหมดนั้นทำให้จิตรเสนอข้อค้นคว้าใหม่ว่าด้วยระบบชุมชนบุพกาลเพื่อมาประกอบคำอธิบายประเด็นที่เป็นกุญแจในการไขให้เห็นเส้นทางและวิถีการวิวัฒน์เข้าสู่สังคมทาสแล้วจึงนำไปสู่การเข้าสู่สังคมศักดินา อยู่ที่การนำเสนอให้เห็นในทางประจักษ์ว่าก่อนจะเกิดสังคมทาสและวิถีการผลิตทาสนั้น ในดินแดนประเทศของคนไทยนั้นมีระบบสังคมที่เป็นต้นตอแหล่งกำเนิดของการทำให้เกิดระบบทาสขึ้นมาไหม ถ้าไม่มีก็ยากจะทำให้คนยอมรับว่าก่อนสุโขทัยมีสังคมทาสมาก่อนแล้ว
นั่นคือการที่จิตรมองออกไปข้างนอกประเทศไทย แล้วพบว่าในดินแดนโบราณของคนเชื้อชาติไทยที่อยู่ในเวียดนาม จีนตอนใต้และอัสสัมในอินเดียนั้นมีกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบชุมชนบุพกาลที่มีหลักฐานและอ้างอิงอย่างเป็นระบบ ประเด็นนี้ยิ่งเห็นความเป็นอัจฉริยะในการวิเคราะห์วิวัฒนาการของชุมชนโบราณไทยของจิตรเป็นอย่างยิ่ง
บทที่ว่านี้คือ “จากระบบชุมชนไทยบุพกาลมาสู่ระบบทาส” เขาใช้หลักฐานเรื่องชุมชนโบราณของชนเชื้อชาติไทยในดินแดนอื่นๆ เช่นในตังเกี๋ยในเวียดนาม โดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้เป็นกวานเจ้า” ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทั่วอาณาเขตที่ตนมีอำนาจปกครอง กับชาวบ้านผู้ทำมาหากินในอาณาเขตนั้น ซึ่งมีลักษณะของกรรมสิทธิ์รวมหมู่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของปัจเจกชน
ดังนั้น กวานเจ้าจึงต้องแบ่งปันที่ดินออกไปเป็นส่วนๆ ตามฐานะและตำแหน่งของลูกบ้าน รองลงไปก็เป็นกวานบ้านและเจ้าองหรือเทอหลายซึ่งเป็นผู้ช่วยในการบริหารบ้านเมือง จากนั้นแบ่งที่ดินให้นายบ้านทุกคน จากนั้นก็แบ่งย่อยลงไปยังท้าว จนที่สุดถึงลูกบ้านล่างสุด
ลักษณะเช่นนี้ทำทีคล้ายกับระบบศักดินา แต่จิตรบอกว่าไม่ใช่ “ทั้งนี้เพราะพวกนายบ้านซึ่งเรียกว่า “กวานบ้าน” คือหัวหน้าของหมู่บ้าน ได้ทำการแบ่งปันที่นาให้แก่ครัวเรือนต่างๆ อีกทอดหนึ่งสำหรับทำมาหากินโดยมิได้เรียกร้องค่าเช่า ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบนี้จึงไม่ได้มีจุดหมายที่การขูดรีดเอาเปรียบผู้มีอำนาจน้อยกว่า หากแต่เน้นที่การแบ่งปัน จุดหมายสูงสุดคือผลประโยชน์ของชุมชน ไม่ใช่ที่ตัวผู้มีอำนาจเป็นเจ้าเป็นนาย (เน้นโดยผู้เขียน)
บทนี้แสดงถึงความเข้าใจในวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ลัทธิมาร์กซ์ของจิตรที่ลึกซึ้งและไม่ใช่ลัทธิคัมภีร์อย่างแน่นอน จิตรยกระดับการวิเคราะห์จากชนชั้นมิติเดียว ไปสู่การค้นหาในการปฏิบัติว่าในขั้นตอนต่างๆ ของการแบ่งงานของสังคมสอดคล้องกับรูปแบบทรัพย์สินอะไร
กล่าวโดยรวม รูปแบบทรัพย์สินมีเพียงสองแบบคือแบบรวมหมู่กับของเอกชน ซึ่งแต่ละรูปแบบก็ดำเนินไปเพื่อรักษาการอยู่รอดและพัฒนาการต่อไปของสังคม แต่จุดหมายที่จิตรต้องการนำเสนอต่อไปไม่ใช่อยู่เพียงที่ระบบชุมชนบุพกาลนี้ ซึ่งจิตรคิดว่า “ลักษณะของมันใกล้เคียงไปในทางระบบชมรมกสิกรรมของชาติกุลในปลายยุคชุมชนบุพกาล (Primitive Commune) ซึ่งถือกันว่าเป็นระบบคอมมิวนิสต์ยุคดึกดำบรรพ์”
ตรงนี้จิตรนำระบบชุมชนไทยบุพกาลไปเทียบให้เห็นว่ามันเป็นลักษณะทั่วไปเพื่อบอกว่าระบบชุมชนโบราณไทยก็วิวัฒนาการมาเหมือนกับของคนอื่นเหมือนกัน ประเด็นต่อไปคือการอธิบายว่าแล้วชุมชนไทยบุพกาลนี้ทำไมถึงเปลี่ยนมาเป็นสังคมทาส
จิตรสรุปวิวัฒนาการของระบบชุมชนไทยบุพกาลมาสู่ระบบทาสไว้ดังนี้ เริ่มจากการรบพุ่งแย่งชิงอาหาร ที่ทางทำกินระหว่างชาติกุลต่างๆ เป็นเวลาหนึ่ง ไปสู่ “การที่ฝ่ายชนะฆ่าทิ้งฝ่ายแพ้ทั้งหมดเพื่อให้สิ้นหนาม ต่อมาเกิดความคิดที่จะเก็บกวาดเชลยศึกมาไว้ใช้งานเพื่อให้ทำการผลิตแทนตน จึงได้เลิกฆ่าเชลยศึก
แต่นั้นมาพวกเชลยศึกก็ตกเป็นทาส เป็นเครื่องมือหรือปัจจัยแห่งการผลิตที่สำคัญ ชนชั้นนายทาสกับชนชั้นทาสจึงเกิดขึ้น นายทาสต่อนายทาสเกิดรบพุ่งชิงที่ทางทำมาหากินและชิงทาสกันและกันอีกนมนาน จึงเกิดนายทาสขนาดใหญ่ เกิดกลุ่มนายทาสเกิดรัฐทาส ซึ่งทาสทั้งมวลในรัฐทาสนี้แหละจะกลายมาเป็นเลกของยุคศักดินาเมื่อรัฐทาสทลายลง ถ้าไม่มีทาสมาก่อนแล้ว เลก ของศักดินาจะมาจากไหน? พระอินทร์ประทานลงมาจากสวรรค์กระนั้นหรือ?”
ทฤษฎีวิวัฒนาการจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ “สภาพของชีวิตอันเกิดมีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงแหล่งทำเลทำมาหากินที่ไทยต้องทำกับชนพื้นเมืองเดิมก็ดี หรือการต่อสู้ช่วงชิงทาสระหว่างไทยกับรัฐบาลของเขมรก็ดี เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ระบบผลิตของสังคมไทยพัฒนาไปสู่ระบบทาสได้อย่างสมบูรณ์ การรบชนะเจ้าของดินถิ่นเดิมหรือรบชนะพวกชาติกุลอื่น
ทำให้ไม่จำเป็นต้องผลิตรวมหมู่แบบช่วยกันทำเหมือนสมัยชมรมกสิกรรมของยุคชุมชนบุพกาลอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะแต่ละครัวหรือสกุล ต่างมีทาสเชลยเป็นพลังแห่งการผลิต การผลิตโดยเอกเทศแบ่งแยกกันก็เกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการขูดรีดแรงงานทาส” (การเน้นเป็นของผู้เขียนบทความนี้)
(ยังมีต่อ)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022