‘โอกาส-ความเสี่ยง’

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน “เน็ตฟลิกซ์” สร้างปรากฏการณ์ใหม่

เขาถ่ายทอดสดการชกมวยระหว่าง “ไมค์ ไทสัน” อดีตแชมป์มวยรุ่นเฮฟวีเวท ผู้ยิ่งใหญ่ กับ “เจค พอล” นักชกที่โด่งดังจากยูทูบเบอร์

ไม่ใช่การชกโชว์ แต่เป็นการชกแบบจริงๆ ที่เป็นสถิติการชกของนักมวย

“ไทสัน” ตอนนี้อายุ 58 ปีแล้ว

ร่างกายก่อนชกยังล่ำบึ้กเหมือนเดิม

แต่ฟอร์มการชก ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร

มีคนจำนวนมากที่ยอมตื่น 8 โมงเช้าในวันหยุดเพื่อมาดูมวยคู่นี้

ส่วนใหญ่เป็นแฟนคลับที่เคยชมความยิ่งใหญ่ของ “ไทสัน” มาก่อน

เป็นความรู้สึกโหยหาภาพเก่าๆ

เหมือนไปดูคอนเสิร์ตของ “พี่เบิร์ด” หรือนักร้องยุค 90

ก่อนที่เขาจะพบ “ความจริง” 2 เรื่อง

เรื่องแรก มวยคู่นี้ไม่ชก 8 โมงเช้าตามที่โฆษณา

คอมวยที่ดูการถ่ายทอดสดการชิงแชมป์โลกจะรู้ดีว่าเวลาที่ประกาศกับเวลาที่ชกจริงไม่ตรงกัน

กว่า “คู่เอก” จะชกจริง ต้องมีคู่ก่อนเวลาก่อน

ครับ “ไทสัน-เจค พอล” ขึ้นเวทีตอนเที่ยง

นั่นคือ “ความจริง” ข้อแรก

ชก 8 โมงเช้า ไม่มีจริง

ผมพอจะประเมินแล้วว่าคู่นี้คงเหมือนแมตช์มวยระดับโลกคู่อื่นๆ

และไม่ได้อยากดูมากนัก

ดังนั้น กว่าผมจะลงจากห้องนอนก็ประมาณ 9 โมงเช้า

เปิด “เน็ตฟลิกซ์” ดู เห็นเป็นคู่ก่อนเวลาก็ปิดทันที

ทำอะไรไปเรื่อยๆ จนลืม

สุดท้ายก็ไม่ได้ดู

เรื่อง “การลืม” ก็ถือเป็น “ความจริง” ส่วนตัวครับ

“ความจริง” เรื่องที่สอง คือ “อดีต” ก็คือ “อดีต”

จะโหยหาแค่ไหนก็ไม่มีวันหวนคืน

“ไทสัน” เคยยิ่งใหญ่แค่ไหนในช่วงที่เขายังหนุ่ม

พอถึงวัย 58 สิ่งที่เคยทำ หรืออยากทำก็ไม่สามารถทำได้ในวัยนี้

เราจึงไม่ได้เห็นความดุดัน และหมัดที่หนักหน่วงเหมือนในอดีต

ครับ “ไทสัน” แพ้คะแนนขาดลอย

แบบยกสุดท้าย “เจค พอล” ถึงขั้นทำท่าคารวะ “ไทสัน”

และยื่นนวมให้แตะ เป็นสัญญาณว่า “พอแล้ว”

เขาไม่ทำร้ายความยิ่งใหญ่ของ “ไทสัน” ต่อไป

ผมจำได้ว่าตอนสมัย “ไทสัน” ยังรุ่งเรือง

เห็นเขาน็อกคู่ต่อสู้ชนิดหลับกลางอากาศมาหลายคน

ผมยังเคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนว่าถ้ามีเรื่องกับ “ไทสัน” แล้วเรามีไม้เบสบอลในมือ

เราจะทำอย่างไร

เพื่อนตอบสั้นๆ แบบมั่นใจ

“กูจะชวนไทสันเล่นเบสบอล”

 

ตอนที่ดูข่าวมวยคู่นี้ มี 2 เรื่องที่ผมนึกถึง

เรื่องแรก เป็นโพสต์ของพี่เสถียร จันทิมาธร ในเพจ

เขาเขียนถึงเรื่อง “ความเหลื่อมซ้อน” กันระหว่างคำว่า “สุขุม” และ “คิดช้า”

คนที่สุขุมมักไม่ตัดสินใจอะไรอย่างรวดเร็ว

เขาจะคิด-คิด-คิด ก่อนตัดสินใจ

ซึ่งคล้ายๆ กับคนที่ “คิดช้า”

คำถามก็คือ ความแตกต่างของ 2 สิ่งที่คล้ายคลึงกันอยู่ที่ไหน

คำตอบของ “พี่เถียร” ละเมียดละไมอย่างยิ่ง

…กระนั้น สำหรับบางคนก็สงสัย

ระหว่าง “สุขุม” กับ “คิดช้า”

เหมือนหรือต่าง

จะประเมินอย่างไร

“สุขุม” มาจาก “ครุ่นคิด”

ใน “ครุ่นคิด” ต้อง “เยือกเย็น”

จำเป็นต้อง “รอคอย”

ภายใน “ครุ่นคิด” สะท้อน “เรือ” เชื่องช้า

2 ส่วนนี้จึง “เหลื่อมซ้อน”

ละม้าย เหมือน

ปัจจัยชี้ขาดจึงอยู่ที่ “ผล”…

ครับ “ผลลัพธ์” คือ คำตอบ

เรื่องไหน…คิดช้า

เรื่องไหน…สุขุม

เช่นเดียวกับคำว่า “โอกาส” และ “ความเสี่ยง”

เป็น “ความเหลื่อมซ้อน”

ที่คล้าย แต่ไม่เหมือน

 

ผมเคยฟัง “ต้นสน” ดร.สันติธาร เสถียรไทย บรรยายในหลักสูตร V.A.I.P.

เขาพูดถึง “มุมมอง” ของคนที่เป็น “แชมป์” กับ “ผู้ท้าชิง”

2 คนนี้จะมองทุกเรื่องแตกต่างกัน

คนที่เป็น “แชมป์” จะมองทุกอย่าง คือ “ความเสี่ยง”

แต่ “ผู้ท้าชิง” จะมองว่าเป็น “โอกาส”

ผมนึกถึง “ความเปลี่ยนแปลง” ใหม่ๆ ที่เกิดในโลกใบนี้

คนที่อยู่เบอร์ 1 จะไม่ชอบ “ความเปลี่ยนแปลง”

เพราะมันคือ “ความเสี่ยง”

อยู่เฉยๆ เขาเป็นเบอร์ 1

แต่ทันทีที่กระแสความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และกระทบต่อธุรกิจหรืออำนาจที่เขามีอยู่

เขามี “ความเสี่ยง” ที่จะเสียแชมป์

ในขณะที่คนที่เป็น “ผู้ท้าชิง”

ทุก “ความเปลี่ยนแปลง” คือ “โอกาส”

เพราะถ้าเขาสามารถยืนอยู่บนยอดคลื่นความเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ ในขณะที่แชมป์ปรับตัวไม่ทัน

นั่นคือ จังหวะของ “โอกาส” ที่เขาจะเปลี่ยนสถานะ

จาก “ผู้ท้าชิง”

กลายเป็น “แชมเปี้ยน”

นี่คือ เรื่องที่สองที่ผมนึกถึง

 

กรณีของ “ไมค์ ไทสัน” กับ “เจค พอล”

น่าสนใจว่าทั้งคู่มองการชกครั้งนี้อย่างไร

เพราะไม่ใช่การชิงแชมป์

แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างคนที่เคยยิ่งใหญ่ กับคนที่อยากมีชื่อเสียง

“ไทสัน” ไม่ต้องการ “ชื่อเสียง” แล้ว

เพราะคนทั้งโลกรู้จักเขา

แต่ “เจค พอล” ต้องการ “ชื่อเสียง”

เพราะก่อนการชก ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเขาคือใคร

แต่หลังการชกครั้งนี้ คนเริ่มคุ้นชื่อและลีลาการชกของ “เจค พอล” แล้ว

ในโลกยุคใหม่ “ชื่อเสียง” ขายได้

บางที “ชื่อเสียง” นั้นมีค่าสามารถทำเงินได้มากกว่า “ฝีมือ” อีก

“โรนัลโด้” ไม่ได้เล่นเก่งกว่า “เมสซี่”

แต่ทำเงินมากกว่า “เมสซี่” เยอะมาก

เช่นเดียวกับ “เดวิด เบ็คแฮม”

เพราะ 2 คนนี้บริหารภาพลักษณ์และมีบุคลิกความเป็นซูเปอร์สตาร์มากกว่า “เมสซี่”

“ไทสัน” ขึ้นเวทีครั้งนี้มี 2 เหตุผล

เหตุผลแรก คือ เขาอยากชกให้ลูกได้เห็นพ่อบนเวทีกับตา ไม่ใช่เห็นในยูทูบ

เป็นวิธีคิดคล้ายกับ “ไทเกอร์ วู้ดส์”

เหตุผลที่สอง คือ หาเงินเป็นรายได้ก้อนใหญ่ก่อนเกษียณ

“ไทสัน” ได้เงินเข้ากระเป๋าประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ

หรือประมาณ 660 ล้านบาท

ส่วน “เจค พอล” เป็นยูทูบเบอร์ที่มีผู้ติดตาม 27 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน

แต่การชกครั้งนี้นอกจากเขาจะได้เงิน 40 ล้านเหรียญแล้ว

เขายังได้ผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจากทั่วโลก

และชื่อเสียงที่รู้จักระดับโลกครั้งนี้ยังไปทำมาหากินได้อีกนาน

ครับ ในวันที่ไม่มี “แชมป์” และ “ผู้ท้าชิง”

การชกครั้งนี้จึงไม่มี “ความเสี่ยง”

มีแต่ “โอกาส” เพียงอย่างเดียว •