ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
ตลาดหุ้นไทยสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อปรากฏข่าว ศาลอนุมัติออกหมายจับ “นายแพทย์บุญ วนาสิน” หรือ “หมอบุญ” อดีตประธานกรรมการ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กับพวกรวม 9 คน ในคดีฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน รวมถึงคดีเกี่ยวกับเช็ค ความเสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ชื่อของ “หมอบุญ” เป็นที่คุ้นหูกันดีสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ด้วยความที่มักจะเป็น “เจ้าโปรเจ็กต์” ใหญ่ๆ อยู่เสมอ อย่างช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ชื่อของ “หมอบุญ” ก็ปรากฏอยู่ในพื้นที่สื่ออย่างต่อเนื่อง จากการออกมาให้ข่าวอ้างดีลจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด แต่สุดท้าย ดีลที่ว่า ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
ข้อมูลจากตำรวจระบุว่า “หมอบุญ” ในวัย 86 ปี (เกิดวันที่ 28 พฤษภาคม 2481) เดินทางออกนอกประเทศ ไปตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2567 และไม่กลับเข้ามา ซึ่งทางตำรวจมั่นใจว่า “มีพฤติการณ์เข้าข่ายหลบหนี” จึงได้ขอให้ศาลอนุมัติหมายจับดังกล่าว
ขณะที่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ตำรวจจับกุม น.ส.จารุวรรณ กับ น.ส.นลิน วนาสิน ภรรยาและบุตรสาวของ “หมอบุญ”
ส่วนตัว “หมอบุญ” ที่ยังอยู่ต่างประเทศ ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งการให้ประสานตำรวจสากลไล่ล่า นำตัวกลับมาดำเนินคดี
สําหรับที่มาที่ไปของคดีนี้ ตามการแถลงของตำรวจนครบาล มาจากกรณีที่มีการกล่าวอ้างชักชวนให้ลงทุนใน 5 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า บนพื้นที่ 7 ไร่ ใช้งบประมาณลงทุน 4,000 ล้านบาท ซึ่งอ้างว่าจะทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
2. โครงการเวลเนสเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 5 ไร่เศษ ใช้งบฯ ลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท
3. โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว จำนวน 3 แห่ง
4. โครงการเข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในเวียดนาม งบฯ ลงทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท
และ 5. โครงการก่อสร้าง Medical Intelligence งบประมาณราว 100 ล้านบาท โดยในการชักชวนนักลงทุน มีการอ้างว่า ปี 2566 จะได้กำไร 700 ล้านบาท และปี 2567 จะได้กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท
ทำให้มีผู้หลงเชื่อ และตกลงทำสัญญากู้ยืมเงิน ให้ดอกเบี้ย และมีการจ่ายเช็ค เพื่อชำระเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งค่าดอกเบี้ย โดยมี “หมอบุญ” เป็นผู้ลงลายมือชื่อ รวมถึงมีลายเซ็นภรรยาและบุตรสาว เป็นผู้ค้ำประกันด้วย
ซึ่งช่วงแรกมีการชำระดอกเบี้ยให้บางส่วน บางราย แต่ต่อมาไม่จ่ายเลย รวมถึงเงินต้นก็ไม่คืน เช็คก็เด้ง ถูกธนาคารปฏิเสธจ่ายเงิน
ข้อมูลจากทางตำรวจบอกว่า ตรวจสอบแล้วโครงการทั้งหมดไม่มีอยู่จริง และจากการสืบสวนพบว่า “หมอบุญ” เป็นตัวการในการคิดโครงการ คิดเรื่องสัญญากู้ยืมเงิน ร่างสัญญา ลงมือจ่ายเช็ค และได้รับประโยชน์ไป ส่วนภรรยากับบุตรสาว เข้าข่ายเป็นผู้ร่วมค้ำประกัน
นอกจากนี้ ยังมีเลขานุการ 2 คน ที่ลงนามเป็นพยาน และมีกลุ่มโบรกเกอร์ ที่เป็นผู้ร่วมนำเสนอชักชวนการลงทุน ซึ่งเข้าข่ายมีความผิดด้วย
ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยืนยันว่า ได้ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด แต่ข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า “หมอบุญ” ได้กระทำในนามส่วนตัว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ THG จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งยังไม่เข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ)
อย่างไรก็ดี กรณีบริษัท THG ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 เกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อยของ THG ในการทำรายการให้กู้ยืมเงินให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มครอบครัววนาสิน รวมทั้งการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้รับมอบสินค้าจริง โดย ก.ล.ต.ได้ดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด
ส่วนกรณีที่มีโบรกเกอร์เกี่ยวข้องนั้น นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง เพื่อนำมาพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
“หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อไป หรือในกรณีพบว่ามีการกระทำเข้าข่ายกระทำผิดภายใต้กฎหมายอื่น ก.ล.ต.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”
ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ก.ล.ต.ได้ขอให้พนักงานอัยการฟ้อง “หมอบุญ” ต่อศาลแพ่ง กรณีเผยแพร่ข้อความที่อาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและราคา THG เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
ส่วนสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นใน THG นั้น ปัจจุบันผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คือ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) จำนวน 208,378,474 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 24.59% อันดับ 2 นางจารุวรรณ วนาสิน ถือ 120,540,789 หุ้น สัดส่วน 14.22% ส่วนนายแพทย์บุญ วนาสิน ถือหุ้นในลำดับที่ 17 จำนวน 5,801,848 คิดเป็นสัดส่วน 0.68% นอกจากนี้ ยังมีนางณวรา วนาสิน ถือหุ้นลำดับที่ 6 จำนวน 25,663,863 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.03%
ซึ่งรวมแล้วตระกูลวนาสิน ถือหุ้น THG รวมกัน 152 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 17.93% น้อยกว่ากลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง ที่ถือในสัดส่วน 24.59%
จะเห็นได้ว่า ช่วงที่ผ่านมา ทางบริษัท THG มีการออกมาให้ข้อมูลตอบโต้การกระทำของ “หมอบุญ” อย่างต่อเนื่อง รวมถึงล่าสุด ได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้าง ทั้งยังตรวจสอบพบรายการอันควรสงสัยอีกหลายรายการ
พร้อมประกาศว่า จะดำเนินการทางกฎหมายต่ออดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดรายการอันควรสงสัยดังกล่าว เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น
งานนี้ สรุปได้ว่า “หมอบุญ” คง “หมดบุญ” กับ THG สิ้นแล้ว แม้ว่าจะเป็นอดีตผู้ร่วมก่อตั้งก็ตาม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022