ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
ใครที่ติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้หากต้องการเข้าใจการเมืองสหรัฐให้ลึกซึ้งเพื่อทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันต้องตั้งคำถามหลายข้อ
หนึ่งในคำถามที่ผมพยายามหาคำตอบคือ
ตกลงความพ่ายแพ้ของกมลา แฮร์ริส คือเรื่องปากท้องกับเรื่องผู้อพยพ สองปัจจัยนี้เลยใช่ไหม?
พรรคเดโมแครตพลาดพลั้งตรงไหน? โพลทั้งหลายมองข้ามประเด็นอะไรจึงเชื่อว่านี่เป็นการเลือกตั้งที่สูสีคู่คี่แบบหายใจรดต้นคอ ทั้งๆ ที่ผลออกมาโดนัลด์ ทรัมป์ ทิ้งห่างแบบเกือบจะแลนด์สไลด์
ข้อมูลเชิงลึกบอกว่าพรรคเดโมแครตเพิ่งจะตระหนักตอนใกล้ๆ วันเลือกตั้งว่าการหาเสียงแบบใช้วาทกรรมแบบนามธรรมนั้นไม่โดนใจผู้ใช้สิทธิส่วนใหญ่
เช่น คนที่รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็น “รัฐสมรภูมิรบ” ที่สำคัญที่สุด พูดถึงเรื่องข้าวของแพงเพราะเงินเฟ้อที่หนักหนากว่าหลายปีที่ผ่านมา
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐนี้เป็นชนชั้นแรงงานเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก
กลายเป็นว่าการหาเสียงของแฮร์ริสถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ความคิดเพ้อฝัน” เทียบกับ “ความเป็นจริง” ที่ทรัมป์สามารถสื่อสารกับชนชั้นคนทำงานได้ดีกว่า
ที่น่าเจ็บปวดสำหรับคนที่ผิดหวังกับความพ่ายแพ้ของแฮร์ริสคือความจริงที่ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากที่ไม่สนใจว่าบุคลิกหรือมาตรฐานศีลธรรมส่วนตัวของทรัมป์เป็นอย่างไร
แต่เมื่อไม่มีเงินพอจะผ่อนซื้อรถหรือบ้านได้ เรื่องอื่นๆ ในการหาเสียงก็กลายเป็นเรื่องรอง
ทีมของทรัมป์เชื่อว่าหากการเลือกตั้งตัดสินด้วยเรื่องของนโยบาย ไม่ใช่บุคลิกภาพ ทรัมป์ชนะแน่
แล้วก็กลายเป็นเรื่องจริงตามนั้น
แม้แต่รัฐแคลิฟอร์เนียที่เป็นรัฐ “สีน้ำเงินเข้ม” ที่อยู่กับฝ่ายเดโมแครตมาตลอด ก็ยังมีสีแดงทาบเข้ามาใน 10 เขตเลือกตั้งของกว่า 50 เขต
ผมคุยกับคุณภาณุพล รักแต่งาม บรรณาธิการสื่อสยามทาวน์ยูเอสที่ลอสแองเจลิส
เขาบอกว่าแคลิฟอร์เนีย ไม่ “บลู” อย่างที่เคยเชื่อกันแล้ว
พรรคเดโมแครตจึงมีหนาว ไม่ใช่เฉพาะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่สำหรับการเมืองในทุกระดับจากนี้ไป
เพราะสถานการณ์ได้พลิกผันไปคนละด้านโดยสิ้นเชิงแล้ว
นโยบายหาเสียงของแฮร์ริสไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นใน “ยามยาก” ของคนส่วนใหญ่
ทำให้ผลการเลือกตั้งในรัฐสีน้ำเงินอย่างแคลิฟอร์เนียปีนี้ ต่างจากปี 2020 ค่อนข้างเห็นชัด
ชัยชนะของทรัมป์รอบนี้เกิดจากเสียงของประชาชนแทบทุกกลุ่ม รวมถึงผู้หญิง และลาติโน่
หรือแม้แต่เสียงคนรุ่นใหม่
ซึ่งควรจะเป็นของแฮร์ริสแทบทั้งสิ้น
ตอนที่ทรัมป์พ่ายแพ้ให้กับโจ ไบเดน ในปี 2020 ทุกฝ่ายเห็นเหมือนกันว่าอนาคตทางการเมืองของเขาดับวูบลงแล้ว
เพราะนอกจากจะได้รับฉายา “ประธานาธิบดีที่เลวร้ายที่สุด” จากวีรกรรมสวนกระแสโลกสารพัด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด-19, โลกร้อนและความเห็นแปลกแยกไปจากสังคม “ปัญญาชน” ในภาคส่วนต่างๆ
มิหนำซ้ำยังเป็นผู้นำคนแรกที่ถูกฟ้องถอดถอน (impeached) ถึงสองหนสองคราว
แถมยังมีเรื่องฉาวโฉ่เรื่องเสื่อมเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดนทั้งคดีแพ่งและอาญานับไม่ถ้วน
ที่ร้ายแรงอย่างโจ่งแจ้งน่าจะเป็นคดีเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “ก่อจลาจลที่รัฐสภา” เมื่อเดือนมกราคม 2021 ด้วย
แต่การเมืองไม่เคยมีอะไรที่เป็น “ปัจจัยถาวร” ตลอดไป
เพราะในช่วงสามปีเศษๆ ที่ผ่านมาคะแนนนิยมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีเดโมแครตคนไหนเจอมาก่อน
เดิมที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เป็น “ปรปักษ์” ต่อทรัมป์จึงเปลี่ยนไป
โดยที่ทีมวิเคราะห์สถานการณ์ของพรรคเดโมแครนมองข้ามไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ถึงขั้นบางสำนักบอกว่าความพ่ายแพ้แบบ “หมดรูป” ของเดโมแคตรอบนี้ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ให้กับโดนัลด์ ทรัมป์
หากแต่เป็นการพ่ายแพ้ตัวเองมากว่า
ตรวจสอบแนววิเคราะห์หลายค่ายสรุปเกือบจะตรงกันว่าในการเลือกตั้งปีนี้ ประเด็นที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจมากที่สุดคือปัญหาปากท้องของตัวเองที่สืบเนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา
ซ้ำเติมด้วยปัญหาอาชญากรรมที่ถูกทรัมป์นำไปโยงต่อกับปัญหาลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
โดนใจคนที่กำลังตกงานและมีรายได้ต้นเดือนไม่ชนปลายเดือน
เรื่องปากท้องและสไตล์การหาเสียงแบบถึงลูกถึงคนของนี่แหละที่ทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่คล้อยตามคำหาเสียงของทรัมป์
และทำให้ลืมหรือไม่ก็มองข้าม “จุดด่างพร้อย” ของทรัมป์เฉยเลย
แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐสีน้ำเงินต่อเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1988
ที่เกิดมีสีแดงมาโผล่ในหลายๆ เขตเลือกตั้งในรัฐนี้ครั้งนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ช็อกผู้คนไม่น้อย
เพราะคนเหล่านี้ไม่ตระหนักว่าแคลิฟอร์เนียได้กลายเป็นหนึ่งในรัฐที่เผชิญปัญหาหนักหนาที่สุดในประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ราคาบ้านที่พุ่งพรวดพราดปัญหาอาชญากรรมที่เลวร้ายลงตลอด
อีกทั้งยังมีวิกฤตอินชัวรันซ์และปัญหาคนไร้บ้านที่ไม่มีวี่แววว่าจะกระเตื้องขึ้น
ในภาวะที่ชีวิตเผชิญกับอุปสรรคมากมายก่ายกองอย่างนี้ แฮร์ริสกลับยังเน้นหาเสียงด้วยนโยบายที่เน้นเมตตาธรรม, สิทธิมนุษยชน และอนุรักษ์สภาวะแวดล้อม
คนไทยที่นั่นเล่าตัวอย่างเรื่องการจัดเกรดของน้ำมันในแคลิฟอร์เนีย
กฎหมายกำหนดให้เป็นเกรดสูงสุด เพื่อให้ปล่อยลภาวะน้อยที่สุด
แต่ผลที่ตามมาคือประชาชนต้องซื้อน้ำมันในราคาแพงที่สุดในประเทศ
ยังมีประเด็นค่าแรงขั้นต่ำในบางสาขาอาชีพที่ตั้งไว้สูงจนมีผลให้ค่าครองชีพพุ่งขึ้นจนประชาชนรับไม่ไหว
สถิติของผลเลือกตั้งครั้งนี้จึงฟ้องว่าพรรคเดโมแครตกำลังสิ้นมนต์ขลังสำหรับคนในรัฐนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ผลการเลือกตั้งของรัฐนี้จึงแตกต่างจากปี 2020 อย่างชัดเจน
โจ ไบเดน เคยชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยสัดส่วน 63.5 ต่อ 34.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020
แต่ปีนี้ แฮร์ริสเอาชนะทรัมป์ ไปด้วยสัดส่วนที่แคบลงไปมาก คือ 57.6 ต่อ 39.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ดูเฉพาะคะแนนรวม หรือ popular votes ก็ยิ่งเห็นภาพชัด
ชาวแคลิฟอร์เนียเคยออกมาลงคะแนนให้ไบเดนมากถึง 11 ล้านเสียงในปี 2020 นั้น
ปีนี้ เสียงที่แฮร์ริสได้รับหดลงเหลือแค่ 6 ล้านเสียง หรือหายไปถึง 5 ล้านเสียง
ขณะที่คะแนนเสียงของทรัมป์ลดลงประมาณ 2 ล้าน คือจาก 6 ล้านในปี 2020 เหลือ 4.1 ล้านในปีนี้
วิเคราะห์กันว่าคะแนนของผู้สมัครจากเดโมแครตที่หดหายไปอย่างมากนั้น สาเหตุใหญ่เกิดจากการไม่ออกมาใช้สิทธิ
และอีกส่วนหนึ่งถูกเทไปให้กับ “ตัวเลือกใหม่”
นั่นคือผู้สมัครอิสระ อย่าง โรเบิร์ต เคนเนดี้ จูเนียร์ (ที่มาเข้ากับทรัมป์แล้ว) และ จิลล์ สเติร์น ที่กวาดคะแนนรวมๆ กันได้ประมาณ 2.6 แสนเสียง
คุณภาณุพล ลงรายละเอียดให้เห็นว่าที่สำคัญคือใน 57 เคาน์ตี้ของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น คะแนนเสียงถูกแบ่งระหว่างทรัมป์กับแฮร์ริสชนิดครึ่งต่อครึ่ง
เพราะหลายเคาน์ตี้ถูกทรัมป์พลิกหรือ “flipped” กลายเป็นสีแดงได้สำเร็จ
รวมถึง อินโย, ซานเบิร์นนาดิโน่, เฟรสโน่ และออเรนจ์ เคาน์ตี้ เป็นต้น
ยังดีที่เคาน์ตี้ชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ฮัมโบลด์ท์ เคาน์ตี้ ตอนเหนือสุด ผ่านแอลเอ ลงไปถึงซานดิเอโก้ และอิมพีเรียล เคาน์ตี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นเคาน์ตี้ขนาดใหญ่ ยังคงเป็นพื้นที่สีน้ำเงินอยู่
อีกสาเหตุหนึ่งของความพ่ายแพ้ของแฮร์ริสคือ social media ที่ฝ่ายทรัมป์ใช้อย่างได้ผลกว่าค่ายแฮร์ริสอย่างน่ามหัศจรรย์
ดังจะได้เล่าขานกันต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022