ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
การเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียถึงอุษาคเนย์ ไม่เป็นแบบไหลบ่าถาโถมทะลักล้น แต่มีลักษณะทยอยสั่งสมสืบเนื่องยาวนานหลายร้อยปี หรือเกือบพันปีก็ได้ ดังนี้
(1.) เริ่มจากการเข้ามาของพ่อค้านักเสี่ยงโชคชาวอินเดีย (2.) หลังจากนั้นมีการแต่งงานระหว่างพ่อค้านักเสี่ยงโชคชาวอินเดียกับหญิงพื้นเมือง ดังพบตัวอย่างเรื่องเล่านางนาคโสมากับพราหมณ์โกณฑินยะ (3.) ชุมชนชาวอินเดียมีในบ้านเมืองใหญ่ที่เป็นสถานีการค้าสมัยเริ่มแรก เช่น เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) เท่ากับด้านพื้นฐานสังคมวัฒนธรรมอินเดียมีขึ้นแล้วในดินแดนไทย
วัฒนธรรมอินเดียแผ่ถึงอุษาคเนย์ด้วยการอาศัยเรือของพ่อค้านักเสี่ยงโชคไปกับการค้าระยะไกลทางทะเล ตั้งแต่ 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000 มี 2 ความหมาย ได้แก่
1. วัฒนธรรมอินเดียใต้ ซึ่งเป็นดินแดนรัฐทมิฬ เป็นต้นแบบการสร้างปราสาทหิน, ตัวอักษรปัลลวะ, มหากาพย์มหาภารตะและรามายณะ (รามเกียรติ์), คำว่าโขน เป็นต้น
[คำว่า ทมิฬ ในภาษาทมิฬ แปลว่า คน แต่ในภาษาไทยแปลว่าดุร้าย, โหดร้าย เพราะรับความหมายจากลังกาซึ่งมีอคติต่อทมิฬเนื่องจากมีความขัดแย้งกัน]
2. วัฒนธรรมดั้งเดิม (คัมภีร์เก่าเรียกชมพูทวีป) ที่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมเปอร์เซีย (อิหร่าน) และวัฒนธรรมกรีก เป็นต้น ที่อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย-กรีก”
สุวรรณภูมิสมัยเริ่มแรกไม่เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนา ไม่ว่าศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะแรกสุดเป็นเรื่องการค้าระยะไกลทางทะเลเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายทองแดงและการค้าระหว่างอินเดียกับจีน
ส่วนการเผยแผ่ศาสนาเป็นผลพลอยได้ตามไปทีหลังเมื่อกลุ่มผู้นำทางการเมืองในอินเดีย และรวมลังกา ใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการค้า เนื่องเพราะศาสนาพุทธสนองกิจกรรมการค้าและใกล้ชิดเศรษฐีผู้มั่งคั่งจากการค้า จึงส่งพระสงฆ์อาศัยเรือพ่อค้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธในบ้านเมืองสุวรรณภูมิ (เพื่อขยายอำนาจไปควบคุมเส้นทางการค้าทางไกลและชุมทางการค้ากับจีนและเครือข่าย) ด้วยการผสมกลมกลืนความเชื่อพื้นเมือง แล้วเกิดสิ่งใหม่เป็นศาสนาสุวรรณภูมิ
ศาสนาพุทธจากอินเดียถึงสุวรรณภูมิตั้งแต่เมื่อไหร่? ไม่พบหลักฐานตรงไปตรงมา ทำให้ต้องคาดคะเนว่าน่าจะมีลักษณะเริ่มแรกทยอยตามสถานการณ์สังคม การค้าครั้งนั้น แล้วเข้มข้นขึ้นสมัยหลังเมื่อได้รับสนับสนุนเป็นทางการจากอำนาจรัฐที่หนุนศาสนาพุทธ ซึ่งย้ายจากอินเดียไปอยู่ลังกา
ในไทย เรื่องศาสนาพุทธถึงสุวรรณภูมิถูกทำให้มีความทรงจำสืบเนื่องยาวนานว่า พระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่ศาสนาพุทธถึงนานาประเทศหลายทิศทาง (เมื่อราว พ.ศ.235) ในจำนวนนั้นมีพระโสณะกับพระอุตตระไปสุวรรณภูมิ แต่ต่อมาเมื่อตรวจสอบหลักฐานต่างๆ แล้วพบว่าไม่เป็นตามนั้น เพราะ
(1.) การเผยแผ่ศาสนาพุทธของพระเจ้าอโศก มีจารึกพระเจ้าอโศกระบุชื่อไว้ว่าไปถึงบ้านเมืองใดบ้าง แต่ไม่พบชื่อสุวรรณภูมิในจารึกพระเจ้าอโศก และ
(2.) พระเจ้าอโศกส่งพระโสณะกับพระอุตตระไปเผยแผ่ศาสนาพุทธถึงสุวรรณภูมิ พบระบุไว้ในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา (แต่งหลัง พ.ศ.1000) เป็นหลักฐานว่าเรื่องราวของพระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ 2 รูปไปเผยแผ่ศาสนาพุทธถึงสุวรรณภูมิ เป็นเรื่องแต่งใหม่เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ศาสนาพุทธที่แผ่ถึงสุวรรณภูมิเมื่อหลัง พ.ศ.1000
(3.) พระสงฆ์ฝ่ายพุทธที่เข้าถึงสุวรรณภูมิ มีการเผยแผ่พุทธศาสนาด้วยการอ้างอิงความศักดิ์สิทธิ์ย้อนยุคถึงพระเจ้าอโศก จึงทำประติมากรรมเลียนแบบสัญลักษณ์พุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศก ได้แก่ ธรรมจักร, เสาอโศก ฯลฯ จึงไม่ใช่งานช่างสมัยพระเจ้าอโศก
พราหมณ์-พุทธ ปะทะผี
หลังศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธแผ่จากอินเดียถึงสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ พบหลักฐานจากความทรงจำเก่าแก่ก่อนมีการผสมปนเปกัน ว่าต้องปะทะขัดแย้งระหว่างผีกับพราหมณ์-พุทธในระยะเวลาหนึ่งซึ่งน่าจะนานไม่น้อย
ในที่สุด ผี, พราหมณ์, พุทธ ประนีประนอมเข้าผสมปนเปกัน เมื่อพราหมณ์กับพุทธปราบผีไม่สำเร็จ จึงมีการปรับตัวโน้มเข้าหากัน โดยศาสนาผีรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม ส่วนศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธรักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล จนบางทีถูกเรียกใหม่ในสมัยหลังว่า “ศาสนาไทย” แล้วเป็นรากฐานความคิดในการสร้างสรรค์ภาษาและวรรณกรรมไทยทั้งปวงที่จะมีต่อไป
ศาสนาผีเป็นฐานรากแข็งแกร่งยังพบในพระพุทธรูปทั้งหลายถูกเรียกหลวงพ่อ เพราะมีผีทรงอานุภาพยิ่งใหญ่เป็นผู้พิทักษ์โดยสิงสถิตในพระพุทธรูปนั้น ทำให้พระพุทธรูปมีทั้งความเป็นพระและผีรวมอยู่ด้วยกัน
นอกจากนั้น ตามโบสถ์วิหารการเปรียญมีผีคุ้มครองแข็งแรงในลักษณะของนาค (คืองู) เป็นผู้พิทักษ์แข็งขันอยู่หลังคาเครื่องบนอาคาร แต่ถูกกลบเกลื่อนความจริงด้วยชื่อเรียกสมมุติขึ้นใหม่ว่าช่อฟ้าและหางหงส์ เป็นต้น
นาค สมัยแรกหมายถึงคนเปลือย ซึ่งมีเหตุจากคนอินเดียชุดแรกในเครื่องนุ่งห่มแบบอินเดีย (พ่อค้า, นักผจญภัย, นักบวช ฯลฯ) เมื่อเดินทางไกลถึงสุวรรณภูมิแล้วพบคนพื้นเมืองนุ่งเตี่ยวหุ้มอวัยวะเพศ ส่วนนอกนั้นปล่อยเปลือยเปล่า จึงเรียกคนเหล่านั้นอย่างเหยียดๆ หรือด้อยค่าว่า “นาค” การอุปสมบทให้คนพื้นเมืองเรียก “บวชนาค” เป็นที่มาของประเพณี “ทำขวัญนาค” ตามความเชื่อดั้งเดิมทางศาสนาผี แล้วยอมให้มีการแห่นาคก่อนเข้าพิธีบรรพชาซึ่งไม่พบในพุทธบัญญัติ
ขวัญและวิญญาณ ศาสนาผีเชื่อเรื่องขวัญว่าคนตาย ขวัญไม่ตาย แต่ขวัญหายจากร่างของคน แล้วหาทางกลับร่างไม่ถูก ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนเป็นปกติ จึงมีพิธีเรียกขวัญต่อเนื่องหลายวันหลายคืนขอให้ขวัญกลับเข้าร่าง (แต่ไม่เคยสำเร็จ)
หลังรับศาสนาพุทธจากอินเดีย ลักษณะความเชื่อเปลี่ยนไปเป็นเรื่องวิญญาณและการเวียนว่ายตายเกิด แต่พิธีศพแบบพุทธก็ถูกปรับเข้ากับความเชื่อแบบศาสนาผี มีพิธีกรรมใช้เวลานานมาก อาจนานที่สุดในโลกก็ได้
ความเชื่อตามศาสนาพุทธมีวิญญาณคนละดวง หมายถึงสิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในร่างกายของทุกคน เมื่อคนตายวิญญาณจะล่องลอยออกไปหาที่เกิดใหม่ เรียกเวียนว่ายตายเกิด
วิญญาณในศาสนาพุทธกับพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ถูกนำเข้าจากอินเดีย มีบทบาทแทนที่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องขวัญในศาสนาผีของภูมิภาคอุษาคเนย์ ส่งผลให้ความทรงจำพร่าเลือนเกี่ยวกับขวัญแล้วมีคำอธิบายต่างจากเดิม (ดังพบในคำนำหนังสือประชุมเชิญขวัญของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
มือป้องหู เปลี่ยนเป็นกราบไหว้ ก่อนรับศาสนาจากอินเดีย คนในอุษาคเนย์และในไทยนับถือศาสนาผี มีการแสดงความนอบน้อมโดยยกมือข้างใดข้างหนึ่งทำท่าเหมือนป้องหู (มักพบในประเพณีเมื่อเริ่มการละเล่นขับลำ) หลังรับศาสนาจากอินเดีย ยอมรับประเพณีกราบไหว้จากอินเดียเพื่อแสดงความนอบน้อมแทนมือป้องหู ส่วนมือป้องหูยังเหลือตกค้างในการแสดงหมอลำ
หญิงมีสถานภาพสูงกว่าชาย ก่อนรับศาสนาจากอินเดีย อุษาคเนย์นับถือศาสนาผีโดยยกย่องผู้หญิงเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์, เป็นใหญ่ในพิธีกรรม (เข้าทรงผีฟ้า), เป็นเจ้าของวัฒนธรรม ได้แก่ ตีหม้อ, ทอผ้า, ร้องรำทำเพลง, ดีดสีตีเป่า (ดนตรีและนาฏศิลป์) เป็นผู้นำขับลำคำคล้องจองเล่าความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ และเป็นหมอขวัญในพิธีต่างๆ เช่น พิธีเลี้ยงผี, พิธีแต่งงาน, พิธีศพ ฯลฯ สำหรับพิธีแต่งงานหญิงเป็นนายชายเป็นบ่าว (ขี้ข้า) ของหญิง เสร็จพิธีแล้วชายเป็นเขยต้องไปอยู่รับใช้ในเรือนของหญิง
ชายมีสถานภาพสูงกว่าหญิง หลังรับศาสนาจากอินเดีย ผู้หญิงถูกริบอำนาจหรือถูกลดสถานภาพต่ำกว่าชาย จากนั้นยกย่องผู้ชายเป็นใหญ่แทนที่ผู้หญิงทุกเรื่อง โดยเฉพาะเป็นใหญ่ในพิธีกรรมทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
แต่ในพิธีเชิญผีบรรพชน (ได้แก่ ผีมด, ผีเม็ง, ผีฟ้า) ยังอยู่ในอำนาจของผู้หญิงเหมือนสมัยก่อน (ดังพบว่าผีบรรพชนลงทรงผู้หญิงเท่านั้น ไม่ลงทรงผู้ชาย)
ครั้นนานไปผู้ชายริบงานทำขวัญจากผู้หญิงแล้วเป็นหมอขวัญเสียเอง จนท้ายสุดงานแต่งคำคล้องจองเพื่อเล่นเพลงโต้ตอบแก้กันก็ถูกริบทั้งหมดเป็นของผู้ชาย •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022