เคาะสนิมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ มหากาพย์ 8 ปี ยังไม่ถึงฝั่งฝัน…

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ

ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็น ให้คนแวดวงการศึกษาได้เคาะสนิม แสดงความคิดเห็นกันอีกครั้ง สำหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ซึ่งล่าช้ามานานกว่า 8 ปี

สาเหตุหลักหนีไม่พ้นเรื่องการเมืองเปลี่ยนขั้ว แม้ทุกฝ่ายจะมองว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ ที่ต้องเร่งดำเนินการ…

แต่สุดท้ายกลับถูกแช่แข็ง และมักถูกนำมาเป็นข้อต่อรองทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จัดการสัมมนาเรื่อง “ทิศทางการศึกษาไทยต่อร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….”

โดยมีกลุ่มองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วม

 

นายชัยนรงค์ ช่างเรือ ผู้แทนสมาคมผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เสนอว่า อยากให้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรสมรรถนะ เชื่อมโยงการศึกษาทุกระดับ โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นการสร้างคนไปสู่อาชีพพัฒนาคนให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อตอบโจทย์สังคมและเศรษฐกิจ

อีกประเด็นที่สำคัญคือการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน โดยในตอนนี้ทุกโรงเรียนมีความพร้อมและให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงอยากให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่มีการเขียนระบุสนับสนุนเรื่องนี้ให้ชัดเจน

“ทั้งนี้ การจัดการศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้ง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา มีทั้งความดีและความเก่งให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังนั้น ก็จะเกิดเป็นการจัดการศึกษาที่รู้ความต้องการและส่งเสริมความถนัดของผู้เรียนขณะเดียวกันต้องมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กับการเรียนการสอนทุกระดับซึ่งจำเป็นต้องทุ่มงบประมาณเพื่อให้โรงเรียนของไทยมีคุณภาพเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรมีการเขียนให้ชัดเจนใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ในส่วนของการพัฒนาหลักสูตร” นายชัยนรงค์กล่าว

 

ขณะที่ นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) มองว่า ตอนนี้หลายคนอาจมองว่าการศึกษามีอยู่ 2 ระดับคือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา แต่อาชีวะกลับไม่มีระดับการศึกษาเป็นของตัวเอง

ในปัจจุบันอาชีวะจัดการศึกษาแบบลูกครึ่ง เนื่องจากในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ถูกจัดให้อยู่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ถูกจัดให้อยู่ในระดับอุดมศึกษา ซึ่งทำให้อาชีวศึกษาไม่มีจุดยืนเป็นของตนเอง

ส่งผลให้ไม่มีกฎหมายในการบริหารจัดการที่ชัดเจน จึงอยากให้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ มีกฎหมายมาตราที่ระบุถึงการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ

นายธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานสหพันธ์ครูภาคเหนือ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่กำลังจะเข้าสู่สภานั้นไม่ว่าจะเป็นร่างของรัฐบาลหรือของพรรคการเมืองใดก็ตามจะต้องมีสาระสำคัญที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 ที่ระบุไว้ว่ารัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ควรจะต้องเติมคำว่าให้เท่าถึงและเท่าเทียมเข้าไปในบทบัญญัตินี้ด้วย

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่จะต้องให้โอกาสเด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพโดยการสนับสนุนบุคลากรที่มีคุณภาพ งบประมาณ และการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาสามารถดำเนินภารกิจได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น ครูและบุคลากรต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่อหลักประกันให้ผู้ปกครองได้มีความมั่นใจว่าบุคลากรในโรงเรียนมีมาตรฐานความรู้และจรรยาบรรณ จึงต้องมีการระบุสภาวิชาชีพที่ชัดเจนเพื่อควบคุมมาตรฐานความรู้และวิชาชีพของครูได้

“เมื่อมีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพแล้วการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ก็ต้องเพียงพอเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ต้องมีการระบุไว้ว่าต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ให้โรงเรียนมีอำนาจเป็นนิติบุคคล ซึ่งใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีการระบุไว้แล้วแต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงทุกโรงเรียน” นายธีระศักดิ์กล่าว

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาซึ่งเป็นการกดทับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

ปิดท้ายที่ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ยอมรับว่า การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ ยืดเยื้อมานานพอสมควร ในมุมมองของ ศธ. มีแนวคิดในการนำร่างที่เคยยื่นไปแล้วถูกปัดตกไป ยื่นเข้าไปใหม่ เพื่อที่จะนำมาเป็นต้นเรื่องในการนำร่างอื่นๆ ที่พรรคการเมืองยื่นเข้ามาประกบกันเพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียจากร่างอื่นๆ และทำร่างใหม่ออกมาให้เป็น พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่ตอบโจทย์มากที่สุด

โดยในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับของ ศธ.จะพยายามไม่ให้ไปกระทบระบบโครงสร้างมากจนเกินไปเพื่อไม่ให้ไปเดือดร้อนกับบุคลากรทางการศึกษา

ขณะเดียวกันจะต้องครอบคลุมไปถึงห้องเรียนและเด็กให้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน มุ่งเน้นการให้โอกาสเด็กที่จะเข้าสู่การศึกษาให้มีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป และเชื่อว่า คงต้องใช้เวลาถกเถียงกันอีกนานพอสมควร แต่ถือเป็นเรื่องดี ที่หลายฝ่ายหารือเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง

แม้จะยังไม่เห็นทีท่าว่าจะเดินไปถึงฝั่งฝันได้เมื่อไร

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ จะคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน และคุณภาพการศึกษาของประเทศ เป็นสำคัญ… •