ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | แคเทอริน หว่อง เสี่ยว ผิง
สิงคโปร์ ประเทศอัจฉริยะระดับโลก (จบ)
สิงคโปร์กับโครงการแลกเปลี่ยน
“มีการก่อตั้ง ‘โครงการแลกเปลี่ยนสิงคโปร์-ไทย’ (STEP) ในปี 1997 เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลสำหรับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในระยะยาวระหว่างเราทั้งสองประเทศ
ต่อมาในปี 1998 โครงการแลกเปลี่ยนข้าราชการพลเรือนสิงคโปร์-ไทย (CSEP) ก็ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างสถาบันการแลกเปลี่ยนข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา CSEP ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีหลักในการแลกเปลี่ยนทวิภาคีและทำให้หน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งจากทั้งสองประเทศได้มาร่วมมือกัน
ดร.วิเวียน บาลากริชนัน (Vivian Balakrishnan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ นำคณะเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 คนจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ มาประชุม CSEP ครั้งที่ 14 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
การเยือนครั้งนี้นับว่าบรรลุเป้าหมายและได้ผลตามที่คาดหวังไว้ โดยทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมั่นที่จะทำงานมากขึ้นและร่วมมือกันในด้านใหม่ๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจสีเขียว และความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
สิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อ CSEP เพราะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันและบุคคล ระหว่างสิงคโปร์และราชการไทย สร้างพื้นที่สำหรับการสนทนาและความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่าย”
เป้าหมายในการทำงาน
น.ส.แคเทอริน หว่อง เสี่ยว ผิง (Ms. Catherine Wong Siow Ping) กล่าวว่า
“ในฐานะเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ดิฉันเป็นนักการตลาดชั้นนำ เป็นกระบอกเสียง ส่งเสริม สนับสนุนในผลประโยชน์ของชาติของเรา
ดิฉันและทีมงานที่สถานทูตเน้นที่การสร้างโปรไฟล์ การจัดการ การส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศของเรา ซึ่งรวมทั้งการสร้างแบรนด์ของสิงคโปร์ในประเทศไทย เป้าหมายหลักคือ การสร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างเราทั้งสองประเทศ
ได้กล่าวอย่างกว้างๆ บางส่วนไปบ้างแล้วในด้านที่ดิฉันอยากพัฒนาในช่วงการดำรงตำแหน่งที่นี่ ได้แก่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความมั่นคงด้านอาหาร และความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ดิฉันสนใจที่จะสร้างความเชื่อมโยงทางด้านการศึกษาระหว่างประเทศของเราทั้งสองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความปรารถนาดีและความเข้าใจซึ่งกันและกันในหมู่เยาวชนของเรา
สิงคโปร์และไทยมีความสัมพันธ์ทางการศึกษาที่ใกล้ชิดและยาวนาน กระทรวงศึกษาธิการของเรามีการแลกเปลี่ยนและการทำงานร่วมกันหลายรูปแบบ รวมถึงโครงการจับคู่โรงเรียนและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนในระดับรัฐบาลแล้ว โรงเรียนในสิงคโปร์กว่า 70 แห่งยังได้ริเริ่มสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนคู่สัญญาของไทยด้วยเช่นกัน
ดิฉันรู้สึกยินดีกับความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในทั้งสองประเทศนี้ ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างบุคคลตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่เยาวชนของเราจะได้มีโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ขอเน้นอีกตัวอย่างคือ กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ได้เสนอทุนการศึกษาอาเซียนให้กับนักเรียนจากประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เพื่อศึกษาในสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 1998
ช่องทางในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษายังคงมีอยู่เสมอ โดยเรามุ่งมั่นที่จะให้นักเรียนของเรามีส่วนร่วมกับประเทศไทยมากขึ้นและจะยังคงสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาในทั้งสองประเทศร่วมมือกันต่อไปในการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และนักเรียน รวมทั้งให้มีโครงการฝึกงาน และการวิจัยร่วมกัน”
ประเทศไทยในมุมมองของนักการทูตสิงคโปร์
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่เมืองหลวงที่พลุกพล่านไปจนถึงทัศนียภาพอันงดงามที่เงียบสงบของภูเขาและป่าไม้เขียวขจีทางภาคเหนือ หาดทรายขาวกับน้ำทะเลที่ใสราวกับคริสตัลทางภาคใต้ ไปจนถึงมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าและอาหารรสจัดจ้านของภาคอีสาน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการเยี่ยมเยือนมากที่สุดในโลก
ในช่วงสิบเดือนที่นี่ ดิฉันได้สัมผัสกับการต้อนรับขับสู้แบบไทยๆ ที่โด่งดังไปทั่วโลก และพบว่าคนไทยมีน้ำใจโอบอ้อมอารีและอบอุ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พวกเขาเอาชนะความเขินอายในตอนแรกได้
และเช่นเดียวกับชาวสิงคโปร์หลายคนที่เป็นนักชิม ดิฉันชอบอาหารไทยและตั้งตารอที่จะลองชิมอาหารพิเศษของภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย”
ช่วงเวลาประทับใจ
“เป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ เพราะมีเรื่องราวที่น่าจดจำมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมาในแต่ละตำแหน่งและภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เช่น การได้เป็นพยานและสัมผัสด้วยตนเองจากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์การส่งมอบฮ่องกงและมาเก๊าในการออกโพสต์ครั้งแรกของดิฉันที่ฮ่องกงช่วงปลายทศวรรษ 1990
หรือการได้เป็นตัวแทนของประเทศสิงคโปร์ในฐานะผู้แทนรุ่นเยาว์ในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ การจัดการวิกฤตและช่วยเหลือชาวสิงคโปร์ที่ประสบความยากลำบากในบทบาทผู้อำนวยการใหญ่ของกรมการกงสุล และการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกประจำกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าช่วงเวลาที่อยู่ในประเทศไทย จะสร้างความประทับใจที่น่าจดจำให้กับดิฉันอีกเช่นกัน”
กิจกรรมนอกเวลา
สําหรับดิฉัน เป็นการดูแลสุนัขพันธุ์เฟรนช์ บูลด็อก สองตัว คือ เมอร์ฟี (Murphy) และเบลลา (Bella) เจ้าสุนัขขนฟูสองตัวนี้ติดตามมาพร้อมกับดิฉันจากโพสต์ก่อนหน้านี้ที่กรุงฮานอย ดิฉันชอบพาเจ้าขนฟูสองตัวไปเดินเล่นเพื่อสำรวจสถานที่แห่งใหม่ที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกันก็รู้สึกสนุกพร้อมกับประหลาดใจที่ร้านหลายแห่งอำนวยความสะดวกโดยอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในร้านได้
ท่านผู้อ่านสามารถดูเมอร์ฟีและเบลลาได้จากหน้าโซเชียลมีเดียของสถานทูตสิงคโปร์
ในฐานะผู้มาอาศัยใหม่ในกรุงเทพฯ ดิฉันก็ตั้งตารอที่จะสำรวจอาหารและสถานที่ทางวัฒนธรรมที่ยอดเยี่ยมทั้งหมดที่เมืองนี้มีให้เยี่ยมชม ตลอดจนเมืองอื่นๆ ของประเทศไทยด้วย”
ความภาคภูมิใจในประเทศสิงคโปร์
“สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติและหลายศาสนา ซึ่งได้รับการจัดระเบียบบนพื้นฐานของระบบคุณธรรม
เราพยายามที่จะปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ
ชุมชนส่วนใหญ่และส่วนน้อยสามารถบูรณาการกันได้แม้ว่าจะมีพื้นที่ในการรักษาเอกลักษณ์และปฏิบัติตามศาสนาและประเพณีของตน
สิงคโปร์ได้พยายามอย่างหนักเพื่อรักษาสมดุลที่ละเอียดอ่อนนี้ไว้
ประเด็นที่เกี่ยวข้องและสำคัญประการหนึ่งคือ ชาวสิงคโปร์ทุกคนมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครหรือมาจากไหนก็ตาม
ปัจจุบันมีอุปสรรคและความตึงเครียดมากมายระหว่างชุมชนต่างๆ ในโลก เมื่อเทียบกับฉากหลังดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราสามารถรักษาความหลากหลายของเราได้ในด้านหนึ่ง และยังคงมีความสงบสุขและกลมกลืนกันในอีกด้านหนึ่ง
นี่คือจุดแห่งความภาคภูมิใจของดิฉัน”
เอกอัครราชทูตแคเทอริน หว่อง เสี่ยว ผิง สรุปบทสุดท้ายว่า
“ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสิงคโปร์และไทยนั้นมีพื้นฐานกว้างขวางหลายแง่มุม ความร่วมมือที่ยาวนานสร้างขึ้นจากความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชนที่มุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในภูมิภาค
เราได้แสวงหาความร่วมมือกันในหลายภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ และมีพื้นที่บางส่วนที่เป็นจุดเริ่มต้นอีกด้วย ดังที่ดิฉันได้กล่าวถึงการเชื่อมโยง PromptPay และ PayNow ก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงครั้งแรกในโลก
เมื่อไม่นานนี้ สิงคโปร์และไทยยังได้เปิดตัวการเชื่อมโยงใบรับฝากหลักทรัพย์ (Depositary Receipt หรือ DR) ซึ่งเป็นความร่วมมือ DR ระดับตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในอาเซียน ความคิดริเริ่มนี้ทำให้ผู้ลงทุนทั้งในไทยและสิงคโปร์สามารถซื้อและขายหลักทรัพย์ผ่าน DR ได้อย่างง่ายดายโดยผ่านการจัดการของนายหน้าในท้องถิ่นและในสกุลเงินท้องถิ่นของตน หุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยและบริษัทในสิงคโปร์หลายแห่งพร้อมให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเราแล้ว
ดิฉันจึงหวังว่าจะมีนักลงทุนในทั้งสองประเทศเข้าร่วมมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับตลาดหุ้นอาเซียนที่มีการบูรณาการและเข้าถึงได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจนิ่งนอนใจ จึงต้องแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ และวิธีการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประเทศของเราทั้งสองก้าวล้ำหน้าความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสิงคโปร์หลังจากได้รับเอกราช ไทยและสิงคโปร์จะเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2025 ที่ใกล้จะถึงนี้ สถานทูตสิงคโปร์ได้เตรียมวางแผนจัดงานต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในความสัมพันธ์ของเรา ซึ่งดิฉันหวังว่าเพื่อนของเราในประเทศไทยจะมาร่วมงาน เพราะเป็นโอกาสให้เราได้แสวงหาพื้นที่ในความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้เจริญยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022