ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เอกภาพ |
ผู้เขียน | พิชัย แก้ววิชิต |
เผยแพร่ |
“อากาศร้อนในฤดูหนาวของกลางเดือนพฤศจิกายน”
ดวงอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้าของวันนี้ ช่วงเวลาแดดร่มลมตก ที่ควรจะเย็นสบาย หากแต่ที่นี่ ในวันนี้ ภายในห้องเช่าก่ออิฐถือปูนชั้นที่ 5 ของอาคาร กลับไร้วี่แววของกระแสลมอ่อน ที่มักจะแวะพัดโชยเอื่อยผ่านเข้ามาทางหน้าต่างและประตูหลังห้อง เหมือนเช่นเคยนำพา
เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ต้นไม้ใบหญ้ายังคงสงบนิ่ง ไม่ได้เริงเล่น และคงกำลังรอคอยการมาของสายลมอยู่เช่นเดียวกัน จะมีความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง ก็คงเป็นปฏิทินแขวนผนังที่กำลังขยับเพยิบเป็นจังหวะจากแรงพัดลมตั้งพื้น ที่กำลังหันส่ายหน้าไปมา
“โอ้ยยย ทำไมอากาศมันถึงร้อนแบบนี้เนี่ยย ยังกะซ้อมอยู่ในนรก!”
ใครคนหนึ่งไม่ทนทานพอกับสภาพอากาศอบอ้าวเช่นนี้จึงเปรยคำบ่น ที่อาจจะพอช่วยให้ระบายความร้อนรนกระวนกระวายให้คลายลงไปได้บ้าง จากการคาดหวังไว้กับสภาพดินฟ้าอากาศ ที่มักจะเอาแน่เอานอนไม่ได้เสียแล้ว ตั้งแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม และถ้าจะว่ากันตามกำหนดฤดูกาล ในช่วงเวลานี้ มันควรจะเป็นเดือนแห่งสายลมเย็น พัดพลิ้วแจ้งข่าวคราวให้รู้โดยทั่วกันว่า ฤดูหนาวของปีมาเยือนแล้ว
“ไม่ร้อนบ้างหรือไง!?” คำถามแฝงความหงุดหงิด และอาจกำลังสงสัย หรือหมั่นไส้ในความไม่รู้ร้อนรู้หนาวของอีกฝ่าย
“ร้อนสิ แต่ทนเอา” น้ำเสียงเรียบง่าย ไร้กังวล คือสิ่งที่ผมบอกกับเธอ
และอยากจะบอกกับเธอผู้กำลังคร่ำรำคาญว่า ผมก็รู้ร้อนอยู่ด้วยเช่นกัน มันไม่ใช่ความสามารถพิเศษ หรือมาจากการฝึกให้เหนือคนอื่นใด ไม่ใช่แบบนั้น เพราะผมเคยรู้จักร้อนจากสภาพอากาศที่ร้อนมากกว่านี้
และจำต้องฝืนทนอย่างคนไร้ทางเลือกต่างหาก
ย้อนกลับไปครั้งวันวาน ช่วงเวลาที่เคยอาศัยห้องเช่าสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า มันกว้างพอที่จะเป็นที่ซุกหัวนอนได้สี่ห้าคน หรือราวหนึ่งครอบครัว ผนังห้องทำขึ้นจากไม้อัดแผ่นบางและแผ่นป้ายหาเสียงที่หมดวาระแล้ว ขื่อแปจากไม้หน้าสามช่วยยึดแผ่นหลังคาสังกะสีได้เป็นอย่างดี สิ่งปลูกสร้างนี้ควรจะถูกใช้เป็นที่พักชั่วคราว แต่เชื่อเถอะ มันค่อนไปทางถาวรเสียมากกว่า ในฐานะห้องแบ่งให้เช่าท่ามกลางชุมชนแออัด
ความร้อนแสนอบอ้าวจากหลังคาสังกะสี มักจะเริ่มเร่งอุณภูมิในช่วงเที่ยงของวัน ลากยาวไปจนถึงบ่ายแก่ๆ ถ้าใครยังไม่ออกจากนรกห้องเช่าในช่วงเวลานี้ได้ และถ้าตับไม่แตกไปเสียก่อน ถือได้ว่าเป็นยอดคน (พ่อผม) ความร้อนจากดวงอาทิตย์ เป็นที่ยอมรับกันใน “สังคมชายคาสังกะสี” ทั้งคนจนเมืองและผู้มั่งมีตามชนบทบางราย ที่ยังคงมุมหลังคาบ้านด้วยแผ่นสังกะสี
บ้านไทยสไตล์ บ้านไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง ความโปร่งโล่งของตัวบ้าน ระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยความร้อนสะสมจนอบอ้าว จากอิทธิพลของหลังคาสังกะสี เพราะความไม่แน่นอนของชีวิต บางวันอาจไม่มีสายลมช่วยพัดพา จึงไม่ค่อยมีใครเก็บตัวแต่อยู่ในบ้าน ยกเว้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เลี้ยงไว้ ด้วยไม่เคยจนภูมิปัญญามาแล้วแต่แรก หลายคนเย็นใจได้ เพราะหลบร้อนอยู่ใต้ถุนอันสูงโปร่ง นั่งก็ได้ นอนก็ดี หรือจะทำการงานสานต่อ เครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อหาอยู่หากินย่อมได้ตามสะดวก
“เมื่อรู้ร้อน จึงไม่หนาวระทมทุกข์ สู้ร้อนได้ หลบร้อนเป็น เย็นใจตาม”
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขับไล่เธอผู้ไม่ทนร้อน ไปอาบน้ำปะแป้งเย็น แล้วเสร็จให้รีบไปนั่งจ่อ จ้องอยู่กับพัดลมที่กำลังส่ายหน้า อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวให้สมหมายสบายอารมณ์
ขอบคุณมากมายครับ •
เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022