ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Cole Lu
ศิลปินผู้สำรวจต้นกำเนิดของมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตด้วยเปลวไฟ
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024
ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินระดับสากลอีกคนที่เดินทางมาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า โคล ลู่ (Cole Lu) ศิลปินร่วมสมัยชาวไต้หวัน-อเมริกัน ผู้อาศัยและทำงานอยู่ในเมืองบรุกลิน นิวยอร์ก
ผลงานของเขาเป็นการเชื่อมโยงเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม เข้ากับประสบการณ์ส่วนตัว ผ่านผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมสื่อผสม ที่ทำจากไม้เผาไฟ, ผ้าลินิน, โลหะแกะสลัก และคอนกรีต ลู่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนผนังถ้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์ การกำเนิดอารยธรรม การค้นพบไฟ และตำนานเทพปกรณัม ไปจนถึงศิลปะและวรรณกรรมในยุคศตวรรษที่ 20 โดยนำมาผนวกเข้ากับชีวประวัติส่วนตัวของเขา เพื่อบอกเล่าเป็นเรื่องราวใหม่ ด้วยการบันทึกจดจารจากเปลวไฟ
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ลู่ นำเสนอผลงาน The Engineers (2024) ที่สำรวจต้นกำเนิดของมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทั้งทางสังคมและเผ่าพันธุ์ ด้วยผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-Specific Installation) ที่จัดแสดงภายใน พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร ในรูปของซุ้มประตูโค้งที่ทำจากไม้สะเดาและผ้าลินินเผาไฟ ที่แสดงสัญลักษณ์ถึงวัฏจักรอันไม่รู้จบของการเกิดและดับ
เขาสร้างสรรค์ผลงานด้วยการเผาไฟ โดยสั่งสมข้อมูลจากการค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางศาสนา เทวตำนาน และโบราณวัตถุ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของการเดินทางข้ามเวลา ประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และการโหยหาแหล่งกำเนิดของตนเอง
“ก่อนหน้านี้ผมทำโครงการศิลปะชุดนี้ร่วมกับหอศิลป์ Nova Contemporary เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่ทางเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จะติดต่อมา จนในเดือนกรกฎาคม 2024 ผมเดินทางมายังประเทศไทยในเพื่อทำการค้นคว้าข้อมูลและสรุปการทำงาน”
“ต่อมาเราเริ่มต้นทำงานกับช่างท้องถิ่น และออกแบบทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนที่ผมจะเดินทางมายังประเทศไทยอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกันยายน เพื่อทำงานชุดนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ ผลงานชุดนี้จึงใช้คนทำงานท้องถิ่น และวัสดุท้องถิ่นในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ผมอยากทำงานในลักษณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแสดงงานเทศกาลศิลปะในกรุงเทพฯ ครั้งนี้”
“เมื่อดูงานชุดนี้ของผม คุณจะเห็นช่องประตูสองช่อง ที่ผมต้องการสร้างช่องเปิด หรือประตูอันไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับชีวิต บนประตูบานแรก คุณจะเห็นภูมิทัศน์อันแปลกประหลาด ที่เป็นการพยายามนำพาผู้ชมไปสำรวจตำนานเทพปกรณัมเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ซึ่งสามารถสืบสาวไปถึงภาพวาดในถ้ำ การแกะสลัก และการเผาไฟ ซึ่งเป็นการทำงานศิลปะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่เพิ่งมีการค้นพบไฟ, ก่อนที่จะมีการใช้แท่งถ่านวาดภาพ มนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์ใช้ไฟในการเขียนหรือบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงบนผนังถ้ำ ผลงานศิลปะจัดวางชุดนี้ทั้งหมด เป็นการจำลองประวัติศาสตร์ของการใช้ไฟในการเขียนภาพขึ้นใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นการเผาและแกะสลักทั้งหมด”
“ส่วนประตูบานที่สอง เป็นผ้าลินินเผาไฟ ซึ่งอ้างอิงไปถึง พิธีวาดพุทธมณฑลทราย (Sand Mandala) ในพุทธศาสนาของทิเบต ถ้าคุณมองไปที่ช่องทางเข้าของประตูทั้งสอง คุณจะเห็นว่าซุ้มประตูโค้งทั้งสองบานนั้นมีความเชื่อมโยงกับประตูของอาคารที่แสดงงานผลงานชิ้นนี้ ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นงานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงในพื้นที่แห่งนี้โดยเฉพาะ ในลักษณะของศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่”
เมื่อชมผลงานศิลปะในรูปของประตูชิ้นนี้ของ โคล ลู่ ทำให้เราอดนึกไปถึงผลงานประติมากรรม The Gates of Hell ของประติมากรเอกแห่งยุคโมเดิร์นและอิมเพรสชั่นนิสม์อย่าง โอกุสต์ รอแด็ง (Auguste Rodin) ขึ้นมาไม่ได้ ความย้อนแย้งที่น่าสนใจก็คือ ผลงานประติมากรรมของรอแด็ง นั้นถูกสร้างตามคตินิยมของศาสนาคริสต์ หากผลงานชิ้นนี้กลับถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ทางพุทธศาสนานั่นเอง
“แน่นอนว่า ผลงานชิ้นนี้อ้างอิงไปถึงผลงาน The Gates of Hell ของรอแด็ง ซึ่งอาคารแห่งนี้เองก็ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโกธิก โดยได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของยุโรป ดังนั้น การอ้างอิงไปถึงผลงาน The Gates of Hell ของรอแด็ง ก็เป็นแง่มุมหนึ่งในการตีความความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออก หรือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ กับประวัติศาสตร์ของอาคารแห่งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้พรมแดนในปัจจุบัน”
โคล ลู่ ยังเผยถึงความหมายเบื้องหลังชื่อของผลงานชุดนี้ของเขาว่า
“งานชุดนี้มีชื่อว่า The Engineers ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเกี่ยวกับจุดกำเนิดของเรา และเป็นการตั้งคำถามว่า อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษย์ หรือแม้แต่ความรู้ของมนุษย์เรา ผมใช้คำว่า Engineer (ผู้สร้าง) ในการอ้างอิงถึงพระผู้เป็นเจ้า จิตวิญญาณอันสูงส่ง หรือความเชื่อเกี่ยวกับตัวตนที่สร้างสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมา คำคำนี้ยังหมายรวมถึงการที่เรามองตัวเองท่ามกลางสิ่งมีชีวิตและเหล่าสัตว์ต่างๆ ในโลกใบนี้ ว่าทำไมเราถึงอยู่ในจุดที่สูงส่งกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เราทั้งหมดล้วนเท่าเทียมกันหรือไม่ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดถือกำเนิดขึ้นในโลกด้วยเหตุผลอะไร ผมต้องการย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ ที่เราเผชิญหน้ากับสัตว์เหล่านี้ซึ่งๆ หน้า ตาต่อตา นั่นเป็นเหตุผลที่ผมอ้างอิงถึง Engineer ซึ่งไม่เจาะจงแค่ในบริบทของศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ”
“ประตูนี้ยังได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมโรมัน และผลงานของรอแด็ง หรือแม้แต่ศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศอาณานิคม ที่เป็นลักษณะที่ผู้คนจดจำได้ ซึ่งเชื่อมโยงกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากตะวันตกของอาคารแห่งนี้ในวัดในพุทธศาสนา”
เราสงสัยว่า การนำผลงานมาติดตั้งในพื้นที่ทางศาสนาเช่นนี้ ศิลปินตั้งใจจะให้งานกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาหรือไม่
“การที่ผลงานชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ในวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่เป็นกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ความตั้งใจของผมคือการทำให้งานชุดนี้ไม่เป็นสิ่งที่ทำลายบรรยากาศและประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่แห่งนี้ภายในวัด ไม่ว่าจะทางสายตา หรือทางจิตวิญญาณก็ตาม ผมหวังว่าผลงานชุดนี้จะสามารถอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับพื้นที่แห่งนี้ ผมอยากให้งานชุดนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประโยชน์ใช้สอยภายในพื้นที่ของวัดแห่งนี้ได้”
“พื้นที่แห่งนี้เป็นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และยังเคยเป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของวัด ที่เคยสอนดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และพุทธศาสนา ฯลฯ ภายในอาคารยังมีห้องแสดงนิทรรศการ 6 ห้อง ซึ่งเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก นี่เป็นเหตุผลที่ผมเลือกพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แสดงงานชุดนี้ของผม”
“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยแสดงงานในพื้นที่ทางศาสนามาก่อน ถึงแม้ผมจะเคยทำงานที่มีหัวข้อและเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นทางศาสนามาบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมทำงานในพื้นที่ทางศาสนาจริงๆ” (นี่ยังเป็นครั้งแรกที่พื้นที่แห่งนี้ได้รับอนุญาตให้มีการจัดแสดงงานศิลปะอีกด้วย)
ถึงแม้งานชุดนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานเทพปกรณัมและเรื่องราวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความล้ำสมัยแบบไซไฟ หรือนิยายวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน
“แน่นอนว่าความเป็นไซไฟเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของผลงานชุดนี้ เพราะผมคิดว่าเรื่องราวของตำนานและไซไฟนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน อันที่จริง ตำนานเทพปกรณัมนั้นก็เป็นไซไฟในยุคโบราณเช่นเดียวกัน แนวคิดของความเป็นไซไฟคือการทำลายเส้นเวลา อย่างเช่นแนวคิดในผลงานชุดนี้คือการเดินทางย้อนเวลา ช่องประตูทั้งสองคือช่องทางของการเดินทางข้ามเวลาไปยังอดีตนั่นเอง”
ความย้อนแย้งที่น่าสนใจอีกประการคือ ในขณะที่ศิลปินอย่าง โคล ลู่ ใช้กระบวนการเผาในสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ของเขา หากในคติความเชื่อทางศาสนาพุทธนั้น การเผา กลับเป็นกิจกรรมของการดับสูญอย่างการฌาปนกิจ หรือการเผาศพนั่นเอง
“ถึงแม้การเผาจะสามารถเปรียบไปถึงการเผาศพ หรือการดับสูญของชีวิต แต่ในทางกลับกัน การเผาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใหม่ในตำนานเทพปกรณัมของหลายชนชาติ อย่างเช่น ตำนานของ นกฟีนิกซ์ ที่พื้นคืนชีพมาจากกองขี้เถ้าของไฟที่เผาไหม้ตัวเอง การเผาไม้ยังเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการถนอมรักษาคุณภาพไม้ในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอีกด้วย”
ผลงาน The Engineers ของ โคล ลู่ จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567-5 กุมภาพันธ์ 2568 ณ พื้นที่แสดงงาน พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร เปิดทำการ วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 10:00-17:00 น. (เข้าชมฟรี) ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
ขอบคุณภาพจาก BAB 2024, ภาพถ่ายโดย Arina Matvee •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022