คำ ผกา : คนนะไม่ใช่ “น้อง” จะรับอะไรนักหนา

คำ ผกา

เป็นที่รู้กันดีว่าระบบโซตัสที่ยังอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยนั้นเป็นระบบที่นำมาจากมหาวิทยาลัยในอเมริกา นำเข้ามาที่ฟิลิปปินส์ ส่งต่อมาที่ไทย เนื่องจากนักเรียนเกษตรศาสตร์ยุคแรกของไทยจบจากฟิลิปปินส์กันมาเยอะ

ปัจจุบันอเมริกาก็ไม่มีโซตัสแล้ว ฟิลิปปินส์ก็ไม่มีแล้วเพราะไม่สอดคล้องกับยุคสมัย มหาวิทยาลัยไม่ใช่แคมป์ฝึก รด. นักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยเข้ามาเพื่อแสวงหาเสรีภาพทางปัญญา ศักยภาพของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เข้ามาเพื่อสมาทานระบบอาวุโส ยิ่งสมัยนี้ เราพูดเรื่องคนเจนวาย ที่อยู่กับโลก ที่แทบจะเป็นยุค “หลังมนุษย์ (post humanism)” นั่นคือ เรากับความเป็นหุ่นยนต์จะสวมทับกันจนแทบไม่รู้สึก (เช่น การมี wearable device อย่างสมาร์ตวอตช์ การที่เรามี Siri เป็นเลขาฯ ส่วนตัว ฯลฯ)

เพราะฉะนั้น อุดมการณ์แบบโซตัสมันจึงเป็นซากปรักหักพังของประวัติศาสตร์พอๆ กับการกอดแขนกันเต้นระบำรอบกองไฟของชนเผ่าเร่ร่อนในแอฟริกา เพื่อแสดงพลังต่อฝ่ายศัตรูและเพื่อป็นบัดพลีต่อเทพเจ้า

ทุกประเทศในโลกนี้จึงเลิกการรับน้องแบบนี้ไปแล้ว เหลือแต่ประเทศไทยยังคงรักษาระบบโซตัสไว้ มิหนำซ้ำยังภาคภูมิใจที่มีพิธีกรรมนี้อยู่

โอเค เราอาจจะบอกว่า สำหรับบางมหาวิทยาลัย บางคณะ การผ่านพิธีกรรมรับน้องเปรียบประหนึ่งการได้ดื่มน้ำสาบานร่วมกัน เมื่อเติบโตขึ้นไป เป็นอันรู้ว่า รุ่นพี่ รุ่นน้องจะไม่ทิ้งกัน เราอาจมีรุ่นพี่ที่เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในองค์กรต่างๆ รุ่นพี่เหล่านั้นก็จะได้อุปถัมภ์ค้ำจุนเราที่เป็นรุ่นน้องต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าเหตุผลนี้มันใช้ได้ ก็เท่ากับว่า โลกแห่งการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรในเมืองไทยยังจมปลักอยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบไร้เหตุผล คือ อุปถัมภ์แบบหน้ามืดตามัว สักแต่ว่าจบมาจากสถาบันเดียวกัน คณะเดียวกัน สายรหัสเดียวกัน จะผิด ถูก ชั่ว ดี จะทำงานเก่งหรือทำงานไม่เก่ง แต่กูจะดูก่อนว่าเป็นน้องนุ่งกูไหม ถ้าใช่กูจะช่วย

เราอาจจะบอกว่า ระบบเครือข่าย เส้นสายที่ไหนก็มีในโลก แต่ระบบเครือข่ายเส้นสายในโลกนี้ ไม่ต้องแลกมาด้วยการต้องศิโรราบกับ “รุ่นพี่” อย่างไม่มีเงื่อนไข เครือข่ายที่ได้มาจากการเกิดมาในสังกัดชนชั้นเดียวกัน เรียนโรงเรียนอนุบาลเดียวกัน โรงเรียนมัธยมเดียวกัน เป็นเครือข่ายและระบบอุปถัมภ์ที่มาพร้อมกับต้นทุนทางสังคมของพ่อแม่ที่รุ่นลูกรับมรดกมา

เป็นสิ่งหนึ่งที่มักถูกตั้งคำถามแกมประณามเพราะมันคืออภิสิทธิ์ที่ได้มาบนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ไม่น่าภาคภูมิใจเลยสักนิด (แต่อภิสิทธิ์ชนที่ไหนจะแคร์?)

เราอาจไม่เห็นด้วยกับระบบอุปถัมภ์ แต่เราต้องยอมรับว่า “การรับน้อง” ดำรงอยู่ด้วยพลังของระบบ “เส้นสาย” ในสังคมไทย

นักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยจึงยอมทิ้งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของตนเองไปให้รุ่นพี่ที่แก่กว่าตัวเองแค่ปีหรือสองปี โขกสับ ขู่ ตะคอก ตะโกน บังคับให้ทำกิจกรรมบ้าๆ บอๆ ไปจนถึงกิจกรรมที่เสียงต่อการเสียชีวิตหรือพิการ ยอมถูกทำร้าย ขู่เข็ญ ลดทอนความเป็นมนุษย์ทางวาจา

ยอมเข้าไปในพิธีกรรมแบบซาดิสต์ และมาโซคิสต์ ตบๆ ตะคอกๆ ก่อนจะมานั่งจุดเทียน เล่าความในใจ โอบกอด และปวารณาตัวว่าต่อแต่นี้พี่จะดูแลน้อง

จบการตบ-จูบ ก็เหลือแต่สายใยผูกพันระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่รุ่นน้องก็จะซาบซึ้งเหลือกำลังว่า ความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างการรับน้องนั้น พี่ๆ ทำไปเพราะรัก หลังจากนั้นหากมีใครวิจารณ์ การรับน้อง น้องๆ ก็จะออกมาปกป้องรุ่นพี่ว่า

“คนนอกไม่รู้อะไร ไม่ต้องมาออกความเห็น ไม่รู้เหรอว่า พี่ๆ เขารักเราแค่ไหน และการตะคอก ก่นด่า ขู่เข็ญ ก็เป็นแค่การแสดงละครฉากหนึ่งเท่านั้น การที่เราต้องผ่านอะไรแบบนี้มาด้วยกันทำให้เรารักกัน สามัคคีกัน ไม่ทิ้งกัน ทำให้เรามีความภาคภูมิใจในสถาบัน ในคณะ ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

เมื่อเจอกับคำอธิบายเช่นนี้ จึงเป็นอันมั่นใจว่าสถาบันการศึกษาของไทยทุกระดับ ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ไม่ได้ทำหน้าที่ของสถานศึกษาจริงๆ แต่ทำหน้าที่เหมือน “ค่าย” ผลิตพลเมืองเพื่อสืบทอดกลไกทางอุดมการณ์รัฐเท่านั้น

อันที่จริงฉันไม่ควรตั้งความหวังว่า มหาวิทยาลัยไทยจะเป็นพื้นที่ของความท้าทายทางปัญญา ไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนในโลกนี้ ที่ยังจับนิสิต นักศึกษา แต่งเครื่องแบบไปเรียนหนังสือทุกวันเป็นเวลาสี่ปี

เด็กนักเรียนไม่ตั้งคำถามกับเครื่องแบบนักเรียนยังพอเข้าใจได้ว่า เขาอาจจะยังเด็กเกินไป เขาอาจจะยังไม่กล้าตั้งคำถาม เขาอาจจะยังอ่อนแอเกินกว่าจะท้าทายอำนาจของกฎระเบียบ เขาอาจจะยังพึ่งพาตนเองไม่ได้มาก จึงไม่กล้าคัดง้างกฎระเบียบของผู้ใหญ่แม้จะไม่เห็นด้วย

แต่เมื่อเขาเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ทำไมเขายังเอาตัวเข้าไปสวมเครื่องแบบได้อย่างสงบเรียบร้อยเหมือนเดิม?

หรือปัญหามันอยู่ตรงที่นักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองไทยยังคงเป็น “เด็ก”

 

เท่าที่ฉันมีประสบการณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นถือว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง เช่น หาค่าเล่าเรียนเอง ออกมาอยู่หอพักเอง เริ่มทำงานพิเศษเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของตัวเอง มีภาวะพึ่งพิงพ่อแม่น้อยลง

แต่นักศึกษาในเมืองไทย มีภาวะพึ่งพิงพ่อแม่ ผู้ปกครองเกือบจะร้อยละร้อย พ่อแม่ของนักศึกษารับผิดชอบค่าใช้จ่ายของลูกหลานเกือบทั้งหมด และมักสอนกันมาว่า “ไม่ต้องทำอะไร เรียนหนังสืออย่างเดียวก็พอ” (แน่นอนการเลี้ยงลูกหลานผิดๆ เช่นนี้ครอบครัวของฉันเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น)

เมื่อพวกเขายังเป็น “เด็ก” ยังขอเงินพ่อแม่ ยังอยู่บ้านพ่อแม่ ยังมีพ่อแม่ขับรถรับส่ง-จึงยากมาก ที่พวกเขาจะรู้สึกมีปัญหากับ “อำนาจ” เพราะสำหรับเขาแล้ว “อำนาจ” มาพร้อมกับการ “คุ้มครอง” และ “สนับสนุน” เหมือนอำนาจของพ่อแม่ของพวกเขานั่นเอง แม้ว่าการ “คุ้มครอง” และ “สนับสนุน” นี้จะต้องจ่ายมาด้วยราคาของ “เสรีภาพ” ก็ตามที

เพราะฉะนั้น ด้วยวุฒิภาวะแบบ “เด็ก” เช่นนี้ พวกเขาจึงพร้อมจะทำตามคำสั่ง โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าคำสั่งนั้นมันสมเหตุสมผลหรือไม่?

 

พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามว่ามีพี่มหาวิทยาลัยในโลกนี้ที่ไหนบ้างที่นักศึกษาต้องแต่งเครื่องแบบ ขาว-ดำ มาเรียนแบบที่นักศึกษาไทยแต่ง ต่อให้พวกเขาเคยไปต่างประเทศ

บางคนเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ เมื่อกลับมาเมืองไทย พวกเขาก็ไม่เคยเอะใจว่า ทำไมจึงมีแต่ประเทศไทยที่ร่างกายของนักศึกษาถูกควบคุมด้วยเครื่องแบบ พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามว่า เพราะอะไรเขาจึงไม่มีเสรีภาพในการเลือกเสื้อผ้าสวมใส่ได้เอง ในเมื่อพวกเขาล้วนมีวุฒิภาวะแล้วในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ในระดับที่อีกเพียงสี่ปีเท่านั้นพวกเขาจะต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงตนเอง มีวุฒิภาวะในระดับที่ต้องเรียนอย่างเป็น “วิชาการ” ที่ต้องคิด ต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ ต้องสามารถสังเคราะห์ความรู้ชุดใหม่ของตนเองขึ้นมาได้

ถ้าพวกเขาสามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ งานวิชาการหรือแม้แต่สร้างงานวิชาการของตนเองขึ้นมาได้ ทำไมพวกเขาจะเลือกเสื้อผ้าสวมใส่มาเรียนหนังสืออย่างอิสระไม่ได้?

แต่ดูเหมือนว่า นอกจากจะไม่รู้สึกว่าเครื่องแบบนักศึกษาคือการลิดรอนเสรีภาพของตนแล้ว นักศึกษาไทยส่วนใหญ่กลับรู้สึกดีต่อชุดนักศึกษา บ้างก็ว่าทำให้ดูเรียบร้อย บ้างก็ว่าเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร บ้างก็ว่าลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ต้องแข่งกันแต่งตัวมาเรียน นักศึกษาจำนวนไม่น้อย ภูมิใจกับเครื่องแบบเพราะบอกถึง “สถาบัน” ยิ่งอยู่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งภูมิใจที่จะสวมเครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ มาก

ในสายตาของสาธารณชน เมื่อเห็นเด็ก เห็นนิสิต เห็นนักศึกษาอยู่ในเครื่องแบบก็มักจะถาโถมความรักความเอ็นดูเข้าใส่ ชุดนักศึกษาจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเด็กดี เด็กเรียนเก่ง เด็กว่านอนสอนง่าย ดูเป็นเด็กมีหัวนอนปลายเท้า มีสังกัด น่าเชื่อถือ นักศึกษาไทยเมื่อต้องไปติดต่องานกับ “ผู้ใหญ่” หากสวมเครื่องแบบนักศึกษาไป ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ไม่มีใครปิดประตูใส่เด็กที่สวมเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษา

สังคมไทยทั้งสังคมจึงเป็นสังคมที่หนุนนำทั้งระบบอุปถัมภ์ และสังคมที่หนุนนำการกักขัง “คน” ให้รักษาความเป็น “เด็ก” หรือความเป็น “ผู้น้อย” ไว้กับตัวอยู่ชั่วนิจนิรันดร์

เราเป็นสังคมที่กลัว “คน” จะมี “วุฒิภาวะ” แล้ว คิดอะไรได้ เลือกอะไรได้ด้วยตนเอง เพราะเมื่อไหร่ที่สังคมเรามีคนที่มีวุฒิภาวะเป็น “ผู้ใหญ่” เกิดขึ้นมามากๆ โครงสร้างอำนาจเดิมที่ปกครองสังคมอยู่ตอนนี้จะพังทลายไปทันที

เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่นักศึกษาไทยเมื่อเข้าไปเป็นเฟรชชี่ พวกเขาเข้าไปพร้อมกับการมองหา “พี่” เพราะพวกเขายังเป็น “เด็ก” แล้วด้วยความเป็น “เด็ก” นั่นเอง ที่ทำให้พวกเขากลัวลนลานเพียงเพราะโดนขู่ว่าจะตัดรุ่น ตัดเพื่อน โอ…แค่คิดว่าจะโดนเพื่อนแอนตี้ทั้งคณะก็น่ากลัวสุดๆ แล้ว-เดี๋ยวนะ ใจคอจะไม่คิดเลยหรือว่าเรื่องนี้มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือ ถ้าไม่มีเพื่อนที่คณะเราก็มีเพื่อนที่อื่นได้ มีเพื่อนนอกมหาวิทยาลัยได้

ส่วนพวกรุ่นพี่ก็คือ “เด็ก” ที่หลงคิดว่า การได้ตวาด ตะคอก ได้แสดงละครแกล้งเกลียดชังน้องๆ เป็นอะไรที่หมายถึงการได้บรรลุถึงความเป็น “ผู้ใหญ่” เสียที

 

โดยความเขลา พิธีกรรมรับน้องจึงกลายเป็น pseudo coming of age หรือการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่แบบลวงๆ ของชนชั้นกลางไทย

พวกเขาจึงพร่ำอธิบายว่า การรับน้องเพื่อทดสอบความอดทน เพื่อฝึกฝนให้ต้านทานต่อแรงกดดันในชีวิตได้ หรือเพื่อเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ความโหดร้ายแห่งโลกความเป็นจริงนอกมหาวิทยาลัย

ส่วนพวกรุ่นพี่ก็ได้หลุดจากความเป็น “เด็ก” เข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ด้วยการที่สามารถตะคอก ออกคำสั่ง วางอำนาจโดยไร้การต่อต้านจากรุ่นน้อง (ไม่ใช่ด้วยความสามารถในการพึ่งพิงตนเอง เช่น รู้สึกเป็นผู้ใหญ่เมื่อทำงานพิเศษ หาเงินมาจ่ายค่าเทอมเอง) – เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถขู่เข็ญ บังคับ ควบคุมคนได้ แปลว่า เมื่อนั้นเราได้บรรลุความเป็นผู้ใหญ่แล้ว

จึงไม่ต้องแปลกใจอีกนั่นล่ะ ที่บรรดาคนที่มีอำนาจในสังคมไทย ชอบสำแดงอำนาจด้วยวิธีคิดคล้ายๆ กับการรับน้อง เช่น การบังคับเด็กให้กราบเท้าครูหน้าเสาธง-มันเป็นการลงโทษที่ไร้เหตุผลแบบที่ทำกันในห้องว้าก ห้องเชียร์นั่นแหละ คือ ยิ่งไร้เหตุผลเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่ามีอำนาจมาก

การรับน้องในมหาวิทยาลัยไทยคงไม่มีวันหายไปไหน ตราบเท่าที่โครงสร้างทางอำนาจในสังคมไทยไม่เปลี่ยน

และสัญลักษณ์ของการกลายเป็นผู้ใหญ่ของสังคมไทย วัดกันที่ความสามารถในการกระโชกคนที่อ่อนแอกว่าได้เท่านั้น