ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
“หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ” หรือหลวงพ่อเฒ่ายิ้ม เป็นพระเถราจารย์ชื่อดังจังหวัดกาญจนบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม) ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่ผู้เลื่อมใสศรัทธามาก
ต้นตำรับตะกรุดโลกธาตุอันลือเลื่อง และผู้สร้างพระปิดตา ที่ได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 ชุดเบญจภาคีพระปิดตาวงการพระ
นอกจากนี้ วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังทุกประเภท ก็ล้วนเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหามาตั้งแต่อดีตสืบมาถึงปัจจุบัน ว่ากันว่ามีดหมอประจำพระองค์ ของเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ ก็เป็นของท่านด้วย
ยังมีเครื่องรางที่ได้รับความนิยมสูงสุดอีกประเภทหนึ่ง คือ ตะกรุดลูกอม ที่เรียกกันว่า “ตะกรุดโลกธาตุ” เป็นตะกรุดขนาดเล็กใช้พกติดตัว
ลงคาถาด้วยหัวใจโลกธาตุ “อิจฉันโต จิตโต อิจฉันโต โลกธาตุมหิ อัตตะภาเทวนัง นาทุยิ วาระวีสะติ สิทธังละอะ” คาถาพระพุทธเจ้าเดินจงกรมในเมล็ดพันธุ์ผักกาด และกลึงปิดหัวท้ายพระยันต์ด้วยยันต์ใบพัด
วัสดุที่ใช้ทำเป็นโลหะ ทองคำ เงิน นาค หรือทองแดง ซึ่งต้องมีน้ำหนัก 1 สลึง ยาวขนาด 7 ใบมะขามเรียกว่า สัตตะโพชฌงค์
เป็นที่กล่าวขานและเลื่องลือไปทั่วว่า เมื่อถึงคราวคับขันจวนตัวจะถูกทำร้าย ให้กลืนเข้าไปในท้อง จะสามารถล่องหนหายตัวและป้องกันอันตรายได้ทุกประการ
อีกทั้งตะกรุดนี้ เชื่อว่าสามารถออกมาจากร่างกายได้เอง โดยให้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนนอน รุ่งขึ้นตะกรุดจะออกมาปรากฏอยู่ข้างตัว โดยจะไม่ออกทางทวารเบื้องต่ำเด็ดขาด
บรรดาลูกศิษย์มีจำนวนน้อยมากที่เรียนจบวิชาคาถาหัวใจโลกธาตุ เล่ากันว่าผู้ที่เรียนวิชานี้จบครบสูตร และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป คือ พระราชมงคลวุฒาจารย์ หรือ หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ วัดเสด็จ จ.สมุทรสาคร
ต่อมา ก็ได้สร้างตะกรุดลูกอมเช่นเดียวกับหลวงปู่ยิ้ม ซึ่งเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมสูงเช่นกัน
ชาติภูมิ หลวงปู่ยิ้ม เป็นชาววังด้ง จ.กาญจนบุรี เกิดปีมะโรง เดือนห้า วันอังคาร พ.ศ.2387 ครอบครัวประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ ล่องไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม
เมื่อวัยเด็กมีอุปนิสัยใจคอเป็นคนเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เป็นนักเลง พูดจริงทำจริง เด็กรุ่นเดียวกันหรือแก่กว่ายอมยกให้เป็นลูกพี่ เป็นกำลังช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ล่องไปขายทางปากอ่าว จนคุ้นเคยกับชาวแม่กลองเป็นอันดี
อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี มีพระอาจารย์กลีบ วัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และพระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า จันทโชติ
เมื่อบวชเรียนแล้วเรียนพระปริยัติธรรม อักษรขอม ภาษาบาลี มงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระมาลัย พระเจ้า 10 ชาติ ท่องสูตรสนธิจนช่ำชอง สามารถท่องจำพระปาติโมกข์ สวดได้แต่พรรษาที่ 2
ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์แดงว่าแม่กลองมีพระอาจารย์ที่ทรงกิตติคุณอยู่หลายวัด วิชาแขนงต่างๆ ไม่ซ้ำกัน
จึงเดินทางมาที่แม่กลอง ศึกษาวิชากับพระปลัดทิม วัดบางลี่น้อย อ.อัมพวา
เล่ากันว่า พระปลัดทิมเก่งทางด้านทำน้ำมนต์ โภคทรัพย์ ผงเมตตามหานิยม และเชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์ ต่อมาจึงได้ไปศึกษากับหลวงพ่อพ่วง วัดลิงโจน หลวงพ่อพ่วงเก่งด้านวิชาทำธงกันฟ้าผ่า และลมพายุคลื่นลมในทะเล ชาวทะเลเคารพกันมาก
นอกจากนี้ ยังมีวิชาลงอักขระหวายขดเป็นรูปวงกลม โยนลงทะเลอาราธนาตักน้ำในวงหวายกลายเป็นน้ำจืดได้ และยังมีวิชาทำลูกอมหมากทุย วิชามนต์จินดามณี
เมื่อศึกษาจบ ก็ไปศึกษากับหลวงพ่อกลัด วัดบางพรหม อ.อัมพวา ซึ่งเยี่ยมยอดด้านวิชามหาอุด อยู่ยงคงกระพัน และเมตตามหานิยม
อีกทั้งยังเก่งทางด้านย่นระยะทางและสามารถเดินบนผิวน้ำได้
ยังเดินทางไปศึกษากับหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ อ.อัมพวา ซึ่งเก่งทางด้านทำมีดหมอปราบปีศาจ และวิชามหาประสาน วิชาทำเชือกคาด ตลอดจนวิชาแพทย์แผนโบราณอีกด้วย
หลังจากเชี่ยวชาญในวิชาของแต่ละอาจารย์แล้ว หลวงปู่ยิ้มก็ยังกลับมาเรียนวิชาต่อกับหลวงปู่กลิ่น พระอุปัชฌาย์ของท่านอีก ซึ่งหลวงปู่กลิ่นโด่งดังทางด้านวิชากำบังกายหายตัว วิชาแหวกน้ำดำดิน
หลวงปู่กลิ่นพิจารณาเห็นว่ามีวัตรปฏิบัติงดงาม และมีพลังจิตกล้าแกร่ง จึงถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้จนหมดสิ้น
จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองบัว จนกระทั่งหลวงปู่กลิ่นมรณภาพ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวสืบแทน ปฏิบัติทางวิปัสนาธุระจนมีชื่อเสียง และเป็นอาจารย์สอนทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน
เกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือไปหลายหัวเมือง ทั้งเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ
แม้แต่หลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า ยังเคยธุดงค์มาอยู่จำพรรษาที่วัดหนองบัว เพื่อแลกเปลี่ยนสรรพวิชากัน
มีอุปนิสัยสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง เป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นพระอุปัชฌาย์ มีคนบวชด้วยเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้ถ่ายทอดไสยเวทวิทยาคมให้กับลูกศิษย์ในยุคต่อมา จนกลายเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว, หลวงปู่ดี วัดเทวสังฆาราม, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อสอน วัดลาดหญ้า เป็นต้น
มรณภาพลงอย่างสงบ พ.ศ.2453 สิริอายุ 66 ปี พรรษา 46
ตำรับตำราต่างๆ เป็นมรดกตกทอดมาถึงเจ้าคุณพระโสภณสมาจาร (เหรียญ) วัดหนองบัว และสานุศิษย์ที่สืบทอดวิชาได้สร้างเครื่องราง
เจริญรอยตามสืบมาจนถึงกาลปัจจุบัน •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022