ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
ซีรีส์ “แม่หยัว” ละครย้อนยุคเรตติ้งดี ก่อนมีวิสามัญบันเทิงกรณีน้องแมว ที่น่าสนใจคือมีซีนสมุนไพรพิษเข้ามาเกี่ยวข้องในฉากสำคัญ ทำให้คนอยากรู้จักกับสมุนไพรที่รับบทผู้ร้ายทั้งสองตัว เผื่อเอาไว้ใครคิดร้ายวางยากิ๊กน้อยๆ (แต่ห้ามเอาไปวางยาน้องแมวนะจะบอกให้) แต่ในความเป็นจริงนั้นบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีพืชใด ไม่เป็นยา” รวมทั้งมะแขว่นและแสลงใจด้วย คำว่าเป็นยาในที่นี้หมายถึงยาดี ส่วนพิษข้างเคียงของยานั้นเป็นข้อยกเว้น หรือเรียนรู้ใช้ประโยชน์จากส่วนดีได้
แต่ในละครทีวี ทั้ง “มะแขว่น” และ “แสลงใจ” รับบทเป็นสมุนไพรผู้ร้ายฝ่ายเดียว โดยมะแขว่นแสดงเป็นยาทำแท้งเด็ก ส่วนแสลงใจรับบทเป็นยาพิษสังหาร ตรงนี้มีคำถามว่าพิษร้ายดังกล่าวเป็นเฟก (fake) หรือแฟกต์ (fact) กันแน่ คำตอบที่ปฏิเสธไม่ได้คือเป็น fact (เรื่องจริง) ในกรณีของ “มะแขว่น” หรือมะแข่น ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum limonella (Dennst.) Alston และพืชในวงศ์ Rutaceae อีกหลายชนิด เช่น Z.budrunga, Z.rhetsa, Z.myriacanthum
ในเมล็ดและเปลือกหุ้มเมล็ดมะแขว่นมีสารตามชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ลิโมนีน (limonene) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อมดลูกด้วย และถ้าบริโภคในปริมาณมากอาจทำให้สตรีมีครรภ์แท้งลูกได้ ในซีรีส์แม่หยัวมีอุบายใช้น้ำพริกมะแขว่นเข้มข้นทำให้พระสนมเอกคู่แข่งแท้งลูก
ส่วนกรณี “แสลงใจ” ชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos nux-vomica L. ชื่อวิทยาศาสตร์ก็บอกอยู่ทนโท่แล้วว่า ในเมล็ดมีสารพิษ (nux-vomica) ซึ่งก็คือสารสตริกนิน (strychnine) หรือสารหนูซึ่งมีพิษร้ายแรงทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกระตุกชัก เกร็ง ขากรรไกรแข็ง ระบบหายใจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ในละครย้อนยุคเรื่องนี้ตัวเอกคิดจะใช้ “แสลงใจ” วางยาพระสนมเอกคู่แข่ง แสดงว่าผู้เขียนบททำการบ้านมาดี เช่น รู้ว่าแสลงใจเป็นสมุนไพรยาพิษ และกำหนดให้ผู้ที่คิดใช้น้ำพริกมะแขว่นกำจัดคู่แข่งเป็นพระสนมเอกจากเมืองเหนือซึ่งเป็นแหล่งของเครื่องเทศพื้นบ้านชนิดนี้
ขอบอกว่าเครื่องเทศที่มีสกุล (genus : Zanthoxylum) เดียวกับมะแขว่นมีมากกว่า 200 สายพันธุ์กระจายในพื้นที่เขตร้อนชื้นทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีจำนวน 4 สายพันธุ์กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ทั้งยังมีหลายชื่อเรียกตามท้องถิ่นเช่น ภาคเหนือเรียก มะแขว่น, มะข่วง, อีสานเรียกมะแข่น, บ่าแข่น, นครราชสีมาใช้ชื่อมะกรูดตาพราหมณ์, กรุงเทพฯ และภาคกลางตั้งแต่ลพบุรีลงไปถึงราชบุรี เพชรบุรียังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากำจัดต้น (ผลเรียกลูกกำจัด), พริกพราน, พริกหอม, หมากมาด มะมาดหรือลูกระมาด เป็นต้น
ถึงชื่อลูกระมาดนี้ในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ มีชื่อแขวง “บางระมาด” ซึ่งในวิกิมีเดียแปลว่าบางแรด (เพราะในภาษาเขมร ระมาดแปลว่าแรด) ฟังดูแปลกดีแต่ควรเพิ่มข้อสันนิษฐานว่ามาจากชื่อของ “ต้นระมาด” ด้วย น่าจะพอเข้าเค้ามากกว่า
มะแขว่นยังเป็นพืชเครื่องเทศในตระกูลเดียวกับ “ฮวาเจียว” หรือ “พริกไทยเสฉวน” (Z.simulans) รสเผ็ดหอมร้อน ซ่า ชาลิ้นฟินๆ ในเมนู “หม่าล่าทั่ง” (แปลว่าอาหารลวกรสเผ็ดชา) ยอดฮิตติดเทรนด์ในเวลานี้ แต่อันที่จริงแล้ว มะแขว่นไม่ใช่ราชาเครื่องเทศของเมืองเหนือเท่านั้น
ในอดีตกรุงเทพฯ เองก็เคยมีเมนูน้ำพริกมะแขว่นที่เคยนำมาเผยแพร่เป็นอาหารชาววังโดยเจ้านายสูงศักดิ์แห่งล้านนา คือ พระราชชายาดารารัศมีในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ภายหลังกลายเป็นเมนูน้ำพริกชาววังสวนสุนันทา ที่มีชื่อว่า น้ำพริกมะหมาดหรือน้ำพริกลูกระมาดนั่นเอง
ปัจจุบันยังมีหลายท้องถิ่นนอกพื้นที่ล้านนา (ภาคเหนือตอนบน) ซึ่งมีวัฒนธรรมอาหารที่ใช้เครื่องเทศสกุล (Genus) แซนโธไซลัม (Zanthoxylum) เพียงแต่เรียกชื่อท้องถิ่นต่างออกไป อย่างเช่น น้ำพริกลูกกำจัดหรือเครื่องแกงลูกกำจัดของลพบุรี หรือแกงพริกพรานของถิ่นราชบุรี เพชรบุรี ซึ่งยังมีการอนุรักษ์ป่ากำจัดต้นไว้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหารและเป็นของป่าเพื่อจำหน่าย เพียงแต่ชื่อไม่ดังเป็นที่รู้จักเท่ากับมะแขว่นแห่งล้านนา ซึ่งให้ความสำคัญถึงขนาดว่าในช่วงเข้าฤดูหนาวเย็นของเดือนพฤศจิกายนถึงปีใหม่มีการจัดเทศกาลวันมะแขว่นหอมในหลายพื้นที่ของเมืองเหนือทั้งน่าน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เป็นต้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ถึงคุณค่าทางยาและอาหารของเครื่องเทศพื้นบ้านฤทธิ์ร้อน หอม เผ็ดชา ช่วยสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายเลือดลมไหลเวียนได้ดีในยามอากาศเหน็บหนาว ลดการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือด แก้ปวดเจ็บตามข้อ คลายเส้นเอ็น บรรเทาความปวดเมื่อย โดยเฉพาะสตรีช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือนและช่วยให้โลหิตระดูมาตามนัด
ที่สำคัญคือช่วยย่อยอาหารที่ย่อยยากอย่างหมดจดสมบูรณ์ ปราศจากอาการท้องอืด เฟ้อ เรอเปรี้ยวด้วยสรรพคุณดีทางยาและคุณค่าทางอาหารอันเลิศรส
ผู้นิยมกินพืชผักรู้ดีว่าผักมาจากไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม และยังมีผักยืนต้นอีกมากมาย มะแขว่น หรือพริกหอม หรือระมาด คือผักยืนต้นที่มีมูลค่าสูงจะให้คุณภาพผลผลิตราคาดี ฟังประสบาการณ์จากเครือข่ายหมอพื้นบ้านล้านนาว่า แม้ว่ามะแขว่นขึ้นได้ในทุกภูมิภาคแต่ความอุดมสมบูรณ์และระดับความสูงของพื้นดินมีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้มะแขว่นรสเด็ด กลิ่นหอม มีหมู่บ้านหนึ่งรักษาป่าธรรมชาติไว้ดีมีความอุดมสมบูรณ์ ต้นมะแขว่นที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติจึงให้รสชาติเด็ดถึงใจ พ่อค้ามาจองผลผลิตล่วงหน้าในราคางาม
ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยควรส่งเสริมให้มะแขว่นเป็นซอฟต์เพาเวอร์อาหารทั่วไทยดังไกลสู่สากลได้ไม่แพ้เมนูหม่าล่าที่สร้างรายได้ให้ประเทศจีนปีละหลายหมื่นล้านหยวน
ติดตามซีรีส์ “แสลงใจ” ตอนต่อไป •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022