ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
สมัยนี้มีสารพัดคำใช้เรียกขาน อาทิ เพศที่สาม คนข้ามเพศ ผู้หลากหลายทางเพศ ชายรักร่วมเพศ เกย์ ทอม ตุ๊ด ดี้ โฮโมเซ็กชวล เลสเบี้ยน ชาวสีม่วง ชาวสีรุ้ง ฯลฯ
แต่สมัยก่อนใช้แค่คำว่า ‘กะเทย’ หรือ ‘กระเทย’ ก็เป็นที่เข้าใจกัน
วรรณคดีสมัยสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงผลกรรมที่ชายชู้จะได้รับจากการผิดศีลข้อสาม ‘กาเมสุมิจฉาจาร’ คือ ความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ความผิดประเวณีในลูกเมียเขา หลังจากสิ้นชีพย่อมไปเกิดในสิมพลีนรก หรือนรกต้นงิ้วเหล็ก
“อันหนึ่ง อันว่าบาปปรทารกรรมแล คือว่าทำชู้ด้วยเมียท่านนั้น ชาวเจ้าทั้งหลายอย่าควรกระทำเลย มาตรน้อยหนึ่งก็ดี อย่าได้กระทำเลย ผิแลผู้ใดแลกระทำปรทารกรรมไส้ จะไปตกนรกสิมพลีวัน ไม้งิ้วนั้นเป็นเหล็กแลหนามนั้นยาวย่อมเหล็กแหลมคมนัก แลมีเปลวไฟลุกอยู่บมิรู้เหือดแล มีฝูงยมพะบาลถือหอกทิ่มแทงขับให้ขึ้นให้ลง ทนทุกขเวทนาอยู่หึงนานนัก”
เป็นที่รู้กันว่าโทษของการเป็นชู้กับเมียผู้อื่น คือ ปีนต้นงิ้ว แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าหลังจากใช้กรรมในนรกต้นงิ้วเหล็กครบถ้วนแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับชายผู้นั้น “ไตรภูมิพระร่วง” มีข้อความบันทึกว่า
“ครั้นว่าพ้นจากนรกขึ้นมาเป็นสระสเปเทิน เป็นกระเทยได้พันชาติ”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ข้อความนี้สอดคล้องกับ ‘พระราชกำหนดใหม่’ ใน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 2 ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยอยุธยา ชำระใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์
“จึ่งมีพระราชโองการมานพระบันทูล สุรสีหนาทดำหรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ชายใดสมเสพกาเมสุมิจฉา ล่วงประเวนีภิริยาผู้อื่นนั้นย่อมเกิดกามกำหนัศพร้อมเตมบริบูรรณจึ่งสำเรจ์ เปนคุรุกำอุกฤษโทษ ครั้นดับสังขารอะนาคต ไปตกอยู่ในโลหะกุมภีนะรก หกหมื่นปีแล้วขึ้นมาทนทุกขเวทนาอยู่ในอุสุทนะรกสิมพลีไม้งิ้วหนามยาวสิบหกองคุลี นายนิริยบาลรุมกันทิ่มแทง แร้งการุมกันจิก”
หลังจากใช้กรรมในนรกหม้อเหล็กและนรกต้นงิ้วเหล็กแล้ว ผลที่ตามมาใกล้เคียงกับใน “ไตรภูมิพระร่วง” ต่างกันที่รายละเอียดและระยะเวลาใช้กรรมเท่านั้น
“ครั้นสิ้นกำมขึ้นมา เปนหญิงห้าร้อยชาติ กะเทยห้าร้อยชาติ เปนสัตวเขาตอนเสียห้าร้อยชาติ”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
จะเห็นได้ว่า ‘กะเทย’ หรือ ‘กระเทย’ เป็นสภาพที่เกิดขึ้นหลังจากรับโทษในนรกต่างๆ ที่กล่าวมา คำนี้ยังปรากฏใน ‘พระไอยการลักษณภญาณ’ ใน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 1 กล่าวถึงบุคคลที่เชื่อถือมิได้ ไม่สมควรนำมาเป็นพยานในการพิจารณาคดี ได้แก่
“…ฯลฯ…คนวิวาทกับผู้เปนความ ๑ เปนกระเทย ๑ เปนบันเดาะ ๑… คนเปนพิกลจริต ๑… คนนักเลงเล่นเบี้ยบ่อน ๑ คนเปนโจร ๑ …ฯลฯ…คน ๓๓ จำพวกนี้อย่าให้ฟังเอาเปนพญาณ” ยกเว้น “ถ้าโจท หรือจำเลยยอมให้สืบฟังเอาเปนพญาณได้” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
คำว่า ‘กะเทย’ – ‘กระเทย’ และ ‘บัณเฑาะก์’ (หรือ ‘บันเดาะ’ จากตัวอย่างข้างต้น) ความหมายไม่ต่างกัน “พจนานุกรมพุทธศาสน์” ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้คำจำกัดความว่า
“บัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทย, คนไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ได้แก่ กะเทยโดยกำเนิด ๑ ชายผู้ถูกตอนที่เรียกว่า ขันที ๑, ชายมีราคะกล้าประพฤตินอกจารีตในทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ๑”
จากคำนิยามข้างต้น จะเห็นได้ว่า กะเทย คือ คนที่เป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่เมื่อพิจารณาคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์จาก “สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 2 จะพบว่า กะเทยนอกจากคนแล้ว ยังรวมถึงสัตว์อีกด้วย
“กะเทย หมายถึง คน หรือสัตว์ที่มีลักษณะหรืออวัยวะเป็นทั้งของหญิงและชาย หรือเป็นทั้งของตัวผู้และตัวเมีย จนจำแนกออกเป็นเพศใดเพศหนึ่งไม่ได้ชัดเจน”
ลักษณะนี้เข้าเค้ากับ ‘ม้านิลมังกร’ ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อง “พระอภัยมณี” ที่สุนทรภู่บรรยายว่า เป็นม้าเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ‘พ่อ’ คือ ‘มังกร’ กับ ‘แม่’ คือ ‘ม้า’ ดังจะเห็นได้จากพระโยคีต้องเข้าฌานถึงจะรู้ว่าสัตว์ประหลาด ‘หน้าเหมือนมังกร ตัวเป็นม้า มีหางเหมือนมังกร’ ที่กัดสุดสาครนั้นเป็นตัวอะไร
“จึงเล็งญาณฌานชิดด้วยฤทธา ก็รู้ว่าม้ามังกรสมจรกัน
ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ ตัวตีนต่อจะเหมือนแม่ช่างแปรผัน
หางเป็นนาคมาข้างพ่อมันต่อพันธุ์ พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน”
พระโยคีเห็นว่าม้านี้มีฤทธิ์ จึงบอกวิธีให้สุดสาครจับไว้เป็นพาหนะขี่ไปตามหาพ่อ
“ม้าตัวนี้ดีจ้านเจียวหลานเอ๋ย เป็นกะเทยเขี้ยวเพชรไม่เข็ดขาม
จับไว้ขี่มีสง่ากล้าสงคราม จะได้ตามบิตุเรศไปเขตคัน”
เมื่อสุดสาครจับได้ จูงม้ามาให้ดูใกล้ๆ พระโยคีก็หัวเราะชอบใจ และบอกสรรพคุณม้าให้รู้ พร้อมตั้งชื่อให้เสร็จสรรพ
“พระนักสิทธิ์พิศดูเป็นครู่พัก หัวร่อคักรูปร่างมันช่างขัน
เมื่อตัวเดียวเจียวกลายเป็นหลายพันธุ์ กำลังมันมากนักเหมือนยักษ์มาร
กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้ มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดรฉาน
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน
เจ้าได้ม้าพาหนะตัวนี้ไว้ จะพ้นภัยภิญโญสโมสร
ให้ชื่อว่าม้านิลมังกร จงถาวรพูนสวัสดิ์แก่นัดดา”
ในวรรณคดีเรื่องเดียวกันนี้ยังมีตัวละครกะเทยสองพี่น้องซึ่งเป็นคนสนิทของนางเสาวคนธ์ นางคบคิดกับคนทั้งคู่ เตรียมหนีการอภิเษกกับสุดสาครโดยต่อสำเภายาวถึง 9 เส้น แล้วลอบพากันลงเรือ
“วิบากกรรมจำหนีพระพี่ยา นางตรึกตราเตรียมการมานานครัน
คิดความลับกับกะเทยที่เคยใช้ ชื่อมาลัยมาลาปัญญาขยัน
อยู่ในวังทั้งสองพี่น้องกัน เลี้ยงเป็นชั้นคนสนิทช่วยคิดการ
ให้ลอบทำสำเภายาวเก้าเส้น สำหรับเล่นทะเลลึกฝึกทหาร
เลือกล้าต้าต้นหนพวกคนงาน ล้วนชำนาญนาวาในสาชล
พวกนารีที่เป็นข้าทั้งห้าร้อย เคยใช้สอยการศึกได้ฝึกฝน
จะไปด้วยช่วยเจ้าเมื่อคราวจน ทั้งพวกพลขอเฝ้าตามเจ้านาย
ขนข้าวน้ำลำเลียงเสบียงไพร่ บรรทุกไว้ในเรือนั้นเหลือหลาย
กำหนดนัดจัดแจงไม่แพร่งพราย ทั้งไพร่นายพันร้อยรอคอยฟัง ฯ”
ต่อมาก่อนนำเรือเข้าเทียบฝั่ง นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤษีชื่อ พระอัคนี มาลัย และมาลาก็แปลงเป็นเณรรับใช้ใกล้ชิด ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า
“เณรพี่น้องสองกะเทยที่เคยใช้ ต่างถือไม้เท้าย่ามเดินตามหลัง”
ไม่ว่าจะเป็น ‘กระเทย’ ในเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ‘กะเทย’ ใน “กฎหมายตราสามดวง” ‘ม้านิลมังกร’ และ ‘สองพี่น้องคนสนิทของนางเสาวคนธ์’ ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ล้วนแต่เป็น ‘กะเทย’ ทั้งสิ้น เท่ากับยืนยันว่า ‘กะเทย’ มีมาแต่โบราณ แต่ถ้าจะให้แจกแจงไปถึงขั้นเป็น ‘กะเทยแท้’ หรือ ‘กะเทยเทียม’ ตามที่อธิบายไว้ใน “สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ว่าเกิดจากเหตุและปัจจัยอะไรบ้าง ดูจะเกินสติปัญญาของผู้เขียน
ขอจบแค่นี้เด้อ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022