ผู้ชายญี่ปุ่นลางานเลี้ยงลูก (育児休暇)

ปัญหาเด็กเกิดน้อย (少子化) เป็นปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ นอกจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายให้เงินช่วยเพื่อการเลี้ยงดูบุตรแล้ว ภาคเอกชน องค์กรธุรกิจใหญ่ๆ หลายแห่งพยายามมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพนักงานชายวัยสร้างครอบครัว ได้ลางานชั่วคราวเพื่อไปช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูกวัยทารก (育児休暇) กันมากขึ้น

พนักงานชายที่ขอลางานไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกต้องละจากหน้าที่การงานที่รับผิดชอบในบริษัทไปทำหน้าที่ “พ่อ” และหน้าที่ “สามี” ผู้แบ่งเบาภาระหนักของภรรยา

ข้อนี้สังคมทั่วไป และพนักงานภายในองค์กรคงเข้าใจได้และยังเห็นใจด้วย

แต่จะมีใครนึกถึงคนอยู่ร่วมแผนกที่พนักงานชายลางานไปช่วงเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน คนอยู่หลังต้องแบกรับภาระงานแทนไปเต็มๆ แล้วใครจะอยากทำงานแทน? ต้องฝืนทำไป หรือทำแบบให้พ้นๆ ตัว รอให้คนที่ขอลาไปกลับมารับงานคืนไปเร็วๆ

ถ้าเป็นแบบนี้บริษัทย่อมเสียหายแน่นอน

พนักงานชายผู้คิดจะยื่นความประสงค์ขอลาเลี้ยงดูบุตร ก็ย่อมไม่สบายใจที่ทิ้งงานของตัวเองให้เพื่อนร่วมงานรับไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมการทำงานของญี่ปุ่น ที่พนักงานทุกคนตระหนักถึงความรับผิดชอบต่องานของตัวเองอย่างสูงยิ่ง ย่อมรู้สึกเกรงใจเพื่อนร่วมงานมากทีเดียว

บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งในญี่ปุ่น จึงคิดริเริ่มวางระบบเกี่ยวกับพนักงานชายลาเลี้ยงดูบุตรให้ลางานได้อย่างสบายใจ และผู้ร่วมงานก็ยินดีรับภาระงานนั้นๆ แทนชั่วคราวด้วย เรียกว่า “วิน-วิน” ทั้งฝ่ายลางานและฝ่ายรับงาน

ทำอย่างไร? มาดูตัวอย่างกัน

 

พนักงานฝ่ายขาย ชาย วัย 29 ปี บริษัทเบียร์ซัปโปโร มีลูกสาววัย 2 ขวบและ 4 เดือน อยากขอใช้สิทธิ์ลางานเพื่อช่วยภรรยาดูแลลูกสาว เขารู้สึกเกรงใจบริษัท เพื่อนร่วมงาน และยังเกรงใจลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของเขากว่า 20 บริษัทด้วย จึงตั้งใจยื่นขอลางาน 2 สัปดาห์ ถึง 1เดือน แล้วแต่หัวหน้าจะเห็นสมควร

แต่หัวหน้ากลับเสนอให้ลา 2 เดือนไปเลย หัวหน้าแบบนี้มีด้วย!

เขากังวลใจว่า ภาระงานและการติดตามงานที่ค้างอยู่ในความรับผิดชอบของเขา จะทำให้เพื่อนในแผนกเดียวกันต้องทำงานหนักขึ้นแทนเขา

ไม่แต่เพียงเท่านั้น ยังทำให้พนักงานของบริษัทลูกค้าที่ติดต่องานกับเขา ต้องปรับตัวในการติดต่อกับเพื่อนร่วมงานที่ทำงานแทนเขา อาจเพิ่มความหงุดหงิดให้แก่ลูกค้าได้ง่าย ทั้งสองฝ่ายไม่คุ้นเคยกัน อาจมีความติดขัด ไม่ราบรื่นเกิดขึ้นได้

นี่คือลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นที่มีความรับผิดชอบสูง คิดละเอียด รอบคอบ และเกรงใจผู้อื่นเสมอ

ฝ่ายบริษัทก็ใจกว้าง อยากให้ระบบการลาเลี้ยงลูกของพนักงานชายก่อให้เกิดประโยชน์แก่ครอบครัวพนักงานที่ขอลาและพนักงานที่ทำงานแทน ซึ่งอาจไม่ได้มีเพียงคนเดียว บางกรณีมีความเกี่ยวข้องไปอีกหลายคน โดยกำหนดให้ “นับแต้ม” ของภาระงานที่กระจายออกไป

และ “แต้ม” เหล่านี้จะมีผลโดยนำไปคำนวณเป็น “เงินโบนัส” ของพนักงานที่รับงานนั้นๆ เพิ่ม

กรณีของพนักงานชายผู้นี้ มีเพื่อนร่วมงานมารับงานแทน รวม 5 คน แบ่งงานที่รับผิดชอบตามอาวุโสและประสบการณ์ รวมทั้งคำนึงถึงขนาดของลูกค้าแต่ละรายด้วย

ผลคือ คนที่รับงานแทนน้อยที่สุด ราว 5% และมากที่สุด ราว 35% เมื่อคำนวณออกมาเป็นตัว “เงินโบนัส” ประมาณ 4 หมื่นเยน สำหรับคนที่รับภาระเพิ่มมากที่สุด และลดหลั่นกันไป

ระบบนี้เริ่มนำมาใช้ไม่แต่เฉพาะการลาเลี้ยงลูกของพนักงานชายเท่านั้น แต่สำหรับพนักงานทั้งหญิงและชาย ที่มีความจำเป็นต้องลาหยุดช่วงเวลาหนึ่ง อาจเป็นการลาเพื่อดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย หรือตัวพนักงานเองเจ็บป่วยด้วย

 

เหตุที่บริษัทริเริ่มระบบการลาแบบนี้ เป็นเพราะที่ผ่านๆ มา พนักงานชายยื่นขอลาเลี้ยงลูกเพียงช่วงเวลาสั้นๆ กล่าวคือ เกินกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ขอลา จะลาไม่เกิน 2 สัปดาห์เท่านั้น มีเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่ขอลา 60 วัน เนื่องจาก “ความเกรงใจ” นั่นเอง

เมื่อกำหนดระเบียบใหม่นี้ขึ้นมาใช้ ปี 2023 ที่ผ่านมา มีอัตราส่วนพนักงานชายลาเลี้ยงลูก 100% เต็ม ใครมีลูกทารกก็ขอใช้สิทธิ์นี้ได้ บริษัทก็ภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้พนักงานชายได้ไปทำหน้าที่ “พ่อ” ได้อย่างเต็มที่และสบายใจ ไม่พะวักพะวงกับเรื่องงานในช่วงเวลาหนึ่ง

หัวหน้าของพนักงานที่ลาหยุดไป บอกว่าไม่มีปัญหาในเรื่องการตามงานที่ค้างอยู่เลย เพราะมีการวางแผนงานให้ทุกคนรู้งานและทำงานแทนกันได้อยู่แล้ว พนักงานผู้รับงานแทนมีภาระเพิ่มขึ้น แต่ก็มีแรงกระตุ้นจากระบบ “นับแต้ม” เพิ่ม “เงินโบนัส” นี้

ตั้งแต่ต้นปี จนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ บริษัทแห่งนี้มีพนักงานชายขอลาเลี้ยงลูกไปแล้ว รวม 20 คน ส่งผลให้มีพนักงานอีก 130 คนต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้น แต่ทุกคนก็ยิ้มรับ ไม่มีบ่นเลย!

ระบบช่วยเหลือพนักงานเช่นเดียวกันนี้ กำลังถูกบริษัทใหญ่ๆ อีกหลายสาขาธุรกิจ อาทิ ธุรกิจประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ โรงงานผลิตเครื่องไฟฟ้า เป็นต้น เตรียมนำมาปรับใช้กับบริษัทของตัวเอง

ศาสตราจารย์ ชินทาโร ยามากุชิ มหาวิทยาลัยโตเกียว มีความเห็นชื่นชมระบบการให้ค่าตอบแทนเพิ่มแก่พนักงานผู้รับงานเพิ่มแบบนี้ และยังเป็นการส่งเสริมการทำงานเป็นทีมเวิร์ก ไม่ใช่พึ่งพิงเพียงพนักงานคนเดียวที่รู้งานเท่านั้น ซึ่งเป็นผลดีแก่บริษัทแน่นอน และเป็นการทำลายระบบการทำงานแบบเดิมๆ ที่พนักงานต้องอดทนทำงาน ไม่กล้าแม้แต่จะลาหยุดด้วยธุระสำคัญส่วนตัวเลย

คนลาหยุดด้วยธุระสำคัญ ก็ลาด้วยความสบายใจ คนอยู่หลังก็ทำงานแทนแบบไม่บ่น ระบบแบบนี้คงจะช่วยให้รูปแบบการทำงานที่เคร่งครัดของญี่ปุ่นผ่อนคลายลงบ้าง ไม่มากก็น้อย และอาจส่งผลให้ครอบครัวพนักงานวัยหนุ่มสาวอยากมีลูกกันเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

จริงหรือ?…