ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
จริยธรรมทางการเมือง
: 6) ความปักใจเชื่อกับความรับผิดชอบ
จริยธรรมแห่งความปักใจเชื่อ
(the Ethics of Conviction)
กับจริยธรรมแห่งความรับผิดชอบ
(the Ethics of Responsibility)
ถึงแม้แมกซ์ เวเบอร์ จะชี้ไว้ในคำบรรยายว่าการเมืองของรัฐสมัยใหม่ในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะมีไม่ได้ หากปราศจากพรรคการเมืองและองค์การที่ทำงานเสมือนเครื่องจักรสร้างและระดมฐานคะแนนเสียงของมัน จนพอสรุปได้ว่า [การเมืองสมัยใหม่ = การเมืองของเครื่องจักร = การเมืองของพรรค]
แต่นักการเมืองอาชีพผู้เป็นผลผลิตของกระบวนการทำให้การเมืองเป็นแบบวิชาชีพ (the professionalization of politics) ดังกล่าวก็เป็นเพียงกึ่งหนึ่งของทวิลักษณ์ (doubleness) แห่งรัฐสมัยใหม่
นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนนักการเมืองอาชีพให้กลายเป็น -> ผู้นำอาชีพของพรรคและรัฐ เรียกร้องต้องการมากกว่าหัวคิดหรือสมองแบบเสนาธิการทางการเคลื่อนไหว-ปฏิบัติการ-และบริหารจัดการการเมืองการปกครอง
หากต้องสามารถนำเสนอวิสัยทัศน์ (vision) หรือหัวใจให้แก่พรรคและรัฐ ที่สามารถดลบันดาลใจสมาชิกพรรค เจ้าหน้าที่รัฐและสื่อผ่านส่งต่อไปยังประชาชนให้ปักใจเชื่อและมุ่งมั่นเดินตามไปสู่เป้าหมายเชิงอุดมคติดังกล่าว ด้วย
อํานาจการนำในการเมืองสมัยใหม่อันเป็นการเมืองอาชีพจึงต้องทำทั้งด้วยหัวคิดกับหัวใจ สามารถคิดอ่านแทนและรู้สึกแทนประชาชนเสมือนหนึ่งเป็นทั้งสมองและหัวใจของพวกเขานั่นเอง!
เวเบอร์อธิบายต่อว่า ผู้นำอาชีพในการเมืองสมัยใหม่เผชิญภาระสองต่ออันชวนตึงเครียดเหนื่อยล้า ที่ต้องนำทั้งด้วยหัวคิดกับหัวใจ ทั้งด้วยเหตุผลกับอารมณ์อันแรงกล้า ดำเนินชีวิตทางการเมืองโดยถึงพร้อมด้วยจริยธรรมอันแตกต่างกันสองชุดในเวลาเดียวกันได้แก่ :
จริยธรรมแห่งความรับผิดชอบ (the ethics of responsibility) ซึ่งหมายถึงการทำสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานแห่งการคาดคิดคำนวณผลลัพธ์ของมัน กับ
จริยธรรมแห่งความปักใจเชื่อ (the ethics of conviction) ซึ่งหมายถึงการทำสิ่งต่างๆ เพราะเชื่อว่ามันถูกต้องที่จะทำ ยิ่งกว่าที่ว่ามันจะส่งผลลัพธ์เช่นใด
ประเด็นสำคัญในการประพฤติปฏิบัติจริยธรรมทั้งสองของผู้นำการเมืองคือมันไม่ใช่การเลือกยึดเลือกทำเฉพาะจริยธรรมอันใดอันหนึ่ง แล้วเพิกเฉยละทิ้งอีกอันโดยไม่นำพามาปรารมภ์ หากต้องทำทั้งสองอย่างควบคู่เคียงขนานกันไป โดยจะคิดถึงแต่ผลลัพธ์ไม่ได้ และจะคิดถึงแต่ความปักใจเชื่อของตนเองก็ไม่ได้เช่นกัน ทว่า พึงต้องหาทางรอมชอมความปักใจเชื่อของตนเข้ากับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
การปรับแต่งถ่วงดุลระหว่างข้อเรียกร้องทางจริยธรรมที่ต่างกันสองชุดนี้ทำให้การนำทางการเมืองเสมือนหนึ่งการไต่ลวดที่สะวิงวูบไหวน่าหวาดเสียว ต้องคอยดึงรั้งชั่งตรองน้ำหนักการทรงตัวตลอดเวลา รวมทั้งมันยังเรียกร้องให้พึงยอมรับตั้งแต่แรกย่างก้าวเข้าสู่สนามการเมืองด้วยว่าไม่ว่าตัวผู้นำเองจะเชื่อสิ่งใด ไม่ว่าจะเชื่อมันอย่างเร่าร้อนลิงโลดแค่ไหนก็ตามที จะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นซึ่งเข้ากับมโนธรรมสำนึกทางการเมืองของตนไม่ได้ง่ายๆ อยู่เสมอ
การเมืองจึงเป็นเรื่องยากและผู้นำการเมืองต้องหัดเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ดังที่เวเบอร์กล่าวว่า :
“ถึงแม้การเมืองจะเป็นอะไรบางอย่างที่ทำด้วยหัวคิด แต่มันก็ไม่ใช่อะไรบางอย่างที่ทำด้วยหัวคิดล้วนๆ แน่ๆ…แต่เราควรกระทำการบนพื้นฐานจริยธรรมแห่งความปักใจเชื่อหรือจริยธรรมแห่งความรับผิดชอบดีล่ะ? และเมื่อใดที่เราควรทำอันหนึ่งและไม่ทำอีกอันหนึ่ง? ทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ใครหน้าไหนจะอบรมสั่งสอนใครได้”
(Max Weber, “The Profession and Vocation of Politics”, Political Writings, ed. Peter Lassmann, 1994, p. 367)
ด้วยข้อเรียกร้องทางจริยธรรมคู่ขนานดังกล่าว จึงมีคนอยู่ 3 จำพวกที่เวเบอร์เห็นว่ามีทีทัศน์ไม่เหมาะกับบทบาทฐานะผู้นำการเมืองของรัฐสมัยใหม่ ได้แก่ นักปฏิวัติ, นักบุญ และข้าราชการประจำ
ปัญหาของนักปฏิวัติ
เวเบอร์มองว่านักปฏิวัติโดยเฉพาะในวัยเยาว์เร่าร้อนมักละเลิกเพิกเฉยห่วงเชื่อมระหว่างความปักใจเชื่อกับความรับผิดชอบ โดยเน้นความปักใจเชื่อเหนือความรับผิดชอบ เห็นว่าเป็นไปได้ที่จะพลิกเปลี่ยนการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ให้กลายเป็นสังคมอุดมคติบางอย่างและคิดว่าคุ้มค่าที่จะยอมสูญเสีย/เสียสละราคาที่จำเป็นเพื่อไปให้ถึงสังคมอุดมคตินั้นไม่ว่าจะเป็นการนองเลือด ความรุนแรงและทุกขเวทนาก็ตาม
ราคาดังกล่าวถูกประเมินว่าไม่สลักสำคัญอะไรในเมื่ออีกไม่ช้านานความทุกข์ยากและสยองขวัญจะถูกขจัดปัดเป่าหมดไป และสังคมจะเหมือนกระดานเปล่าที่ถูกลบจนเกลี้ยงเกลา รอให้วาดวางสังคมใหม่ได้ตามสัญญา
ทีทัศน์ของนักปฏิวัติข้างต้นถูกเวเบอร์วิจารณ์ว่าขาดความรับผิดชอบอย่างลึกซึ้ง เพราะปัดปฏิเสธประดาความล้มตายเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างมักง่ายว่าตนไม่มีส่วนรับผิดชอบ และคิดเข้าข้างตัวเองว่าถึงอย่างไรสังคมอุดมคติที่ (อาจ) จะได้มาย่อมฟอกล้างชำระบาปหรือความรับผิดใดๆ ทางการเมืองของตนให้ขาวสะอาดอยู่ดี
เวเบอร์ฟันธงว่าการถือความปักใจเชื่อของตนว่าสำคัญเหนือกว่าผลลัพธ์ ทำให้นักปฏิวัติแพ้แล้วแต่ต้นในทางการเมืองและอาจพลอยทำให้สังคมการเมืองที่ถูกพยายามปฏิวัติพ่ายแพ้พังภินท์ไปด้วย
ปัญหาของนักบุญ
เวเบอร์ระบุโต้งๆ ว่าการเมืองไม่ใช่อาชีพสำหรับนักบุญ เพราะนักบุญถือว่าวิธีการกับเป้าหมายต้องสอดคล้องไปด้วยกันเสมอ มิฉะนั้นแล้ววิธีการที่ผิดก็จะทำให้เป้าหมายที่ถูกต้องดีงามพลอยปนเปื้อนเสื่อมถอยไปด้วย
เขาชี้ว่าในทางการเมือง ความเป็นจริงมีอยู่ว่าวิธีการย่อมจะทำให้เป้าหมายปนเปื้อนเสื่อมถอยไปจริงๆ น่ะแหละ แต่นั่นคือราคาของการเมืองที่นักการเมือง/ผู้นำการเมืองต้องจ่ายเพื่อดำรงชีวิตทางการเมือง เวเบอร์วิเคราะห์วิจารณ์อย่างเลือดเย็นว่า :
“ไม่มีจริยธรรมใดในโลกจะหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงที่ว่าการบรรลุเป้าหมายที่ดีนั้นในหลายกรณีผูกติดกับความจำเป็นต้องใช้วิธีการซึ่งต้องสงสัยหรืออย่างน้อยก็สุ่มเสี่ยงทางศีลธรรม… อีกทั้งไม่มีจริยธรรมใดในโลกจะกำหนดได้ว่าเมื่อไหร่และในขอบเขตแค่ไหนเพียงใดที่เป้าหมายที่ดีทางจริยธรรมจะปลุกเสกวิธีการซึ่งสุ่มเสี่ยงทางจริยธรรมให้ทำไปโดยชอบได้”
(Max Weber, “The Profession and Vocation of Politics”, p. 360)
ไม่มีเป้าหมายอันดีงามใดจะหลุดพ้นมลทินนี้ได้ รวมทั้งสันติภาพซึ่งบรรลุถึงได้โดยผ่านความรุนแรง ก็ย่อมแปดเปื้อนมลทินความรุนแรงไปด้วยเสมอ ค่าที่เครื่องมือการเมืองที่ใช้คือรัฐสมัยใหม่ซึ่งแก่นแกนของมันคือการใช้กำลังบังคับอย่างเคี่ยวข้นรวมศูนย์ (the state as an organ of concentrated violence) การแก้ตัวหลังเหตุการณ์โดยบอกปัดบ่ายเบี่ยงว่ามันเป็นผลลัพธ์ (ความรุนแรง) ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น (unintended consequences) นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะเรื่องเลวร้ายย่อมเกิดขึ้นเมื่อใช้รัฐสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือนั่นแหละ
ในแง่หนึ่งการเมืองจึงเป็นเหมือนกิจกรรมผีสิงที่ถูกสาปให้ลงเอยด้วยมือที่เปื้อนเลือดไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นี่เป็นปฏิทัศน์ย้อนแย้งของการเมืองสมัยใหม่และใครทนรับมันไม่ไหวก็ไม่ควรแสร้งพยายามจะอยู่กับมัน ดังที่เวเบอร์กล่าวว่า :
“ใครก็ตามที่อยากทำการเมืองไม่ว่าชนิดใดก็แล้วแต่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งใครก็ตามที่ปรารถนาจะเอาการเมืองเป็นอาชีพ จำต้องสำนึกถึงปฏิทัศน์ทางจริยธรรมเหล่านี้และความรับผิดชอบของตนต่อสิ่งที่ตัวเขาเองอาจกลับกลายเป็นไปภายใต้แรงกดดันจากปฏิทัศน์ดังกล่าว ผมขอย้ำว่าเขากำลังเข้าไปพัวพันกับพลังอำนาจภูตผีปีศาจซึ่งแอบแฝงอยู่ในความรุนแรงทั้งปวง”
(Max Weber, “The Profession and Vocation of Politics”, pp. 365-66)
ปัญหาของข้าราชการประจำ
ตรงข้ามกับนักปฏิวัติและนักบุญ ปัญหาของข้าราชการประจำที่ไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำการเมืองอยู่ตรงแนวโน้มที่จะเน้นความรับผิดชอบมากเกินไปจนถึงขั้นปลอดเปล่าความปักใจเชื่อใดๆ เอาแต่คอหยักๆ สักแต่ว่าทำไปตามหน้าที่กิจวัตรประจำวัน ปราศจากศรัทธา อารมณ์แรงกล้าหรือภารกิจเชิงอุดมการณ์แห่งชีวิต นอกเหนือไปจากคำขวัญหลักของทางราชการที่เอาไว้ท่องบ่นแสดงความภักดีต่อเจ้านายเป็นเกราะกำบังตน
รัฐสมัยใหม่ทั้งหลายพึ่งพาอาศัยข้าราชการประจำเป็นกลไกแขนขาของมันนั่นแหละ เวเบอร์รู้จักคนประเภทนี้ดี ค่าที่เขาใช้เวลายาวนานในวิชาชีพนักวิชาการของตัวค้นคว้าวิจัยขีดเขียนงานเกี่ยวกับระบบราชการมา และฟันธงว่าข้าราชการประจำไม่เหมาะจะเป็นผู้นำการเมือง เพราะเอาแต่วางแผนงานโครงการและชั่งวัดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นโดยอาศัยตัวแบบหรือแผนภูมิ (ทุกวันนี้นำเสนอโดยกราฟิกตามจินตนาการโดยสมมุติให้โลกหยุดนิ่ง)
สิ่งที่ข้าราชการประจำไม่มีคือหลักการเชิงคุณค่า (value) ที่ข้ามพ้นแค่การคำนวณออกไป ซึ่งมีแต่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์/หัวใจ/ความปักใจเชื่อของผู้นำการเมืองนอกและเหนือระบบราชการมาชี้นำให้เกิดขึ้นเท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022