ลำดับที่ 900

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านเมืองฉบับนี้ จะไม่พาไปมองบ้านหรือมองเมือง เหมือนทุกครั้ง แต่จะขออนุญาตมองตัวเอง มองเรื่องส่วนตัว คงจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว

จากข้อมูลที่เก็บไว้ ต้นฉบับนี้ จะเป็นลำดับที่ 900 นับจากต้นฉบับที่ 1 เมื่อ 28 ปีก่อน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2539

ตอนนั้น พาไปมอง ดอกบัวทอง หน้าอาคารรัฐสภาหลังเก่า ที่เคยอยู่ในเขตพระราชฐาน พระราชวังดุสิต ก่อนที่จะย้ายมายัง สัปปายะสภาสถาน หลังใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เกียกกาย

เรื่องราวงานปฏิมากรรม ที่ศิลปิน แสงอรุณ รัตกสิกร สรรค์สร้างอย่างสวยงาม นอกจากจะสอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมแล้ว ยังสื่อความหมายถึงพฤติกรรมของบรรดาสมาชิกรัฐสภา ผู้ใช้อาคารหลัก

จากนั้น แต่ละครั้งจะพาไปมองเรื่องราวงานศิลปะ งานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายในอาคาร งานภูมิสถาปัตยกรรม งานผังเมือง แผนพัฒนาพื้นที่ และสภาพแวดล้อม

นอกจากให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น สภาพทางกายภาพที่ปรากฏแล้ว ยังพาไปมองชีวิต วิถีของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกอาคาร ทั้งในเมืองและนอกเมือง ทั้งเมืองและชนบท ทั้งกรุงเทพฯ และภูมิภาค รวมทั้งต่างประเทศเป็นบางครั้ง ตามแต่โอกาสจะอำนวย รวมทั้งหมดเกือบเก้าร้อยเรื่องในช่วงเวลาเกือบสามสิบปี

 

ต้องขอบคุณ เสถียร จันทิมาธร อดีตบรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์ ผู้มีคุณูปการมากล้น เปิดพื้นที่ให้สถาปนิกและอาจารย์หนุ่มนิรนามในตอนนั้น แสดงความคิดเห็น ผ่านคอลัมน์ มองบ้านมองเมือง และ สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์ คนปัจจุบัน ที่ยังเปิดพื้นที่ให้คนสูงวัยได้แสดงความคิดเห็น

อีกทั้ง สามหนุ่มสามคอลัมน์ คือ หนุ่มเมืองจันท์ (ธุรกิจ) นิวัติ กองเพียร (ศิลปะ) และนาย ต. (อสังหาริมทรัพย์) มิตรแท้ ที่ให้กำลังใจ ชี้แนะ และวิจารณ์ ทั้งด้านเนื้อหาและภาษา ทำให้มีพลังในการเขียนตั้งแต่แรกเริ่ม ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงเวลาที่ยาวนาน มี หนุงหนิง ผู้ไปสบายแล้ว และ ปวีณา คอยประสานงาน ติดตามต้นฉบับ ด้วยความอดทนและเมตตา และ นิตยา จันทร์สร ที่ช่วยดูแลต้นฉบับ ที่เดิมเขียนด้วยมือ ปัจจุบันเขียนบนไอแพด

 

เรื่องราวและความคิดเห็นต่างๆ ในแต่ละสัปดาห์ พอจะมีเสียงก้องกลับมาบ้าง โดยเฉพาะเมื่อให้ข้อมูลผิดพลาด หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้อ่านในเวลานั้น ส่วนใหญ่ ถ้ารู้จักเป็นการส่วนตัว มักจะบอกกล่าวเวลาเจอกันบ้าง ยังมีลูกศิษย์หลายคนที่เพิ่งมารู้ความว่าเป็นใคร มักจะมีอาการตื่นเต้น เพราะงานเขียนไม่ตรงกับตัว โดยเฉพาะในชั้นเรียน

เรื่องที่น่ายินดีที่สุด เมื่อหนึ่งในผู้ติดตามคอลัมน์ มองบ้านเมืองเมือง ในมติชนสุดสัปดาห์ นั้นคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ผู้เสนอให้ไปเป็นองค์ปาฐก ในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงฟังปาฐกถาสิรินธร ครั้งที่ 33 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย ปริญญา ตรีน้อยใส เฝ้ามองบ้านเมืองมานาน จึงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนไทย ในแง่ของความเป็นมนุษย์ ในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเกียรติยศ และความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง สำหรับสถาปนิกธรรมดาคนหนึ่ง

ผู้ติดตามคอลัมน์ มองบ้านมองเมือง ในช่วงปีหลังๆ อาจรู้สึกว่า เนื้อหามักจะเป็นการมองย้อนเหตุการณ์ในอดีตอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องจริง ด้วยมีโอกาสวิจัยค้นคว้า เอกสารและแผนที่ประวัติศาสตร์ของบ้านเรามากขึ้น จึงได้เรียนรู้และเข้าใจว่า ภูมิทัศน์บ้านเมืองในวันนี้ ล้วนมีพื้นฐาน เค้าโครง ความเป็นมาแต่ครั้งก่อน เมื่อความงดงามกลายเป็นความอุจาด ความกลมกลืนกลายเป็นความขัดแย้ง และความสำเร็จกลายเป็นความล้มเหลว สิ่งต่างๆ กลายเป็นปัญหาที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่ทุกวัน

ต้นทางคือ ความไร้เดียงสา ความเขลา และที่สำคัญ ไม่ยอมเข้าใจและไม่เรียนรู้ สถานภาพบ้านเมืองไทย ทั้งที่เคยเป็นและที่เป็นอยู่ หากนำเอาความรู้ต่างถิ่น ทฤษฎีวิชาการต่างด้าว และภาพจำจากต่างประเทศ มาแก้ปัญหา เลยทำให้ปัญหาเก่ารุนแรงมากขึ้น ปัญหาใหม่เกิดเพิ่มขึ้น

อย่างที่เห็น และเป็นอยู่ ในทุกวันนี้ •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส