ระบำ 9 ชั้น : ความบันเทิงของหนุ่มๆ ในช่วงสงคราม (จบ)

ณัฐพล ใจจริง

หนึ่งในระบำที่สร้างความบันเทิงเริงรมย์ให้กับชายหนุ่มยุโรปในครั้งนั้น คือ ระบำแคนแคน (The can-can) ระบำชนิดนี้ถือเป็นการระบำที่อื้อฉาว เนื่องจากนางระบำจะสวมกระโปรงบานซึ่งเปิดเป้าและเตะขาสูงโดยตั้งใจให้เปิดเผยร่างกาย

ลักษณะเด่นของการเต้นรำประเภทนี้คือ การดึงกระโปรงและกระโปรงซับในให้ตึง รวมถึงการเตะสูง มีการกางแข้งกางขาในการเต้น

ระบำแคนแคนเป็นที่นิยมเต้นที่คาบาเรต์ ฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 19 การเต้นระบำแบบแคนแคนสามารถสร้างรายได้ดี ได้ที่คาบาเรต์ชื่อ มูแลงรูจ (the Moulin Rouge) ที่ตั้งอยู่ในย่านโคมแดงในมงมาร์ต ปารีส

นักเต้นหญิงที่มีชื่อเสียง เช่น La Goulue

โปสเตอร์ของระบำคณะโฟลี แบร์แยร์ (1920) และนางระบำของคณะ (1921)

ความทรงจำของชายหนุ่มร่วมสมัย

นารถ โพธิประสาท เล่าไว้ใน ช่อกุหลาบ เมื่อ 2473 ว่า สาเหตุที่ทำให้เขาเขียนเรื่องตึกชนิดหลายชั้นในพระนครเป็นเพราะตึก 7 ชั้น ตึก 9 ชั้นทำให้เขาสะดุดใจให้หวนระลึกถึงตึกสูงในยุโรป เขาเห็นว่า “ตึก 9 ชั้นในกรุงเทพฯ จึงเป็นวิมานที่ก่อความพิศวงและทุกคนอยากขึ้นไปชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงระบำที่มีลีลาการเต้นลอกเลียนมาจากโฟลี แบร์แยร์ของฝรั่งเศส เป็นต้น” (ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, 2519, 105)

เขาเล่าต่อว่า บนตึก 9 ชั้นมีบาร์ขายสุราให้คนหนุ่มสมัยใหม่เข้าไปใช้บริการกันอย่างเต็มที่ว่า “ตึก 9 ชั้นเป็นแหล่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าไปใช้ชีวิตดื่มดวดเหล้าเบียร์กันอย่างรื่นรมย์ ชมระบำที่จะสะกดผู้ดูให้แน่นิ่งกับเก้าอี้ ในขณะที่วิสกี้ตราขาวขวดละ 10 บาท เบียร์ขวดละไม่เกิน 2 บาท (วิสกี้ตราขาวสมัยนั้น ตามท้องตลาดขวดละ 6 บาท เบียร์ประมาณ 60 สตางค์) พาร์ตเนอร์มีอยู่พร้อมที่จะเข้ามาประคบประหงมแก่ผู้ที่ขึ้นมาสู่วิมานแห่งนี้อย่างอ่อนหวาน…” (ชาลี, 105-106)

นารถเล่าต่อว่า ในสมัยนั้น สถานที่เปิดต้อนรับคนกลางคืน มีอยู่ไม่กี่แห่ง แต่ที่ขึ้นชื่อลือชามีอยู่ 2 แห่ง คือ ระบำที่ตึก 9 ชั้น และระบำที่ตึก 7 ชั้น ต่างประโคมรายการโชว์กันอย่างครึกโครมเพื่อเรียกลูกค้าหนุ่มๆ ให้เข้ามาชม (ชาลี, 106) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นเจ้าของระบำ 9 ชั้น ส่วนคณะระบำที่แสดงที่ตึก 7 ชั้นนั้นเป็นคณะของนายหรั่ง

สมัยนั้น หนุ่มกรุงล้วนพิศสวาทดาราแห่งระบำ 9 ชั้นกันทั้งนั้น ด้วยเหตุที่นางระบำ 9 ชั้นนั้น “งดงามไปด้วยผิวพรรณที่ผุดผ่อง ทรวดทรงองค์เอวเป็นที่ประทับใจของหนุ่มๆ อย่างลึกซึ้ง มีข่าวว่าในระหว่างที่มีผู้มาเฝ้าดาราระบำหยาดฟ้าอันงามหยาดเยิ้มหลายคนนี้ ถึงกับเกือบจะเข่นฆ่ากันลงไปด้วยความหึงหวง เพราะต่างก็หมายปองดาราคนเดียวกันเป็นปฐมเหตุ” (ชาลี, 106)

นารถ กับความทรงจำถึงระบำคณะโฟลี แบร์แยร์

ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ฉบับ 24 สิงหาคม 2474 ลงข้อความได้ชักชวนหนุ่มนักเที่ยวไปหย่อนอารมณ์กันที่ใด ระหว่างตึก 9 ชั้นที่มีระบำหยาดฟ้าหรือโรสฮอลล์ โรงเต้นรำที่ถนนสุรวงศ์ ว่า “บัดนี้จะพูดถึงชายหนุ่มว่า จะไปเที่ยวที่ไหนดี จึงขอจำแนกไว้ดังนี้

ก. สำหรับผู้ที่จะบำเพ็ญตนไม่ให้มีใจฟุ้งสร่านเมื่อเห็นรูปสตรีสวยจงไปเก้าชั้น ไปนั่งปลงสังขารเสียให้ฉ่ำใจ จงคิดว่าอ้ายนั่นก็เนื้อ อ้ายนี่ก็เนื้อ ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอันใด ทำใจให้แน่วแน่ก็จะเห็นทางสวรรค์เป็นช่องโล่งสำหรับเป็นทางเดินของคนต่อไปเมื่อกลับบ้าน

ข. สำหรับผู้ที่จะให้ความเคยชิน ความสัมผัสต่อเนื้อสตรีต้องไปที่โรสฮอลล์ เป็นที่ได้ปลงด้วยการสัมผัสอย่างดี แล้วเราก็ปลงว่า อ้ายนั่นก็เนื้อ อ้ายนี่ก็เนื้อเช่นเดียวกัน ไม่ช้าก็จะเห็นทางสวรรค์ แต่ไม่สู้โล่งนักพอเดินไปคนเดียวได้ กลับบ้านมาก็ปลงอย่างนั้นอีกแล้วก็เดินไปทางสวรรค์

ถ้าท่านผู้ใดเชื่อและทำตามที่ว่านี้จะต้องถึงความสำเร็จทุกๆ คน และท่านควรจะไปในสถานที่เหล่านี้เพราะเป็นของไทยเราแท้ๆ” (วีรยุทธ์ ปิสาลี, 2557, 99-100)

หากหนุ่มนักเที่ยวพากันไปบนตึก 9 ชั้น “มีพาร์ตเนอร์พร้อมที่จะเข้ามาประคบประหงมแก่นักเที่ยวกระเป๋าหนัก ระบำแต่ละฉากแสดงกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน อันเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยสาวๆ ที่ฝึกปรือมาแล้วอย่างช่ำชอง แต่การเต้นก็มิได้เร้าใจหรือเกิดความหื่นหรรษ์แต่อย่างใด เพียงแค่ “เห็นช่วงแขนอันเปลือยเปล่า ท่อนขาขาวๆ ที่กระดกขึ้นอย่างมีศิลป์ หนุ่มๆ ที่มองอย่างตกตะลึงพรึงเพริดก็ต้องตบมือให้อย่างกึกก้องเสียแล้ว” นารถเล่า (ชาลี, 106)

ภาพ A Bar at the Folies-Berg?re (1882) ของมาเนต์

การแสดงระบำ 9 ชั้นจัดเป็นฉาก เป็นชุด ประกอบวงดนตรีแจ๊ซ ซึ่งยอดเยี่ยมที่สุดตามยุคสมัยนั้น ส่วนระบำญี่ปุ่นนั้นจะอ่อนพลิ้วอยู่ในชุดกิโมโน ส่วนระบำที่ตรึงตาตรึงใจหนุ่มๆ สมัยนั้นซึ่งจับตาอย่างไม่กะพริบก็คือระบำงู ซึ่งนางระบำจะเต้นหมุนเวียนเหียนหันคล่องแคล่วตามจังหวะดนตรีที่ทำให้หนุ่มๆ ในครานั้นอ้าปากค้างและนั่งตรงเกร็งอยู่กับพนักที่นั่ง

“ระบำแต่ละชุดจะถูกจัดสลับออกมาแสดงแก่ผู้ชม บางชุดก็ออกมาเป็นหญิงคู่กับชาย โดยเป็นหญิงเล่นเป็นชายแสดงความรักกันอย่างอ่อนโยน การแต่งตัวของแต่ละชุดจะวับแววแพรวพราวด้วยชุดผ้าต่วนสีฉูดฉาด นางระบำส่วนมากจะมีรูปร่างสวยงามได้ส่วน แม้นว่านางระบำบางคนออกท้วม แต่ก็มีเรือนร่างกันเปล่งปลั่งด้วยเลือดฝาดอันสมบูรณ์” นารถเล่า (ชาลี, 107)

นางระบำคณะโฟลี แบร์แยร์ (1928)

“หลังจากระบำหมู่จบสิ้นลงไปแล้ว รายการสุดท้ายที่ทุกคนเฝ้ารอคือ การแสดงระบำเดี่ยวโดยนางระบำระดับดาราของคณะชื่อ ‘สมิหรา’ ออกมาเต้นแคนแคน นางระบำคนนี้สามารถเต้นได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการเต้นแหกขาทั้งสองข้างออกไปสุดเหวี่ยงตามจังหวะนั้น ถ้าไม่ได้รับการฝึกหัดมาอย่างดีแล้วก็ย่อมทำไม่ได้อย่างแน่นอน” นารถเล่า (ชาลี, 107-108)

อย่างไรก็ตาม แม้พระนครสมัยนั้นจะมีสถานบันเทิงบนตึกสูงเป็นที่เปิดเผย แต่ก็มีผู้ให้ความเห็นต่างอันปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ฉบับ 13 มิถุนายน 2474 ดังมีบทกลอน “ตึกระฟ้า” ที่ผู้แต่งแสดงความเห็นในเชิงลบถึงการนุ่งน้อยห่มน้อยของหญิงสาวยุคใหม่ที่มีอาชีพเป็น “นักระบําโป๊” ซึ่งสถานที่คงจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากระบำตามตึกสูงบนถนนเยาวราชว่า

“ข้านี้ที่มีจิตมุ่ง- หมายผดุงศักดิ์หญิง นิ่งไม่ไหว ได้ไปเห็นเป็นที่เจริญใจ แต่จิตใจ แล้วเหงา เศร้าอุรา โอ้อนารถวาสนานิจจาเอ๋ย ไม่…เช่นนี้หนา เกียรติศักดิ์หญิงไทยไย…จึงเก่งกล้าให้สวยลดน้อยลง โชว์ขาอ่อนขาวนวลยวนสวาท ใครฤๅอาจกลั้นใจไม่ใหลหลง ใครได้เห็นฤๅจะเว้นไม่งวยงง มุ่งพะวงว่าแอบแนบสุดา แต่งอย่างอื่นไม่ได้หรือไงน้อง ไยจึงต้องทําโก้โชว์ท่อนขา ถ้าเต้นดีมีชื่อลือ…มิใช่ที่แต่กายาหรอกนะนวล แม่นุ่งห่มมิดชิดสนิทไว้ เจริญใจเจริญตาน่าเสสรวล หญิงดูได้ชายดูดีมิมีกวน ก่อกําเนิดเกิดยวนฤทัยเอย” (พิศาลศรี, 112)

ระบำหยาดฟ้า 9 ชั้น เครดิตภาพ : วีรยุทธ ปิสาลี
“สมิหรา” (ซ้าย) ดารานักเต้นแห่งคณะระบำ 9 ชั้น และนางระบำชุดญี่ปุ่น คณะเดียวกัน
ระบำคู่และระบำงู ที่มีชื่อแสดงแห่งคณะระบำ 9 ชั้น