ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
ปรีดี แปลก อดุล
: คุณธรรมน้ำมิตร (42)
กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
เนื่องจากการรัฐประหารครั้งนี้เกิดจากนายทหารนอกราชการส่วนน้อยจึงมีโจทย์สำคัญที่จะต้องหาทางป้องกันความไม่พึงพอใจจากทหารประจำการส่วนใหญ่ เริ่มจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งไม่ง่ายเพียงออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง แม้คณะรัฐประหารสามารถกระทำได้ในฐานะ “องค์อธิปัตย์” ก็ตาม คณะรัฐประหารได้แก้ปัญหานี้โดยลำดับแรก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งยังคงเป็น “ผู้มากบารมี” ในหมู่ทหารส่วนใหญ่ทั้งในและนอกราชการจะต้องเข้ารับหน้าที่หัวหน้าคณะรัฐประหารโดยเร็ว
ในคืนก่อการรัฐประหาร จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังมิได้แสดงตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารแต่อย่างใด จนกระทั่งรุ่งขึ้น วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เวลา 09.30 น. จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเดินทางเข้าไปในกระทรวงกลาโหมเพื่อรับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารตามคำเชิญของผู้ก่อการ มีการแบกจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นไหล่ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของคณะรัฐประหาร
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือภาพยนตร์ข่าวของแท้ ประกาศวุฒิสาร ซึ่งหอภาพยนตร์แห่งชาติยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี ปรากฏภาพนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ร่วมต้อนรับด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสกลมกลืนไปกับเหล่าทหาร ยืนยันความร่วมมือระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายอำนาจเก่ากับคณะรัฐประหารอย่างชัดเจน
จากนั้น วันเดียวกันนี้คณะรัฐประหารก็มีคำสั่งตั้ง “กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” ขึ้น โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็น “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็น “รองผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” พ.อ.กาจ กาจสงคราม (หลวงกาจสงคราม) เป็น “ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” ขณะที่โครงสร้างการจัดกระทรวงกลาโหมตามกฎหมายทุกระดับมิได้ถูกแตะต้องทั้งหน่วยงานและตัวบุคคล จึงยังคงมีกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ที่นายทหารทุกนายก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งตามปกติ โดยเฉพาะกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารบกก็ยังเป็นหลวงอดุลเดชจรัส
“กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” จึงเสมอเป็นเพียงการจัดตั้ง “เฉพาะกิจ” ด้วยอำนาจพิเศษ ทำนองเดียวกับ “กองบัญชาการทหารสูงสุด” ที่เคยจัดตั้งขึ้นในช่วงสงครามที่ผ่านมา ซึ่งมีตำแหน่ง “แม่ทัพบก” ที่มาจาก “ผู้บัญชาการทหารบก” มี “แม่ทัพเรือ” ที่มาจาก “ผู้บัญชาการทหารเรือ” มี “แม่ทัพอากาศ” ที่มาจาก “ผู้บัญชาการทหารอากาศ” และมี “ผู้บังคับกองตำรวจสนาม” ที่มาจาก “อธิบดีกรมตำรวจ” เป็นต้น
ทุกตำแหน่งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมจึงไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการรัฐประหารครั้งนี้
การจัดตั้งกองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทยนอกจากเพื่อประนีประนอมกับนายทหารประจำการโดยเฉพาะหลวงอดุลเดชจรัสแล้ว ยังเป็นการใช้อำนาจพิเศษจากการรัฐประหารเพื่อให้คณะรัฐประหารมีอำนาจทางการปกครองบังคับบัญชาหน่วยทหารทุกเหล่าทัพโดยไม่แตะต้องโครงสร้างอำนาจเดิมอีกด้วย
จากนั้นกองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทยก็ออกคำสั่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน วันเดียวกันนี้ “ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณและออกจากประจำการ” ได้แก่
พล.ท.หลวงหาญสงคราม เสนาธิการทหาร เป็นเสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย
พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นรองเสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย
พ.อ.หลวงสถิตยุทธการ เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย
พล.ต.จอน บูรณสงคราม พลาธิการทหารบก เป็นพลาธิการทหารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
และยังปรากฏนามนายทหารระดับรองลงมาบางท่านที่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากคณะรัฐประหาร ได้แก่ พล.ต.หลวงวีรวัฒน์โยธิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 1 ซึ่งพยายามระงับการเคลื่อนย้ายกำลังเมื่อคืนรัฐประหาร ย้ายไปประจำกรมเสนาธิการทหารบก แล้วให้ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รักษาราชการแทน พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ รักษาราชการสารวัตรใหญ่ทหารและอธิบดีกรมตำรวจ ออกจากประจำการ
ทั้งๆ ที่มิได้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดขวางการรัฐประหาร ซึ่งน่าจะมาจากความสนิทสนมเป็นพิเศษกับนายปรีดี พนมยงค์
ในจำนวนนายทหารระดับสูงที่มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในกองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่มิได้เข้าร่วมคณะรัฐประหาร แต่เป็นการเปิดพื้นที่ของคณะรัฐประหารให้นายทหารประจำการระดับสูงได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเป็นการประนีประนอมและสร้างความเป็นเอกภาพให้กองทัพบกเป็นส่วนรวมต่อไป
และในวันเดียวกันนี้ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวรราชเสวี ก็ได้ออกประกาศแต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในวันนี้ทันทีเช่นเดียวกัน โดยมี “พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส” เข้าร่วมในคณะอภิรัฐมนตรีด้วย หลวงอดุลเดชจรัสจึงลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แล้ว พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ก็เข้ารับตำแหน่งแทน ปัญหาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของหลวงอดุลเดชจรัสจึงคลี่คลายลงในลักษณะ “บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น”
ต่อมา เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว คณะรัฐประหารก็มีคำสั่งยุบกองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทยในที่สุด
ทว่า ท่ามกลางความราบเรียบบนผิวน้ำที่ “บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น” นี้ แต่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำได้ปรากฏความไม่พึงพอใจเงียบๆ จากนายทหารประจำการหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งในกองทัพบก ซึ่งมีนายทหารชั้นนายพลที่ปรากฏนามในตำแหน่ง “รองเสนาธิการทหารแห่งประเทศไทย” ร่วมอยู่ด้วย
โปรดติดตามนามนี้ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน
จี้นายควง
แทบจะทันทีทันใดหลังรัฐประหาร วันที่ 10 พฤศจิกายน คณะรัฐประหารก็ดำเนินการให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพียงไม่นาน ก็ปรากฏความจริงว่า ความร่วมมือระหว่างฝ่ายอำนาจเก่าที่แนบแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์และคณะรัฐประหารมิได้มั่นคงยืนยาวในลักษณะ “พันธมิตรถาวร” ทว่า เสมอเป็นเพียง “แนวร่วมชั่วคราว” (อันเป็นปกติของวิถีทางการเมืองไทยทุกยุคสมัย) ความร่วมมือระหว่างฝ่ายอำนาจเก่ากับคณะรัฐประหารครั้งนี้จึงถึงจุดที่ต้องแยกกันเดินในเวลาอีกไม่นาน เมื่อต่างฝ่ายต่างแสดง “ธาตุแท้” ของตนให้ปรากฏจนไม่อาจเดินร่วมทางกันได้ต่อไป
การแยกทางระหว่างฝ่ายอำนาจเก่ากับคณะรัฐประหารเริ่มขึ้นเมื่อนายควง อภัยวงศ์ ผู้ถืออำนาจเต็มในฐานะนายกรัฐมนตรีเริ่มจัดตั้งรัฐบาลและกำหนดรายชื่อวุฒิสมาชิกซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 100 คนให้รัฐบาลนำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงแต่งตั้ง
คณะรัฐประหารได้จัดทำรายชื่อวุฒิสมาชิก 99 คนเสนอไปยังรัฐบาล ซึ่งในจำนวนนี้มีนายทหาร นายตำรวจ และพลเรือน ที่ร่วมคณะรัฐประหารจำนวน 33 คน เช่น พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ท.ถนอม กิตติขจร และนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารอีกหลายคน
แต่ปรากฏว่าเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 นั้น ในจำนวนวุฒิสมาชิก 100 คนเป็นขุนนางระดับเจ้าพระยา 1 คน ระดับพระยา 54 คน ระดับพระ 15 คน ระดับหลวง 9 คน และเชื้อพระวงศ์ 10 คน รวม 89 คน เหลือที่นั่งสำหรับบุคคลอื่นเพียง 11 ที่นั่งเท่านั้น
ที่เหนือความคาดหมายคือไม่มีวุฒิสมาชิกที่มาจากคณะรัฐประหารและนายทหารประจำการเลยแม้แต่คนเดียว แม้กระทั่ง พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งเป็นชื่อแรกใน 99 รายชื่อที่คณะรัฐประหารเสนอให้รัฐบาลและเป็นผู้เชื้อเชิญให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก
แต่กระนั้น ฝ่ายคณะรัฐประหารก็ยังยินยอมให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนดเนื่องจากได้มอบอำนาจให้ไปแล้ว อีกทั้งยังไม่สามารถลบภาพการยึดอำนาจซึ่งนานาชาติไม่ยอมรับในขณะนั้นได้อีกด้วย
นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีได้แสดงธาตุแท้ที่ไม่ตรงกับฝ่ายคณะรัฐประหารอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในเวลาต่อมาว่า “จะได้ปรับปรุงกิจการทหารให้สอดคล้องกับการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย คือจัดให้กำลังทหารทั้งหมดเป็นส่วนของชาติโดยแท้จริง ทั้งไม่ให้ทหารเล่นการเมือง และไม่ให้ทหารเป็นเครื่องมือของนักการเมืองใดๆ”
บัดนี้ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดโดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่า รัฐบาลที่คณะรัฐประหารตั้งมากับมือแล้วยื่นดาบให้นั้นไม่ต้องการให้ทหารเข้ามามีส่วนในทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว ไม่แตกต่างกับเมื่อครั้งรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาใช้อำนาจที่คณะราษฎรมอบให้กลับมาทำร้ายคณะราษฎรเองเมื่อกลางปี พ.ศ.2476 ซึ่งคณะรัฐประหารไม่อาจยอมรับได้
เมื่อความร่วมมือในลักษณะ “แนวร่วมชั่วคราว” ถึงจุดสิ้นสุด ก็เกิดเหตุการณ์ “จี้” นายควง อภัยวงศ์ ให้ลาออกเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491 ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งหลวงพิบูลสงครามเป็นแกนนำบังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออกเช่นเดียวกัน
การเมืองไม่มี “มิตรแท้-ศัตรูถาวร” จริงๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022