ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“ทรัมป์ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากผู้ลงเสียงที่แคร์อย่างมากกับเรื่องของคนเข้าเมือง และมีคะแนนนำอย่างต่อเนื่องในโพลส่วนใหญ่ที่ผู้ลงเสียงให้ความสนใจในเรื่องเศรษฐกิจ ในขณะที่แฮร์ริสมีคะแนนนำอย่างมากในหมู่ผู้ออกเสียงที่กังวลกับเรื่องของสิทธิในการทำแท้ง”
บทประเมินผลโพลของ The New York Magazine
การเลือกตั้งอเมริกันที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมานั้น เป็นความน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ใช่แต่คนอเมริกันเท่านั้นที่ใจจดใจจ่ออยู่กับผลที่เกิดขึ้น โลกก็เช่นเดียวกัน ผู้นำในเวทีโลก รวมถึงผู้คนในหลายประเทศล้วนเฝ้าติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเป็นที่รับรู้กันในทางการเมืองระหว่างประเทศว่า การเลือกตั้งอเมริกันคือ “การเลือกตั้งของโลก” เนื่องจากผู้นำที่ทำเนียบขาวจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการเมืองโลก ในสถานะของการเป็นผู้นำ “รัฐมหาอำนาจใหญ่”
ดังนั้น หากย้อนกลับไปพิจารณาถึง “โค้งสุดท้าย” ของการแข่งขันทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นนั้น อาจจะชวนให้คิดถึงการแข่งขันที่เข้มข้นของการเลือกตั้งอเมริกันทั้งในปี 2016 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคล้ายคลึงอย่างมากกับปี 2020 ที่เห็นถึง “ความร้อนแรง” ของการแข่งขันบนเส้นทางสู่ทำเนียบขาว
ใครรดต้นคอใคร?
ฉะนั้น คำถามสำคัญในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 5 พฤศจิกายน จึงมีแต่เพียงประการเดียว คือ “ใครชนะ?”… เป็นไปได้ไหมที่สหรัฐจะได้ประธานาธิบดีหญิงคนแรกจริงๆ เสียทีในปี 2024 หลังจากในปี 2016 ที่เชื่อกันอย่างมากในครั้งนั้นว่าการเมืองอเมริกันกำลังจะมีประธานาธิบดีหญิง หรือผลสุดท้ายอาจจะย้อนรอยประวัติศาสตร์ของปี 2016 คือเรากำลังเห็นการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ อีกครั้ง ที่เป็นชัยชนะครั้งที่ 2 ของเขาในปี 2024
แน่นอนคำถามเช่นนี้ตอบไม่ง่าย เนื่องจากหลายฝ่ายในช่วงสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง มีข้อสรุปคล้ายคลึงกันว่า การแพ้/ชนะของการแข่งขันในครั้งนี้จะมีระยะห่างระหว่างกันน้อยมากๆ จนเสมือนกับอาการในสำนวนไทยคือ “หายใจรดต้นคอ” หรือที่สำนวนฝรั่งบอกว่าเป็นสภาวะ “neck to neck”… ถ้าเป็นกีฬาวิ่งแข่งก็คงประมาณว่า ต้องอาศัยกล้องจับภาพตอนเข้าเส้นชัย
ถ้าเช่นนั้น สภาวะของการแข่งขันในครั้งนี้ “ใครจะรดต้นคอใคร?”… สำหรับคำถามนี้ในช่วงสุดท้าย สิ่งที่จะตอบได้มากที่สุดน่าจะเป็น “โพล” ที่ทำการสำรวจอย่างเป็นวิชาการ เพราะโพลเป็นวิธีการพื้นฐานที่ทำให้เรามองเห็น (ทำนาย) ผลการเลือกตั้งในอนาคตได้ แม้จะไม่ใช่คำทำนายที่ถูกต้องอย่าง 100% ก็ตาม
แต่ในทางวิชาการ มักจะยอมรับกันว่าโพลที่ทำการสำรวจอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น มีโอกาสที่จะทำนายผลการเลือกตั้งได้ค่อนข้างมาก
การสำรวจของ “เว็บไซต์โพล 538” ที่เป็นเครือข่ายของสถานีข่าว ABC (The ABC News network) ซึ่งผลการสำรวจในวันที่ 30 ตุลาคม 2024 มีคะแนนของคู่แข่งขันปรากฏดังนี้ แฮร์ริส ชนะทรัมป์ด้วยคะแนนที่สูสี ในแบบ “หายใจรดต้นคอ” เพียง 1% คือ แฮร์ริสได้ 48% และทรัมป์ได้ 47%
ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนตัวผู้แข่งขันจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นกมลา แฮร์ริส นั้น เป็นการตัดสินใจของพรรคเดโมแครตที่ถูกต้อง (และต้องใช้คำว่า “ถูกต้องอย่างมาก”) เพราะผลจากการสำรวจก่อนที่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลจะเกิดนั้น คะแนนของประธานาธิบดีไบเดนดูจะเป็นฝ่ายไล่ตาม
ทรัมป์ โดยเฉพาะหลังจากทรัมป์ถูกลอบสังหาร และเปิดการปราศรัยครั้งแรกในเวทีการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน (The Republican National Convention) ซึ่งต้องยอมรับว่าการเปิดตัวของทรัมป์ครั้งนั้น มีพลังอย่างมาก จนหลายฝ่ายเชื่อว่าด้วยทิศทางการแข่งขันเช่นนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ทรัมป์ได้กลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง
การรอดชีวิตของทรัมป์กลายเป็นจุดขายที่สำคัญในทางการเมือง ซึ่งเขาได้กล่าวย้ำถึง “ความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า” (the grace of God) ที่ทำให้เขารอดชีวิตมาได้ อีกทั้งเป็นการสื่อสารโดยตรงกับบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมที่ยึดมั่นในเรื่องศาสนา และสร้างภาพของการเป็น “ผู้นำที่เข้มแข็ง” (strongman leadership)
อีกทั้งการเปิดเวทีตอบคำถามระหว่าง “ทรัมป์ vs. ไบเดน” เห็นได้ชัดถึงสภาวะที่ไบเดนเป็นรองอย่างมากบนเวทีดีเบต ในอีกด้านการดีเบตกลายเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ทรัมป์ได้ใช้ประโยชน์ในการ “สร้างภาพ” ของความเข้มแข็ง ความพร้อม และความเหนือกว่าของเขา ต้องยอมรับว่าเวทีถาม-ตอบที่เกิดเป็นครั้งแรกนั้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่ทรัมป์น่าจะเป็นผู้ชนะ
และถ้าพรรคเดโมแครตยังผลักดันให้ประธานาธิบดีไบเดนเป็นตัวเลือกในการแข่งขันแล้ว ผลเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน น่าจะจบลงด้วยชัยชนะของทรัมป์
เปลี่ยนม้ากลางศึก!
ในภาวะเช่นนี้ ทรัมป์ยังอาศัยเรื่อง “อายุ-ความพร้อม” ของไบเดนในการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่ง เป็นประเด็นในการหาเสียง และเรื่องนี้กลายเป็น “ข้อโจมตี” ด้วยภาพของไบเดนในบางกรณีที่ดูจะสะท้อนว่า เขาไม่น่าจะมีความพร้อมด้านร่างกายที่จะแบกรับภาระต่อไปในอีก 4 ปีหน้า แม้จะมีความพยายามที่จะอธิบายว่าตัวประธานาธิบดียังมีความพร้อมในทางสุขภาพร่างกาย
การยอมเปลี่ยนตัวผู้แข่งขันจากเวทีการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต (The Democrat National Convention) จึงกลายเป็น “โอกาสด้านกลับ” ที่แฮร์ริสจะหยิบเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องอายุมาเป็นประเด็นในการหาเสียง และเห็นชัดว่าหลังจากการเปลี่ยนตัวดังกล่าวแล้ว คะแนนเสียงในโพลของพรรคเดโมแครตดีขึ้นอย่างเห็นได้ขัด และขยับขึ้นโดยตลอด
น่าสนใจอย่างมากว่า จากโพลที่เก็บตัวอย่างจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นมานั้น ทรัมป์กลายเป็นรองแฮร์รีส พลิกกลับจากก่อนนี้ที่ทรัมป์นำไบเดน… คำสอนที่บอกว่า “อย่าเปลี่ยนม้ากลางศึก” อาจจะใช้ไม่ได้ในกรณีนี้
การพลิกกลับเช่นนี้ ยังมีนัยสำคัญจากการเปิดเวทีระหว่าง “ทรัมป์ vs. แฮร์ริส” ในวันที่ 10 กันยายน 2024 ซึ่งมีผู้ที่ติดตามชมรายการนี้ราวเกือบ 70 ล้านคน ซึ่งผลจากโพลหลังจากเวทีครั้งนี้ แฮร์ริสดูจะเป็นฝ่ายที่ชนะทรัมป์อย่างมาก
แต่ก็น่าสนใจว่าจากช่วงปลายเดือนตุลาคม จนถึงก่อนที่เดือนพฤศจิกายนจะเริ่มขึ้นนั้น ทรัมป์ดูจะเป็นฝ่ายที่ขยับไล่ตามมาได้ใกล้มากขึ้น หรือดังที่กล่าวแล้วว่า ผลสำรวจเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมนั้น มีระยะห่างเพียง 1% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่าการสำรวจของโพลแบบนี้ เป็นการสำรวจในระดับชาติ (หรือในภาพรวม) ที่อาจจะมีความผิดพลาดได้ง่าย เพราะผลการเลือกตั้งถูกตัดสินจาก “ระบบคณะผู้เลือกตั้ง” (electoral college system) ที่แต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งจากจำนวนของประชากรภายในรัฐ ซึ่งคณะผู้เลือกตั้งนี้ จะมีจำนวน 538 คน ฉะนั้น ผู้ชนะจะต้องได้ 270 เสียงหรือมากกว่า (538 หาร 2 = 269)
รัฐที่เดาใจไม่ได้!
หากมองพฤติกรรมการออกเสียงของคณะผู้เลือกตั้งในรัฐทั้ง 50 นั้น ส่วนใหญ่แล้วพอจะคาดเดาได้ว่า รัฐไหนจะเป็นฐานเสียงให้กับพรรคใด แต่ก็อาจจะมีบางรัฐที่มีอาการ “สะวิง” (swing states) หรือเป็นรัฐที่คะแนนเสียงเปลี่ยนไปมา อันทำให้คะแนนเสียงจากรัฐเหล่านี้ กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงผลแพ้-ชนะ หรืออาจกล่าวได้ว่ารัฐที่คะแนนสะวิงเช่นนี้ เป็น “สนามรบ” ของการเลือกตั้งอเมริกันอย่างแท้จริง ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาได้ว่า “swing states = battleground states”… บางที เราอาจต้องถือว่ารัฐที่มีอาการสะวิงในการออกเสียงเช่นนี้เป็น “รัฐที่เดาใจไม่ได้”
รัฐที่คาดเดาพฤติกรรมในการออกเสียงไม่ได้ จะมีอยู่ 7 รัฐ คือเพนซิลเวเนีย เนวาดา วิสคอนซิน มิชิแกน นอร์ธแคโรไลนา จอร์เจีย และแอริโซนา
ดังที่กล่าวว่ารัฐเหล่านี้คาดเดาพฤติกรรมการลงเสียงได้ยาก เพราะเสียงของทั้ง 2 คนมีอาการคู่คี่ในรัฐเหล่านี้ และชนะกันไม่มาก ในอีกส่วนเช่นในกรณีของมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซินนั้น เดิมเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต แต่ในปี 2016 ก็กลายเป็นเสียงของทรัมป์ และในปี 2020 ก็กลับมาให้แก่ไบเดน ดังนั้น ถ้าแฮร์ริสชนะใน 3 รัฐนี้เช่นเดียวกับไบเดนแล้ว ก็จะเป็นฝ่ายชนะเช่นในปี 2020
การที่เสียงมีลักษณะคู่คี่กันในรัฐที่สะวิงนั้น เกิดจากการเปลี่ยนตัวจากไบเดนเป็นแฮร์ริส เพราะถ้ายังคงส่งไบเดนลงชิงตำแหน่งต่อไปแล้ว พรรคเดโมแครตน่าจะเป็นฝ่ายแพ้ เช่น ในกรณีของเพนซิลเวเนีย ก่อนที่ไบเดนจะถอนตัวนั้น เขาแพ้ทรัมป์ในโพลมากถึงราว 4.5 จุด (percentage points) ซึ่งการแพ้/ชนะในรัฐนี้จะมีผลอย่างมาก เพราะเพนซิลเวเนียมีคณะผู้เลือกตั้งมากถึง 19 คน ในขณะที่นอร์ธแคโรไลนา และจอร์เจีย มีจำนวนรัฐละ 16 คน มิชิแกนมี 15 คน และวิสคอนซินมี 10 คน
จากตัวเลขจำนวนของคณะผู้เลือกตั้งของรัฐที่สวิงเช่นนี้ ทำให้ความพยายามที่จะช่วงชิงเสียงของทั้ง 2 ผู้แข่งขันมีความเข้มข้นอย่างมาก ซึ่งตัวเลขในช่วงสุดท้ายของเดือนตุลาคมนั้น ทรัมป์ชนะในแอริโซนา จอร์เจีย นอร์ธแคโรไลนา แต่ในเพนซิลเวเนีย เนวาดา ทรัมป์ชนะในแบบคู่คี่มากๆ และอาจจะแพ้ในวิสคอนซิน ซึ่งเป็นแบบคู่คี่มากเช่นกัน และแฮร์ริสชนะไม่มากนักในมิชิแกน ผลของคะแนนเช่นนี้ ทำให้คู่แข่งขันต้องทุ่มความพยายามอย่างมากที่จะเอาชนะในบรรดารัฐที่เป็นเสมือน “สนามรบ” เช่นนี้ให้ได้ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในช่วงโค้งสุดท้าย แต่ละพรรคจะต้องเอาชนะเสียงในรัฐดังกล่าวให้ได้
วันจริง!
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคะแนนในโพลมีความคู่คี่กันมากๆ ก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นนั้น อาจเป็นสัญญาณอีกแบบว่า การคาดเดาจากผลของโพล จึงอาจมีโอกาสผิดพลาดได้พอสมควร แต่ผลเช่นนี้ในทางกลับกันคือ แรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต้องทุ่มความพยายามมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในโค้งสุดท้ายนับจากวันที่ 1 พฤศจิกายนแล้ว สนามแข่งขันในรัฐที่สะวิงเช่นนี้ จะเป็น “สนามที่ร้อนแรง” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งดังได้กล่าวมาแล้วว่า คะแนนเสียงจากรัฐเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้ขาดเช่นที่เกิดมาแล้วทั้งในปี 2016 ที่ทรัมป์ชนะ และในปี 2020 ที่ไบเดนชนะ
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทำโพลแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ประเมินได้ยากคือ เสียงสนับสนุนที่แท้จริงที่พร้อมจะออกมาลงคะแนนเสียงให้อย่างเต็มที่นั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือปัญหา “เสียงเงียบ” ที่ไม่ยอมแสดงท่าทีนั้น จะเทไปให้ใคร สุดท้ายคือใครจะออกมาลงเสียงจริงๆ ในวันเลือกตั้งบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ท้าทายกับความถูกต้องของผลโพลเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงอดไม่ได้ที่จะชวนย้อนกลับไปดูช่วงโค้งสุดท้าย!