ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
การเคลื่อนไหวที่พัทยาในวันที่ 7 เมษายน สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 8 เมษายน อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น
ขอให้ศึกษาจาก “บันทึกประเทศไทย ปี 2552”
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน ย้ายจากทำเนียบรัฐบาลมาประชุมที่พัทยาเพื่อตรวจความพร้อมสถานที่และห้องจัดประชุมอาเซียนกับคู่เจรจา
ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา มีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนกว่า 1,000 คนรวมตัวกันหน้าโรงแรมเพื่อขับไล่คณะรัฐมนตรี มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาล ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
เวลา 13.15 น. หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รีบเดินทางออกจากโรงแรม
ขบวนรถของนายกรัฐมนตรีใช้เส้นทางไปทางแหลมบาลีฮาย ขึ้นสะพานมุ่งหน้าไปทางสาย 3 พัทยาใต้แต่ติดไฟแดงบริเวณสี่แยก บังเอิญช่วงนั้นมีรถของกลุ่มเสื้อแดงจอดรถติดไฟแดงอยู่บริเวณใกล้เคียง
เมื่อเห็นรถนายกรัฐมนตรีก็วิ่งกรูเข้าไป
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเสื้อแดงมีจำนวนไม่มาก จึงให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนไปนั่งที่รถของฝ่ายรักษาความปลอดภัย แต่กลุ่มเสื้อแดงประมาณ 40-50 คนเห็น
จึงพากันมาล้อมรถตะโกนโห่ไล่ ด่าทอและขว้างปาขวดน้ำและใช้ตีนตบทุบไปที่รถ
ขบวนรถของนายกรัฐมนตรีวิ่งไปได้ไม่ไกลก็เจอรถติดอีกครั้ง ทางม็อบจึงกรูกันไปล้อมและรุมเขย่ารถ ใช้ขวดน้ำและหมวกกันน็อกทุบเข้าไปที่กระจกหลังของรถพราโด้จนแตกเป็นรูโหว่
แต่ในที่สุด เจ้าหน้าที่ก็สามารถนำรถฝ่าวงล้อมไปได้
ทั้งหมดเสมอเป็นเพียงการอุ่นเครื่อง เป็นไปอย่างที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รู้สึกและสะท้อนออกผ่านหนังสือ “ความจริงไม่มีสี” ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อเดือนตุลาคม 2555
ไม่ว่าจะเป็น “บนเวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดง แกนนำปลุกระดมมาโดยตลอด”
จุดเริ่มต้นที่ “เสื้อแดง” ปูพื้นเอาไว้คือ วันที่ 8 เมษายน 2552
หนังสือ “มติชน” บันทึกประเทศไทย ปี 2552 บันทึกเหตุการณ์เอาไว้อย่างรวบรัดว่า
วันที่ 8 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ร่วมชุมนุมใหญ่เนืองแน่นล้อมทำเนียบรัฐบาลและหน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลาออกจากองคมนตรี และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียุบสภา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวและหลานสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปปรากฏตัวบริเวณที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นครั้งแรก
ภายหลังมีกระแสข่าวว่า ครอบครัวชินวัตรและครอบครัววงศ์สวัสดิ์เดินทางออกนอกประเทศไปแล้วตั้งแต่คืนวันที่ 7 เมษายน
ส่วนคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับบุตรทั้งสาม มีกระแสข่าวยืนยันว่า เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว
แกนนำคนเสื้อแดงอ่านแถลงการณ์
1 ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ พิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี
2 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
3 การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปรับปรุงใดๆ ให้ดีขึ้นตามหลักสากลต้องมีการปรึกษาหารือระหว่างนักประชาธิปไตยผู้มีประวัติและพฤติกรรมเชิดชูระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ประจักษ์
เวลา 20.25 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอลิงก์มายังกลุ่มผู้ชุมนุมราว 85,000 คนตามการประเมินของกระทรวงมหาดไทย
หากติดตาม “19-19 ภาพชีวิตและการต่อสู้ของคนเสื้อแดง” จะเห็นอะไร
8 เมษายน 2552 วันดีเดย์ ระดมพลครั้งใหญ่ “โค่นล้ม” ระบอบอำมาตยาธิปไตย
หลังจากแกนนำประกาศมาตรการเคลื่อนไหวกดดัน มวลชนเตรียมตัวเดินขบวนไปยังบ้านสี่เสา เทเวศร์ ด้วยความคึกคัก
ผู้ชุมนุมแถวหน้ายืนคล้องแขนเพื่อจัดแถว
รถเคลื่อนขบวน โดยมีอาสาปฐมพยาบาลคนเสื้อแดง (First Aid Red Shirt หรือ FARED) คอยดูแลอย่างใกล้ชิด
พระสงฆ์เดินนำหน้ารถเครื่องเสียงเคลื่อนที่ของแกนนำ มุ่งหน้าไปบ้านสี่เสา เทเวศร์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในชุดดำ ยืนปราศรัยบนรถเครื่องเสียง โดยมีการ์ดคอยรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น
ลุงอายุกว่า 60 ปี ขาประจำคนเสื้อแดงคล้องป้ายกระดาษ
หนังสือให้คำบรรยายสั้นๆ ว่า “คล้องป้ายกระดาษ ข้อความวิจารณ์บทบาททางการเมืองของประธานองคมนตรี”
แต่เมื่อพิศดูภาพอย่างละเอียดก็จะเห็นเนื้อความที่เขียน
ระบุ “หน้าที่ประธานองคมนตรี” เท่าที่ถ่ายทอดได้ก็คือ “แต่งเครื่องแบบเดินสายหาพวก” และหรือ “ให้คำรับรองว่านายกฯ คนนี้กราบไหว้สนิทใจ”
ขณะที่เห็นภาพผู้ชุมนุมปักหลักหน้าบ้านสี่เสา เทเวศร์และพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องจนถึงทำเนียบรัฐบาลตลอดคืนวันที่ 8 เมษายน 2552 ในขณะที่มีรายงานว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกจากบ้านไปก่อนหน้าแล้ว
วันที่ 9 เมษายน 2552 ผู้ชุมนุมขยายพื้นที่การชุมนุมออกไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากข้อเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง ไม่ได้รับการสนองตอบ
คนเสื้อแดงอีกจำนวนหนึ่งเคลื่อนกำลังไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและปักหลักชุมนุมตลอดทั้งคืน
ขณะที่กลุ่มย่อยๆ ได้ปิดกั้นพื้นที่อื่นอีกหลายจุด
ตัวเลขจากการประเมินของกระทรวงมหาดไทยที่ว่ามีผู้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 จำนวน 85,000 คน
เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้
นั่นหมายถึงจำนวนที่ปักหลักอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ปักหลักอยู่บริเวณหน้าบ้านสี่เสา เทเวศร์ และย้ายไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมถึงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ดำเนินไปในลักษณะดาวกระจาย
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวประสานในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เป็นอีกจุดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง รวมถึงการขยับไปยังพื้นที่ภาคตะวันออก
ความร้อนเร่าได้เริ่มขึ้นเมื่อขบวนของ นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ตั้งเป้าไปยังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา
การอุ่นเครื่องที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประสบด้วยตนเองเท่ากับ “อุ่นเครื่อง”
เป็นการอุ่นเครื่องขณะที่มีการรุกอย่างต่อเนื่องจากคนเสื้อแดงที่มี นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เป็นผู้นำ
ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการปรากฏขึ้นของ “คนเสื้อน้ำเงิน” อย่างน่าเกรงขาม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022