ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
ความสำเร็จของ Chat GPT หนึ่งใน AI บันลือโลก มีคอมพิวเตอร์จำนวนมากอยู่เบื้องหลัง ในรูปแบบ Server นับหมื่นเครื่องใน Data Center
โดย Google ได้เคยเปิดเผยข้อมูลในรายงานด้านสิ่งแวดล้อมประจำปี ว่า Data Center มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 48%
เหตุผลหลักก็คือ Data Center อุดมไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แรงๆ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากในการประมวลผล และสื่อสารข้อมูล
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA (The International Energy Agency) ได้เปิดเผยว่า การค้นหาผ่าน Google 1 ครั้ง ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.3 วัตต์/ชั่วโมง ส่วนการค้นหาผ่าน ChatGPT ใช้ไฟฟ้าราว 2.9 วัตต์/ชั่วโมง
Alex de Vries นักวิชาการด้านพลังงาน ระบุว่า หากมีการใช้ AI อย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง Hardware และ Software เบื้องหลังประสิทธิภาพของ AI จะต้องใช้ไฟฟ้ามากเท่ากับประเทศไอร์แลนด์ใช้ไฟฟ้า 1 ปีเลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ผ่านมา Google ได้นำเทคโนโลยี AI คือ Gemini ใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Google Search หรือ Google Assistant
Sundar Pichai CEO ของ Google เรียกบริษัทของตนว่าเป็น AI First Company
เมื่อ Google ผสาน AI เข้ากับผลิตภัณฑ์ของ Google มากขึ้น Google ก็มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นจากการประมวลผล AI ที่เข้มข้นมากขึ้น
การใช้ไฟฟ้าใน Data Center กำลังเติบโตเร็วกว่าที่ Google จะสามารถจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าปราศจากคาร์บอนมาใช้ได้ทัน
ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นก่อนที่จะลดลงจากการที่ Google พยายามลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อจ่ายไฟให้กับ Data Center ของ Google
ทั้งนี้ นอกจากความท้าทายด้านพลังงานแล้ว Google ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการใช้ปริมาณน้ำจำนวนมากที่ใช้เป็นสารหล่อเย็นเพื่อป้องกัน Data Center ไม่ให้มีความร้อนที่สูงเกินไป
Google ตั้งเป้าที่จะปล่อยน้ำจืดที่ไหลเวียนใน Data Center ทั่วโลก คืนสู่ธรรมชาติ 120% ภายในปี ค.ศ.2030
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา Google สามารถปล่อยน้ำได้เพียง 18% เท่านั้น แม้จะเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 6% ในปีก่อนหน้าแล้วก็ตาม
แน่นอนว่า “สภาวะโลกร้อน” ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและรุนแรง
ปัจจัยหนึ่งซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงก็คือ การเผาผลาญเชื้อเพลิงจาก Fossil โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ่านหิน อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกวันนี้มีการพูดถึงประเด็นการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ว่ามีส่วนกระตุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้เกิดความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่โลกกำลังเดินหน้าไปสู่ GX (Green Transformation) แต่ DX (Digital Transformation) อย่าง AI กลับมีส่วนขัดขวางความพยายามของโลก ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนใหญ่ในโลก ต้องทนทุกข์ทรมานจากคลื่นความร้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงฤดูร้อน และไม่เว้นแม้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ฤดูฝน หรือแม้กระทั่งฤดูหนาว
ผู้เชี่ยวชาญด้าน “สภาะโลกร้อน” กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องรีบลดการเผาผลาญถ่านหิน และเชื้อเพลิง Fossil อื่นๆ
สถาบันวิจัยพลังงานไฟฟ้า หรือ EPRI (The Electric Power Research Institute) องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของ AI เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้ายากที่จะหยุดเผาผลาญเชื้อเพลิง Fossil โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ่านหิน
เหตุผลก็คือ ทุกวันนี้ ธุรกิจจำนวนมาก ต่างพยายามหาวิธีการใหม่ๆ ในการนำ AI มาใช้ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานใน Data Center เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
โดย EPRI ได้ออกมาเปิดเผยว่า ภายในปี ค.ศ.2030 Data Center จะมีการใช้ไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 9 ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตในสหรัฐ ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันถึง 2 เท่า
รองประธาน EPRI กล่าวว่า Chat GPT ใช้ไฟฟ้ามากกว่าการค้นหาผ่าน Google ประมาณ 10 เท่า
ทั้งนี้ IEA คาดการณ์ว่า ความต้องการไฟฟ้าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Data Center รวมถึงการซื้อขายสกุลเงิน Digital อาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในปี ค.ศ.2026
โดย IEA ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินได้เพิ่มมากขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา แม้ว่าถ่านหินจะเป็นเชื้อเพลิง Fossil ที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดก็ตาม
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ หรือ EIA (Energy Information Administration) เปิดเผยว่า ในปี ค.ศ.2023 การใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐลดลงเหลือ 16% โดยลดลงจากปี ค.ศ.1990 ถึง 52% เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งปิดตัวลง
ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ อย่าง Alliant Energy ในรัฐ Wisconsin มีแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิง Fossil ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด ภายในปี ค.ศ.2025
อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ Alliant Energy กลับออกมาประกาศ ว่าจะเลื่อนการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติออกไปจนถึงปี ค.ศ.2028 เพื่อรักษากำลังการผลิต และเพื่อจัดหาพลังงานราคาถูกสำหรับผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน First Energy บริษัทพลังงานไฟฟ้ายักษ์ใหญ่อีกแห่ง ที่ดำเนินการโรงไฟฟ้าในรัฐ West Virginia ได้ออกแถลงการณ์ จะยกเลิกเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี ค.ศ.2030
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้พากันออกมารณรงค์เกี่ยวกับการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของบรรดาโรงไฟฟ้าต่างๆ
ว่า ทุกวันนี้ การผลิตไฟฟ้าที่ไม่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงนั้น เป็นงานเร่งด่วนที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจกำหนดอนาคตของโลกของเราได้
เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายคน ที่เฝ้าเพียรพยายามที่จะทำให้ประชาชนในประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหา
เห็นได้จากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลกบางคน ได้จัดการประท้วงหน้าธนาคารที่ให้เงินทุนสนับสนุนการขยายตัวของเชื้อเพลิง Fossil อย่างต่อเนื่อง
โดยมีการเรียกร้องให้หยุดการให้สินเชื่อสำหรับโครงการที่ก่อให้เกิด “สภาวะโลกร้อน” โดยทันที
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Third Act หัวหอกสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความก้าวหน้าสำหรับผู้คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นำโดย Bill McKibben นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก
“คุณไม่รู้สึกหรือว่า อากาศร้อนเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องร้ายแรง ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับพวกคุณที่จะเป็นพยาน เพื่อให้พวกเราสามารถโน้มน้าวพวกเขาให้ยุติการทำให้โลกร้อนได้” Bill McKibben กล่าว
และว่า “จากสถิติจำนวนมาก ได้มีการคาดการณ์ และบ่งชี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นระหว่าง 2 ถึง 3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในสิ้นศตวรรษนี้”
“หากเราปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น อารยธรรมที่เราเคยชินในปัจจุบันก็จะล่มสลายไป นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมาก และความโกลาหลก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามมา” Bill McKibben สรุป
ศาสตราจารย์ ดร. John Wallace แห่ง Washington University หนึ่งในบรรดาเสียงเรียกร้อง ให้โลกเร่งหาแหล่งพลังงานอื่น เพื่อมาทดแทนพลังงานจากถ่านหิน บอกว่า “ผมคิดว่า เราควรหยุดใช้ถ่านหินโดยเร็วที่สุด”
เพราะทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ หรือ Geothermal Energy
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานแสงอาทิตย์” ศาสตราจารย์ ดร. John Wallace ทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022