ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | มีเกียรติ แซ่จิว |
เผยแพร่ |
ย้อนเส้นทางประวัตินักเขียนนิวซีแลนด์นาม ‘เจเน็ต ปีเตอร์สัน เฟรม’ ได้จากภาพยนตร์ที่สร้างมาจากชีวิตจริงของเธอ An Angel at My Table (1990) ผลงานกำกับการแสดงในยุคแรกๆ ของผู้กำกับฯ หญิง ‘เจน แคมเปี้ยน’ ในฉากท้ายๆ ที่เธอนั่งลงหน้าเครื่องพิมพ์ดีดในค่ำคืนอันเงียบสงัด หลังฟันฝ่ามรสุมขึ้นลงราวรถไฟเหาะตีลังกา ทั้งเรื่องความรัก เจ็บไข้ได้ป่วย เข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ถูกช็อตไฟฟ้า กว่าจะกลับมาสงบจิตสงบใจและนิ่งอยู่กับตัวเองและเริ่มลงมือตอกแป้นพิมพ์ดีดอีกครั้ง “เขียน เขียน เขียน” เสียงแป้นพิมพ์นั้นดังชัดราวกับฉากเปิด Atonement (2007) ในอีกหลายปีถัดมา
ในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง ดังที่กล่าวมา เครื่องพิมพ์ดีดยังเป็นอาวุธบันดาลเรื่องราวบนแผ่นกระดาษ สมุดบันทึกเล่มเล็ก ปากกาเหน็บกระเป๋าเสื้อจดบันทึกข้อความต่างๆ การอ่านหนังสือ กลิ่นกระดาษใหม่และเก่า ความเงียบถือเป็นเสน่ห์ในโลกส่วนตัวของคนอ่านกับหนังสือเล่มนั้นๆ จมเข้าไปในเรื่องราว จินตนาการภาพตัวละคร สถานที่ เหตุการณ์ต่างๆ บันดาลดลผลิผลจากนักอ่านกลายมาเป็นนักเขียนมานักต่อนัก
และแน่นอนว่านักเขียนแต่ละคนใช่ว่าจะอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ยังผนวกรวมเข้ากับประสบการณ์ชีวิตของตนคู่ขนานกันไปไม่มากไม่น้อย
เช่นเดียวกับการตั้งคำถามในเรื่องสั้น ‘โลกของนักเขียนที่ไร้ เอไอ (ปัญญาประดิษฐ์)’ ของ อ.น.ร. (ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 2309 วันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2567) ที่กล่าวถึงในสิ่งที่เอไอไม่มีทางจะทดแทนและทำได้เหมือนนักเขียนที่มีเลือดเนื้อและจิตใจ
แต่ทั้งนี้ก็อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า
‘การมีเอไอเข้ามาช่วยเขียนหรือการไม่มีเอไอมาช่วยเขียนต่างคืออุปกรณ์ในการเขียนด้วยกันทั้งสองฝ่าย และทั้งสองอย่างต่างไม่ใช่คำตอบที่ถูกผิดแต่อย่างใด’ โดยถามเจาะจงไปที่ตัวนักเขียนอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘มีเพียงคนเขียนหนังสือหรือคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนเท่านั้น สามารถให้คำตอบแก่ตัวเองอย่างเต็มสมภาคภูมิแห่งการเป็นนักเขียนของตัวเองอย่างแท้จริง (จบ)’
ขุมคลังจากการอ่าน
กับขุมคลังจากการเก็บรวบรวมข้อมูล
‘มายา’ กับ ‘มาทิลด้า’ เป็นสองตัวละครเด็กจากนวนิยายสองเล่ม คนแรกจาก The Storied Life of A.J.Fikry หรือในชื่อภาษาไทย ‘หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ’ ของ ‘แกเบรียล เซวิน’
และอีกคนจาก ‘มาทิลดา นักอ่านสุดวิเศษ’ ของ ‘โรอัลด์ ดาห์ล’
ตัวละครเด็กทั้งสองเติบโตมากับกองหนังสือและแน่นอนว่าเมื่อเติบโตขึ้นก็อยากที่จะเป็นนักเขียน เพราะเวทมนตร์จากการอ่านหนังสือได้สร้างประสบการณ์ในการอยากเป็นนักเขียนขึ้นในตัว (เรื่องสั้นที่มายาส่งประกวด แม้จะไม่ชนะเลิศ แต่ก็ทำให้เห็นว่าการอ่านและประสบการณ์ชีวิตของเธอหลอมรวมมาเป็นเรื่องสั้นดังกล่าว หรือที่มาทิลด้าเป็นเด็กไม่มองโลกในแง่ร้ายต่างจากคนในครอบครัว ก็มาจากการอ่านที่ทำให้เธอละเอียดอ่อนและเข้าใจชีวิตมากขึ้น)
และโดยประวัตินักประพันธ์ทั้งสองต่างก็เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิตมาไม่น้อย แม้จะไม่ใช่นักเขียนร่วมยุคเดียวกัน แต่ก็ทำให้เห็นว่า ชีวิตของนักเขียนแต่ละคนนั้น ลึกลงในรายละเอียด ต่างกันโดยสิ้นเชิงจากการประมวลเก็บของมูลทั้งโลกมาใส่ไว้ในเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ซึ่งเป็นแค่เครื่องมือ แต่ไร้ซึ่งหัวใจเหมือนมนุษย์ด้วยกันพึงจะมี
ทั้งนี้ โดยมิต้องลุ่มลึก ซับซ้อนหรือหรือยึดหลักปรัชญาอุดมการณ์ใดๆ โลกของนักเขียนที่ไร้ เอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ของผู้เขียน ก็โยงใยให้เราเห็นโลกในวันนี้ที่พยายามจะโยงกลับไปสู่โลกยุคเก่าตอนที่ยังไม่มีเอไอเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง (ผ่านการตามเก็บข้าวของยุควินเทจกันอย่างละลานตาเต็มอินสตาแกรม) ตั้งแต่การได้เห็นคนกลับมาฟังแผ่นเพลงไวนิลกันมากขึ้น กลุ่มคนรักม้วนวิดีโอที่สะสมกันมากขึ้น เทปคาสเส็ต เสื้อยืดวงดนตรียุค 90
รวมถึงการหันกลับมาอ่านหนังสือเล่มกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งในสังคมเกาหลีใต้แทนการเล่นโทรศัพท์ นับตั้งแต่ ฮันคัง (Han Kang) นักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้วัย 53 ปี คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2024 จากนวนิยายเรื่อง The Vegetarian
ราวกับว่าการย้อนกลับไปโหยหาโลกใบเก่ากับสิ่งที่จับต้องได้มิใช่ลอยอยู่ในอากาศเป็นสิ่งช่วยเติมเต็มชีวิตได้มากกว่าโลกที่ลืมตาตื่นจับมือถือแล้วไหลเข้าโหมดโซเชียลมีเดียฉับพลัน
และที่สำคัญ นี่มิใช่ภาวะโหยหาอดีตของคนยุคเก่า (Nostalgia) เพียงถ่ายเดียว แต่เหล่านี้คือสิ่งที่วัยรุ่นยุคใหม่พร้อมใจกันเข้าไปตามหาตามเก็บตามสะสมในสิ่งที่ไม่สามารถหาได้อีกแล้วในยุคสมัยของตัวเอง
ดังจะเห็นได้ว่า ‘ข้อมูล’ เป็นเพียงสิ่งที่เก็บบันทึกไว้ แต่ไม่สามารถสัมผัสจับต้องได้เท่าประสบการณ์ตรง และประสบการณ์การเขียนของนักเขียนก็เริ่มมาจากการอ่าน อ่านอย่างเอาจริงเอาจัง อ่านจากประสบการณ์ของนักเขียนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ อ่านจากเรื่องแต่งและเรื่องจริง และการพาตัวเองเข้าไปอ่านจากการเรียนรู้ผู้คน การออกเดินทางด้วยสองเท้า การพบหน้าดินแดนใหม่ๆ ที่ภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างออกไป
มิใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่อยู่กับประสบการณ์น้ำสองจากแพลตฟอร์มยูทูบและซีรีส์จากเน็ตฟลิกซ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เลือดเนื้อและหัวใจของนักเขียน
เรื่องสั้น โลกของนักเขียนที่ไร้ เอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ในช่วงท้ายๆ ซึ่งผู้เขียนพยายามจะหาบทสรุปตรงกลางระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ในท่วงทำนองว่า
‘คำตอบอาจมีการบรรจบกันระหว่างนักเขียนเอไอ กับนักเขียนที่มีความฝันทางอุดมการณ์ว่า ถึงอย่างไรจะต้องจำเป็นเขียนให้เป็นไปอย่างสมควรที่จะเป็น เพื่อกระทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งเอไอ ทั้งตัวนักเขียนต่างมีชีวิต ต่างมีวิญญาณแตกต่างกัน อันหมายความว่า สามารถมีความผิดความถูกต้องความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์แตกต่างกันออกไป’
ยังจำผลงานเล่มหนาเตอะอย่าง ‘เงาสีขาว’ ของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ ได้ไหม ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ทำให้เห็นว่า การทุ่มเทชีวิตของคนคนหนึ่งลงในงานเขียนให้เป็นที่ประจักษ์ ก่อนโลกจะขานรับนั้นเขาทำกันอย่างไร
ซึ่งนี่คงเป็น ‘คำตอบ’ ของความต่างจากนักเขียนเอไอได้อย่างชัดเจนว่า โลกของนักเขียนที่ผลิตผลงานโดยมันสมองมนุษย์กับเก็บข้อมูลโดยเอไอนั้น เป็นโลกที่ทดแทนกันได้ยากและแทบเป็นไปไม่ได้
แม้การประมวลภาษาการกำเนิดเรื่องราวของเอไอจะสร้างความตกตื่นตะลึง แต่การรับรู้ การเข้าใจของคนอ่าน ประสบการณ์ก็สอนบอกเราว่า นั่นไม่ใช่เลือดเนื้อจิตใจของมนุษย์ที่ขีดเขียนเรื่องราวขึ้นมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล
เป็นแต่เพียงการลอกเลียนถ้อยคำร้อยเรียงเป็นประโยคเป็นย่อหน้าต่อย่อหน้าเป็นการตกแต่งจากปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่มีวันถักสานจากประสบการณ์ชีวิตจริงจากมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจิตใจ
ทำไมเราถึงเจ็บปวดตามอัตชีวประวัติของ ‘เจเน็ต ปีเตอร์สัน เฟรม’ ใน An Angel at My Table ทั้งที่เราเป็นเพียงคนนั่งดู
ทำไมงานเขียนสำนึกผิดบาป Atonement ของ เอียน แม็กอิวัน จึงสั่นคลอนความรู้สึกของเราไปได้หลายวัน
ทำไมงานโนเบลปีล่าสุดของ ‘ฮันคัง’ ใน The Vegetarian จึงตะโกนส่งเสียงดังกระหึ่มจากเกาหลีใต้ออกไปทั่วโลก
นั่นสิทำไม งานเขียนเหล่านี้ จึงส่งผลกระทบต่อใจเราคนอ่านได้มากมายถึงเพียงนี้
ซึ่งข้อสรุปโดยสังเขปที่พออนุมานทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด คงหนีไม่พ้นจุดเริ่มจาก ‘การอ่าน’ ไม่ว่าจะจากหนังสือเล่มหรือสื่อออนไลน์ หรือจากปรากฏการณ์บ้านเมืองและสังคม ทั้งหมดนี้บอกเล่าผ่านการอ่านและการทำความเข้าใจจนตกตะกอนก่อนจะล่อนตะแกรงออกมาเป็นเรื่องราวเป็นเลือดเนื้อและหัวใจของนักเขียนคนหนึ่ง
เช่นเดียวกับการอ่านเรื่องสั้น ‘โลกของนักเขียนที่ไร้ เอไอ (ปัญญาประดิษฐ์)’ ของ อ.น.ร. ซึ่งย้ำบอกเราในตอนจบอย่างจะเขกกะโหลก โดยย้ำเตือนใจเราไม่ให้โดนเอไอชักใยจนเหมือนหุ่นเชิดมากจนเกินพอดีว่า
‘สมค่ากับการได้เกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ที่มีปัญญาประเสริฐค้นคิดหลุดพ้นจากทุกสิ่งอย่าง ด้วยการไม่ยึดติดตกเป็นทาสกับสิ่งนั้นๆ (จบจริงๆ)’
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022