สาระสำคัญของลัทธิมาร์กซ์ (จบ) การปฏิวัติสังคม

บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

สาระสำคัญของลัทธิมาร์กซ์ (จบ)

การปฏิวัติสังคม

 

3.ฐานด้านเศรษฐกิจกับโครงสร้างส่วนบนของสังคม (Economic Base & Superstructure)

เมื่อมาร์กซ์ศึกษาเรื่องจิตและความนึกคิดต่างๆ ที่เฮเกลถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันพัฒนาการของสังคมมนุษย์มาเป็นลำดับ เขาได้ค้นพบว่าวัตถุและสภาพแวดล้อมทางวัตถุต่างหากที่มีบทบาทต่อพัฒนาการของสังคมและต่อความคิดและการพัฒนาของรูปการจิตสำนึกของคนเรา หาใช่จิตและความคิดเป็นหลักไม่

ในสังคมบุพกาลที่คนเราต้องดิ้นรนต่อสู้กับธรรมชาตินั้น มนุษย์ได้พบว่าการอยู่เป็นกลุ่มช่วยกันเพื่อเอาชีวิตรอดค่อยๆ พัฒนาขึ้นพร้อมกับการสังเกต การเรียนรู้และการใช้ภาษาทั้งเสียง ภาพ และตัวอักษรที่สัตว์ทำไม่ได้ครบ นอกจากเสียงและอากัปกิริยาที่ส่งถึงกัน

จากการเสาะหากิน ไปสู่การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ในที่สุด สิ่งที่หาได้และปลูกสร้างขึ้นมาจึงนำไปสู่การสะสมสินทรัพย์ส่วนตัว (Private property) หลังจากที่แต่ละฝ่ายนำส่วนที่หามาได้ไปกองรวมกันเป็นสมบัติส่วนรวมมากพอแล้ว และคนที่สามารถหาได้มาก นอกจากจะมอบให้ส่วนรวม สินทรัพย์ส่วนตัวก็เพิ่มพูนขึ้น มีฝีมือและสั่งสมอำนาจมากขึ้น จนกลายเป็นเจ้าทาสและเจ้าที่ดินในสังคมชนชั้น และเป็นผู้นำกลุ่มต่อๆ มา

มาร์กซ์พบว่าสังคมทุนนิยมมีพัฒนาการเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 คือ ยุคทุนนิยมพาณิชย์ (Mercantile Capitalism) เมื่อบริษัทค้าขายขนาดใหญ่จากยุโรปบุกไปค้าขายและเอาเปรียบชาติต่างๆ ในเอเชีย อเมริกาใต้และแอฟริกา

ระยะที่ 2 ยุคทุนนิยมล่าอาณานิคม (Colonial Capitalism) ที่รัฐจากยุโรปบุกเข้ายึดครองรัฐในทวีปอื่น

และระยะที่ 3 ยุคทุนนิยมที่เป็นจักรวรรดินิยม (Imperial Capitalism) หลังจากอาณานิคมเหล่านั้นได้รับเอกราชกลายเป็นรัฐอิสระ เศรษฐกิจทุนนิยมที่พัฒนาขึ้นสูงสุดก็ยังมีบทบาทเหนือรัฐเอกราชเหล่านั้นในด้านการคลัง การธนาคาร ตลอดจนทุนด้านอุตสาหกรรม ฯลฯ

 

ในด้านโครงสร้างส่วนบน มาร์กซ์ได้พบว่าโครงสร้างของสังคมทุนนิยมมีการแบ่งแยกของชนชั้นต่างๆ ที่สังเกตได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้เพราะยิ่งการผลิตภาคทุนนิยมเติบโตมาก กรรมกรก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น แน่นอน อาจมี นายทุนน้อย (petty bourgeoisie) ซึ่งมีธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กของตนเอง มีคนรับใช้ด้านบริการของตระกูลต่างๆ, คนงานระดับผู้ช่วยด้านการบริหาร (managerial workers), เกษตรกรอิสระ และคนที่ไม่สังกัดกลุ่มใดอย่างชัดเจน (lumpenproletariat) เช่น คนว่างงาน คนเร่ร่อน พวกนักเลงคอยปล้นชิงของคนอื่นๆ แต่คนเหล่านี้ก็ยากที่จะออกมาร่วมกับกรรมกรขัดแย้งกับชนชั้นนายทุนอย่างชัดเจนได้

มาร์กซ์เห็นว่าการกดขี่และขูดรีดกรรมกรเป็นบรรทัดฐานของสังคมในขณะนั้น “อำนาจการเมือง (political power) คืออำนาจจัดตั้ง (the organized power) ของชนชั้นหนึ่งที่ใช้กดขี่อีกชนชั้นหนึ่ง” (โปรดดูแถลงการณ์ชาวคอมมิวนิสต์, 1848)

ในทัศนะของมาร์กซ์ ชนชั้นกรรมาชีพถูกขูดรีด แต่ที่พวกเขายังไม่ได้ตอบโต้อะไรก็ด้วย 2 ปัจจัย

1. การทำให้กรรมกรรู้สึกแปลกแยก

และ 2. อุดมการณ์ (ideology)

สองส่วนนี้ก็คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างส่วนบนที่มีทั้งกฎหมาย วัฒนธรรม จารีต ศาสนา และการเมืองการปกครอง การปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาทำให้พลังการผลิตเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เครื่องจักรยิ่งขยายตัวทั้งขนาดและจำนวนก็ยิ่งต้องมีแรงงานมากขึ้นเข้าดูแล

ด้วยเหตุนั้น ความสัมพันธ์ทางการผลิตใหม่ระหว่างนายจ้างกับคนงานก็เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน โครงสร้างส่วนบนทั้งด้านการเมืองและกฎหมายก็ต้องเปลี่ยนตามเพื่อดูแลความสามารถในการผลิต

แต่โครงสร้างส่วนบนของแต่ละประเทศก็มิได้เหมือนกัน ตัวอย่าง แม้อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนีจะเป็นรัฐทุนนิยมเหมือนกัน แต่วัฒนธรรมของทั้ง 3 ก็ต่างกัน มาร์กซ์เห็นว่าฐานทางเศรษฐกิจเป็นพลังผลักดันการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่อาจสรุปเป็นภาพใหญ่ได้ในเมื่อแต่ละประเทศต่างกันหลายอย่าง ยังต้องใช้เวลาศึกษา โครงสร้างส่วนบนของแต่ละประเทศนั่นแหละที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมนั้นๆ และจะต้องลงไปค้นคว้าให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะความคิดของชนชั้นปกครองที่มีบทบาทครอบคลุมสังคมนั้นๆ

 

มาร์กซ์เชื่อว่า วิธีเดียวที่จะต่อสู้กับอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองได้ ก็คือ การจัดตั้งพรรคกรรมกรปฏิวัติขึ้นมา ก็เพราะว่าพรรคนี้มุ่งให้การศึกษาคนงานทั้งหลาย เพื่อให้ได้เรียนรู้ว่าพวกเขาถูกชนชั้นนายทุน กฎหมายและการเมืองของชนชั้นนำเอารัดเอาเปรียบพวกเขาอย่างไร และชี้ทางให้พวกเขาต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น การศึกษาเพื่อให้คนงานเข้าใจโครงสร้างส่วนบนที่เอารัดเอาเปรียบพวกเขาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การต่อสู้ทางชนชั้นในอดีตไม่เคยมีความแจ่มชัดเมื่อเทียบกับยุคทุนนิยมที่มาร์กซ์ได้ประสบ ที่จริง ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มต้นเมื่อตอนกลางศตวรรษที่ 18 และต่อมาถึงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ลอนดอนก็ยังมีองค์กรของกรรมกรไม่มากนัก เช่น กลุ่ม the People’s Charter (กฎหมายของประชา) ในปี 1838 ที่เกิดตามหลัง พ.ร.บ.ปฏิรูปการเลือกตั้งในปี 1832

แต่ก็น่าสนใจว่าตอนนั้น มีแต่ชนชั้นกลางที่มีทรัพย์สินขึ้นไปเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนสตรีนั้นไม่มีสิทธิเลือกตั้งเลยไม่ว่ามีทรัพย์สินหรือไม่ ดังนั้น กลุ่มกฎหมายของประชา จึงรณรงค์ให้ชายทุกคนที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็ยังต้องสู้ต่อไปอีกนาน

ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ขณะที่จำนวนกรรมกรเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามการขยายตัวของโรงงาน แต่สหภาพคนงานก็ยังเป็นองค์กรที่ผิดกฎหมาย

จนกระทั่งปี 1871 สหภาพแรงงาน (Trade Unions) จึงได้รับการรับรองเป็นครั้งแรกจากสภานิติบัญญัติ

และต่อจากนั้นในปี 1900 (หลังมาร์กซ์จากไปแล้วในปี 1883) พรรคแรงงานจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอังกฤษ

ข้อมูลเปิดเผยด้วยว่า ขณะที่สมาชิกสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ในยุโรปภาคพื้นทวีปเป็นพวกก้าวหน้า แต่ที่อังกฤษ สมาชิกของสหภาพแรงงานส่วนใหญ่กลับเป็นช่างฝีมือ มิใช่คนงานไร้ฝีมือ พวกเขาสนับสนุน “กลุ่มกฎหมายของประชา” เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง

อนึ่ง ต้องไม่ลืมว่า สันนิบาตชาวคอมมิวนิสต์ (the Communist League) ที่ก่อตั้งในปี 1848 ก็เกิดขึ้นที่ปารีส และเอกสารประวัติศาสตร์ที่ชื่อ แถลงการณ์ชาวคอมมิวนิสต์ (the Communist Manifesto) เขียนโดยมาร์กซ์และเองเกลส์ ออกเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น ก็ประกาศตัวตนที่ปารีสเป็นแห่งแรก และคำประกาศที่โด่งดังที่สุดในขณะนั้นก็คือ มวลกรรมกรต้องสามัคคีกัน และจัดตั้งกันขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากโซ่ตรวนของระบบทุนนิยม

ต่อจากนั้น ในปี 1864 (1 ปีหลังจากชนชั้นนายทุนอังกฤษจัดงานแสดงโชว์อุตสาหกรรมการผลิตครั้งใหญ่ที่นครลอนดอน (งานชื่อ the Great Exhibition of Modern Industry) กรรมกรจากหลายประเทศก็ร่วมกันจัดตั้งสมาคมกรรมกรสากล (the International Working Men’s Association

หรือเรียกย่อๆ ว่า the First International) เพื่อรวบรวมกรรมกรจากประเทศต่างๆ มาร่วมกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายเดียวกัน

 

ขณะนั้น มาร์กซ์ได้ถูกเนรเทศมาอยู่ที่ลอนดอนแล้ว เขาและเองเกลส์จึงเข้าร่วมงานทันที แม้จะมิใช่กรรมกร แต่ทั้งสองก็ได้ช่วยงานด้านการวางหลักการต่างๆ และช่วยร่างธรรมนูญขององค์กรอย่างแข็งขัน

มาร์กซ์ยังได้ช่วยเขียนสุนทรพจน์เปิดการประชุมครั้งนั้น และตอกย้ำอุดมการณ์ใหม่ที่ควรจะนำกรรมกรไปสู่โลกอนาคต โดยเขียนว่า

“ขอให้กรรมกรทั้งหลายตระหนักว่า จำนวนกรรมกรที่มากมายยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ แต่จำนวนที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องประกอบด้วยการรวมพลังกันและชี้นำด้วยความรู้และสติปัญญาเท่านั้น.” (“the vast numbers alone were not enough to make any difference, numbers weigh in the balance only if united by combination and led by knowledge.”) และจบลงด้วยการตอกย้ำคำแถลงสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1848 อีกครั้ง นั่นคือ

“กรรมกรทั้งหลายจากทุกประเทศ จงสามัคคีกัน” (Working men of all countries…Unite.)

ประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการปฏิวัติสังคม

 

ดังที่ได้เคยกล่าวไป มาร์กซ์เป็นนักปฏิวัติ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเสียใหม่ สังคมแห่งการกดขี่ขูดรีดจะต้องสิ้นสุดลง แต่นั่นมิได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องใช้ความรุนแรงเสมอไป และในการประชุมขององค์กรกรรมกรสากลครั้งที่ 1 (ค.ศ.1864) มาร์กซ์ก็กล่าวอีกครั้งต่อที่ประชุมว่า

“เราจะก้าวต่อไปข้างหน้าต่อต้านพวกท่าน (ชนชั้นนายทุน) ด้วยสันติวิธีที่เป็นไปได้ และด้วยอาวุธเมื่อมีความจำเป็น” (“we will proceed against you by peaceful means where it is possible and with arms when it is necessary”.)

สังคมที่ปราศจากชนชั้นไม่อาจเกิดขึ้นทันทีหลังการปฏิวัติ แต่จะต้องใช้เวลา หลังจากระยะแรกๆ ที่เริ่มสถาปนาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม มาร์กซ์ตระหนักว่า ตลอดมาในสังคมที่มีชนชั้น โครงสร้างส่วนบนของสังคมดังกล่าว มิใช่องค์กรเป็นกลางที่บริหารรัฐเพื่อประโยชน์ของทุกๆ คนในสังคม แต่รับใช้ผู้ปกครองเป็นหลัก ก็เพราะพวกเขานั่นเองที่เป็นผู้โครงสร้างส่วนบนขึ้นมา

ใครเล่าจะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมา ยอมให้มีศาสนาหรือความคิดความเชื่อ จัดระบบการศึกษา วัฒนธรรม และธำรงรักษาจารีตต่างๆ ที่กิจกรรมใดๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อชนชั้นนำในระยะยาวได้ แต่การมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวก็มีปัจจัยบางด้านกำหนดอยู่ หากคนส่วนใหญ่มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้พัฒนาสติปัญญาของตนเองขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนสามัคคีกัน มีการรวมกลุ่มกันอย่างแข็งแรง และมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างที่มาร์กซ์เสนอไว้ พลังที่เหนือกว่าของผู้คนจำนวนมากก็ย่อมเป็นที่เกรงขาม มีคนสนใจฟัง และสนใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามข้อเรียกร้องที่เสนอขึ้นมา

และด้วยเหตุดังกล่าว มาร์กซ์จึงได้กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธและความรุนแรงในเมื่อฝ่ายชนชั้นนำเห็นแล้วว่า การปฏิเสธมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายทั้ง 2 ฝ่าย กระทั่งฝ่ายของตนนั่นแหละที่จะไม่หลงเหลืออะไรอีกในอนาคต

นั่นคือบทเรียนสำคัญที่หลังจากใช้ชีวิตในอังกฤษ มากว่า 3 ทศวรรษ-ดินแดนที่มีการเลือกตั้งของประชาชน (แม้ยังจะมีจำนวนจำกัด) และการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนั้น มาร์กซ์จึงได้ตระหนักว่าการสรุปหลักการทั่วไปจากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ประวัติศาสตร์ที่ได้ศึกษาในห้องสมุดหรือการเล่าเรื่องเป็นอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่มาร์กซ์ได้พบเห็นด้วยตาทุกๆ วัน ก็คือองค์ความรู้ที่เขาได้ประจักษ์ และไม่อาจปฏิเสธได้เลย