ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำนักศิลปากร ยุคต้นสงครามเย็น (6)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำนักศิลปากร

ยุคต้นสงครามเย็น (6)

 

เป็นที่ทราบดีนะครับว่า งานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยในทศวรรษ 2480 พยายามอย่างยิ่งที่จะขยายเพดานความเก่าแก่ของชนชาติไทยให้ถอยกลับไปไกลหลายพันปีก่อน และอยากขยายอาณาจักรไทยให้กว้างไกลไปจนถึงเทือกเขาอัลไต, จีนตอนใต้, ครอบคลุมอาณาบริเวณเกือบทั้งหมดของแหลมอินโดจีน

ด้วยเป้าหมายแฝงทางการเมืองเช่นนี้ โบราณวัตถุสถานทั้งหลายในขอบเขต “มหาอาณาจักรไทย” จึงถูกอธิบายให้เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของคนไทย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวหลายส่วนยังได้รับการสืบทอดต่อมาในงานเขียนช่วงทศวรรษที่ 2490

เช่น มีการเสนอว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้” เป็นคนเชื้อสายเผ่าไทยเดิม และกำแพงเมืองจีนคือผลงานก่อสร้างของคนไทยมิใช่ของคนจีน (ดูข้อเสนอนี้ใน ประภาศิริ, “เรื่องไทยและกรุงสุโขทัย,” ศิลปากร ปี 3 เล่ม 6 (เม.ย. 2493) : 46-50.)

หรือข้อเสนอที่ว่า ใบหน้าของพระพุทธรูป “ศิลปะทวารวดี” แสดงถึงเค้าโครงใบหน้าของคนชนชาติไทยอย่างชัดเจน ดังนั้น ศิลปะทวารวดีจึงถูกสร้างขึ้นโดยคนไทยมิใช่มอญ

หรือแม้กระทั่งการอธิบายว่า ภาพจำหลักหินอันโด่งดังที่ปราสาทนครวัดที่มีจารึกว่า “กองทัพเสียมกุก” ก็เป็นฝีมือคนไทยไม่ใช่ขอม

และไปไกลจนถึงข้อเสนอที่ว่า “ขอม” คือชนชาติที่สูญหายไปแล้วซึ่งไม่ใช่คน “เขมร” ในปัจจุบัน ซึ่งการอธิบายเช่นนี้ก็เพื่อที่จะบอกว่าปราสาทหินทั้งหลายนั้นไม่ใช่ของคนเขมร (ดูเพิ่มในหนังสือของ น. ณ ปากน้ำ เรื่อง ความงามของศิลปะไทย)

ตัวอย่างเพียงบางส่วนข้างต้น คือการอธิบายประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อแสดงให้เห็นว่าชนชาติไทยนั้นเก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เป็นการอธิบายศิลปะบนรากเหง้าทางอุดมการณ์แบบมหาอาณาจักรไทยที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของแนวคิดชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยมสุดโต่ง ที่ยังคงมีพลังตกค้างข้ามยุคสมัยมาจนถึงยุคต้นสงครามเย็น

วารสาร “โบราณคดี” ฉบับปฐมฤกษ์ พ.ศ.2509
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ Museum Siam

แต่ถ้าเรามองงานเขียนของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล กลับพบว่า งานของพระองค์ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว

ในบทความเรื่อง “หลักการค้นคว้าวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์” ตีพิมพ์ในวารสาร “โบราณคดี” ฉบับปฐมฤกษ์ ทรงอธิบายในประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า

“…ภาษาพื้นมืองที่ใช้ในจารึกจึงสำคัญมากเพราะเป็นเครื่องส่อให้เห็นว่าในขณะนั้นประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นที่ค้นพบจารึกเหล่านั้นส่วนใหญ่พูดภาษาอะไร และด้วยเหตุนี้เองนักปราชญ์หลายท่านจึงลงความเห็นว่าประชาชนแห่งอาณาจักรทวารวดีเป็นมอญ เพราะเหตุว่าได้ค้นพบศิลาจารึกภาษามอญโบราณ…การที่จะใช้ตำนานหรือจดหมายเหตุที่แต่งขึ้นในสมัยหลังอ้างว่าประชาชนในอาณาจักรทวารวดีและหริภุญชัยเป็นไทยนั้น หาเป็นการเพียงพอที่จะลบล้างหลักฐานอันดับ 1 คือจารึกได้ไม่…เรื่องอำนาจของขอมที่แผ่เข้ามาปกครองดินแดนที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 18 นั้น เรื่องนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีทางที่จะโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นไปได้…ก็เมื่อหลักฐานทั้งทางด้านจารึกและโบราณวัตถุสถานอันเป็นลำดับ 1 ทั้งสิ้นรับรองต้องกันอย่างมั่นคงเช่นนี้แล้ว จะไม่ให้เชื่อถือว่าขณะนั้นอำนาจของขอมได้แผ่เข้ามาในประเทศไทยอย่างไรได้…คำว่า ‘ขอม’ และ ‘เขมร’ นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความหมายเท่ากับคำว่า ‘สยาม’ กับ ‘ไทย’ นั้นเอง คือคำว่า ‘ขอม’ เป็นคำที่ชนชาติอื่นโดยเฉพาะชนชาติไทยใช้เรียก ส่วนคำว่า ‘เขมร’ นั้น เป็นคำที่เขาเรียกตัวของเขาเอง จนปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่เห็นมีท่านผู้ใดสามารถใช้หลักฐานอันดับ 1 เป็นต้นว่าจารึกมายืนยันได้เลยว่า ‘ขอม’ กับ ‘เขมร’ นั้นเป็นคนละเชื้อชาติ…” (อ้างถึงใน ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล, “หลักการค้นคว้าวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์,” โบราณคดี ฉบับปฐมฤกษ์)

ตัวอย่างนี้แสดงว่า ในด้านหนึ่งแม้จะไม่ทรงยอมเลิกใช้คำว่า “ศิลปะลพบุรี” ในงานเขียนหลายชิ้นของพระองค์ (ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกโจมตีมากจากนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า) แต่ก็ไม่ทรงยอมที่จะไปไกลขนาดที่จะไม่ยอมรับการมีอยู่ของศิลปะเขมรในดินแดนไทยเลย

และแม้ว่าข้อเขียนของพระองค์คืองานเขียนแนวทางชาตินิยมอย่างแน่นอน แต่ก็เป็นชาตินิยมที่ไม่สุดโต่งขนาดอ้างความเก่าแก่ของชนชาติไทยผ่านศิลปะทวารวดีด้วยวิธีการสังเกตใบหน้าว่าคล้ายคนไทยปัจจุบัน

วารสาร “โบราณคดี” ปีที่ 7 ฉบับ 2 พ.ศ.2520 ตีพิมพ์บทความที่ตั้งคำถามต่อทฤษฎีคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ siambook.net

และจากงานพระนิพนธ์หลายชิ้นเราจะเห็นอีกว่า ทรงแย้งความเห็นนักวิชาการหลายท่านที่ชอบยกให้งานศิลปะโบราณในประเทศไทยทุกอย่างสร้างด้วยคนไทยอยู่เสมอๆ เช่น ในบทบรรณาธิการวารสาร “โบราณคดี” พ.ศ.2511 ที่มีพระนิพนธ์ติงเรื่องนี้ว่า

“…หลายครั้งที่เราได้ยินว่า นั้นเป็นของไทยโดยแท้ นี้เป็นของไทยคิดขึ้นมาเอง โน้นเป็นของคนไทยมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ คำกล่าวดังนี้ บางครั้งก็ผิด เพราะหลายสิ่งหล่านั้นเรารับแบบอย่างมาจากอินเดียบ้าง จีนบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดา แต่เมื่อเกิดความเชื่ออย่างฝังหัวว่าโน่นก็ไทย นี่ก็ไทย แทนที่จะเกิดคุณประโยชน์ก็กลับจะเป็นโทษเสียอีก…” (อ้างถึงใน ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล, “บทบรรณาธิการ,” โบราณคดี ปี 2 ฉบับ 1 (ก.ค.-ก.ย. 2511)

กรณีที่น่าสนใจที่สุดคือ ประเด็นคนไทยมาจาก “เทือกเขาอัลไต” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อถือกันมากในช่วงทศวรรษ 2480 และส่งอิทธิพลมาแม้จนถึงปัจจุบัน (แม้ว่าจะเสื่อมคลายลงไปมากแล้วก็ตาม)

น่าสังเกตนะครับว่า วารสาร “โบราณคดี” แทบจะเป็นฉบับแรกๆ ที่เริ่มเสนอความเห็นแย้ง และชี้ให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาทบทวนทฤษฎีนี้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520

โดยในฉบับดังกล่าว หน้าปกวารสารโปรยตัวอักษรบนปกว่า “รายงานขุดค้นที่อัลไต : ไม่มีข่าวจากคนไทยในอาณาจักรอ้ายลาว” พร้อมทั้งลงบทความแปลรายงานการขุดค้นบริเวณเทือกเขาอัลไตของ M. I. Artamonov ที่แสดงว่า อัลไตมิได้มีความสัมพันธ์อะไรกับคนไทยแต่อย่างใด

แม้บรรณาธิการในยุคสมัยนั้นได้เปลี่ยนจาก ม.จ.สุภัทรดิศ มาเป็น ประทีป ชุมพล แล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังทรงเป็นที่ปรึกษาและมีบทความตีพิมพ์อยู่ในวารสารเสมอ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ทรงรับทราบการเล่นประเด็นนี้ของวารสารสู่สาธารณะ

 

ทฤษฎีว่าด้วยอาณาจักรน่านเจ้าเป็นอีกตัวอย่างที่พระองค์เสนอความเห็นให้มีการทบทวน โดยในหนังสือ “ศิลปสุโขทัย” ของพระองค์มีพระนิพนธ์ความตอนหนึ่งว่า

“…เชื่อกันว่าชนชาติไทยคงอพยพลงมาจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน…อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ตอนนี้ยังไม่อาจทราบได้อย่างแน่นอน เราะส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองและนิยายซึ่งเขียนขึ้นในชั้นหลังเป็นพื้น…” (อ้างถึงใน ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปสุโขทัย หน้า 7)

และในบันทึกฉบับหนึ่งที่เก็บรักษาอยู่ที่ห้องสมุด ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงอ้างถึงงานของนักวิชาการต่างชาติเอาไว้ว่า

“…ชนชาติไทยลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน แต่ลงมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน และอาณาจักรน่านเจ้านั้นไม่ใช่ของชนชาติไทย…” (อ้างถึงใน ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล, คอลัมน์ตอบปัญหาเกี่ยวกับศิลปะ หมายเลขแฟ้ม 003 หมวดเอกสารต้นฉบับ ห้องสมุด ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล)

ความเห็นที่ต่างออกไปต่อกรณีอาณาจักรน่านเจ้า เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งของกระแส “ชาตินิยมสายกลาง” ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น

ซึ่งมิได้พบเพียงแค่ในงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะเท่านั้น แต่ในงานเขียนประวัติศาสตร์ของนักวิชาการท่านอื่นก็ปรากฏความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ดังที่ สายชล สัตยานุรักษ์ เคยเสนอในหนังสือ 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 2 ปัญญาชนหลังการปฏิวัติ 2475 ไว้ว่า ทศวรรษที่ 2500 พระยาอนุมานราชธนเองเมื่อกล่าวถึงน่านเจ้าก็มิได้มุ่งปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมในลักษณะที่เน้นย้ำว่าเป็นอาณาจักรของคนเชื้อชาติไทยแบบในทศวรรษ 2480 อีกต่อไป

แน่นอนนะครับว่า “สำนักศิลปากร” โดย ม.จ.สุภัทรดิศ ยังทรงเชื่อแน่ว่า คนไทยเพิ่งอพยพเคลื่อนย้ายมาสู่ดินแดนไทยและประกาศเอกราชจากขอมเมื่อราว พ.ศ.1600 เป็นต้นมา

แต่พระองค์ก็แทบไม่เคยมีพระนิพนธ์ที่พูดถึงอาณาจักรไทยที่ยิ่งใหญ่ดั้งเดิมในจีนตามแบบทฤษฎีมหาอาณาจักรไทยเลย

 

ด้วยตัวอย่างที่ยกมาพอสังเขป ทำให้เราน่าจะพอจะมองเห็นได้ว่า งานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะ “สำนักศิลปากร” ในด้านที่สำคัญด้านหนึ่งจึงเป็นงานที่เกิดขึ้นโดยมีลักษณะ “ไม่เห็นด้วย” กับความคิดชาตินิยมสุดโต่งตามแบบทศวรรษ 2480

ซึ่งทำให้เราอาจเรียกงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะ “สำนักศิลปากร” ได้ว่าเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยแบบ “ชาตินิยมสายกลาง”

หรือหากใช้คำตาม Dean Acheson ก็คือเป็นงานเขียนแบบ “ชาตินิยมที่แท้จริง” นั่นเอง