ถุงอาหารต๊อกบ๊กกี้ 2 ผีน้อย กับคำถามไร้คำตอบ

ธงทอง จันทรางศุ

ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปประเทศเกาหลีสามสี่วันในภารกิจของสภาสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นกรรมการอยู่

ในโอกาสดังกล่าวคณะของเราได้แวะไปเยี่ยมชมกิจการของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ซึ่งมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำงานอยู่ 10 กว่าคน เฉพาะแต่งานด้านกงสุล ซึ่งเป็นการดูแลผลประโยชน์ของคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศนั้นโดยถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ตาม อย่างไรเสียเขาก็ยังเป็นคนไทย ที่เราต้องให้บริการต่างๆ อยู่ดี

บริการอะไรหรือครับ

มีตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือไปเยี่ยมเยียนเมื่อมีคนไทยไปติดคุกติดตะรางอยู่ที่นั่น

เจ็บไข้ได้ป่วยอยากจะเดินทางกลับประเทศไทยแต่ไม่มีกำลังทรัพย์

เสียชีวิตจะต้องส่งศพกลับบ้าน

เรื่อยไปจนถึงเรื่องงานทางกฎหมายเบ็ดเตล็ด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า แจ้งเกิดแจ้งตาย ออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่แทนเล่มเก่าที่หมดอายุ

การให้วีซ่าเข้าเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ต้องใช้วีซ่าเวลาเข้าเมืองไทย ขานรายการกันไม่หมดสิ้นล่ะครับ

สิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจมากเมื่อเวลาที่ไปเดินเยี่ยมชมห้องทำงานของน้องๆ ข้าราชการที่นั่น คือห้องทำงานมีขนาดคับแคบเหลือเกินเมื่อเทียบกับปริมาณเอกสารที่วางอยู่ทุกซอกทุกมุม ขนาดจัดลงกล่องจำนวนหลายสิบกล่องเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว เอกสารที่อยู่นอกกล่องก็ยังมีปริมาณไม่น้อยเลย

ผมพูดมาอย่างนี้หลายคนคงนึกถามขึ้นใจว่า ทำไมไม่ทำเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เสียบ้าง ถามดูได้ความว่าขนาดทำแล้วก็ยังเหลือกระดาษอีกมาก

นึกดูง่ายๆ เพียงแค่การทำพาสปอร์ต อย่างไรเสียก็ต้องเป็นเล่มพาสปอร์ต พาสปอร์ตที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีแผ่นกระดาษเลยเห็นจะไม่มีใครยอมเชื่อถือ

แต่ตัวเล่มพาสปอร์ตแบบกระดาษเองก็ต้องเชื่อมโยงกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สนับสนุนอีกมาก

 

ระหว่างที่เดินชมสำนักงาน ผมได้รับความกรุณาจากท่านเอกอัครราชทูตธานี แสงรัตน์ เล่าให้ฟังว่า จำนวนคนไทยที่อยู่ในประเทศเกาหลี ในความหมายว่าอยู่ทำงานหรืออยู่เป็นถิ่นฐานเลย ไม่นับนักท่องเที่ยวแบบสี่ห้าวันกลับเช่นผม มีจำนวนมากถึง 200,000 คน

จำนวนมากพอกันกับประชากรจังหวัดระนองของเราซึ่งมีประชากร 190,000 คนเลยทีเดียว

พูดกันให้ครึกครื้นก็ต้องบอกว่า ท่านทูตนอกจากจะเป็นทูตแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่อยไปจนถึงนายอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วย

คำถามต่อไปที่ผมอยากรู้คือในจำนวน 200,000 คนที่ว่านั้น เป็นผู้ที่เข้าเมืองเกาหลีโดยผิดกฎหมายจำนวนสักเท่าไหร่

ข้อมูลที่ได้รับทราบคือจำนวนประมาณ 160,000 คน จำนวนตัวเลขนี้ก็สอดคล้องต้องทำกับข่าวที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า มีพี่น้องคนไทยของเราเดินทางไปประเทศเกาหลี แต่แรกก็ทำท่าว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวปกติ แต่สุดท้ายก็หลบหนีไปจากคณะทัวร์ มีคนมารับไปทำงานนอกระบบอย่างที่ว่า จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ผู้หลบหนีไปทำงานที่เกาหลีเช่นนี้เราเรียกว่า “ผีน้อย”

ฟังดูทั้งน่ารักทั้งน่าชังอย่างไรก็ไม่รู้

การที่มีผีน้อยจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนคนเช่นนี้ ทำให้ทางการเกาหลีเพ่งเล็งและเคร่งครัดมากเวลาคนไทยจะเดินทางเข้าไปในประเทศเกาหลี

ดังที่เราได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า คนไทยหลายคนนั่งเครื่องบินไปถึงเกาหลีแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่อนุญาตให้เข้าเมือง ต้องขึ้นเครื่องบินกลับมาเมืองไทยเสียอย่างนั้น

เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้บ่อยครั้ง ทำให้มีความรู้สึกอยากจะต่อต้านหรือประท้วงทางการเกาหลีขึ้นมาบ้างเหมือนกัน

เรียกว่าชวนกัน “แบน” เกาหลีเห็นจะได้

 

ผมสืบความต่อไปได้ความรู้ว่า ผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองไปทำงานในเกาหลีประเภทผีน้อยอย่างนี้ โดยเฉลี่ยแล้วจะได้ค่าตอบแทนประมาณเดือนละ 60,000 ถึง 70,000 บาท อาจจะมากหรือน้อยไปกว่านี้บ้างเป็นธรรมดานะครับ

ในบรรดาคณะเดินทางที่ไปเกาหลีด้วยกันกับผม มีผู้ที่อยู่ในฐานะข้าราชการเก่าระดับปลัดกระทรวงเหมือนกันกับผมอีกหนึ่งคน เราสองคนมองหน้ากันแล้ว ปรึกษากันว่าบำนาญที่ได้รับอยู่น้อยกว่าเงินเดือนที่ผีน้อยได้รับพอสมควร

หรือว่าเราจะหนีมาเป็นผีน้อยที่นี่ดี ฮา!

 

กลับมาจากเกาหลีได้หลายวันแล้ว เรื่องผีน้อยนี้ก็ยังค้างคาใจผมอยู่มากพอสมควร

พอดีกันกับที่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปพักผ่อนที่ศรีราชาหนึ่งคืนกับผู้คุ้นเคยจำนวนหลายคน น้องคนหนึ่งในจำนวนนั้นเล่าให้ฟังระหว่างมื้ออาหารค่ำว่า ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเขาได้ซื้อทัวร์ไฟไหม้ คือ ทัวร์ที่ขายราคาถูกเพราะจวนถึงวันเดินทางแล้วบริษัททัวร์ยังขายตั๋วไม่หมดจึงนำตั๋วที่เหลือมาขายลดราคา ได้มากได้น้อยก็ยังดีกว่าสูญเปล่า

สรุปว่าคณะเดินทางทั้งที่จ่ายแบบเต็มราคาและจ่ายเงินแบบทัวร์ไฟไหม้มีจำนวนรวม 30 คน

ที่หมายปลายทางคือเมืองปูซาน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี และอยู่ห่างจากกรุงโซลซึ่งเป็นเมืองหลวงของเกาหลีพอสมควร

ในคณะเดินทางจำนวน 30 คน มีคุณแม่คุณลูกคู่หนึ่งเดินทางไปด้วยกัน ลูกชายนั้นอายุประมาณ 30 ปีเศษ ส่วนคุณแม่นั้นเห็นจะอายุร่วม 60 ปีแล้ว

ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางไปถึงปูซาน น้องของผมสังเกตเห็นว่า ทั้งสองคนนี้ท่าทางเหมือนไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ

เวลากินเนื้อย่างแบบเกาหลีก็นึกไม่ออกว่าจะต้องขึ้นต้นลงท้ายอย่างไร ตามปกติแล้วเนื้อนั้นต้องย่างให้สุกเสียก่อนแล้วจึงใช้กรรไกรที่ทางร้านเตรียมไว้ให้ตัดเนื้อเป็นชิ้นย่อยสำหรับพอดีคำ

แต่นี่คุณลูกได้ใช้กรรไกรตัดเนื้อที่ยังไม่ได้ย่างให้เป็นชิ้นเล็กเสียก่อนแล้วจึงนำไปย่าง แลดูแปลกกว่าที่เคยเห็น

รุ่นน้องผมมีน้ำใจอารีจึงช่วยแนะนำว่าต้องทำอย่างไรถึงจะถูกกฎกติกา

พอมาถึงตรงนี้ก็เริ่มคุ้นกันแล้ว

อาหารบางมื้อบริษัททัวร์ไม่ได้จัดให้บริการ ลูกทัวร์ต้องไปหาอะไรกินเอง ทำให้ทราบว่า ในมื้อเช่นนั้น สองคนแม่ลูกไปหาอะไรกินหวือหวาตามประสาคนไปเที่ยวเมืองนอก หากแต่เดินไปซื้อซาลาเปาจากเซเว่นอีเลฟเว่นมากินคนละลูก

โดยอธิบายเหตุผลกล้อมแกล้มว่า กลัวหลงทาง

 

เหตุการณ์ผ่านเช่นนี้สองสามคืน จนถึงวันรุ่งเช้าที่คณะทัวร์จะต้องเดินทางกลับประเทศไทย น้องของผมตื่นมาตอนเช้า ก่อนลงไปรวมพลกับคนอื่นเห็นมีถุงอาหารต๊อกบ๊กกี้ซึ่งเป็นอาหารมีชื่อของเกาหลีแขวนอยู่ที่ลูกบิดของห้องตัวเองหนึ่งถุง ก็ให้นึกแปลกใจว่าใครเอามาแขวนไว้ และแขวนผิดห้องหรือไม่ เมื่อไม่แน่ใจอย่างนั้นก็ไม่ได้หยิบติดมือลงมา คงวางถุงอาหารดังกล่าวไว้หน้าประตูห้องของตัวเอง

เมื่อมาขึ้นรถและตรวจสอบจำนวนคนก่อนเดินทาง หัวหน้าทัวร์พบว่ามีสมาชิกขาดไปสองคน ซึ่งจะเป็นใครอื่นไปเสียไม่ได้นอกจากคุณแม่และคุณลูกคู่นั้น

ขึ้นไปดูบนห้องพักก็ไม่เหลือร่องรอยอะไรอยู่แล้ว ไกด์ทัวร์จึงไปตรวจสอบกับโทรทัศน์วงจรปิดของโรงแรม ได้ความว่าทั้งสองคนเดินทางออกจากโรงแรมไปเมื่อประมาณสามทุ่มโดยมีคนมารับและพาไปไหนก็ไม่รู้

เป็นอันว่าคนไทยในประเทศเกาหลีที่เป็นผีน้อยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 160,002 คนแล้ว

ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้วก็สะท้อนใจอยู่ลึกๆ นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงต๊อกบ๊กกี้ถุงนั้นเจ็บปวดมาก

ในยามยากที่กำลังจะออกไปเผชิญโชคในวันข้างหน้า คุณสองคนนั้นยังนึกถึงความอารีของรุ่นน้องผมและอยากจะตอบแทนอะไรบางอย่างตามกำลังที่ทำได้

 

มาถึงวันนี้แล้วผมไม่รู้ว่าแม่ลูกทั้งสองคนกำลังทำอะไรอยู่ จะมีสุขมีทุกข์เป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าทั้งคู่กำลังอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ไม่ใช่เมืองไทยที่รู้จักมาแต่อ้อนแต่ออก คงต้องปรับตัวกันน่าดู งานที่หมายหน้าไปรับจ้างจะหนักเบาอย่างไรก็ยังไม่รู้ เรื่อยไปจนถึงเงินค่าจ้างจะได้จริงสักกี่บาทกี่วอน

อีกไม่กี่วันหิมะก็จะตกแล้ว ใส่เสื้อให้หนาอุ่นไว้ก่อนนะครับ อย่าเจ็บไข้ไป

นี่ถ้าเมืองไทยของเรามีการงานที่เปิดโอกาสกว้างให้สองคนแม่ลูกได้ทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอเหมาะสม เป็นไปได้ไหมครับที่การตัดสินใจไปเป็นผีน้อยอยู่ที่โน่นอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นก็ได้

ผมยอมรับว่าผู้ที่อยู่ในฐานะและสิ่งแวดล้อมอย่างผมไม่อาจจะไปนึกแทนคนอื่นได้

คนที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในประเทศได้โดยสะดวกมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่เป็นคนจำนวนน้อยของประเทศ เพราะความจริงที่เจ็บปวดบอกเราว่า ยังมีคนที่ตกหล่นจากการเข้าถึงโอกาสและเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่อีกเป็นจำนวนไม่น้อย

การเลือกตั้งในทุกระดับของบ้านเรา พรรคการเมืองจึงต้องขายนโยบายหรือพูดแบบใจร้ายก็ต้องบอกว่า “ขายฝัน” ให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว บ่อยครั้งที่ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ความฝันนั้นจะกลายเป็นความจริงขึ้นมาเมื่อไร

การเดินทางไปทำงานต่างประเทศของผู้ที่ขาดโอกาสในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่เกาหลี อิสราเอล หรือกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ เฉพาะที่เกาหลีก็ใช่ว่ามีแต่คนไทยเสียเมื่อไหร่ ที่ตามสะกดรอยเรามาติดๆ คือชาวฟิลิปปินส์ก็เข้าไปเป็นผีฟิลิปปินส์อยู่ในประเทศเกาหลีไม่น้อยเหมือนกัน

ถามว่าการเข้าเมืองและไปทำงานแบบผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีเป็นความชั่วหรือไม่

และในทางกลับกัน ผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบเมืองไทยของเราไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว หรือประเทศอื่นใดก็ตามที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่เข้ามาทำงานในบ้านเรา ทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอยู่เป็นจำนวนมาก

เฉพาะจำนวนหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาเป็นคนชั่วหรือ

คนที่เรียนกฎหมายมานานปีอย่างผมต้องหยุดคิดให้ลึกซึ้งแล้วถามตัวเองว่า ความชั่วกับการทำผิดกฎหมายเป็นเรื่องเดียวกันเสมอไปหรือไม่

และในทางตรงกันข้าม การทำถูกกฎหมายทุกอย่างทุกขั้นตอนแต่เป็นความชั่วร้ายแรงมีอยู่หรือไม่

ถามตัวเองแล้วก็หาคำตอบไม่เจอ ฝากไว้ให้ช่วยกันคิดก็แล้วกันครับ