ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
ทําไมการลดความอ้วนถึงได้ยากนัก?
บางทีงานวิจัยนี้อาจมีคำตอบให้คุณ!
“เพราะว่าเซลล์ของคุณอาจจะไม่ได้อยากจะได้สิ่งที่คุณต้องการ…” เฟอร์ดินันด์ วอน เมเยนน์ (Ferdinand von Meyenn) นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก (ETH Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เผย
แม้คุณจะอยากลดน้ำหนักให้ร่างกายของคุณผอมเพรียว แข็งแรง ลีนและคลีน แต่เซลล์ของคุณอาจจะไม่ได้อยากจะลดน้ำหนักไปกับคุณด้วย พวกมันอาจจะอยากอ้วนต่อไปก็เป็นได้
ใครจะรู้ บางที หุ่นหมีอาจเป็นที่นิยมในกลุ่มเซลล์…
ในวันที่ 18 พฤจิกายน 2024 เฟอร์ดินันด์และทีมได้ตีพิมพ์เปเปอร์แลนด์มาร์กที่น่าสนใจเกี่ยวกับเซลล์ไขมันและการเกิดโยโย่เอฟเฟ็คต์ของกลุ่มผู้ต้องการลดความอ้วนในวารสาร Nature
เปเปอร์ “Adipose tissue retains an epigenetic memory of obesity after weight loss” หรือแปลไทยว่า “เนื้อเยื่อไขมันเก็บความจำเหนือพันธุศาสตร์ของความอ้วนเอาไว้หลังจากลดน้ำหนัก” ที่พวกเขาเผยแพร่ออกมานั้นเซอร์ไพรส์นักวิทย์มากมาย
และนั่นทำให้ข่าวงานวิจัยของพวกเขาแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง
หลายสำนักข่าวดังเอาไปพาดหัว
แม้แต่ “อีริก โทโพล (Eric Topol)” แพทย์หทัยวิทยา หนึ่งในนักวิจัยผู้บุกเบิกโครงการการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine Initiative) ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) ของประเทศสหรัฐอเมริกาผู้โด่งดัง ก็ยังออกมาโพสต์ใน X ถึงงานนี้ด้วยความตื่นเต้น
พร้อมทั้งแชร์ลิงก์สำหรับดาวน์โหลดเปเปอร์เอาไว้ปิดท้าย “ข่าวใหม่ เปิดมุมมองด้านกลไกว่าทำไมการลดน้ำหนักให้ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนนั้นถึงทำได้ยากนัก ที่แท้เป็นเพราะความทรงจำเหนือพันธุกรรมที่เซลล์ไขมันแอบเก็บเอาไว้”
การปรับแต่งเหนือพันธุกรรม หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า เอพิเจเนติก (epigenetic) นั้นคือการปรับแต่งทางเคมีบนสายดีเอ็นเอที่เป็นสารพันธุกรรม ซึ่งการปรับแต่งนี้จะส่งผลต่อการแสดงออกของยีนในสายดีเอ็นเอนั้นๆ
บางยีนพอโดนปรับแต่งเข้าไป ก็อาจจะเลิกทำงานไปเลยก็มี และการปรับแต่งพวกนี้ บางทีก็เกิดขึ้นจากการที่เซลล์ประสบกับสภาวะอะไรบางอย่าง
และในกรณีนี้ คือ “ความอ้วน” หรือ “น้ำหนักเกิน”
จากการศึกษาในหนู เฟอร์ดินันด์และทีมของเขาจาก ETH Zurich นำโดยนักวิจัยหลังปริญญาเอก ลอรา ฮินเต (Laura Hinte) พบว่าภาวะอ้วนในหนู จะทำให้หนูมีการปรับแต่งเอพิเจเนติกหรือการปรับแต่งเหนือพันธุกรรมที่เกิดขึ้นในนิวเคลียสผิดเพี้ยนไปในเซลล์ไขมัน
ซึ่งทำให้ยีนในเซลล์ไขมันพวกนี้แสดงออกผิดเพี้ยนไปจากเซลล์จากหนูที่ไม่เคยอ้วน และส่งผลกระทบไปถึงการเปลี่ยนแปลงระดับเมตาโบลิซึ่มในหนู
และที่สำคัญ เซลล์ไขมันในหนูอ้วนรักที่จะอ้วน
เซลล์ไขมันในหนูอ้วนมีการปรับแต่งเหนือพันธุกรรมอย่างพิสดารและนั่นทำให้พวกมันเปิดปิดสวิตช์ยีนต่างๆ แบบแปลกๆ หลายยีนที่แสดงออกขึ้นมาในนั้นเป็นจะเกี่ยวข้องกับการอักเสบและการเกิดพังผืดในเนื้อเยื่อ ในขณะที่ยีนที่ทำให้เซลล์ไขมันทำงานได้อย่างปกติสุขนั้นกลับปิด ไม่แสดงออก ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพกับเจ้าของเซลล์
แต่ที่ประหลาดก็คือแม้ว่าเจ้าของร่างกายจะลดความอ้วนไปได้อย่างดี กินอาหารลีน อาหารคลีนจนไม่อ้วน ค่าดัชนีมวลกายลดลงไปมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์แล้ว การปรับแต่งเหนือพันธุกรรมที่เกิดขึ้นอย่างสุดพิสดารในตอนที่ยังอ้วนนี้ ก็จะยังคงอยู่ไม่จางหายไป
และแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไป หนูเลิกอ้วน ผอมเพรียวไปแล้วเป็นปี ยีนพวกนี้ในสายดีเอ็นเอที่โดนปรับแต่งไปแล้วก็จะยังเหมือนเดิม ราวกับว่ามันจำได้ทุกอย่างที่เคยอ้วนผ่านทางการปรับแต่งสารพันธุกรรมและนั่นคือปัญหาใหญ่ สำหรับหนูน้อยพองลมที่เกิดอยากมีหุ่นไฉไลเพรียวลม เพราะอย่างที่บอกไป เซลล์ไขมันพวกนี้รักจะอ้วน และจะกระตุ้นให้ร่างกายกลับไปอ้วน
ในกรณีของหนู แค่ให้อาหารเสริมไขมันสูงเข้าไปปุ๊บมันจะจัดหนัก เริ่มเป่งและย้อนกลับไปอ้วนอย่างรวดเร็ว
ช่างเป็นข่าวที่ฟังแล้วน่าเจ็บใจ ก็เซลล์ไขมันนั้นดันเก็บความทรงจำแห่งความอ้วนเอาไว้ บางที นี่อาจจะเป็นต้นเหตุให้คนที่เคยอ้วน ลดน้ำหนักไม่เคยลงก็เป็นได้
“จากมุมของวิวัฒนาการ นี่เป็นเรื่องที่ฟังดูสมเหตุสมผล” ลอรากล่าว
“มนุษย์และสัตว์นั้นจะปรับตัวเพื่อหาวิธีคงหรือเพิ่มน้ำหนักของร่างกายของพวกมัน ไม่ใช่ลดน้ำหนัก เพราะถ้าดูในประวัติศาสตร์ หนึ่งในความท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในธรรมชาติก็คือภาวะขาดแคลนอาหาร”และในกรณีที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แน่นอนว่ามีสำรองกักตุนไว้ก็น่าจะปลอดภัยกว่า
“เซลล์ไขมันที่จดจำความอ้วนของเราได้ จะพยายามในทุกวิถีทางที่จะทำให้พวกมันกลับคืนสู่สภาพตอนอ้วนที่มันจำได้ให้ได้” เฟอร์ดินันด์กล่าว “บางทีถ้าเราเข้าใจกระบวนการนี้ได้ดีพอ เราอาจจะสามารถส่งเสริมสุขภาพ ลดอักเสบ ลดไขมัน ลดหมอ ลดอ้วนได้ด้วยก็ได้”
และนี่น่าจะเป็นต้นเหตุที่ “เป็นไปได้” ที่ทำให้คนเกิดโยโย่ (Yo-yo effect) หรือการที่น้ำหนักที่เหมือนจะลดลงไปนั้นดีดขึ้นกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่พยายามลดน้ำหนักได้สำเร็จ เฮนริเอตเต้ เคิร์ชเนอร์ (Henriette Kirchner) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลูเบก (the University of Lübeck) สันนิษฐาน
คําถามคือ แล้วเซลล์ไขมันพวกนี้จะลืมบ้างมั้ย แล้วต้องลีนนานสักเท่าไร เซลล์ไขมันถึงจะกลับมาเป็นเซลล์ไขมันปกติแบบที่ไม่โดนปรับแต่งเหนือพันธุกรรมแบบแปลกๆ
คำตอบคือ “นานมาก”
“โดยปกติแล้ว เซลล์ไขมันอายุค่อนข้างยืน อาจจะถึงทศวรรษ ที่สำคัญ ในปัจจุบันไม่มีเทคโนโลยีไหนจะเข้าไปช่วยแก้การปรับแต่งแบบเหนือพันธุกรรมได้ ดังนั้น ถ้าต้องการรีเซ็ตความทรงจำเรื่องความอ้วน”
ลอรากล่าว “อาจจะต้องรอถึงสิบปี ตอนช่วงผลัดรุ่นเซลล์”
ให้รอ คงรอไม่ไหว ก็คงได้แต่คิดปลอบใจตัวเอง บางที พรุ่งนี้ เทรนด์โอ๊ปป้าหุ่นหมี และเทพีแห่งความอุดมนั้นอาจจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกรอบก็เป็นได้
สำหรับคนที่ลดความอ้วนแล้วโยโย่กลับไปเท่าเดิม อย่าไปโทษตัวเองเป็นเด็ดขาด เพราะความอ้วนเป็นเรื่องธรรมชาติที่ยากจะเลี่ยง
อย่าลืมว่าประวัติศาสตร์แห่งความอ้วนถูกจารึกฝังไว้เหนือพันธุกรรม แล้วเราจะทำอะไรได้!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022