ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
แม้ไม่ได้เป็นหมอดูแต่ได้เห็นร่องรอยหลักฐานทั้งอดีต ปัจจุบัน ก็สามารถทำนายได้ว่าชะตากรรมของโลกในอนาคตข้างหน้าจะมีมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรอขย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยวัฏจักรธรรมชาติที่ชาวโลกบดขยี้ทำลายเสียหายอย่างย่อยยับตั้งแต่ผืนดิน แผ่นน้ำ และชั้นบรรยากาศโลกจนนำไปสู่วิกฤต
อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกตลอดทั้งปี 2567 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO : World Metrological Organization) คาดการณ์ไว้ว่าจะสูงกว่ายุคก่อนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 174 ปีที่แล้ว และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 5 ปี ถ้าชาวโลกยังมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างที่เป็นเช่นวันนี้
พฤติกรรมเดิมๆ ที่ว่า นั่นคือการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหินอย่างมโหฬาร การบุกทำลายผืนป่าเอาคนเข้าไปอยู่ เอาอิฐหินปูนไปถมจนแน่นหนาไม่เหลือพื้นที่สีเขียว
เมื่อพฤติกรรมของชาวโลกไม่เปลี่ยนแปลง WMO จึงทำนายว่าตั้งแต่ปีนี้ยาวไปถึงปี 2571 การปล่อยก๊าซพิษทำลายชั้นบรรยากาศโลกและอุณหภูมิผิวโลกจะเพิ่มสูงทะลุ 1.51 เรื่องนี้คนทั้งโลกต่างรู้แก่ใจมานานแล้วว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น สภาพชั้นบรรยากาศโลกจะเกิดความแปรปรวนรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ปัจจุบัน อุณหภูมิโลกอยู่ที่เฉลี่ย 1.48 องศาเซลเซียส ชาวโลกจึงเข้าร่วมเป็นพยานอย่างไม่เต็มใจในความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว
เราทั้งหลายได้สัมผัสอากาศร้อนที่ร้อนอย่างสุดสุด ร้อนจนแสบผิว พายุที่มีฤทธิ์เดชเข้มข้นแผ่อานุภาพทำลายล้างพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ฝนตกหนักไม่ลืมหูลืมตา ตกทั้งวันทั้งคืน บางแห่งปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาพรวดเดียวเท่ากับตกทั้งปีก็มี
เราได้เห็นภัยแล้งที่แล้งรุนแรงเรื้อรังยาวนานจนแม่น้ำแห้งเหือด เห็นแผ่นน้ำแข็งแถบขั้วโลกร่อนละลาย น้ำทะเลเพิ่มสูง และวัดอุณหภูมิผิวน้ำทะเลก็สูงขึ้นทุกปี
รายงานชิ้นล่าสุดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระบุชัดๆ ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมหนักในประเทศสเปนเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตกว่า 220 คน เหตุการณ์พายุถล่มอย่างหนักหน่วงในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล และไฟป่าเผาพื้นที่ในทวีปอเมริกาใต้ราพณาสูญ เป็นเพียงบางตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวนอย่างรุนแรง
และเหตุการณ์เช่นนี้ยังมีให้เห็นในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก ดังนั้น ยูเอ็นจึงวิงวอนชาวโลกเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เชื้อเพลิงสะอาดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเพื่อหยุดยั้งการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
“คาร์โล บูออนเทมโป” ผู้อำนวยการหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสแห่งยุโรป (Copernicus Climate Change Service : C3S) เป็นอีกคนที่ทำนายว่า โลกกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยกเว้นเสียแต่ว่าทุกคนช่วยกันควบคุมความเข้มข้นของก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลกให้คงที่ บางทีภาวะโลกเดือดอาจจะเปลี่ยนเป็นภาวะโลกเย็น
“บูออนเทมโป” ชี้ทางออกแต่มีเงื่อนไขว่าชาวโลกต้องคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นเงื่อนไขที่ยังไกลความจริงอยู่มากเพราะประเทศที่เป็นมหาอำนาจและปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
ปริมาณก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลกขณะนี้มีกว่า 50,000 ล้านตันเมตริก 10 ประเทศที่ปล่อยก๊าซพิษมากที่สุด ล้วนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหภาพยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย บราซิล อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย
ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า COP 29 (Conference of the Parties) ปีนี้จัดที่กรุงบากู เมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน ตั้งแต่วันที่ 11-22 พฤศจิกายน มีประเทศที่เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศ รวมทั้งไทยด้วย
เป้าหมายหลักของการประชุมต้องการให้ประเทศร่ำรวย ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจควักเงินช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนเพื่อนำไปปรับปรุงป้องกันและปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance)
กลุ่มประเทศยากจนมองว่า ประเทศร่ำรวยเป็นผู้ที่ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน นำไปสู่ความเสียหายอย่างรุนแรงจึงต้องชดใช้ผลการกระทำ
“เปโดร ชานเซส” นายกรัฐมนตรีสเปน ขึ้นเวที COP 29 บอกเล่าเหตุสลดในเมืองบาเลนเซียให้ผู้นำทั่วโลกฟังว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนนั่นแหละคือตัวการฆ่าชาวบาเลนเซีย และภายหลังวิกฤตน้ำท่วมผ่านไปแล้ว สภาพเมืองเปื้อนไปด้วยโคลน ผู้คนอีกจำนวนมากยังจมมิดอยู่ใต้ซาก
“ชานเชส” เสนอให้ที่ประชุม COP 29 ออกมาตรการที่ให้ผลเร็วทันใจ และเช่นกันเมืองต่างๆ ก็ต้องปรับใหม่เพื่อยืนหยัดสู้กับวิกฤตอันเลวร้ายที่จะเกิดในอนาคตข้างหน้า
นอกจากผู้นำสเปนแล้ว ยังมี “อังเดจ เพลนโควิก” นายกฯ โครเอเซียยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบกับชาวเมือง
ส่วนคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกกับที่ประชุม COP 29 ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งที่ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลก
คุณเฉลิมชัยเรียกร้องให้ที่ประชุมกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะได้ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบางอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
พูดถึงเม็ดเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบางต้องการนำมาใช้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ทางยูเอ็นประเมินว่าอยู่ระหว่าง 187,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 359,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อปี 2565 ปรากฏว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศร่ำรวยแค่ 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น
อันที่จริงแล้วข้อสัญญาที่ให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินให้ประเทศยากจนมีขึ้นตั้งแต่ประชุม COP 15 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี 2552
ในเวลานั้นตัวแทนจากหมู่เกาะตูวาลูอยู่ในแถบโอเชียเนีย มหาสมุทรแปซิฟิก ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้หมู่มวลประเทศร่ำรวยช่วยเหลือ ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับจากสมาชิกซึ่งกำหนดว่าจะให้เงินช่วยเหลือ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐแก่ประเทศยากจนในช่วง 3 ปี และตั้งเป้าจะให้เงิน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2563 เงินก้อนนี้จะนำไปใช้ในการปรับประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาด
แต่ถึงเวลาจริง ประเทศยากจนก็ไม่ได้รับเงินตามคำมั่นสัญญาจากประเทศร่ำรวย จึงเป็นเหตุให้นักสิ่งแวดล้อมเสียดสีว่า COP และยูเอ็นเป็นยักษ์ไร้กระบอง
จึงไม่น่าแปลกใจที่มีเสียงวิจารณ์ถึงการประชุม COP 29 ส่อเค้าล้มเหลวไม่เป็นท่าตั้งแต่ต้นๆ เนื่องจากแนวทางประชุมเหมือนๆ กับ COP 28 ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจไม่ได้ทำตามมั่นสัญญาที่ตกลงกันไว้ว่าจะช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ปรากฎว่าปี 2566 การปล่อยก๊าซพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น 1.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2565
เจ้าภาพ COP 28 เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ยังหนุนใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพราะราคาถูก ซึ่งไม่ต่างจากเจ้าภาพ COP 29 ของปีนี้คืออาเซอร์ไบจาน ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญการควบคุมเชื้อเพลิงฟอสซิลมากนัก แถมสหรัฐอเมริกา ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกเปลี่ยนผู้นำใหม่เป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” ส่วน “โจ ไบเดน” ที่รั้งเก้าอี้ประธานาธิบดีก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
“ทรัมป์” ประกาศมานานแล้วว่าไม่เคยเชื่อเรื่องความแปรปรวนของภูมิอากาศโลกมาจากการปล่อยก๊าซพิษแถมยังเหน็บนักวิทยาศาสตร์ว่า “โลกเดือด” เป็นเรื่องโกหกพกลม เมื่อคราวเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งแรกได้สั่งรัฐบาลถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสระงับเงินสนับสนุนสหประชาชาติแก้ปัญหาโลกเดือด
ต้นปีหน้า “ทรัมป์” ขึ้นครองอำนาจเป็นวาระที่ 2 อย่างสมบูรณ์แบบ ใครๆ ก็เชื่อว่า “ทรัมป์” ไม่เอาด้วยกับข้อสัญญาแก้ปัญหา “โลกเดือด” และอาจจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสอีกรอบ
ระหว่างหาเสียงเป็นประธานาธิบดี “ทรัมป์” ประกาศว่าจะยกเลิกสนับสนุนพลังงานสีเขียวของประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” และหนุนอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน
เมื่อคว้าชัยชนะแล้ว “ทรัมป์” ประกาศตั้ง “คริส ไรต์” (Chris Wright) เป็นว่าที่รัฐมนตรีพลังงาน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักสิ่งแวดล้อมอย่างมากเนื่องจาก “ไรต์” เป็นเจ้าของบริษัทลิเบอร์ตี้ เอ็นเนอร์ยี่ ทำธุรกิจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในชั้นหินดินดานด้วยแรงดันสูง เป็นกระบวนการที่เรียกว่า “fracking” ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
แต่ “ทรัมป์” ไม่สนเสียงนกเสียงกาเพราะเชื่อว่าการตั้ง “ไรต์” จะผลักดันการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซมาใช้เป็นเชื้อเพลิงช่วยลดต้นทุนการผลิตและผลักดันให้อุตสาหกรรมสหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
“โจ ไบเดน” ไม่เข้าร่วม “COP 29” เพราะรู้ตัวดีว่าไปประชุมก็ไร้พลังอำนาจเพราะเปลี่ยนถ่ายไปสู่มือ “ทรัมป์” แล้ว อีกทั้งผู้นำโลกคนอื่นๆ เช่น สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โอลาฟ ซอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีก็ไม่ได้ร่วม จึงทำให้การประชุมคราวนี้กร่อยไปมาก
นอกจากนี้แล้ว “อัล กอร์” อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ เจ้าของรางวัลโนเบลแกนนำหลักในการแก้ปัญหาโลกเดือดออกมาวิพากษ์วิจารณ์การประชุม COP 29 ที่รัฐบาลอาเซอร์ไบจานแต่งตั้งนายมุกห์ตาร์ บาบาเยฟ เป็นประธานว่า เป็นการประชุมไร้สาระอย่างสิ้นเชิง
“บาบาเยฟ” เป็นรัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติ เคยทำงานบริษัทน้ำมันชื่อ “โชคาร์” เป็นรัฐวิสาหกิจของอาเซอร์ไบจาน มีมุมมองว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นของขวัญจากพระเจ้า (gift of the God)
ฝ่าย “กอร์” วิจารณ์ว่า อาเซอร์ไบจานเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเป็นเจ้าภาพประชุม COP 29 ก็เหมือนมีผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วจะแก้ปัญหาโลกเดือดได้อย่างไร
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังส่องหารายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม COP 29 พบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานส่งตัวแทนบริษัทเข้าไปล็อบบี้ผู้เข้าร่วมประชุมมากถึง 1,700 คน และโชว์เหนือด้วยการควักเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ อ้างว่าเป็นทุนช่วยกลุ่มประเทศยากจนเปลี่ยนผ่านวิธีการปรุงอาหารด้วยพลังงานยุคใหม่
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมองว่า ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานใช้กลยุทธ์กล่อมให้โลกเชื่อว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ใช่ตัวมารร้ายทำลายสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นกลยุทธ์เหมือนกับอุตสาหกรรมบุหรี่ที่ยืนกระต่ายขาเดียวว่า บุหรี่ไม่ใช่ตัวการทำให้เกิดมะเร็งปอด
กล่าวโดยสรุปแล้วผู้นำประเทศร่ำรวยและกลุ่มประเทศผลิตน้ำมันล้วนแล้วไม่ได้แยแสกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนรุนแรงซะเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น จึงทำนายได้ว่าอนาคตโลกมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเผชิญกับภัยพิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าอันเป็นผลจากภาวะโลกเดือด •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022