อารมณ์ ยุคสมัย ฐาน COURT ดรุโณวาท เจ้าพี่ เจ้าน้อง

บทความพิเศษ

 

อารมณ์ ยุคสมัย

ฐาน COURT ดรุโณวาท

เจ้าพี่ เจ้าน้อง

 

ไม่ว่ามองผ่าน “COURT ข่าวราชการ” อันเป็นรายวัน ไม่ว่ามองผ่าน “ดรุโณวาท” อันเป็นรายสัปดาห์

ถือว่าเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน

นั่นก็คือ ในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั่นก็คือ เกิดขึ้นในปีที่ใกล้เคียงกัน

เพียงแต่ “ดรุโณวาท” ตีพิมพ์เล่ม 1 นำเบอร์ 1 วันอังคาร เดือน 8 แรมเก้าค่ำ ฉอศก 1236 เพียงแต่ “COURT ข่าวราชการ” ตีพิมพ์ฉบับแรกในวันอาทิตย์ เดือน 10 แรม 12 ค่ำ ตรงกับวันที่ 16 กันยายน ปีกุน พ.ศ.2418

กระนั้น หากมองผ่านองค์ประกอบแห่ง “กองบรรณาธิการ” ก็อาจถือได้ว่าล้วนเป็น “เจ้าพี่ เจ้าน้อง” ด้วยกัน

แม้ว่ารากฐานของ “COURT ข่าวราชการ” จะมาจาก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ขณะที่ “ดรุโณวาท” จะมาจาก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์

กระนั้น หากอ่านประกาศของ “COURT ข่าวราชการ” ฉบับวันที่ 1 แรม 12 ค่ำ เดือน 10 เล่ม 1 ซึ่งระบุในเบื้องต้นว่า “การซึ่งจะตีพิมพ์หนังสือนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ได้ทรงเป็นพระธุระทั้งสิ้น และการซึ่งจะแต่งข่าวราชการทุกวันนั้นได้แบ่งกันองค์ละวัน”

และ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ทรงแต่งในวันจันทร์

จึงไม่ว่าจะเป็น “ดรุโณวาท” ไม่ว่าจะเป็น “COURT ข่าวราชการ” จึงดำเนินไปดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงระบุไว้เหมือนเป็นการฟื้นความหลังเมื่อมีการเฉลิมฉลองพระชนมายุครบรอบ 64 พรรษา ในปี พ.ศ.2466 ว่า

“การที่หนังสือเกิดขึ้นได้นั้นก็เพราะญาติสามัคคีธรรม กล่าวคือ เจ้าพี่เจ้าน้องหลายพระองค์ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลกระหม่อมของเรา ได้ร่วมพระหฤทัยช่วยกันทำกิจการนั้นจึงเป็นผลสำเร็จดี

ส่อให้เห็นเป็นพยานได้ว่าในสมัยนั้นมีเจ้าพี่เจ้าน้องหลายพระองค์ด้วยกันได้ตั้งอยู่ในฐานะสามัคคีธรรมเป็นอันดี”

ถามว่า “สามัคคีธรรม” นั้นเกิดขึ้น ดำรงอยู่บน “พื้นฐาน” ใด

 

หอนิเพท พิทยาคม

สโมสถาน คนหนุ่ม

คําตอบหนึ่งมาจากเนื้อความเดียวกันและมีความต่อเนื่องกันจากนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เนื่องในวาระ 54 พรรษา

“ทั้งนี้ จัดได้ว่าไม่มีผู้ใดปฏิเสธเสียได้เลยว่า

กษณะเมื่อทูลกระหม่อมของเราเสด็จสู่สวรรคตนั้นก็มีชั้นเจ้าพี่แต่น้อยพระองค์ที่ทรงมีวัยวุฒิ หลายพระองค์ก็เป็นแต่พระองค์หญิง นอกนั้นก็นับว่าอยู่ในเขตซึ่งยังทรงเยาว์วัย

เมื่อเปลี่ยนรัชกาลแล้วก็ได้อาศัยพระมหากรุณาบารมีในล้นเกล้าฯ คือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชุบเลี้ยงให้ได้มีความผาสุกทั่วกันเป็นอันดี

เจ้าพี่เจ้าน้องในกษณะนั้นล้วนตั้งอยู่ในฐานะอันเป็นผู้กำพร้าพระชนกด้วยกันย่อมยึดถือเอาพระบารมีในล้นเกล้าฯ แทนพระบารมีในทูลกระหม่อมของเรา ได้ร่วมหฤทัยพร้อมกันมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท หมั่นเพียรรับราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยซื่อสัตย์สุจริตทั่วกัน

ส่วนการผูกสัมพันธ์สันถวมิตรเพื่อประกอบให้เกิดกำลังและความสุขอีกฝ่าย 1 นั้นในชั้นเจ้าพี่เจ้าน้องฝ่ายชายที่ทรงเยาว์วัยและมีพระชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกันบางองค์ได้เริ่มต้นร่วมคบหากระทำความสนิทเสน่หาซึ่งกันและกันขึ้นก่อนแล้วก็แพร่หลายออกไปทุกที

ลำดับนี้เจ้าพี่เจ้าน้องแม้แต่ที่มีพระชนมายุยิ่งและหย่อนกว่าก็ได้เข้ารวบรวมกันเป็นอันดี

สมัยนี้และที่ได้เกิดมีหนังสือพิมพ์คอร์ตนี้ขึ้น สำนักงานการหนังสือพิมพ์ตั้งอยู่ที่หอนิเพทพิทยาคม ณ ริมประตูศรีสุนทร ซึ่งเป็นตำหนักที่พักของข้าพเจ้าเมื่อครั้งยังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ทั้งเป็นสถานที่ซึ่งเจ้าพี่เจ้าน้องผู้สนิทเสน่หาได้ไปมาคบหากันในที่นั้นด้วย”

 

พงศาวดาร บันทึก

ความรู้สึก ประจักษ์

หากศึกษาผ่านหนังสือ “พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5” อันเป็นพระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันสำนัก “ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ” ตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2545

ก็จะเข้าใจ “ภาพ” โดยสมบูรณ์ของ “สถานการณ์”

เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ เวลา 5 โมงเช้า ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 พระพุทธศาสนายุกาลล่วงแล้วได้ 2411 พรรษา

ถ้าเทียบประดิทินทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1868

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้เชิญเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายกเข้าไปเฝ้าถึงข้างที่พระบรรทม

มีพระราชดำรัสว่าเห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนั้น ท่านทั้ง 3 กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้วขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดา อย่าให้มีภัยอันตรายหรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอท่านทั้ง 3 จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด

ท่านทั้ง 3 เมื่อได้ฟังก็พากันร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยอาลัย

จึงดำรัสห้ามว่า อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ย่อมมีย่อมเป็นเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ผิดกันแต่ที่ตายก่อนและตายทีหลัง แต่ก็อยู่ในต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น บัดนี้ เมื่อกาละมาถึงแล้วจึงได้ลาท่านทั้งหลาย

แล้วมีพระราชดำรัสต่อไปว่า มีพระราชดำรัสจะตรัสสั่งด้วยราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสมาทานเบญจศีลเสียก่อน ครั้นทรงสมาทานศีลแล้ว ตรัสภาษาอังกฤษหลายองค์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า ที่พูดภาษาอังกฤษนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าสติสัมปชัญญะยังเป็นปกติ ถึงภาษาอื่นมิใช่ภาษาของตนก็ยังทรงจำได้ด้วยสติยังดีอยู่ท่านทั้งปวงจะได้สำคัญในข้อความที่จะสั่ง ว่ามิได้สั่งโดยฟั่นเฟือน

เมื่อตรัสประภาษาดังนี้แล้วจึงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า

ท่านทั้ง 3 กับพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้วขอให้ท่านทั้งปวงจงช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย ให้สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้พึ่ง อยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน

ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ให้เอาเป็นพระธุระรับฎีกาของราษฎรอันมีทุกข์ร้อนให้ร้องได้สะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงเป็นพระธุระรับฎีกามาแต่ก่อน

อนึ่ง ผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบพระบรมวงศ์ไปภายหน้านั้นให้ปรึกษากันเลือกดูแต่ที่สมควร จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ตาม พระเจ้าลูกยาเธอ หรือพระเจ้าหลานเธอก็ตาม เมื่อปรึกษาเห็นพ้องกันว่าพระองค์ใดมีปรีชาสามารถควรจะรักษาแผ่นดินได้ ก็จะยกพระองค์นั้นขึ้นจะได้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ให้พระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการและอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป

อย่าได้หันเหียนเอาโดยเห็นว่าจะชอบพระราชหฤทัยโดยประมาณเลย เอาแต่ความดีความเจริญของบ้านเมือง

มีพระราชดำรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็มิได้ตรัสสั่งถึงราชการแผ่นดินอีกต่อไป

 

บทบาท ท่านเจ้าคุณ

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็สั่งให้เจ้าพนักงานล้อมลงรักษาพระราชมณเฑียรทั้งข้างหน้าข้างใน แล้วสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมรวม 35 รูป มีกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์เป็นหัวหน้า

มานั่งเป็นประธานในที่ประชุมพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งประชุมกันอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม

พอเวลาเที่ยงคืนที่ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ลุกขึ้นนั่งคุกเข่าประสานมือหันหน้าไปทางเจ้านาย กล่าวในท่ามกลางประชุมว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อเวลายาม 1 บัดนี้แผ่นดินว่างอยู่ บัดนี้ท่านทั้งหลายทั้งปวงจะเห็นว่าเจ้านายพระองค์ใดสมควรจะเป็นที่พึ่งแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอาณาประชาราษฎรดับยุคเข็ญได้ก็ให้ว่าขึ้นในท่ามกลางประชุมนี้

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศวรวัชรินทร์ ซึ่งมีพระชามายุยิ่งกว่าพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง จึงเสด็จลุกคุกพระชงฆ์หันพระพักตร์ไปทางข้างตะวันออกประสานพระพักตร์ตรัสขึ้น

ขอให้ยก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน