ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
จันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2530
เข้าเวรตรวจจราจร
ประมาณบ่าย 4 โมงครึ่ง ไฟไหม้ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 หรือสาย 2 ผมแต่งเครื่องแบบไปร่วมช่วยเหลือ ไฟไหม้มากเป็นประวัติการณ์ เป็นครั้งที่ร้ายแรงครั้งหนึ่ง และเกิดในย่านใจกลางเมือง ย่านธุรกิจสำคัญ
ต้องอำนวยความสะดวกการจราจร เพราะรถติดอย่างหนักมาก เกิดสภาวะโกลาหล ทั้งสับสนวุ่นวายไปทั่ว บริเวณร้านค้า เจ้าของร้านต่างขนย้ายทรัพย์สินที่สามารถจะขนได้
มีการอพยพคนสูงอายุ ทั้งอุ้มทั้งจูงเด็กเล็กออกจากจุดที่เกิดเหตุไปยังที่ปลอดภัย
ทั้งรถทั้งคนที่มาดูเหตุการณ์ สร้างความสับสนอลหม่าน ทุกคนล้วนตกใจในเหตุการณ์ มีสีหน้าวิตกกับสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า
ไฟได้ทวีความรุนแรงโหมลุกไหม้อย่างรวดเร็วจนน่ากลัว และรถดับเพลิงทั้งหาดใหญ่ ไม่สามารถที่จะสกัดให้เพลิงสงบลงได้ ไฟจึงลุกลามไหม้ต่อไปยังอาคารใกล้เคียง เปลวไฟขึ้นสูง พร้อมควันสีดำพวยพุ่งขึ้นไปเต็มท้องฟ้า จนดำมืดปกคลุมทั่วหาดใหญ่
รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่สองข้างถนนเคลื่อนย้ายหนีไม่ทันจึงตกเป็นเหยื่อของเพลิงไหม้เข้าไปอีก
เสียงถังแก๊สระเบิดดังตลอดเวลา ทำให้ดูน่าตกใจ และเป็นการเติมเชื้อให้เพลิงโหมลุกไหม้และลามใหญ่โตมากยิ่งขึ้น จนข้ามไปไหม้อาคารบนถนนนิพัทธ์อุทิศ สายอื่น
เป็นเพลิงไหม้ที่พร้อมจะกวาดทุกสิ่งทุกอย่างให้พินาศย่อยยับหมดไป เหมือนเป็นไฟนรกประลัยกัลป์จริงๆ
มีการระดมรถดับเพลิงจากทุกแห่งในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาช่วย
ตำรวจจราจรจึงต้องพยายามหาช่องทางให้รถดับเพลิงเข้าไปถึงจุดเพลิงไหม้ให้ใกล้ที่สุด และพิจารณาว่ารถดับเพลิงที่มุ่งหน้ามาจากทั่วทุกสาระทิศ แต่ละคันจะให้เข้าไปทางไหน จึงจะทำให้การดับเพลิงมีประสิทธิภาพ การจราจรไม่ติดขัด
และเมื่อรถดับเพลิงคันที่ดับเพลิงจนน้ำหมดแล้ว จะต้องต่อท่อน้ำจากจุดไหนที่ใกล้ที่สุด ควรจะวิ่งเข้าทิศทางไหน
ทุกเวลาทุกนาทีผ่านไป ได้สร้างความเสียหายจากเพลิงนรกนี้ และยังไม่ทีท่าว่าจะสามารถควบคุมได้
ความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าของทุกคนที่ช่วยกันทำหน้าที่ของตนเองผ่านไปนานหลายชั่วโมง จนเข้าชั่วโมงที่ 6 พลังงานของแต่ละคนลดน้อยถอยลง จนต้องฮึดอีกครั้งเป็นพลังสุดท้ายจริงๆ แม้จะเหน็ดเหนื่อยมากแค่ไหน
แต่ที่สุดความเพียรพยายามของผู้คนที่ตั้งใจอย่างสุดกำลังก็ทำให้เพลิงสงบลง เมื่อเวลาเกือบ 5 ทุ่มของคืนนั้น
แต่ไฟก็เผาผลาญหาดใหญ่ไปมากมายนานเกือบ 8 ชั่วโมงพร้อมกับทิ้งเศษซากที่ดำเป็นตอตะโกเต็มพื้นที่เป็นวงกว้าง สร้างความอนาถใจให้กับผู้ที่พบเห็น
จนกระทั่ง 5 ทุ่มเศษ เป็นช่วงเวลาที่พลังในตัวผมเกือบมอดหมดเหลือน้อยเต็มที จึงกลับมาพัก
และผมมาได้รับข่าวร้ายยิ่งทำให้เหมือนคนหมดลานลงไปอีก
ข่าวนั้นเป็นเรื่องของเครื่องบินเดินอากาศไทย นำผู้โดยสารบินจากหาดใหญ่ ไปยังสนามบินจังหวัดภูเก็ต เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ เครื่องบินเกิดหมุนกลางอากาศและควงสว่านก่อนตกลงทะเล บริเวณอ่าวปอ ที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มีผู้เสียชีวิต ทั้งผู้โดยสาร และลูกเรือ รวม 83 คน ไม่มีผู้รอดชีวิต
นับว่าวันนี้เป็นวันโลกาวินาศของภาคใต้จริงๆ
อังคาร 13 ตุลาคม 2530
ในวันตำรวจปีนี้ ผมได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกแล้ว เป็นการเลื่อนยศครั้งที่ 2
และผมภาคภูมิใจเมื่อผู้บังคับบัญชาของผม พ.ต.ท.เขจร ศิริวรรณ สารวัตรใหญ่ ให้เกียรติประดับยศให้
จึงเป็นวันตำรวจที่พิเศษของผมอีกปีหนึ่ง
ปีที่แล้วเพื่อนหลายคนที่จบในรุ่นเดียวกัน ได้เลื่อนยศเป็น ร.ต.อ.ไปก่อนแล้ว เพราะได้ขึ้นเงินเดือน 2 ขั้นมาตลอดไม่มีพลาดเลยแม้แต่ปีเดียว
ผมได้เลื่อนยศในปีนี้ จึงถือว่าไม่ช้าเพราะในรุ่นยังเป็น ร.ต.ท.อีกหลายคน
ตัวชี้วัดการเลื่อนยศคือขั้นเงินเดือน ดังนั้น ผมจึงทุ่มเทสติปัญญา และพลังทุกอย่าง เสียทั้งแรงกายที่กลั่นออกมาเป็นหยาดเหงื่อให้กับการทำงานเพื่อแลกกับความก้าวหน้าของการรับราชการ ไม่ไปเอาเปรียบหรือไปเบียดเบียนใคร
สำหรับขั้นเงินเดือนสำคัญขนาดไหน สำคัญมากเพราะเป็นตัวชี้อนาคตของนายตำรวจได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นพิเศษที่มีการต่อสู้ปะทะกับ ผกค. บางคนได้ 5 ขั้นเงินเดือน หรือ 7 ขั้นเงินเดือน หรือมากกว่านั้น
จนกระทั่งสังคมตำรวจพูดกันในสมัยนั้นว่า นายตำรวจที่มีความก้าวหน้าเร็วกว่าใครนั้น เบื้องหลังการปะทะกับ ผกค.บางครั้งสร้างเรื่องขึ้นมา ขนาดลงทุน ดึงผิวหนังตัวเองแล้วใช้ปืนยิงเพื่อให้เป็นแผล แล้วบรรยายว่าเป็นบาดแผลจากการต่อสู้ และในที่สุดก็ได้ขั้นปะทะหลายขั้น ทำให้นำเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันไปไกลสุดกู่
ผมได้ยินตำรวจพูดและวิจารณ์กันมาตลอด ในยุคสมัยของผม แต่ผมเองก็ไม่กล้ายืนยันว่าจริงหรือไม่จริง
สุดท้ายนายตำรวจที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ตำรวจคนนั้นก็เกษียณยศ “พลตำรวจเอก”
ผมจึงไม่เชื่อเลยว่า ยศมากๆ สูงๆ มาจากฝีมือการทำงาน
และประเทศไทยก็พิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยแล้วว่า พลตำรวจเอก คือยศที่ได้มาจากระบบอุปถัมภ์แล้วยังถ่ายทอดส่งต่อมาถึงรุ่นลูกด้วย
เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2530 ตลอดทั้งปีเข้าเวรเป็นนายร้อยเวรสอบสวนคดีจราจรกว่า 70 ครั้ง หรือ 70 ผลัด ผลัดละ 24 ชั่วโมง และเข้าเวรตรวจจราจรจำนวนใกล้เคียงกัน รวมทั้งไปประจำจุดตรวจเขตปลอดอาวุธ
ผมได้รับคดีไว้ทำการสอบสวน รวมทั้งสิ้น 60 คดี
เป็นคดีอุบัติเหตุจราจร จำนวน 11 คดี มีผู้เสียชีวิต 4 คดี บาดเจ็บสาหัส 7 คดี เป็นสำนวนสั่งฟ้อง 7 คดี สั่งฟ้องผู้ต้องหาหลบหนี 2 คดี สั่งไม่ฟ้อง 2 คดี
ส่วนคดี พ.ร.บ.รถยนต์ และ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก มีจำนวน 49 คดี
สั่งฟ้องทุกคดี
คดีส่วนใหญ่ศาลจะสั่งปรับ มีโทษจำคุก แต่โทษจำจะรอลงอาญา 1 ปีบ้าง 2 ปีบ้าง และมีบางรายให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ
ส่วนคดีอุบัติเหตุบาดเจ็บไม่สาหัส หรือไม่มีบาดเจ็บ หรือมีแค่ทรัพย์สินเสียหาย สามารถเปรียบเทียบปรับในชั้นพนักงานสอบสวนได้ สภ.อ.หาดใหญ่ มีคดีเปรียบเทียบปรับคดีอาญากว่า 4,000 คดี ในแต่ละปี
มีเหตุรถชนเกิดขึ้น โดยเฉลี่ย 3 ครั้ง ต่อการเข้าเวร 1 ผลัด บางเวรมีรถชนกันมาก 8 ถึง 9 ราย ประเภทเข้าเวรแล้วว่างไม่มีรถชนกันเลยนั้น แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย
การไปที่เกิดเหตุคดีรถชน เมื่อรวมทั้งปีเฉพาะของผม ไม่ต่ำกว่า 200 ครั้ง เมื่ออยู่หาดใหญ่และเข้าเวรนานเป็นอาชีพถึง 4 ปี ผมจึงชำนาญพื้นที่หาดใหญ่ จดจำชื่อถนนได้ และรู้ว่าถนนนี้กว้างกี่เมตรแต่ละช่องจราจรกว้างกี่เมตร
หลายปีผ่านไปตอนหลังๆ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ แทบจะไม่ต้องวัดความกว้างของถนนเลย
จำได้ละเอียดแม้กระทั่งรุ่นรถจักรยานยนต์ของแต่ละยี่ห้อ จำหมายเลขทะเบียนรถได้ว่าถ้าหมายเลขระหว่างนี้จะต้องเป็นรุ่นนี้
ถนนสายสำคัญในหาดใหญ่ ถนนเพชรเกษม ถนนกาญจนวนิช ถนนจุตินุสรณ์ ถนนแสงศรี ถนนศุภสารรังสรรค์ ถนนประชาธิปัตย์ ถนนธรรมนูญวิถี ถนนศรีภูวนารถ ถนนราษฎร์อุทิศ ถนนราษฎร์ยินดี หรือ 30 เมตร ถนนรัถการ ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2, 3 ถนนเสน่หานุสรณ์ ถนนประธานอุทิศ ถนนนิยมรัฐ ถนนปรีดารมย์ ถนนผดุงภักดี ถนนตันรัตนากร ถนนไทยอาคาร ถนนชีอุทิศ ถนนกิมประดิษฐ์ ถนนแสงจันทร์ ถนนพูลสุวรรณ ถนนแสงอาทิตย์ ถนนมุสลิม ถนนลีพัฒนา ถนนสวนศิริ ถนนประชารักษ์ ถนนประชารมย์ ถนนดวงจันทร์ ถนนสามชัย ถนนมนตรี ถนนมนัสฤดี ถนนเชื่อมรัฐ ถนนชีวานุสรณ์ ถนนฉัยยากุล
ถนนเหล่านี้ผมไปวัดความกว้างมาหมดแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022