ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.facebook.com/bintokrit
สภาจำลอง
ของคนรุ่นใหม่ในลำปาง (1)
จุดเริ่มต้น
สภาจำลองคือการเลียนแบบลักษณะและสถานการณ์ของรัฐสภาออกมาเป็นกิจกรรมขนาดย่อม โดยผู้เข้าร่วมแต่ละคนเล่นบทบาทสมมุติตามตำแหน่งในสภา เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
สภาจำลองเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้พลเมืองได้มีความรู้ความเข้าใจทางการเมือง กิจการสภา และกระบวนการนิติบัญญัติมากขึ้นเท่านั้น
แต่ยังเป็นสร้างความตื่นรู้ทางการเมืองให้แก่ประชาชน ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตยอีกด้วย
น่าเสียดายที่กิจกรรมเช่นนี้กลับมีในประเทศไทยอยู่น้อยมาก ไม่ว่าจะในระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย ทำให้มีประชาชนน้อยคนที่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้
กิจกรรมสภาจำลองในปัจจุบันจึงยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากคนส่วนใหญ่ ทำให้อัตราส่วนของพลเมืองที่คุ้นเคยและมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองมีน้อยลงไปด้วย
ดังนั้น เมื่อถามคนไทยส่วนใหญ่ว่ารู้จักมักคุ้นกับการเมืองผ่านกิจกรรมอะไรบ้าง ก็มักพบว่าเป็นประสบการณ์ทางอ้อม หรือไม่ก็อยู่วงนอก หรือไม่ก็แสดงเจตจำนงทางการเมืองเป็นครั้งคราวแบบเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
เช่น การแสดงความเห็นใต้โพสต์ข่าวทางโซเชียลมีเดีย หรือการไปออกเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น
อันที่จริงกิจกรรมสภาจำลองควรเป็นกิจกรรมพื้นฐานในสถานศึกษามาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นอย่างน้อย หรือถ้าจะให้ดีควรมีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การเลียนแบบบุคลิกของนักการเมืองที่ปรากฏตามสื่อ หรือเจริญรอยตามลีลาวาทะโวหารของเหล่าผู้แทนในสภา
ทว่า ควรให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องของกระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และการทำความเข้าใจประเด็นข้อถกเถียงต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อันเป็นปัญหาสาธารณะที่สังคมจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อตัดสินใจร่วมกัน
เช่น โทษประหารชีวิต การการุณยฆาต กาสิโน การค้าประเวณี นโยบายกัญชา นโยบายประชานิยม การทำแท้ง เป็นต้น
กระบวนการคิดและสื่อสารเพื่อถกเถียงอันนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันของผู้คนในสังคมคือพื้นฐานของรัฐสภา หากกิจกรรมเช่นนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปกติในชีวิตประจำวันจนผู้คนเคยชินก็จะทำให้กิจกรรมในสภามีคุณภาพไปด้วย เพราะสมาชิกรัฐสภาคือผู้แทนของประชาชน
หากประชาชนมีศักยภาพในการใช้เหตุผลและแสดงออกทางการเมืองได้ดี วันหนึ่งเมื่อเขาเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนในสภา สภาก็ย่อมมีคุณภาพไปด้วย
การพัฒนาการเมืองในสังคมประชาธิปไตยจึงต้องมีอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน
ไม่ใช่เป็นแค่กิจกรรมของคนที่ประกอบอาชีพเป็นนักการเมืองเท่านั้น
ทุกวันนี้กิจกรรมในสถานศึกษาที่สอดคล้องกับสภาจำลองที่สุดก็คือการโต้วาที
แต่แทนที่การโต้วาทีในประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการนำเสนอลำดับเหตุผลและโต้แย้งกันด้วยตรรกะเป็นหลัก ก็กลับมุ่งเน้นอยู่ที่ลีลา วาทะ โวหาร เสียมากกว่า
คือแข่งกันตีฝีปากและเชือดเฉือนด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยอารมณ์ต่างๆ นานา กระทั่งกลบเนื้อหาสำคัญไปหมด
ผู้ชนะการโต้วาทีในหลายเวทีคือผู้ที่มีฝีปากกล้า อารมณ์ล้น แต่อาจใช้เหตุผลบกพร่องมากมาย ทว่า สามารถเอาชนะใจกรรมการและผู้ชมได้
ถ้ากิจกรรมโต้วาทีเป็นพื้นฐานของสภาจำลองแล้วไซร้ กิจกรรมโต้วาทีที่มีแต่เพียงโวหารก็ย่อมนำพาไปสู่กิจกรรมสภาจำลองที่มีแต่เพียงลีลาวาทะเช่นกัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ทำให้ผู้คนเคยชินกับบุคลิกท่าทีเช่นนี้ และติดเป็นนิสัยไปจนถึงเวลาที่เข้าอยู่ในสภาจริงๆ
ตัวอย่างที่มองเห็นได้ก็คือเมื่อเปรียบเทียบกิจกรรมเหล่านี้ระหว่างไทยกับอังกฤษ จะเห็นได้ว่าในอังกฤษการโต้วาทีเป็นพื้นฐานของการถกเถียงทางตรรกะที่แพร่หลาย บางเวทีมีชื่อเสียงในระดับโลก
อย่างเช่น การดีเบตของ Oxford Union ที่จัดขึ้นเป็นประจำในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งผลิตนักการเมืองชั้นนำมาแล้วมากมาย
ต่อมาเมื่อประเด็นสาธารณะต่างๆ ขยับเข้าไปอยู่ในรัฐสภาแล้ว กระบวนการในสภาก็สอดคล้องไปกับลักษณะของการโต้วาที คือมีรัฐบาลเป็นฝ่ายเสนอแล้วต่อสู้กันทางนโยบายกับฝ่ายค้านผ่านการใช้เหตุผลเป็นหลัก
ในขณะที่กิจกรรมโต้วาทีของไทยไม่ได้มีมากนักและเน้นไปที่ลีลาฝีปากเสียมากกว่า
ส่วนกิจกรรมสภาจำลองก็แทบไม่มีการจัดอยู่ในสถานศึกษาของไทยเลย แม้กระทั่งในคณะหรือภาควิชาที่มีหลักสูตรทางรัฐศาสตร์
สภาจำลองในประเทศไทยที่คนคุ้นเคยที่สุดน่าจะเป็น “สภาโจ๊ก” คือการแสดงตลกด้วยรูปแบบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแม้จะให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม แต่ก็ไม่ได้ให้เนื้อหาความรู้ทางการเมืองการปกครองมากนัก
รูปแบบของสภาและนักการเมืองที่อยู่ในสภาโจ๊กก็เป็นเพียงการเลียนแบบบุคลิกและการพูดจาปราศรัยแบบนักการเมืองไทยเสียมากกว่าแสดงตรรกะเหตุผลสนับสนุนและหักล้างเพื่อนำไปสู่บทสรุปที่เป็นคำตอบที่ดีที่สุด
เมื่อพิจารณาในแง่นี้สังคมไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างสภาจำลองแบบเน้นเนื้อหาสาระให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่โรงเรียนไปถึงมหาวิทยาลัย
ผมเองในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบคนหนึ่งของหลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (Philosophy Politics and Economics หรือ PPE) ที่ศูนย์ลำปาง วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เลยพยายามจัดกิจกรรมสภาจำลองขึ้นกับนักศึกษาในหลักสูตร รวมทั้งนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในลำปางด้วย ตามพันธกิจหนึ่งของหลักสูตรในการบริการวิชาการและพัฒนารากฐานของสังคมประชาธิปไตย
โดยเริ่มจัดกันวันแรกที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขลางค์นคร ในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้ชื่อ “โครงการบริการวิชาการบูรณาการศาสตร์แห่งสหวิทยาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)” ภายใต้กิจกรรมสภาจำลองและเสวนาในประเด็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับรัฐสภาไทย”
และจัดรอบที่สองในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโครงการนี้ก็คือการทำสภาจำลองสองแบบคือทั้งแบบรัฐสภาอังกฤษและรัฐสภาไทย สภาอังกฤษจะทำให้เยาวชนได้สัมผัสการอภิปรายสนับสนุนและโต้ตอบแบบฉับพลันทันทีทันใด ซึ่งต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบ ตลอดจนศักยภาพในการใช้เหตุผลอย่างสูง และเป็นเวทีของการขับเคี่ยวทางปัญญามากกว่าจะเน้นเพียงแค่รูปแบบพิธีกรรมเท่านั้น
ส่วนสภาไทยจะทำให้เยาวชนมีความคุ้นเคยกับกระบวนการนิติบัญญัติซึ่งพวกเขาอาจมีโอกาสได้ทำหน้าที่นี้จริงๆ ในอนาคตข้างหน้า รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมืองที่มีชีวิตชีวามากกว่าหมกตัวอ่านตำราแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อนำไปสอบ
ผมนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังโดยหวังว่ากิจกรรมเช่นนี้จะแพร่หลายและมีขึ้นในที่อื่นๆ ของไทยด้วย
เพราะสังคมประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนไม่ได้หากประชาชนขาดความเป็น “active citizen” นั่นคือการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
สำหรับผลลัพธ์ของกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จหรือไม่ คนรุ่นใหม่ในลำปางมีโลกทัศน์ บุคลิก และลักษณะการแสดงออกทางการเมืองอย่างไร ท่าทีของเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเช่นใดบ้าง
สัปดาห์หน้าจะมาเล่าให้ฟัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022