‘โตเกียว’ กับฉายาใหม่ เมืองหลวงใหม่ของ ‘เซ็กซ์ ทัวริสม์’

กาลครั้งหนึ่ง กรุงเทพฯ และ/หรือ พัทยา เคยถูกต่างชาติขนานนามให้ว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งเซ็กซ์”

ไม่รู้เหมือนกันว่า ฉายานามที่ว่านี้ หดหายไปเมื่อใด หรือยังคงอยู่คู่กับเมืองหลวงของประเทศไทยเราอยู่อีกหรือไม่

ในกาลครั้งนั้น บรรดา “แขกต่างชาติ” ที่หลั่งไหลกันเข้ามาใช้บริการทางเพศ จากบรรดาผู้ให้บริการในเมืองไทย ก็คือ ชายชาวญี่ปุ่น

นี่เองที่ทำให้ถึงกับอึ้ง เมื่อเจอพาดหัวของ เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ เมื่อ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ผู้สื่อข่าวอย่าง “จูเลียน รายออลล์” ระบุไว้ชัดเจน “Welcome to Tokyo : Asia’s new sex tourism capital?” ยินดีต้อนรับสู่โตเกียว : เมืองหลวงใหม่แห่งเซ็กซ์ ทัวริสม์ ของเอเชีย

ทำไมสถานการณ์ในโตเกียว (เป็นอย่างน้อย) ถึงได้พลิกผันกลับกลายเช่นนี้

 

จูเลียนบอกไว้ในข้อเขียนว่า จริงอยู่ที่ชายชาวญี่ปุ่นเคยทำเช่นนั้น แต่นั่นเป็นเรื่องราวในยุคที่เป็น “ปีทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น” ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เมื่อต่างชาติมากหน้าหลายตา พากันแห่แหนมายังโตเกียว เพื่อใช้บริการ “เซ็กซ์ ทัวริสม์” โดยอาศัยประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนที่แสนถูกและจำนวนคนยากจนที่เพิ่มมากขึ้นที่นี่

จูเลียนได้รับคำบอกจาก โยชิฮิเดะ ทานากะ เลขาธิการสภาอำนวยการเพื่อการคุ้มครองเยาวชน (the Liaison Council Protecting Youths – Seiboren) ที่ระบุอย่างตรงไปตรงมามากว่า “ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศยากจนไปแล้ว”

จูเลียนบรรยายไว้ว่า สำนักงานของไซโบเรน ในโตเกียว อยู่ใกล้ๆ กับ “โอคุโบะ ปาร์ก” สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ซึ่งทำไปทำมาก็ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นแหล่งค้าประเวณีสำคัญ ที่บรรดาหญิงสาวพากันมาเตร็ดเตร่ รอคอย “ลูกค้า” กระทั่งก่อนที่ตะวันจะตกดินด้วยซ้ำไป

โยชิฮิเดะ ทานากะ บอกว่า หน่วยงานของตนสังเกตพบว่า “ลูกค้า” ที่เป็นคนต่างชาติ เพิ่มจำนวนมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น ในทันทีที่มีการยกเลิกมาตรการห้ามเดินทางเข้าประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

“เราพบเห็นชายชาวต่างชาติเพิ่มจำนวนมากขึ้นมาก มาจากหลายๆ ประเทศ มีทั้งที่เป็นคนผิวขาว คนผิวดำ แล้วก็ชาวเอเชีย แต่ที่มีสัดส่วนมากที่สุด เป็นชายชาวจีน” ทานากะระบุ

เขาบอกด้วยว่า การเพิ่มจำนวนขึ้นของ “ลูกค้าต่างชาติ” ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นควบคู่กับการเกิดสถานการณ์ “ยากลำบาก” ของวัยรุ่นและผู้หญิงญี่ปุ่นวัยยี่สิบต้นๆ จนต้องหันเข้าหาและพึ่งพา “อุตสาหกรรมทางเพศ” เพื่อยังชีพ และเอาตัวรอด

แต่สิ่งที่น่าตกใจ ซึ่งเกิดควบคู่กันไปด้วยก็คือ “ปริมาณของการใช้ความรุนแรง” ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนน่าตระหนก

 

กรณีตัวอย่างที่จูเลียนนำมาบอกเล่าไว้ก็คือ กรณีของ “รูอา” (ชื่อสมมุติ) หญิงสาววัย 19 ปีที่หันมาให้บริการทางเพศ แบบผิดกฎหมาย ที่สวนสาธารณะแห่งนี้ เธอเล่าว่า ออกจากบ้านมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้และมายังโอคุโบะ ปาร์ก เพื่อหางานทำด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านกาแฟ

สถานการณ์เริ่มยุ่งยาก เมื่อเธอติดค้างเงินทองกับเจ้าของที่พักที่อาศัยอยู่ด้วย

หนักๆ เข้าก็ต้องตัดสินใจหาทางหาเงินเพิ่มเติมซึ่งทำให้เธอ “เริ่มมายังสวนธารณะแห่งนี้เมื่อเดือนเมษายนต้นปีที่ผ่านมา”

คำบอกเล่าต่อมาของเธอชวนสลดใจอย่างยิ่ง

“ปกติแล้ว ฉันรับแขกวันละ 5 คน แต่พอถึงช่วงสุดสัปดาห์ ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองเท่า” ข้อเท็จจริงจากคำบอกของเธอสอดคล้องกับของทานากะ ในแง่ที่ว่า ผู้ชายที่มาใช้บริการมีหลากหลายมาก แต่ราวๆ ครึ่งหนึ่งเป็นคนต่างชาติ

“มีรายหนึ่งเป็นคนอังกฤษ แต่ที่มาเป็นประจำเป็นคนจากไต้หวัน จีน แล้วก็ฮ่องกง”

 

จากคำบอกเล่า ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ แม้ว่าจะยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่ก็ตาม แต่กระนั้น เหตุก่อความรุนแรงก็เกิดขึ้นและเพิ่มจำนวนขึ้นมากอย่างผิดสังเกตเช่นกัน และส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการ “บันดาลโทสะ” ของลูกค้าชายในระหว่างการต่อรองราคากันเป็นหลัก

“เพื่อนฉันคนหนึ่งเพิ่งถูกชายจีนรายหนึ่งทำร้ายเอาเมื่อเร็วๆ นี้”

ในทัศนะของผู้เขียน เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง นั่นคือการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้หญิงเหล่านี้ ในทางหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากความเข้าใจของ “ลูกค้า” ที่ว่า เมื่อจ่ายเงินซื้อบริการแล้วเขาก็เป็น “เจ้าของ” ผู้หญิงแม้จะชั่วคราวก็ตาม

ในอีกทางหนึ่งนั้นเกิดจากความรู้สึก “ย่ามใจ” ที่รู้ว่าสามารถ “ทำยังไงก็ได้” กับสาวๆ เหล่านี้ เพราะถึงยังไงเรื่องก็จะไม่ไปถึงหูตำรวจอยู่ดี เนื่องจากสิ่งที่พวกเธอทำอยู่นั้นผิดกฎหมาย

ทานากะยืนยันข้อมูลที่รูอาบอกเล่า เขาบอกว่ามีตัวอย่างหลายกรณีที่ผู้หญิงถอนฟ้องเพราะไม่ต้องการตกเป็นจำเลยไปด้วยในข้อหาค้าประเวณี เขาทั้งผิดหวัง ทั้งคับข้องใจกับผู้รักษากฎหมาย

ทานากะเชื่อว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ สะท้อนถึงความเร่งด่วน ที่สังคมต้องให้ความสนใจ ในชะตากรรมของหญิงสาวเหล่านี้

ไม่เช่นนั้น “ผมคิดว่า อีกไม่ช้าไม่นานก็คงมีใครถูกฆ่าตายสักคนแน่”