ลอยกระทงจีน-ลอยกระทงไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดียและจีนต่างมีพิธีกรรมที่เราเรียกกันว่า “ลอยกระทง” หากเพียงต่างรายละเอียดและความเชื่อกันไปบ้าง จึงควรแก่การศึกษา ค้นหารากเหง้า และควรนับเป็นประเพณีร่วมที่หลากความหมายมีคุณค่า

งานด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีว่าด้วยพิธีลอยกระทงของไทย คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ และอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ทำไว้มากมายแล้ว ขอแนะนำให้ท่านที่สนใจได้อ่าน แม้จะไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านเชื่อหรือเรียนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ก็อย่าได้เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะทั้งสองท่านก็เสนอไว้หนักแน่นว่า มิได้ประสงค์ให้ขัดแย้งกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจ ใครใคร่ทำก็ทำต่อไป เพียงแต่ข้อเสนอทางวิชาการก็ควรจะต้องมีให้เป็นที่รับรู้ด้วย

ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ และจากหลักฐานหนักแน่นที่ท่านได้เสนอมา จึงขอเชื่อตามทั้งสองท่านไว้ก่อน

 

ช่วงนี้ผมสนใจเรื่องจีนๆ ดังที่ทุกท่านทราบ และจีนมีลอยกระทงซึ่งมีวันตรงกับของเรา จึงอยากลองพิเคราะห์ความสัมพันธ์ของประเพณีลอยกระทงของจีนกับไทยเราดู

ส่วนเรื่องอินเดียกับลอยกระทงเคยเขียนไว้นานหลายปีแล้ว ท่านใดสนใจก็ค้นหาจากหนังสือ ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ? (สำนักพิมพ์มติชนมีจำหน่ายแบบดิจิทัล) ของผมได้ครับ

มูลเหตุหนึ่งที่สนใจการลอยกระทงของจีนก็เพราะ ได้อ่านข้อเขียนของท่านอาจารย์ถาวร สิกขโกศล จากหนังสือเรื่อง “เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้” ท่านกล่าวถึงเทศกาลในวันเพ็ญเดือนสิบของจีนซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของเรา ว่า “เทศกาลเซี่ยหยวนของจีนจึงตรงกับเทศกาลลอยกระทงของไทย จุดมุ่งหมายก็เพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งท้องน้ำเหมือนกัน เทศกาลทั้งสองนี้จะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เป็นเรื่องน่าศึกษาค้นคว้าต่อไป”

ผมจึงอยากลองคิดดูว่า ประเพณีลอยกระทงของเรานั้น นอกจากจะมาจากความเชื่อผีพื้นเมือง ที่ค่อยๆ รับเอาคำอธิบายจากพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์เข้ามา บวกตำนานประดิษฐ์ใหม่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็อาจมีส่วนผสมจากประเพณีจีน ซึ่งเผลอๆ อาจเป็นที่มาหรือส่วนสำคัญที่สุดด้วยซ้ำ

จะขอกล่าวถึงประเพณีลอยกระทงซึ่งที่จริงควรเรียกว่า “ลอยโคมประทีป” ของจีนก่อน โดยผมได้รับความรู้หลายอย่างจาก อ.ณัฐนนท์ ปานคง และจากหนังสือของท่านอาจารย์ถาวร จึงขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

จีนมีประเพณีลอยโคมประทีปหรือโคมน้ำ (ภาษาฮกเกี้ยนเรียกจุ้ยเต็ง) กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างน้อยสมัยราชวงศ์ถังคือนับพันปีมาแล้ว โคมเหล่านี้ทำด้วยกระดาษ ใช้โครงไม้ทำเป็นรูปร่างต่างๆ และจุดประทีปไว้ภายใน

ที่จริงต้องกล่าวว่าจีนมีการใช้โคมประทีปในประเพณีพิธีกรรมอยู่สามลักษณะ คือ โคมลอยฟ้า โคมแขวนและโคมลอยน้ำ ซึ่งสัมพันธ์กับคติความเชื่อเต๋าก่อนจะรับเอาคติพุทธศาสนาเข้ามาผสม

เทศกาลที่มีการใช้โคมโดยเฉพาะ มีอยู่สามเทศกาลสำคัญซึ่งเกี่ยวพันกับเทพเจ้า “ตรีเสนาธิราช” (ซำก๊วนไต่เต่ ในภาษาฮกเกี้ยน) เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าชั้นสูงปกครองสามแดน คือปกครองฟ้าเรียกว่า นภเสนาธิราช (เทียนก๊วนไต่เต่), ปกครองดินเรียกว่า ธรณีเสนาธิราช (เต่ก๊วนไต่เต่) และปกครองน้ำเรียกว่า สาครเสนาธิราช (ซุ่ยก๊วนไต่เต่)

ความเชื่อเรื่องการบูชาฟ้า ดิน น้ำ เป็นความเชื่อเก่าแก่ของจีน แต่โดยความนิยมของชาวบ้าน จึงได้สร้างเทวตำนานเทพเป็นรูปเป็นตัวตนมีเรื่องราวขึ้นมาภายหลัง โดยเทพทั้งสามองค์นี้มีวันฉลองเทวสมภพต่างกัน

องค์แรกฉลองในวันเพ็ญเดือนอ้ายจีนคือเพ็ญแรกของปี ด้วยเพราะเป็นเทพฟ้า จึงแขวนโคมประทีปสูงบูชากันทั่วไป กลายเป็นเทศกาลโคมไฟที่เราร็จักกันในทุกวันนี้ เชื่อกันว่า ท่านเป็นเทพผู้ประทานโชคลาภวาสนา (เพราะเป็นฤดูใบไม้ผลิต้นปี คนต้องการโชคลาภสำหรับเริ่มต้นปีใหม่)

ทั้งนี้ ยังมีการลอยโคมขึ้นฟ้าบูชาเทียนก๊วนอย่างเดียวกับโคมลอยในภาคเหนือของเรา ซึ่งเห็นได้น้อยในปัจจุบัน โดยจะมีการเขียนคำขอพรและชื่อผู้ขอพรไว้บนโคมนั้นด้วย และยังมีการลอยกันในวันไหว้พระจันทร์ นัยว่าส่งไปสักการะพระจันทร์

โคมลอยเช่นนี้บางทีก็เรียกว่า “ขงเบ้งเต็ง” หรือโคมขงเบ้ง เพราะเชื่อกันว่า ขงเบ้งเป็นผู้แรกที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใช้ในทางกลยุทธ์ จนกลายมาเป็นโคมขอพร

 

องค์ที่สอง ธรณีเสนาธิราชสมภพในวันเพ็ญเดือนเจ็ดจีน หรือเพ็ญกลางปี (ตงหงวน) ตรงกับเทศกาลสารทจีน

เชื่อว่าท่านเป็นเทพผู้อภัยบาปโทษ ดวงวิญญาณจึงได้รับการอภัยกลับคืนสู่บ้าน

ในช่วงนี้จะมีการตามประทีปบนถนนหนทาง และการลอยโคมประทีปที่ทำจากกระดาษเป็นรูปต่างๆ เช่น ดอกบัว บ้าน ฯลฯ ลงในแม่น้ำลำคลอง

นอกจากจะบูชาเต่ก๊วนแล้ว ยังเป็นการส่องสว่างให้ดวงวิญญาณสามารถเดินทางกลับมาบ้านและเดินทางกลับไปสู่สุคติสัมปรายภพได้

 

องค์สุดท้าย สาครเสนาธิราชหรือเทพผู้ปกครองน้ำ ฉลองเทวสมภพในวันเพ็ญเดือนสิบจีน (ฮาหงวน) ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองตามปฏิทินไทยหรือวันลอยกระทงพอดี เนื่องด้วยเป็นสาครเสนาธิราช จึงลอยโคมประทีปตามแหล่งน้ำเป็นการบูชาและขอพร

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่จะมีพิธี “ลอยเรือส่งโรค” โดยจะทำเรือและเชิญ “เทพเจ้าโรคระบาด” หรือเทพกลุ่มซ่ามฮู้อ๋องเอี๋ยลงเรือขนาดเล็กที่มักทำด้วยกระดาษและลอยไป เนื่องจากเดือนสิบจีนเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้คนเจ็บป่วยกันมากเพราะอากาศเปลี่ยน และในทางโหราศาสตร์ ฤดูหนาว (ตัง) มีธาตุน้ำครอง โรคภัยไข้เจ็บมักมาทางน้ำ ดังนั้น จึงต้องส่งโรคหรือเคราะห์ไป และถือกันว่า พระสาครเสนาธิราชนั้น ทรงคุณแห่งการขจัดปัดเป่าโทษภัยอีกด้วย

ภายหลังการลอยโคมประทีปลงน้ำในเดือนสิบจีนทำกันน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่การลอยโคมประทีปในเดือนเจ็ดยังคงได้รับความนิยมมากกว่า อาจด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับคติวิญญาณและบุญกุศลทางพุทธศาสนา จึงยังคงถือปฏิบัติกันโดยเฉพาะในจีนตอนใต้

 

ดังนั้น โคมประทีปที่ลอยลงน้ำตามคติจีน จึงสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท อย่างแรกถือเป็นโคมที่เกี่ยวข้องกับ “คนเป็น” คือเป็นการบูชาเทพ สมาลาโทษและขอพรต่างๆ แก่คนที่ยังอยู่เช่นที่ปฏิบัติกันในเดือนสิบจีน บูชาพระสาครเสนาธิราชและบรรดาเทพทางน้ำต่างๆ

อีกประเภทเป็นการลอยโคมประทีปที่เกี่ยวกับคนตาย คือลอยโคมเพื่อบอกกล่าวและเชิญดวงวิญญานที่ตายทางน้ำให้มาร่วมรับบุญกุศลจากพิธีทานอุทิศต่างๆ เช่น งานสารทจีนในเดือนเจ็ด อุลัมพนะมหาสังฆทาน พ้อต่อ งานโยคตันตระเปรตพลี ฯลฯ รวมทั้งเป็นแสงสว่างส่องให้ผู้ตายไปสู่สุคติสัมปรายภพหรือแดนสุขาวดี

ทั้งนี้ หากมีพิธีกรรมอุทิศกุศลทางพุทธศาสนาข้างต้น แม้จะมิได้กระทำในเดือนเจ็ดก็จะต้องมีการลอยโคมประทีปด้วยเสมอ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะขาดไปมิได้ เช่นในเทศกาลกินเจ เดือนเก้าจีน บางโรงเจก็จัดให้มีพิธีอุทิศกุศลนอกเหนือจากพิธีเซ่นไหว้ จึงจะต้องลอยโคมประทีปกันประมาณวันที่ห้าหรือหกของเทศกาล

ปัจจุบัน การลอยโคมประทีปในงานพิธีจีนของเมืองไทย หลายแห่งได้อนุวัตตามวัฒนธรรมไทยไปแล้ว เช่น ใช้กระทงที่ประดิษฐ์จากใบตองแบบไทยแทนโคมกระดาษอย่างจีน

 

คนจีนก็เชื่อเหมือนคนไทยละครับว่าแม่น้ำลำคลองหรือทะเลนั้นเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับภพภูมิอื่น จึงให้ความสำคัญกับพิธีเกี่ยวกับน้ำ พิธีอุทิศกุศลที่มีลักษณะเป็นธรรมสันนิบาตหรืองานชุมนุมทางศาสนาถือว่าต้องปกโปรดดวงวิญญาณทั้งทางน้ำและทางบกให้ครบถ้วน จึงเรียกกันว่า “สาครปฐพีธรรมสันนิบาต” (ซุ่ยล็อกหวดโห่ย)

อีกทั้งเชื่อว่าการตายในน้ำก่อให้เกิดลักษณะบางอย่างที่ต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ตายทางน้ำมักจะตายกันทีละมากๆ เช่น เรือล่ม และทุกข์ทรมานก่อนตาย รวมทั้งเน่าเปื่อยเปลี่ยนรูปร่าง มีธาตุขันธ์แปลกไป และตายในอีกแดนที่มีพลัง “หยิน” มาก (หยิน คือ มืดดำ น้ำ ผี ฯลฯ) เกิดเป็น “พราย” ไม่ใช่ดวงจิตวิญญาณธรรมดา จีนจึงเรียกผีตายในน้ำว่า จุ้ยสีน คือพรายน้ำ (คำว่าสีนนี้เป็นคำเดียวกับ เทพ หรืออมนุษย์ในระดับต่างๆ) มิใช่จุ้ยกุ้ยหรือผีน้ำ

นอกเหนือจากความสอดคล้องตรงกันในเรื่องวันเวลา และความเชื่อที่เกี่ยวกับเทศกาลลอยกระทงของเรากับจีน ไม่ว่าบูชาพระธรณีเสนาธิราชหรือแผนดิน หรือพระสาครเสนาธิราชหรือน้ำ การอุทิศแก่ผีบรรพชนหรือส่งเคราะห์โรคภัยก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่ชวนให้คิดถึงความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับไทย ก็เพราะจดหมายเหตุของราชฑูตฝรั่งเศส คือ ลา ลูแบร์ ที่เข้ามาในสมัยอยุธยานั้น บันทึกไว้ว่า

“เราได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน และมีกระดาษสีต่างๆ ซึ่งประดิษฐ์คิดทำกันขึ้นประดับประดาเครื่องลอยประทีปนั้น เพิ่มให้แสงสีงดงามขึ้นอีก”

ชาวอยุธยาโดยเฉพาะชนชั้นสูงนั้น สนิทชิดเชื้อกับจีนมากทีเดียว อีกทั้งเห็นได้ว่าเขาลอยโคมประทีปกระดาษอย่างจีนนะครับ

ไม่ใช่กระทงใบตองดอกบัวของนางนพมาศที่นักปราชญ์ท่านบอกว่า น่าจะเพิ่งมีมาในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง •