ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
ใครที่เคยใช้เวลาอยู่กับเด็กเจเนอเรชั่น Z น่าจะเคยได้เห็นพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากคนเจเนอเรชั่นก่อนเป็นอย่างมาก
นั่นก็คือการไม่เสิร์ชหาข้อมูลโดยใช้ Google เป็นหลักแต่เลือกที่จะเสิร์ชหาข้อมูลที่ต้องการบน TikTok ก่อน
จากการค้นหาข้อมูลแบบเร็วๆ (แน่นอนว่าฉันเสิร์ชด้วย Google) ก็พบว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งาน TikTok เป็นกลุ่มคนเจน Z หรือคนที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 12-27 ปี
ในขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมอื่นๆ สำหรับคนในวัยนี้ก็ยังมี Instagram หรือ X ที่ตามมาแบบไม่ทิ้งห่างนัก
ในขณะที่ Facebook นับเป็นโซเชียลมีเดียลำดับท้ายๆ ที่คนเจเนอเรชั่นนี้ให้ความสนใจเลยทีเดียว
ถ้าคุณถามเด็กเจน Z สักคนว่ามีร้านอาหารร้านไหนน่าสนใจบ้างในช่วงนี้ หรือมีคลิปอะไรที่เป็นเทรนด์ที่คนกำลังพูดถึงมากๆ เด็กเจน Z อาจจะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา กดเข้าแอป TikTok เพื่อค้นหาคำตอบให้อย่างคล่องแคล่วทันที
ทักษะการค้นหาด้วย TikTok ของเด็กในวัยนี้แทบจะไม่แตกต่างกับคนเจเนอเรชั่นก่อนหน้าที่ผ่านการใช้ Google มานานหลายปีและสามารถหาสิ่งที่ต้องการได้ว่องไวตรงจุด
ถึงแม้ว่าเทรนด์ร้านอาหาร สถานที่เก๋ๆ หรือคลิปดังๆ จะเป็นสิ่งที่คนนิยมค้นหากันเยอะ แต่ผู้ใช้งาน Gen Z ยังยกระดับการใช้ TikTok ขึ้นไปอีกขั้น เพราะน้องๆ เริ่มใช้ TikTok ในการค้นหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกสถานที่เรียนต่อกันแล้ว
หากคุณผู้อ่านอยู่ในวัยที่ออกจากระบบการศึกษามานานแล้ว ลองนึกย้อนไปดูนะคะว่าเราใช้วิธีไหนกันบ้างตอนที่เราเลือกสถานศึกษา
ยุคก่อนอินเตอร์เน็ตก็น่าจะต้องเป็นการอ่านจากโบรชัวร์กระดาษที่ได้รับแจกมา หรือยุคที่มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้งานทั่วไปแล้วเราก็น่าจะต้องเข้าไปที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสถานศึกษา กดเบราซ์ดูไปเรื่อยๆ แล้วจินตนาการว่าถ้าตัวเราเองเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจะเป็นอย่างไร
Business Insider รายงานว่าผู้ใช้งานในวัยเจเนอเรชั่น Z ใช้ TikTok หาข้อมูลสถานที่เรียนต่อ เพราะ TikTok มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เป็นนักศึกษาจำนวนมากจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกซึ่งต่างคนต่างก็ทำคลิปวิดีโอเกี่ยวกับชีวิตการเรียนของตัวเองจนมีวิดีโอแนวนี้ให้ดูมากมายนับไม่ถ้วน
บางคนทำวิดีโอถ่ายทอดตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าในหอพักโรงเรียน กินข้าวที่โรงอาหาร ไปจนถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ในรั้วสถานศึกษา เรียกว่าอยากดูซอกมุมไหนของโรงเรียนอะไรก็มีให้เสิร์ชหาได้ทั้งหมดบน TikTok
แทนที่จะเปิดเว็บไซต์โรงเรียนแล้วคลิกดูวิดีโอแนะนำโรงเรียน หรือไปเดินเยี่ยมชมจุดต่างๆ ของโรงเรียนด้วยตัวเอง เด็กเจเนอเรชั่น Z แค่เปิดคลิป TikTok ก็เหมือนกับได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ในโรงเรียนแห่งนั้นครบถ้วนแล้ว
บน TikTok มีคลิปวิดีโอที่ติดแฮชแท็ก college life หรือชีวิตมหาวิทยาลัย มากกว่า 2.3 ล้านคลิป กวาดยอดวิวไปได้มากกว่า 30,000 ล้านวิว นักศึกษาบางคนเริ่มทำคลิปกันตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก้าวเท้าเข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว
BI ยกตัวอย่าง Helaine Zhao นักศึกษาฮาร์วาร์ดที่ทำคลิปตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ใส่คอนแท็กเลนส์ เลือกชุด แต่งหน้า ไปออกกำลังกาย กินอาหารเช้าและโชว์ให้เห็นถึงชีวิตการเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดทุกแง่มุม จนเธอมีสปอนเซอร์วิดีโอเป็นแบรนด์ดังๆ อย่างเช่นแอพพลิเคชั่นช่วยจดโน้ตที่เหมาะสำหรับการใช้อ่านหนังสือสอบ เป็นต้น
ในขณะที่ครีเอเตอร์อีกหลายคนก็เลือกทำคลิปให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตอบคำถามน้องๆ ที่ถามเกี่ยวกับการสอบเข้าหรือขอทุนการศึกษา
คลิปวิดีโอ TikTok ที่บอกเล่าชีวิตการเป็นนักศึกษาได้รับความนิยมจากเด็กเจน Z เพราะเป็นคลิปที่ถ่ายทอดชีวิตการเรียนผ่านประสบการณ์ของนักศึกษาจริงๆ และเป็นการถ่ายทอดแบบบุคคลที่หนึ่ง ทำให้ผู้ชมรู้สึกเข้าถึงได้จริง
หากดูแค่สิ่งที่มหาวิทยาลัยนำเสนอเราก็อาจจะได้เห็นแต่ด้านดีๆ ได้เห็นอาคารเรียนสวยๆ สวนขนาดใหญ่ อาจารย์นักเรียนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
แต่ถ้าดูจากคลิปบน TikTok ก็จะได้เห็นอีกด้านที่มหาวิทยาลัยไม่เคยนำออกมาประชาสัมพันธ์ อย่างเช่น การได้เห็นบรรยากาศจริงที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน
ได้เห็นความเครียดในช่วงระหว่างการสอบ ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ภายในรั้วสถานศึกษา หรือวัฒนธรรมภายในนั้น
คล้ายๆ กับเป็นการได้ตรวจเช็กไปด้วยว่าบรรยากาศหรือไวบ์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เหมาะกับแคแร็กเตอร์เราหรือเปล่าก่อนที่จะสมัครและสอบเข้าไปเรียนจริงๆ
ไม่ใช่แค่ TikTok ในต่างประเทศ แต่ TikTok ในไทยเราเองก็เต็มไปด้วยคลิปวิดีโอชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยเหมือนกัน
แม้ว่า TikTok จะกลายเป็นเครื่องมือยอดนิยมที่เด็กรุ่นใหม่ใช้เพื่อตรวจเช็กดูว่ามหาวิทยาลัยไหนน่าสนใจบ้าง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังอยู่เหมือนกัน เพราะก็ต้องไม่ลืมว่าการตัดสินใจเลือกสถานที่เรียนต่อนับเป็นหนึ่งในการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิตที่เราควรต้องหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง
การดูคลิป TikTok เพื่อได้สัมผัสบรรยากาศอาจจะไม่เพียงพอที่จะใช้ในการตัดสินใจ เพราะปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น ค่าเล่าเรียน อันดับของมหาวิทยาลัย สถานที่ตั้ง และหลักสูตรการสอนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
วิธีที่น่าสนใจก็คือเราอาจจะหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อตัดสินใจเลือกในระดับหนึ่ง เมื่อมีตัวเลือกในใจที่คิดว่าเหมาะสมแล้วตามปัจจัยสำคัญๆ ที่ลิสต์เอาไว้ ก็ไปเปิดคลิปต่างๆ บน TikTok ดูเพิ่มเติมเพื่อเป็นการคอนเฟิร์มให้มั่นใจ
ในยุคที่มีเครื่องมือให้ใช้หลากหลาย จะใช้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วรีบรัดตัดสินใจก็ดูจะน่าเสียดายไปหน่อย ทางที่ดีก็คือหยิบจุดแข็งของเครื่องมือแต่ละชิ้นมาใช้ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุด
แล้วเมื่อเข้าไปเรียนจริง ถ้ามีกำลัง มีเวลา ก็ก็อาจจะอัดคลิปถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องๆ เจเนอเรชั่นถัดไปได้รู้และเราก็ได้รายได้เสริมไปสมทบค่าเทอมได้พร้อมๆ กัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022