ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
เรียกว่ายิ่งนานวัน ยิ่งคึกคัก สำหรับสมรภูมิชิงตั๋วลงทุนโปรเจ็กต์ “สถานบันเทิงครบวงจร” หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หนึ่งในนโยบายเรือธง “รัฐบาลเพื่อไทย” เพื่อปั๊มรายได้เข้าประเทศ
พลันที่ “รัฐบาล” ประกาศเอาแน่ พร้อมเปิดพิกัด 5 พื้นที่เป้าหมายให้นักลงทุนที่สนใจเข้าไปปักหมุด อยู่ในกรุงเทพฯ 2 แห่ง พัทยา 1 แห่ง ภูเก็ต 1 แห่ง และเชียงใหม่ 1 แห่ง โดยใช้เงินลงทุนแห่งละ 50,000-100,000 ล้านบาท รอแค่ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ…. หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่มีกาสิโนถูกกฎหมาย ผ่านการประทับตราจากคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ท่ามกลางการนับถอยหลัง “คิกออฟ” มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนทั้งไทยและต่างชาติ เดินสายเจรจาจับคู่ร่วมลงทุนกันอย่างคึกคัก
โดยเฉพาะยักษ์ “กาสิโน” เลื่องชื่อ ที่ทุกค่ายกำลังมุ่งหน้ามายังไทย ไม่ว่าบริษัท เอ็มจีเอ็ม รีสอร์ตส อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์, กาแล็กซี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์, แซนด์ส ไชน่า, วินน์ มาเก๊า และกลุ่ม Las Vegas Sands Corporation
ซึ่งในแต่ละรายได้เดินสายหยั่งเชิงนักลงทุนไทยอยู่หลายค่าย เพราะด้วยเป็นโครงการใหญ่ มีการลงทุนหลากหลายทั้งห้าง โรงแรม ร้านอาหารและบาร์ ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่ ศูนย์สุขภาพครบวงจร สนามกีฬา ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ สถานที่เล่นเกม สระว่ายน้ำ สวนน้ำสวนสนุก จึงต้องเจรจาพาทีกันมากกว่า 1 รายในแต่ละแห่ง
ขณะที่นักลงทุนไทยได้เปิดเผยโฉมหน้าออกมาว่าสนใจคึกคัก ไม่แพ้ “ยักษ์กาสิโน”
เริ่มจาก “กลุ่มสนามม้านางเลิ้ง” หรือราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ประกาศร่วมกับบริษัท รอยัล สปอร์ต คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ RSC และ 4 พันธมิตรต่างชาติ เช่น เกาหลี เล็งที่ดินหนองจอก 3,000 ไร่ ผุดโครงการ “The Royal Siam Haven” ประกอบด้วย สนามม้า คลับเฮาส์ สนามกอล์ฟ ยอร์ชคลับ โรงแรม 6 ดาว สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ภัตตาคาร โรงละคร โรงพยาบาล เวลเนส ศูนย์การเรียนรู้และกาสิโนถูกกฎหมายในอนาคต มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ว่ากันว่าฉากหลังของกลุ่มนี้มีบิ๊กดิวตี้ฟรีร่วมด้วย
ต่อมาเจ้าพ่อสวนน้ำ “ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ (สวนสยามเดิม) ก็ประกาศสนใจและพร้อมลงทุนเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ บนเนื้อที่ 500 ไร่ ย่านมีนบุรี ด้วยวงเงิน 1 แสนล้านบาท ต่อยอดธุรกิจสวนน้ำสวนสนุก พร้อมระบุเป็นการลงทุนครั้งมโหฬารครั้งสุดท้ายในวัย 87 ปี
ในโครงการมีสวนสนุกสวนน้ำ พื้นที่พาณิชยกรรม โรงแรม ศูนย์อาหาร ศูนย์รวมความบันเทิง กาสิโน ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบ หาพันธมิตรร่วมลงทุน เช่น กลุ่มลาสเวกัส ฝรั่งเศส หรือในเอเชีย โดยสวนสยามจะลงทุน 50% หรือราว 5 หมื่นล้านบาท ด้วยการแปลงสินทรัพย์สวนสยามเดิม และที่ดิน 500 ไร่ ดำเนินการผ่านบริษัท บางกอกเวิลด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ จำกัด
ขณะที่ชื่อ “บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด” หรือ UTA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผู้รับสัมปทานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ ก็ติดโผว่าสนใจเช่นกัน เพื่อดัน “สนามบินอู่ตะเภา” เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
สำหรับพื้นที่ “เมืองการบิน” บริษัทระบุมีเนื้อที่ 1,200-1,500 ไร่ และมูลค่าลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ประกอบด้วยพื้นที่หลายส่วน อาทิ งานแสดงสินค้าและการจัดประชุม (MICE) อารีน่า ศูนย์การค้าระดับโลก โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 3-6 ดาว เมดิคัลฮับ สำนักงานเกรดเอ ส่วนสถานบันเทิงและกาสิโน บริษัทพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล หากมีความชัดเจน
แต่ในทางลับว่ากันว่ากลุ่มนี้กำลังเปิดดีลดึงทุนดูไบมาร่วมจุดพลุโครงการ
“กลุ่มเดอะมอลล์” ใต้ลมปีก “ศุภลักษณ์ อัมพุช” เป็นอีกกลุ่มทุนที่สนใจและกำลังเตรียมความพร้อมเช่นกัน รอรัฐเคาะเงื่อนไขชัดเจน โดย “กลุ่มเดอะมอลล์” กำลังคุยกับนักลงทุนกาสิโนจากต่างประเทศ
3-4 ราย ได้แก่ ลาสเวกัส, วินน์ มาเก๊า, กลุ่มมาริน่า เบย์ แซนด์ จากประเทศสิงคโปร์ และนักลงทุนจีน เนื่องจากตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด จะต้องมีกาสิโนด้วย ขณะที่ “เดอะมอลล์” นั้น มีประสบการณ์แค่ธุรกิจค้าปลีก ส่วนธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในลิสต์เงื่อนไข ต้องหาพันธมิตรเข้าร่วม
ตอนนี้ “เดอะมอลล์” กำลังทุ่มสรรพกำลังก่อสร้างโครงการ “แบงค็อก มอลล์” ย่านบางนา-ตราด บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ให้แล้วเสร็จปลายปี 2570 หาก “รัฐบาล” เคาะเกณฑ์ออกมาชัดเจน “เดอะมอลล์” ก็พร้อมปรับพื้นที่โครงการรองรับ หากได้ใบอนุญาต ก็ดำเนินการได้ทันทีและเปิดบริการได้เร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ ด้วย
ด้าน “บริษัท พราว กรุ๊ป จำกัด” ธุรกิจของทายาทตระกูลลิปตพัลลภ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม สวนสนุกสวนน้ำในหัวหินและภูเก็ต ก็สนใจจะลงทุนพัฒนาโครงการในภูเก็ตและพังงา ด้วยบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ จึงต้องมองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจ ปัจจุบันรอความชัดเจนจากรัฐบาล รวมถึงหาพาร์ทเนอร์ร่วมลงทุนด้วย เพราะเป็นโครงการใหญ่และมีการพัฒนาหลายส่วน
ที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ เพราะชื่อนี้ติดโผมานาน สำหรับย่าน “สถานีมักกะสัน” ซึ่งปัจจุบันมี “กลุ่มซีพี” ผู้รับสัมปทานโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมถึงได้สิทธิ์การพัฒนาโครงการ TOD หรือพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี จึงคาดการณ์กันว่า “กลุ่มซีพี” น่าจะสนใจพัฒนาโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ใจกลางกรุงด้วย
ล่าสุด “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” บิ๊กบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ก็ประกาศจะโดดลงสนามแข่งด้วย ภายใต้บริษัท อันดามัน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด บริษัทย่อยที่ตั้งขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนตั้งต้น 100 ล้านบาท แถมระบุพิกัดชัด จะปักธง ‘ภูเก็ต-พังงา’ เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
งานนี้ “เฮียฮ้อ” ดึง “จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมธนารักษ์ มานั่งเป็นประธานบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาหมาดๆ
แม้เพิ่งตั้งไข่บริษัท แต่ว่ากันว่า “เฮียฮ้อ’ เอาแน่ เพราะมองเห็นโอกาส และน่าจะมีที่ดินในมือพร้อมลุย ถึงได้ระบุพิกัดพื้นที่ได้อย่างแจ่มชัด และน่าจะอยู่ในรัศมีทำเลที่มีศักยภาพ ไม่ไกลจากทะเลมากนัก เพื่อปั้นเป็นแลนด์มาร์กระดับเวิลด์คลาสของโลก
ในทางคู่ขนานอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกองทุนจากต่างประเทศหลายราย เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาโครงการ
ด้วยชื่อชั้น “อาร์เอส” เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสื่อและความบันเทิงอยู่แล้ว ไม่ว่าค่ายเพลง คอนเสิร์ต มวย โชว์ ยังมีพันธมิตรธุรกิจจากต่างประเทศ ไม่ว่าเกาหลี ญี่ปุ่น ยังขาดในส่วนของโรงแรม ศูนย์การค้า สวนสนุกสวนน้ำ กาสิโน และยอร์ช ที่ “เฮียฮ้อ’ ต้องหาพาร์ตเนอร์เพิ่ม แต่น่าจะไม่ยาก หากทุกอย่างชัดเจนนั่นเอง
จากนี้คงมีรายใหม่ เปิดโฉมหน้าออกมาอีกเรื่อยๆ เพื่อชิงปักธง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” โปรเจ็กต์แรกในประเทศไทย!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022