ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
จิตร ภูมิศักดิ์
เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ? (1)
อาทิตย์ก่อนผมไปบรรยายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยจาก 2475 ถึงปัจจุบัน” สำหรับนิสิตปีหนึ่งในหลักสูตรนานาชาติภาษาและวัฒนธรรม (Bachelor of Arts in Language and Culture, BALAC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทำให้ได้ไปร่วมงานเสวนา “ทบทวนกระแสจิต(ร) : มุมมองผ่านผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์” จัดโดย คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ (ก.อศ.) สถานที่จัดงานคือ โถงอาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ ในวันที่ 12 พฤศจิกายนด้วย
ส่วนงานก่อนหน้านี้คือ “94 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์” จัดโดยสภานิสิต จุฬาฯ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ คณะกรรมการนิสิตนิเทศศาสตร์ และคณะกรรมการนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ณ ลานจักรพงษ์ ในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “ฤๅจะเป็นการสิ้นสุดของยุคแสวงหา?”
ผู้เสวนามีรองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพ็ชรเลิศอนันต์ คุณพรรณิการ์ วานิช และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิบดี บัวคำศรี ในงานยังมีการมอบรางวัล “จิตร ภูมิศักดิ์” ประจำปี 2567 ด้วย
ไม่น่าเชื่อว่าตำนานชีวิตและงานของจิตร ภูมิศักดิ์ กลับมามีชีวิตอีกครั้งในสถาบันที่เขาเคยศึกษาและถูกทำโทษ ข้อหากระทำการอันล้ำหน้ายุคสมัยหรือแปลเป็นไทยว่า “หัวรุนแรง”
ในเย็นวันนั้นมีการอภิปรายถึงผลงานสำคัญของจิตรสองชิ้นคือ “โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” กับ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”
ผู้อภิปรายผลงานเล่มแรกคือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ แห่งภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งบรรยายถึงผลงานสำคัญของจิตร ภูมิศักดิ์ อย่างละเอียดและให้บริบทความเป็นมาของการใช้ลัทธิมาร์กซ์ในการเขียนประวัติศาสตร์จากตะวันตกถึงไทยอย่างดี
จนถึงช่วงสุดท้ายคือการวิเคราะห์และวิพากษ์ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ที่จิตรใช้ในการเขียนงานใหญ่เรื่องนั้น
กล่าวโดยสรุปคือยังเป็นการประยุกต์ใช้ลัทธิมาร์กซ์อย่าง “dogmatic” หรือที่ฝ่ายซ้ายเรียกว่า “ลัทธิคัมภีร์” เนื่องจากเป็นการใช้อย่างตายตัวและเดินตามทฤษฎีที่มีการยึดถือกันมาโดยไม่วิพากษ์แต่ประการใด
ข้อวิพากษ์นี้ใช้อย่างเอาจริงเอาจังโดยเฉพาะในหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
ผมเข้าใจว่าคำวิจารณ์ดังกล่าวมาจากการเปรียบเทียบการประยุกต์ใช้ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ในการศึกษาวิเคราะห์สังคมโดยเฉพาะในระยะเปลี่ยนผ่านจากระบอบฟิวดัลหรือศักดินาฝรั่งมาสู่ระบอบทุนนิยม
ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์ในยุโรปอเมริกามีการชี้ให้เห็นข้อบกพร่องและผิดพลาดต่างๆ ของนักลัทธิมาร์กซ์ตะวันตกอย่างละเอียด
ผลงานสำคัญปรากฏในหนังสือเรื่อง The Transition from Feudalism to Capitalism (1976) (“วิวาทะการเปลี่ยนผ่านจากระบอบฟิวดัลสู่ทุนนิยม”) จุดประกายโดยสองนักลัทธิมาร์กซ์ชื่อดัง พอล สวีซี่ (Paul Sweezy) และมอริซ ด็อบบ์ (Maurice Dobb)
กล่าวโดยสรุปวิวาทะการเปลี่ยนผ่านจากระบบฟิวดัลสู่ระบบทุนนิยมครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นการเปิดเวทีครั้งแรกให้แก่นักลัทธิมาร์กซ์มาอภิปรายโต้เถียงกันในปัญหาการวิเคราะห์วิถีการผลิต (mode of production) ของระบบฟิวดัลอย่างเป็นระบบ ประเด็นสำคัญที่ได้มีการอภิปรายได้แก่ 1) นิยามว่าด้วยทาสกสิกร (serfdom) 2) กำเนิดของเมือง บทบาทของช่างฝีมือหัตอุตสาหกรรม 3) พ่อค้ากับเศรษฐกิจเงินตรา 4) การผลิตสินค้าอย่างธรรมดา 5) หนทางที่เป็นทางเลือกสำหรับการเกิดการผลิตแบบนายทุน 6) มโนทัศน์ว่าด้วย “พลังผลักดันที่เป็นหลัก” (prime mover)
ประเด็นเหล่านั้นมีคุณูปการใหญ่หลวงในการสร้างเสริมความสมบูรณ์ให้ทฤษฎีการเกิดระบบทุนนิยมที่เสนอโดยมาร์กซ์ในนิพนธ์เรื่อง “ทุน” ซึ่งมาร์กซ์อรรถาธิบายกระบวนการและวิธีการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตในระบอบฟิวดัลมาสู่ทุนนิยมในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษที่เขามีข้อมูลและงานค้นคว้าทางเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ยุคดังกล่าวมากที่สุด
มาร์กซ์อธิบายถึงลักษณะของแนวการผลิตที่เปลี่ยนไปแล้วสรุปออกมาเป็นทฤษฎีนามธรรมที่มีลักษณะทั่วไป
ซึ่งคนที่อ่านมักนำเอาไปใช้แบบสูตรสำเร็จในการอธิบายการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมและความเสื่อมสลายของระบบฟิวดัลและศักดินา ในลักษณะที่เหมือนกันทุกระบบสังคมเพียงแค่มีการกดขี่ทางชนชั้นอยู่ก็เข้าข่ายเลย
โดยไม่สนใจว่าบริบทสังคมในยุโรปกับในเอเชียมีความแตกต่างและไม่เหมือนกันในรายละเอียดทางปฏิบัติอย่างไรบ้าง
ประเด็นนี้คือที่มาของคำวิพากษ์ประการแรกของพอล สวีซี่ ที่มีต่องานเขียนเรื่อง “การศึกษาในพัฒนาการของระบบทุนนิยม”ของมอริช ด็อบบ์ (Studies in the Development of Capitalism, 1946) ว่าเขาไม่ได้ระบุตั้งแต่แรกว่างานศึกษานี้จำกัดแต่เฉพาะในยุโรปตะวันตกเท่านั้น ไม่ใช่เกิดกับทุกระบบสังคมและประเทศในโลก
จากนั้นสวีซี่วิจารณ์ถึงทฤษฎีว่าด้วยความเสื่อมสลายของระบบฟิวดัลของมอริซ ด็อบบ์ ที่อ้างว่าเกิดจากการขูดรีดและเอาเปรียบพวกทาสกสิกรมากเกิน ตรงนี้สวีซี่เห็นว่าด็อบบ์ไม่มีหลักฐานรองรับคำกล่าวอ้างดังกล่าว
สวีซี่อ้างหลักฐานการศึกษาการค้าสมัยนั้นว่ามีความก้าวหน้าและขยายไปยังการค้าทางไกล เหล่านี้มีผลต่อการกดดันให้ชนชั้นเจ้าที่ดินต้องผ่อนปรนการขูดรีดเพราะแรงงานต้องการไปทำการผลิตนอกความสัมพันธ์แบบฟิวดัล
ทั้งหมดนี้คือการทำให้อรรถาธิบายเรื่องความเสื่อมของระบบฟิวดัลไปสู่กำเนิดระบบทุนมีลักษณะพลวัตที่ไม่ใช่ตายตัว
ตรงนี้เองคือปมเงื่อนของปัญหาใหญ่สำหรับนักลัทธิมาร์กซ์ไทยที่ไม่เคยมีการวิวาทะถึงความจริงในทฤษฎีว่ามีมากในเรื่องอะไรและมีน้อยในประเด็นอะไร
ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกลุ่มนักลัทธิมาร์กซ์นอกตะวันตกมีแต่การนำเอาทฤษฎีมาร์กซ์มาใช้อย่างสำเร็จรูป
การจะตีความประวัติศาสตร์ที่ตรงกับข้อเขียนของมาร์กซ์ได้ ก็ต้องอ่านข้อเขียนของมาร์กซ์เองจำนวนหนึ่งเสียก่อน ไม่ใช่อ้างจากงานเขียนชั้นสองซึ่งก็ไม่รู้ว่าผู้เขียนได้อ่านนิพนธ์ของมาร์กซ์เองหรือไม่
การที่ผมให้น้ำหนักไปที่การมีประสบการณ์ตรงกับข้อเขียนของมาร์กซ์เพราะผมประสบด้วยตัวเองหลังจากได้อ่านและแปลนิพนธ์เรื่อง “ทุน” ของมาร์กซ์แล้ว จึงตระหนักว่าความเข้าใจที่เรามีต่อทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์นั้นผิดพลาดและคลาดเคลื่อนไปไม่น้อย
ที่สำคัญคือมันไม่ทำให้เรามีทัศนะวิพากษ์ในความถูกต้องและเป็นวิทยาศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์เอง ซึ่งเป็นหลักการที่มาร์กซ์เองก็ตอกย้ำบ่อยครั้งมากในข้อเขียนของเขา ว่าอย่าเชื่อโดยไม่ได้ทำการค้นคว้าอย่างรอบด้าน
ที่ผ่านมาเราก็มักว่าไปตามคำวินิจฉัยและความเห็นของนักลัทธิมาร์กซ์ชั้นที่สองที่เราอ่าน จะต่อยอดหรือวิพากษ์เนื้อหาของมาร์กซ์จากงานชั้นสองเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้
จุดนี้เองที่ทำให้นักเรียนลัทธิมาร์กซ์ส่วนใหญ่กลายเป็นนักท่องจำนักลัทธิคัมภีร์และเทศนาในวรรคต่างๆ ของมาร์กซ์มากกว่าพูดจากความเข้าใจของตนเอง
อีกข้อที่ทำให้นักลัทธิมาร์กซ์ไทยประสบปัญหาในเรื่องการศึกษาอย่างมากคือการเซ็นเซอร์และห้ามอ่านงานมาร์กซ์และนักลัทธิมาร์กซ์ทั้งหลายที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์
ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าที่มีหลักฐานว่าเคยอ่านนิพนธ์มาร์กซ์ในภาษาอังกฤษมีอยู่เพียงคนเดียวคือคุณสุภา ศิริมานนท์ บรรณาธิการ “อักษรสาส์น” (2492-2495)
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าจุดอ่อนของนักลัทธิมาร์กซ์ไทยคือไม่ได้อ่านนิพนธ์ของมาร์กซ์เอง ส่วนใหญ่อ่านจากต้นฉบับตัดตอน
แม้แต่จิตรเองก็ไม่มีหลักฐานว่าได้อ่านนิพนธ์ของมาร์กซ์ในลักษณะที่เป็นหลักฐานชั้นต้นทั้งเล่ม (แม้ในภาษาอังกฤษก็ตาม)
ที่จิตรได้อ่านข้อเขียนของมาร์กซ์มากที่สุดก็ในหนังสือ คาร์ล มาร์กซ์ ประวัติย่อ แปลจาก Karl Marx : Biography by E. Stepanova ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง แก้ไขปรับปรุง สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ มอสโก 1960 ผู้แปลจากภาษารัสเซียเป็นอังกฤษ J. Gibbons ผู้แก้ไขและขัดเกลาคำแปลให้สมบูรณ์ L. Gavurina
เล่มนี้จากการบอกเล่าของทองใบ ทองเปาด์ จิตรแปลและเรียบเรียงระหว่างที่ถูกขังอยู่ในคุกลาดยาวระหว่างปี พ.ศ.2501-2507 ในหนังสือประวัติย่อนี้มีการอ้างถึงนิพนธ์ของมาร์กซ์ที่สำคัญรวม 13 เล่มรวมทั้ง Capital, Grundrisse, และ German Ideology.
จากสภาพของความรู้ในลัทธิมาร์กซ์ของนักคิดไทยที่ถูกมัดมือชกมาตลอด จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดหากกลับมาอ่านข้อเขียนของจิตรแล้วเจอปัญหาดังที่ อ.เกษมเสนอคือ “เป็นลัทธิคัมภีร์” มากไปหน่อย
ประเด็นที่ผมต้องการอภิปรายในงานเขียนของจิตรคือว่าด้วยเนื้อหาในทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ที่เขาใช้โดยเฉพาะใน “โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” ว่ามีจุดอ่อนและจุดแข็งอะไรบ้าง
งานเขียนนี้แต่แรกเป็นบทความขนาดยาวที่พิมพ์ในหนังสือนิติศาสตร์ฉบับกึ่งพุทธกาล 2500 ที่ออกมาวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทยและนักประวัติศาสตร์ไทยที่นำเสนอประวัติศาสตร์อย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์
จิตรเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึง “ลักษณะของระบบผลิตศักดินาโดยทั่วไป” โดยแบ่งออกเป็น
1) ลักษณะทางเศรษฐกิจของระบบศักดินา
2) ลักษณะทางการเมือง
3) ลักษณะทางวัฒนธรรม ซึ่งในหัวข้อเหล่านี้เขายังใช้ข้อมูลและประวัติศาสตร์ไทยประกอบคำอธิบายเคียงข้างประวัติศาสตร์ยุโรป หัวข้อนี้อาจวิจารณ์ได้ว่าเป็นยุโรปมากเพราะนำมาจากทฤษฎีระบบฟิวดัล
หัวข้อต่อไป “กำเนิดของระบบศักดินาโดยทั่วไป” หัวใจของข้อนี้คือการที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสังคมหรือวิถีการผลิตหนึ่งดำเนินไปภายใต้กฎที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่ไม่อาจเปลี่ยนหรือปฏิเสธได้
หัวข้อนี้พยายามทำให้ผู้อ่านเชื่อในวิวัฒนาการของสังคมว่าต้องสืบเนื่องมาจากสังคมก่อนหน้านี้ได้แก่ระบบทาส เขาจึงเรียบเรียงประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ให้เป็นทฤษฎีภายใต้หัวข้อ “ระบบศักดินาของไทยเป็นระบบที่ได้เกิดขึ้นโดยมีระบบทาสเป็นพื้นฐาน”
อันเป็นที่มาของวิวาทะโดยนักประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักในเวลาต่อมา เพราะได้เพียรพยายามมานานนับสิบๆ ปีที่จะพิสูจน์ตามมติของ “บิดาประวัติศาสตร์” ว่าสังคมไทยแต่เดิมก่อนที่จะลงมาอยู่ที่สุโขทัยหาได้มีระบบทาสไม่
การมีทาสกรรมกรของไทยในกรุงศรีอยุธยานั้นมามีขึ้นก็เมื่อมาพบกับเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
(ยังมีต่อ)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022