การเมืองใหม่ หรือการเมืองดูถูกสติปัญญาประชาชน | คำ ผกา

คำ ผกา

ฉันไม่แน่ใจว่ากระแสการเมืองจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้นสะท้อนการเมืองในสังคมไทยได้จริงหรือไม่

เพราะน่าจะมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เสพข่าวสารและบทสนทนาทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียเลย

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสในโซเชียลมีเดียจะส่งผลต่อการตัดสินของคนในการเลือกตั้งระดับชาติแน่นอน

เพราะเมื่อใกล้เลือกตั้งอะกอริธึ่มของโซเชียลมีเดียย่อมหันไปในทางข้อมูลทางการเมืองมากขึ้น ทั้งอย่างเป็นธรรมชาติ และทั้งอย่างไม่เป็นธรรมชาติ

เช่น การ “กระตุ้น” ด้วยเครื่องมือบางอย่างของเหล่า “พ่อมด” ทางการตลาดออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะเราก็มาถึงวันที่การ manipulate หรือการ “บริหาร” อะกอริธึ่มให้เป็นคุณต่อการตลาดของเราแทบจะเป็นศาสตร์ทางสถิติอีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นมากที่สุดในยุคนี้

จากการติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ x ที่อะกอริธึ่มจัดสรรมาให้โดยที่ฉันไม่ได้กดติดตาม ทำให้ฉันเห็นการแบ่งขั้วแบ่งข้างที่น่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไปอย่างน่าสนใจ

และอย่างประมาทไม่ได้เลยไม่ว่าเราจะเชียร์ฝ่ายไหน

 

กลุ่มแรกที่ฉันเห็นคือกลุ่มที่เรียกกันว่า “นางแบก”

ซึ่งในกลุ่มนางแบกจะแบ่งออกเป็นนางแบกที่เชียร์พรรคเพื่อไทย และส่งผลให้เชียร์รัฐบาลไปด้วยอย่างแข็งขัน

การเชียร์เช่นนี้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเขารักมากลุ่มหลงมาก แต่เป็นปฏิกิริยาโต้กลับจากการที่พวกเขาเห็นว่า พรรคเพื่อไทย “ถูกกระทำ” ไม่ว่าจะเป็นการถูกใส่ร้ายเรื่องล้มเจ้าในสมัยพันธมิตรฯ มาจนถึงยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โดนเรื่องจำนำข้าว เขาพระวิหาร ถูกโจมตีด้วยข่าวปลอมสารพัด

จนล่าสุดที่มีคู่ขัดแย้งเป็นพรรคส้ม คนกลุ่มนี้มองว่า ถ้าไม่ลุกขึ้นมาปกป้องพรรค หรือเชียร์พรรคให้แน่นแฟ้น พรรคเพื่อไทยก็จะกลายเป็น “จำเลยสังคม” ครั้งแล้วครั้งเล่า

นางแบกกลุ่มนี้ที่เกิดขึ้นและกลายเป็นคอมมูนิตี้อย่างไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้จัดตั้ง

แต่เป็นคอมมูนิตี้ในแบบที่มันเคยเกิดขึ้นในยุคเว็บบอร์ดเช่นพันทิป เช่น ฉันอยู่ห้องก้นครัว ก็จะรู้จักผู้คนในนั้นราวกับเป็นเพื่อนสนิท เจอกันทุกวัน คุยกันทุกวัน รู้จัก “สไตล์” การเขียน การโพสต์

และหลายๆ คนก็จะโดดเด่นกลายเป็น “เซเลบ” ประจำคอมมูฯ เมื่อต่อเนื่องหลายปี ก็จะมีการนัดพบปะสังสันทน์กัน สมัยนี้ก็อาจพัฒนาไปตั้งกรุ๊ปไลน์

ดังนั้น จากกลุ่มที่เกิดขึ้นอย่างออร์อกนิกส์ก็จะดูเหมือนจัดตั้ง นัดกัน หรือคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเปิดห้องคุยในสเปซ

การที่เกิดคอมมูฯ เช่นนี้ก็ไม่แปลว่ามันเป็นการจัดตั้งโดยพรรคเพื่อไทย

กลุ่มนี้จะเรียกว่าเป็นแฟนคลับเดนตายของพรรคก็ว่าได้

ถามว่ามันดีไหม?

โดยอุดมคติ เราทุกคนย่อมอยากเห็นการรักพรรคแบบตาสว่างคือไม่ใช่ชมทุกเรื่อง หรือแก้ต่างให้ไปหมด

แต่อีกด้านหนึ่งก็มองได้อีกว่าการไปสุดโต่งนี้ก็เป็นปฏิกิริยาตอบสนองจากการที่พรรคโดนโจมตีอย่างสุดโต่งโดนโจมตีอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหมือนกัน

ฉันใดก็ฉันนั้น ในฝั่งของพรรค “ส้ม” ก็มีกลุ่มแฟนคลับเดนตาย สุดโต่งแบบนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน

ซึ่งฉันคิดว่าในฝั่งของ “ส้ม” ก็คงมองว่า พรรคที่ตนเชียร์ก็ถูกกระทำ ถูกใส่ร้าย อีกทั้งเชื่อไปแล้วว่า พรรคเพื่อไทยไปรวมหัวกับฝั่งอนุรักษนิยมร่วมกันกลั่นแกล้งพรรคส้ม

ผลที่เกิดขึ้นคือเราจะเห็นแฟนคลับเดนตายของสองพรรคนี้ตีกันนัวทุกวันทุกค่ำคืนในพื้นที่โซเชียลมีเดีย และดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

ทีนี้หันมาดูกลุ่มคนเป็นอินฟลูฯ หรือผู้นำทางความคิดหรือปัญญาชนสาธารณะของแต่ละฝั่ง

ในฝั่งของพรรคเพื่อไทยน่าจะมี คำ ผกา คนเดียวที่โลดแล่น แอ็กทีฟที่สุด ส่วนที่เป็นคนทำงานพรรค น่าจะเป็น พายุ เนื่องจำนงค์ กับ หมอศรีญาดา ที่แอ็กทีฟใน x

แต่ในฝั่งของ “ส้ม” นั้นอุ่นหนาฝาคั่งมาก เช่น อธึกกิต แสวงสุข, ประทีป คงสิบ อดีต ผอ.วอยซ์ทีวี, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุทธิชัย หยุ่น

ส่วนบุคลากรของพรรคนั้นไม่ต้องพูดถึง ส.ส.พรรคส้มโลดแล่นในโซเชียลมีเดียในระดับเดียวกับพลเมืองเน็ต ไม่ว่าจะเป็น รักชนก, วิโรจน์, ศิริกัญญา, เท่าภิภพ, เพชร กรุณพล เป็นต้น

ซึ่งต่างจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ไม่มีใครมาเล่นโซเชียลมีเดียแบบชาวเน็ต โดยมากจะเน้นการรักษาไมตรีจิต โพสต์ข่าวหรือกิจกรรมอะไรที่เป็นทางการ หรือประชาสัมพันธ์ โฆษณางานที่ตัวเองทำ นานๆ ครั้งจะออกมาตอบโต้ แต่น้อยครั้งที่จะไปคลุกวงในแบบเสียเลือดเสียเนื้อ (มีบ้างแต่น้อยมาก)

ที่ฉันต้องเอ่ยชื่อไม่ได้ “แขวน” แต่ต้องการบันทึกไว้อย่างที่มันเป็นจริงและฉันไม่ได้ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูก เพราะตัวเองก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่โลดแล่น แอ็กทีฟท้าตีท้าต่อยกับคนไปทั่วกับเขาคนหนึ่งเหมือนกัน

 

ส่วนสื่อมวลชนโดยทั่วไป ฉันคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะต้องเอียงข้างไปเข้าข้างฝ่ายค้าน เพราะโจทย์หลักของสื่อคือการตรวจสอบรัฐบาล

การที่สื่อรับ “วาระ” ของฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาลจึงเป็นปรากฏการณ์ปกติเป็นสากลเหมือนกันทั่วโลก การมีสื่อที่เชียร์รัฐบาลมากเหมือนกันหมดทุกสื่อต่างหากที่ไม่ปกติ

ซึ่งฉันคิดว่ารัฐบาลไม่ควรพยายามไปกำกับการทำงานของสื่อเหล่านั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือต้องให้ทีมสื่อสารของตัวเองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าถูกโจมตีก็สามารถออกมาอธิบาย ออกมาให้ข้อมูลที่กระชับ เข้าใจง่าย และเป็นที่น่าเชื่อถือ การสร้างความน่าเชื่อถือกับการพยายามแก้ตัวให้รัฐบาลทุกเรื่องไม่เหมือนกัน

ทีมโฆษกรัฐบาลต้องสามารถทำให้คนเชื่อว่า ถ้าไม่แน่ใจในข้อมูลที่สับสนอลหม่านสังคมต้องกลับมาใช้ “ข้อมูล” จากรัฐบาลเป็นตัวอ้างอิงเสมอ

ดังนั้น การแถลงเรื่องการทำงานของรัฐบาลต้องแยกระหว่างข้อมูลที่เป็นภววิสัยออกจากความคิดเห็น ทัศนะคติที่ฝ่ายรัฐบาลสามารถบอกสังคมว่า

คุณอาจจะไม่เห็นด้วยกับเรา แต่เรามีเหตุผลว่าเราเลือกทำแบบนี้ซึ่งต่อให้คุณไม่เห็นด้วยคุณก็ต้องทำใจไปจนกว่าเราจะหมดวาระและไม่มีสิทธิในการตัดสินใจทางนโยบายอีกต่อไป

และในความเป็นจริงไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำอะไรที่ขัดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมเพราะทุกรัฐบาลก็ห่วงคะแนนนิยมของตัวเองทั้งนั้น

 

อีกกลุ่มหนึ่งที่ฉันเริ่มเห็น (จากการจัดการของอะกอริธึ่ม) คือฝั่งอนุรักษนิยมที่เกลียดทั้งพรรคเพื่อไทย เกลียดทั้งพรรคส้ม

ล่าสุด คนกลุ่มนี้พยายามจะบอกว่า การมี MOU44 จะทำให้เราเสียเกาะกูด

กัมพูชาจะพยายามยกเลิกสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส

หรือการปั่นกระแสคิดถึงประยุทธ์ หรือแม้กระทั่งการมีแอ็กเคาต์ที่ดูเชียร์พรรคส้มแบบประหลาดๆ ไม่สมเหตุสมผล เหมือนแกล้งๆ เชียร์พรรคส้มให้ด้อมส้มหรือคนเชียร์ส้มมาตามเยอะๆ พอมีคนตามเยอะก็เริ่มปล่อยเฟกนิวส์แบบโง่ๆ เช่น บอกว่ามีการเอาข้าวเน่าไปปนข้าวดีย้อมแมวขาย ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของส้มดูแย่ พร้อมๆ กันนั้นก็ได้โจมตีพรรคเพื่อไทยไปด้วย

ฉันจึงมีสมมุติฐาน (ที่อาจจะผิด) ว่าแอ็กเคาต์เหล่านี้เป็นการทำงานของสลิ่มเฟสหนึ่งที่ต้องการดิสเครดิตทั้งส้มทั้งแดงไปพร้อมๆ กันหรือเปล่า?

ช่วงนี้คอนเทนต์แบบนี้อาจจะยังไม่โดดเด่นเป็นที่จับตาแต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า หากกลุ่มนี้ปล่อยข่าวแบบนี้ออกมาอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่องทางติ๊กต็อก ฉันเชื่อว่าในที่สุดมันจะทำให้คนเชื่อได้จริง

 

จากตรงนี้ฉันได้ไปฟังการสนทนากันในช่อง 101 ที่มีอธึกกิต กับสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี มาคุยกันเรื่อง “ทำไมพรรคประชาชนไม่ปัง” สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บอกว่าเขาไปช่วยงานพรรคส้ม เพราะถูกจริตที่พรรคนี้ต้องการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง การประกาศตัวเช่นนี้ สำหรับฉันถือว่าดีมาก แฟร์มาก ไม่ต้องมาแอ๊บว่าเป็นกลาง วิจารณ์ตามเนื้อผ้า

จุดหนึ่งที่ศุภลักษณ์บอกว่าพรรคส้มต้องปรับคือ มันมีหลายวาระที่พรรคส้ม กับพรรคฝ่ายรัฐบาลต้องการผลักดันร่วมกัน เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร วาระแบบนี้เป็นสาระที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชน พรรคส้มต้องวางเรื่องฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือการเป็นพรรคคู่แข่งไปก่อน แล้วทำงานโดยแสวงหาความร่วมมือจากทุกพรรคเพื่อให้เรื่องเหล่านี้บรรลุผล

จากนั้นสุภลักษณ์ก็ยกตัวอย่างว่า กรณี OCA พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา พรรคประชาชนไม่ออกมาประกาศจุดยืนของตัวเองเลยว่าจุดยืนของตัวเองในเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ในที่นี้ฉันขอขยายความว่าในฐานะพรรคประชาชนไม่ใช่พรรคขวาจัดคลั่งชาติแบบกลุ่มหมอเขียว สันติอโศก กลุ่มสะพานมัฆวาน พรรคประชาชนสามารถออกมาแสดงจุดยืนหรือออกมาอธิบายกับสังคมตามข้อเท็จจริงว่า MOU44 คืออะไร พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลคืออะไร เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญายังไง การทำ JDA คืออะไร แต่กลับไม่ออกมาพูดอะไรเรื่องนี้เลย อาจคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือแม้แต่คิดว่าผสมโรงโจมตีไปเลย หรือแกล้งข้ามข้อเท็จจริงแล้วไปพูดว่า

“น่ากลัวจังเดี๋ยวพรรคเพื่อไทยจะไปดีลผลประโยชน์เอื้อนายทุนอีกหรือเปล่า”

ลักษณะแบบนี้ถ้าถามฉันคือเป็นอันตรายทั้งต่อพรรคเพื่อไทยและประชาชน เพราะมันไปเข้าทาง “กลุ่มที่เกลียดทั้งส้มทั้งแดง” เช่น เมื่อมีเรื่องเกาะกูด เสียงของส้มก็ไปเติมให้กลุ่มขวาจัด เพราะสมประโยชน์กันคือโจมตีแดง

เมื่อมีเรื่องตากใบ เสียงของแดงก็ไปเติมให้ฝ่ายขวาจัดเพราะสมประโยชน์กันเรื่องด่าส้มให้เสียหายกันไปข้าง หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ปลายทางคือเสียงของฝ่ายขวาจัดจะดังและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เพราะเดี๋ยวส้มไปเติมให้ในบางเรื่อง เดี๋ยวแดงไปเติมให้ในบางเรื่อง

สุดท้ายฝ่ายเสรีนิยมจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะตีกันเองเป็นทุนอยู่แล้ว

 

ฉันเขียนแบบนี้คืออยากให้ส้มกับแดงกันมารักกัน จูบปากกัน ฮั้วกันหรือ?

คำตอบคือไม่ใช่

แข่งกันเหมือนเดิมนั่นแหละ ถกเถียงตรวจสอบกันให้เข้มข้น ยิ่งเข้มข้น ประชาชนยิ่งได้ประโยชน์

แต่ต้องอิงอยู่กับหลักการและเนื้อหาให้แม่นยำเหนือเรื่องการแบ่งฝ่าย

เช่น เมื่อเป็นประเด็นที่ประชาชนจะได้ประโยชน์และทั้งสองพรรคเห็นตรงกัน ควรกล้าที่จะส่งเสริม มาสนับสนุนให้กำลังใจ ไม่ต้องกลัวว่าอีกฝ่ายจะได้คะแนน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรสเท่าเทียม เรื่องสุราก้าวหน้า เรื่องการให้สัญชาติแก่คนไร้รัฐ เรื่องการเก็บภาษีรถติด เรื่อง negative income tax การเก็บภาษีความหวาน ฯลฯ

เหล่านี้หากมองว่ามันเป็นวาระที่ขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ทั้งสองพรรคเห็นตรงกันคือการลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มกำลังความสามารถให้คนกลุ่มเปราะบางให้มีศักยภาพในการเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรมากขึ้น

และเป็นนโยบายที่โน้มเอียงไปในทางสังคมนิยมนิดๆ ด้วยซ้ำ และไม่น่าจะมีประเด็นอะไรให้พรรคส้มไม่เห็นด้วยในหลักการใหญ่ๆ ส่วนอยากเพิ่มเติม อุดช่องโหว่ตรงไหนก็มาคุยกันในรายละเอียด

และอาจเป็นอคติของฉันล้วนๆ ที่มองว่า ในขณะที่พรรคเพื่อไทยกับรัฐบาลไม่ได้ไปยุ่งหรือโจมตีอะไรพรรคประชาชนมาก นอกจากตอบโต้ตามวิสัยรัฐบาลกับฝ่ายค้าน อาจเป็นเพราะรัฐบาลมีงานต้องทำเยอะ แต่ฝ่ายพรรคประชาชนแทนที่ตรวจสอบรัฐบาลตามเนื้องานกลับมุ่งเล่นการเมืองแบบ “ตีกิน” เสียจนฉันคิดว่ามันอันตรายต่อความเข้มแข็งของประชาธิปไตยโดยภาพรวม

เช่น เรื่องประธานบอร์ดแบงก์ชาติ พรรคประชาชนควรออกมายืนยันหลักการว่าการพูดว่า “การเมืองไม่ควรแทรกแซงแบงก์ชาติ” เป็นเพียงวาทกรรม เพราะการไม่เอาคน “การเมือง” ไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติก็เป็น “การเมือง” อีกแบบหนึ่ง

หรือการให้อำนาจกับเทคโนแครตมากเกินไปก็เป็น “การเมือง” เช่นเดียวกันคือการเมืองว่าด้วยการช่วงชิงอำนาจระหว่างฝ่ายนักการเมืองกับฝ่ายเทคโนแครตที่ยึดโยงกับชนชั้นนำมากกว่าการเมืองที่มาจากประชาชน

เหตุที่ฉันคิดว่าพรรคประชาชนควรออกมาพูดหลักการนี้ก็เพื่อในหากอนาคตหากพรรคประชาชนเป็นรัฐบาลก็จะได้ยืนยันหลักการนี้เช่นเดียวกัน

เว้นแต่ว่าแท้จริงแล้วพรรคประชาชนก็เชื่อมั่นในเทรคโนแครต และลึกๆ ก็มีวิธีคิดเหมือนสลิ่มคือไม่ไว้ใจนักการเมืองยกเว้นที่เป็นพรรคพวกตัวเอง

 

หรือเรื่องชั้น14 ของทักษิณ ชินวัตร ที่ฉันพยายามจะไล่เรียงตรรกะว่า ฉันไม่ได้ปกป้องทักษิณ แต่ฉันกำลังปกป้องหลักการว่า หากเราต่อต้านรัฐประหารและเชื่อมั่นในประชาธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชน เราต้องวางทักษิณไว้ในฐานะเหยื่อของการรัฐประหารไม่ใช่นักโทษ และการที่ทักษิณต้องลี้ภัยยาวนานถึง 17 ปี คือความอยุติธรรม

ในวันที่การเมืองคลี่คลาย เขากลับเมืองไทยเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายและวันนี้เขาได้รับอิสรภาพตามกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งหมดนี้คือความยุติธรรมที่ทักษิณพึงได้รับ และได้รับช้าเกินไปด้วยซ้ำ ไม่เพียงแต่ช้าเกินไป เขาไม่ควรสูญเสียอิสรภาพแม้แต่วันเดียวด้วยซ้ำ หรือไม่ควรต้องออกนอกประเทศตั้งแต่ต้น

หรือพูดให้ถึงที่สุด การรัฐประหารนั้นไม่ควรได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

(และหากคุณเป็นหนึ่งในประชาชนที่เคยเชียร์รัฐประหารก็จงตระหนักว่าตัวเองคือผู้ก่อความอยุติธรรมนี้มากับมือ)

 

แต่การณ์กลับประหลาดยิ่งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองผู้เรียกตัวเองว่า “ก้าวหน้า” และ เป็นพรรคการเมืองฝ่าย “ประชาธิปไตย” ต้องการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารกลับเรียกทักษิณว่า “นักโทษ” และก่นด่า ร้องโหยหวนไม่หยุดว่า ทักษิณกลับมาอย่างเท่ๆ บ้าง ทักษิณไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียวบ้าง

และฉันจะพูดครั้งที่ล้านว่าสิ่งนี้อันตรายเพราะมันไปหักล้างความเป็น “นักประชาธิปไตย” ของพรรคส้ม นักการเมืองส้ม และด้อมส้มทั้งหลายว่า ที่แท้ก็เป็นโรคทักษิณโฟเบียเหมือนสลิ่มเฟสหนึ่ง เพราะมองไม่เห็นว่า ทักษิณคือผู้ได้รับเคราะห์กรรมความอยุติธรรมจากระบอบรัฐประหารโดยตรง

แล้วทำไมนักประชาธิปไตยอย่างหัวหน้าพรรคประชาชนกลับเรียกคนถูกรัฐประหารว่านักโทษ และเรียกร้องให้คนถูกรัฐประหารติดคุกอยู่ได้

เรื่องนี้มันไม่ได้ส่งผลต่อทักษิณ แต่มันส่งผลให้เกิดการถูกจับแก้ผ้ากลางสาธารณชนว่า ตกลงส้มนี่ของปลอมใช่ไหม?

ไม่ใช่คนที่เชื่อในหลักการประชาธิปไตยอะไรหรอก แค่กลุ่ม “คนดีย์” สีส้มต่อจากพันธมิตรฯ เตรียมเป็นประชาธิปัตย์สาขาสองอย่างที่เขาว่ากัน เพราะสาขาแรกเจ๊งแล้วตอนนี้มาเป็น “พรรคร่วมของเพื่อไทย” แล้ว

การเล่นเรื่องชั้นสิบสี่ของพรรคประชาชนในด้านกลับก็กลายเป็นการเติมพลังให้กลุ่มขวาจัด และทำให้หลักการ “คนดีปกครองบ้านเมือง” และ “นักการเมืองเลว” ของฝ่ายขวาจัดยิ่งมีน้ำหนัก ยิ่งชอบธรรม

ถามว่าใครทำให้ชอบธรรม? ก็วาทกรรมจากหัวหน้าเท้ง หัวหน้าต๋อม หัวหน้าทิม ที่คิดสั้นๆ ว่า “อะไรก็ได้ ขอให้ล้มเพื่อไทยก่อน”

เมื่อเช่นนี้การทำงานทางความคิดตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับวาทกรรมคนดีที่ทำให้การรัฐประหารชอบธรรมครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมก็เป็นเรื่องสูญเปล่า

ยิ่งการประกาศบนเวทีอุดรฯ ของเท้งที่ว่า “ทักษิณกลับมาเท่ๆ โดยไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว” ยิ่งทำให้จุดยืนของพรรคประชาชนเหมือนจุดยืนของกลุ่มที่เคยสนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

และเท้งควรจะเอะใจตัวเองบ้างว่าทำไมตัวเองกับสื่ออาวุโสสองคนพูดเหมือนกันเป๊ะ ตกลงเท้งมีทัศนคติต่อการเมืองประชาธิปไตยอย่างไรกันแน่

 

ส่วนพรรคเพื่อไทยและผู้สนับสนุนก็ต้องระวังอย่างยิ่งที่จะไม่เผลอตัวไปสนับสนุนอุดมการณ์แบบกลุ่มขวาจัด เพียงเพราะเราไม่ชอบ “ส้ม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องปัญหาภาคใต้ เรื่องการนิรโทษกรรม เรื่องการปฏิรูปกองทัพ เรื่องการจัดวางตำแหน่งที่ขององคพยพทางการเมืองภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เกี่ยวพันกับจุดที่เปราะบางในสังคม

เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องสิทธิมนุษยชน

หลายๆ เรื่องที่เราเคยเห็นพ้องต้องกันกับพรรคส้ม เพราะมันถูกต้องใน “หลักการ” เราก็ต้องสนับสนุนหลักการนี้ต่อไป

เราจะไม่ “หันขวา” เพียงเพราะเป็นปฏิกิริยาโต้กลับต่อ “ส้ม” เพราะมิเช่นนั้นการต่อสู้ทางการเมืองของเราตลอดยี่สิบปีก็จะสูญเปล่าเช่นกัน

โจทย์ของพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นแกนนำรัฐบาลอยู่ตอนนี้ต้องระวังไม่ให้โลกของเราไปหมุนรอบ “วาระ” ของพรรคส้ม แต่ต้องหมั่นทบทวนโจทย์และจุดยืนของพรรคว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ต่อต้านการรัฐประหารอย่างไม่มีเงื่อนไข

สมาทานแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม

ทุนนิยมที่ไม่ได้แปลว่าเอื้อนายทุนแต่หมายถึงการสร้างความมั่งคั่งและแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากฐานราก ด้วยจุดยืนทางอุดมการณ์

เช่นนี้วาระเรื่องการกระจายอำนาจ การลดความเทอะทะของระบบราชการ การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบจึงเป็นเป้าหมายที่ตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหารัฐราชการวมศูนย์ ความพยายามเอาธุรกิจสีเทาขึ้นมาบนดินเพื่อควบคุมได้ เก็บภาษีได้ ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องพูดคำว่าโครงสร้างอย่างพร่ำเพรื่อ

 

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศไทยในห้วงเวลานี้ที่หลังจากอยู่กับนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร กลับมาเป็นรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทยอีกครั้ง

พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องประสานผลประโยชน์ และพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” อันเป็นภาวะที่พรรคเพื่อไทยต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่า การไม่บุ่มบ่ามนี้ไม่ได้แปลว่าพรรคเพื่อไทยจะหลงลืมจุดยืนและอัตลักษณ์ของพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและเป็น “เสรีนิยม”

เพราะบางครั้งการไม่บุ่มบ่ามและ “ยอม” บ่อยๆ แถมยังมีพรรคที่ woke อย่างน่ารำคาญเป็นพรรคคู่แข่ง มันกลายเป็นแรงผลักให้พรรคกลายเป็นอนุรักษนิยมไปโดยไม่รู้ตัวได้

ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนพรรคประชาชนนั้นฉันคิดว่าหากยังติดหล่มการทำการเมืองแบบตามจองล้างจองผลาญพรรคเพื่อไทยแบบไร้สติต่อไปเรื่อยๆ จนทิ้งหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน สะสมนิสัยเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น เลียนแบบพฤติกรรมสลิ่มเฟสหนึ่งไปเรื่อยๆ

นอกจากพรรคจะไม่ปังแล้วอาจจะพังเร็วกว่าที่คิด และอย่าดูถูกประชาชนโดยคิดกว่าวาทกรรมสวยหรู การพูดเป็นน้ำไหลไฟดับจะพาไปสู่ชัยชนะ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือเวทีที่มีประชาชนไป “แหก” เรื่องน้ำประปาดื่มได้ในขณะที่พรรณิการ์ วานิช กำลังปราศรัย

พรรคการเมืองที่อยากจะรุ่งโรจน์จริงๆ แล้วแค่ยึดหลักการเดียวเท่านั้น หลักการนั้นคือ “ไม่ดูถูกสติปัญญาประชาชน” และไม่ดูถูกพรรคการเมืองอื่น คิดว่าตัวเองดีงามเลิศเลออยู่พรรคเดียว

พรรคการเมืองไหนขับเคลื่อนด้วยทัศนคติเช่นนี้ก็ยากจะอายุยืน