Trump 2.0 ทำให้โลกหนาวกันทั่ว ไทยเก่งพอจะตั้งรับได้แค่ไหน?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

Trump 2.0 ทำให้โลกหนาวกันทั่ว

ไทยเก่งพอจะตั้งรับได้แค่ไหน?

 

หลายวงสนทนาที่ผมนั่งคุยด้วยตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นมีตั้งประเด็นว่า “ทรัมป์เขย่าโลกแน่ ไทยจะปรับตัวอย่างไร?”

ผมเห็นว่ารัฐบาลไทยจะประมาทไม่ได้เป็นอันขาด

หรือจะรอให้ทรัมป์ประกาศนโยบายเป็นชุดๆ หลังเข้ารับตำแหน่งทางการวันที่ 20 มกราคมปีหน้าก็จะช้าไปอย่างมาก

เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์ขับเคลื่อนอย่างไม่รีรอ

ไม่ว่าจะต่อสายถึงเซเลนสกีแห่งยูเครน (และเตรียมเชื่อมต่อกับปูตินแห่งรัสเซีย)…เพื่อเริ่มต้นปูทางสำหรับการยุติสงครามยูเครนอย่างเร็วที่สุด

และเดินหน้าแต่งตั้งตำแหน่งที่จะไปทำตามนโยบายหลักๆ ที่เขาหาเสียงเอาไว้อย่างไม่ลดละ

ตำแหน่งผู้แทนการค้าหรือ US Trade Representative (USTR) จะเป็นหัวใจของการผลักดันนโยบายการค้าของเขา

คนนี้จะต้องเป็นผู้ดำเนินการเจรจาอย่างแข็งกร้าวและดุดัน

เพราะทรัมป์หมายหัวประเทศที่มีตัวเลขดุลการค้าได้เปรียบกับสหรัฐเป็นหลัก

แน่นอนว่าจีนเป็นเป้าหมายหลัก และไม่ว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการหรือไม่ “สงครามการค้า” ระหว่างสองมหาอำนาจก็จะระเบิดขึ้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

และนั่นแปลว่าทรัมป์ก็จะหันมากดดันประเทศอื่นๆ ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ากับอเมริกาเป็นจำนวนมาก (ปีที่แล้ว ไทยส่งออกไปสหรัฐกว่า 48,000 ล้านเหรียญ ขณะที่นำเข้าเพียง 19,000 ล้านเหรียญ) จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเราจะถูกเพ่งเล็งประเด็นนี้

เราจะเพียงอ้าง “ความสัมพันธ์อันยาวนาน” ระหว่างเรากับอเมริกาไม่น่าจะทำให้รัฐบาลทรัมป์จัดเราเป็นประเภทอยู่ในยกเว้น

เพราะเอาเข้าจริงๆ ทรัมป์อาจจะไม่ได้รู้จักประเทศไทยมากนักด้วยซ้ำ

หรือจะสนใจไทยเรามากน้อยเพียงใดก็ยังน่าสงสัย

เพราะเขาจะให้ความสำคัญกับชาติใดก็อยู่ที่เขาคิดว่าจะได้ประโยชน์อะไรเป็นหลัก

ทุกอย่างเป็น transaction หรือ “ธุรกรรม”

 

สิ่งที่ทรัมป์จะทำอีกเรื่องหนึ่งภายใต้นโยบาย Make America Great Again คือการให้บริษัทสหรัฐทั้งหลายที่ไปตั้งโรงงานอยู่ต่างประเทศให้กลับมาที่บ้าน

เพื่อสร้างงานและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสหรัฐเพื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง

ใครไม่กลับจะถูกทำโทษ ใครยอมทำตามจะได้รางวัลในรูปแบบเครดิตภาษี

ดังนั้น หากรัฐบาลและเอกชนไทยจะผนึกกำลังระดมความคิดทำนโยบาย “เชิงรุก” ก็อาจจะส่งให้บริษัทข้ามชาติระดับสากลของไทยเราวางแผนไปลงทุนในอเมริกา

คุณพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประเทศวอชิงตันบอกว่า

“สมัยผมเป็นทูตอยู่ที่อเมริกา ผมไปร่วมงานเปิดของบ้านปูและไทยซัมมิทที่ไปซื้อกิจการที่อเมริกา ไปตั้งโรงงานที่นั่น…รัฐบาลเราต้องสนับสนุนบริษัทไทยรวมทั้งบริษัทที่รัฐบาลไทยหรือกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ไปลงทุนในอเมริกา…”

แต่ไม่ใช่ลงทุนในรัฐไหนก็ได้ ต้องเป็นลงทุนอย่างมียุทธศาสตร์

หากทางรัฐบาลสหรัฐให้แรงจูงใจเท่ากัน ท่านทูตพิศาลบอกให้เริ่มที่ 7 รัฐ

เริ่มจากเพนซิลเวเนีย เพราะมีเสียง electoral votes 19 เสียง

ตามมาด้วย Michigan ที่มี 15 เสียง

และ Wisconsin, Georgia, North Carolina และอื่นๆ

แต่ไม่ใช่ California หรือรัฐที่ไม่มีความสำคัญในการเลือกตั้งของสหรัฐ

โดยต้องสามารถบอกกับทรัมป์หรือทีมงานของเขาว่าบริษัทไทยมาสร้างงาน

เพราะนั่นคือสิ่งที่ทรัมป์ต้องการจะบอกกับฐานเสียงของเขาว่าชัยชนะในการเลือกตั้งของเขาสามารถทำให้บริษัทต่างประเทศมาลงทุนในรัฐเหล่านี้เพื่อสร้างงานและหนุนเนื่องเศรษฐกิจ

“ถ้าบริษัทไทยไปตั้งโรงงานและสร้างงานในรัฐที่มีผลทางการเมือง ทรัมป์จะตาโตทันที และจะรู้จัก Thailand ทันที” ท่านทูตพิศาลแนะนำ

 

ผมเสริมว่าใครที่คิดว่าจะใช้ Soft Power ไทยไปขายในยุคสมัยของทรัมป์ต้องไตร่ตรองให้ดี

เพราะทรัมป์เป็นนักการเมืองที่ใช้ Hard Power ในการต่อรองกับทุกประเทศในโลก ไม่ใช่ Soft Power ของการเจรจาอย่างนิ่มนวลหรือการทูตแบบอ้อมค้อม

ท่านอื่นในวงเสวนาเน้นความสำคัญของการที่ฝ่ายไทยเจาะลงไปสร้างความสัมพันธ์และรู้จักมักคุ้นกับทีมงานทั้งในกระทรวงต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, ทำเนียบขาว

และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ Congressional Staff หรือทีมงานนักวิจัยและผู้ช่วย ส.ส. และ ส.ว. ของรัฐสภาที่เป็นคนทำรายงานและ “ชง” ข้อมูลให้นักการเมืองทั้งฝ่ายรีพับบลิกันและเดโมแครต

การป้อนข้อมูลจากฝ่ายไทยเราให้กับทีมงานระดับปฏิบัติการของรัฐบาลและสภาคองเกรสของสหรัฐมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

เพราะเหล่าบรรดาระดับรัฐมนตรี, ส.ส. หรือ ส.ว. หรือแม้แต่ระดังปลัด-อธิบดีต้องติดตามเรื่องราวของทั้งโลกอย่างกระชั้นชิด ไม่มีเวลามาทำความเข้าใจกับประเทศไทยพอที่จะฟังเราชี้แจงแถลงไขแต่อย่างไร

 

คุณยุทธนา ลิ้มเลิศวาที คนไทยที่อยู่อเมริกามากว่า 30 ปีเสนอว่ารัฐบาลไทยควรจะช่วยให้เจ้าของร้านอาหารไทยที่มีอยู่กว่า 5,000 แห่งในสหรัฐสมัครเป็นสมาชิกของหอการค้าสหรัฐ หรือ US Chamber of Commerce

ด้วยการช่วยจ่ายค่าสมาชิกให้ เพราะเมื่อเป็นสมาชิกแล้วก็จะเป็นช่องทาง “ร้องเรียน ขอความช่วยเหลือ” และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ

เมื่อธุรกิจกลางๆ เล็กๆ ของไทยได้เข้าไปอยู่ในแวดวงของหอการค้าของเขาแล้วก็จะสามารถเจาะเข้าไปสร้างความเชื่อมโยงกับทั้งผู้ประกอบการ, เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนได้เสียในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างเป็นระบบขึ้น

รัฐบาลและเอกชนไทยก็ควรจะต้องกระตุ้นให้ชุมชนไทยในรัฐต่างๆ ของสหรัฐให้มีกิจกรรมด้านการเมืองท้องถิ่นเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนและสร้างอำนาจต่อรองกับนักการเมืองและผู้บริหารท้องถิ่น

เหมือนที่ชุมชนจีน, เกาหลีและเอเชียอื่นๆ (ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มชาวลาติโนและชาติพันธุ์อื่นๆ) ที่มีกิจกรรมที่คึกคักมาก จนสามารถส่งตัวแทนไปแข่งตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นถึงระดับรัฐได้

 

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ เล่าว่ารู้จักกับทูตสิงคโปร์และกัมพูชาในวอชิงตันซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับคนในรัฐบาลอเมริกาลักษณะล็อบบี้เพื่อให้เขาได้ข้อมูลและวิธีคิดของประเทศของตน

รัฐบาลไทยจึงต้องปรับระบบการประสานงานระหว่างทำเนียบรัฐบาลกับกระทรวงทบวงกรมทั้งหลายที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ, เศรษฐกิจ, ความมั่นคงและสังคม

ทุกวันนี้เป็นที่รู้กันว่าแต่ละกระทรวงยังทำงานแบบ “ไซโล” หรือตัวใครตัวมัน

เพราะต่างก็หวงแหนปกป้องงบประมาณของตน

ขาดการวางยุทธศาสตร์ร่วม หรือมีแผนรวมก็แต่เฉพาะบนกระดาษเท่านั้น

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งควรจะเป็นหนึ่งในกลไกของการวางยุทธศาสตร์ที่สามารถบูรณาการกับทุกหน่วยงานของรัฐก็ยังไม่ได้ปปฏิรูปโครงสร้างให้ลดบทบาทของฝ่ายทหารเพื่อให้เกิดการระดมความคิดจากทุกฝ่ายจริงๆ

ยิ่งเมื่อ “ทรัมป์” ฟาดหัวฟาดหางและชูอำนาจต่อรองของมหาอำนาจเบอร์หนึ่งเพื่อกดดันให้ทุกประเทศต้องยอมตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของตน ไทยก็ยิ่งจะต้องออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์เฉพาะหน้าและระยะกลางกับระยะยาว

อีกทั้งยังต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนที่ต้องมีทั้งความยืดหยุ่นและการยึดมั่นในหลักการที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับอำนาจต่อรองของเราในทุกมิติ

ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ บอกผมว่า

“พอทรัมป์ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นอย่างนี้ และเขามุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยวิธีการที่ดุเดือดและตรงไปตรงมา ทุกคนต่างก็หนาวกันหมด…”

ไทยเราหนาวแล้วจะแสวงหาโอกาสให้วิกฤตได้อย่างไร นั่นคือความท้าทายที่อาจจะหนักหนาที่สุดหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นก็ได้!