‘ชต-โตะ มัตเตะ’ (ちょっと待って)

มีใครเคยสงสัยบ้างไหมว่า “รอเดี๋ยว” “เดี๋ยวจะถึงแล้ว รอหน่อย” “เดี๋ยวจะกลับแล้ว” ในชีวิตประจำวันที่เราพูด เราได้ยินจนเคยชินนั้น “เดี๋ยว” ที่ว่าน่ะ นานแค่ไหน? กี่นาที? ใครตอบได้บ้าง?

คนญี่ปุ่นก็เหมือนกัน พูดกันเคยปากบ่อยๆ ว่า “ชต-โตะ มัตเตะ” (ちょっと待って) แปลว่า “รอเดี๋ยว” ในภาษาไทย

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวTBS ไปในที่ชุมชน ลองสอบถามคนญี่ปุ่นวัยต่างๆ กัน ว่า “ชตโตะ มัตเตะ” (รอเดี๋ยว) คำว่า “ชตโตะ” (เดี๋ยว) สำหรับคุณคือ นานกี่นาที? ได้คำตอบ เช่น

คุณยายวัย 70 ปี ตอบว่า 5 นาที

คุณพ่อวัย 40 ปี ตอบว่า 5 นาที เหมือนกัน ถ้านานกว่านี้ก็ไม่น่าจะ “เดี๋ยว” แล้วนะ

สาววัย 20 ปี ตอบว่า 5 นาทีมั้ง?… หรือว่า 10 นาที? แต่ว่า 10 นาทีนานเกินไป ไม่ใช่ “เดี๋ยว” แล้ว

สรุปว่า ผู้คนทั่วไปตอบว่า 5 นาที มากที่สุด แต่ไม่น่าจะมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดหรอก

ผลงานชื่อ “ช่วงเวลา ‘เดี๋ยว’ นานเท่าใด?”

ตรงนี้เองที่จุดประกายให้พ่อหนูน้อยขี้สงสัย เด็กชายโซอิชิโร คาวามูระ (川村総一郎) วัย 9 ขวบ เรียนอยู่โรงเรียนประถมดะโจ (柁城) ชั้นประถมปีที่ 3 เมืองไอระ จังหวัดคาโงชิมา (鹿児島県) ทางตอนใต้สุดของเกาะคิวชู ตอนปิดเทอมฤดูร้อน คุณครูให้การบ้านทุกคนคิดหัวข้อค้นคว้าตามความสนใจ

พ่อหนูน้อยโซอิชิโรสงสัยมาตลอดเวลาได้ยินคุณแม่ หรือผู้ใหญ่รอบตัว พูดว่า “รอเดี๋ยว” “เดี๋ยวค่อยกิน” ฯลฯ ไม่ให้ทำทันที แต่ “เดี๋ยว” ของแต่ละ “เดี๋ยว” ที่ว่าน่ะ ต้องรอนานแค่ไหนกันนะ?

คำถามง่ายๆ แต่ตอบยาก!

พ่อหนูโซอิชิโรจึงปิ๊งไอเดียตั้งหัวข้อวิจัยว่า “ช่วงเวลา ‘เดี๋ยว’ นานเท่าใด?” วิจัยเกี่ยวกับคำว่า “เดี๋ยว” ฟังแค่หัวข้อก็น่าสนใจขึ้นมาแล้ว สำหรับเด็กน้อยวัยนี้!

วิธีการเก็บข้อมูล คือใช้แท็บเล็ตของโรงเรียนทำแบบสอบถามเพื่อนๆ ในโรงเรียน โดยมีคุณแม่เป็น “ผู้ช่วยวิจัย” ใช้ไลน์ และติดต่อทางโทรศัพท์ให้เขาได้สอบถามคุณปู่ คุณย่า ลุง ป้า น้า อา รวมไปถึงเพื่อนบ้านทั้งหลายในละแวกใกล้บ้าน รวมผู้ตอบได้ 135 คน ช่วงอายุระหว่าง 10-70 ปี

สรุปได้คำตอบว่า “เดี๋ยว” ของคนส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ย คือ 5 นาที 27 วินาที! (ละเอียดจริงๆ)

นานพอๆ กับคำตอบ “5 นาที” ที่ผู้สื่อข่าวได้จากการสอบถามคนทั่วไป

หนูน้อยโซอิชิโรไม่ได้จบการวิจัยที่ “คำตอบ” ที่ได้มาเท่านั้น แต่เขาสรุปออกมาในรูปกราฟแท่ง แสดงจำนวนคน และคำตอบที่เป็นช่วงเวลา “นาที” ช่วงเวลาที่มีผู้ตอบมากที่สุดแสดงด้วยกราฟแท่งสูงปรี๊ด และสีที่ชัดเจน แถมด้วยตารางสรุปช่วงอายุของผู้ตอบ เช่น อายุ 6-9 ปี จำนวน 45 คน ค่าเฉลี่ยตอบ 4 นาที 43 วินาที อายุ 10-19 ปี จำนวน 32 คน ค่าเฉลี่ยตอบ 7 นาที 7 วินาที เป็นต้น ดูเข้าใจง่ายมากทีเดียว

หนูโซอิชิโรเขียนสรุปแยกต่างหากจากกราฟแท่ง คำตอบที่ได้มาทั้งหมด “เดี๋ยว” นานประมาณ 5 นาที มากที่สุด เขาคิดว่า 5 นาทีสำหรับตัวเขาเองนั้น “นานมาก”

ไม่ได้จบเพียงแค่รู้ผลสำรวจเท่านั้น มีการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว โซอิชิโรเขียนว่า “คนเราแต่ละคนมีความรู้สึกเรื่องเวลาต่างๆ กัน รู้อย่างนี้แล้วผมจะพยายามไม่ทำให้ใครต้องรอ” “ยังมีการใช้ ‘ชตโตะ’ (เดี๋ยว) ในชีวิตประจำวันอีกมากมายหลายประโยค ผมคิดว่าน่าสนใจ อยากค้นคว้าอีก”

เด็กชาย โซอิชิโร คาวามูระ (川村総一郎)

ผลงานการวิจัยอันโดดเด่นของหนูโซอิชิโรถูกส่งเข้าประกวดระดับจังหวัด “การแข่งขันผลงานกราฟแสดงสถิติ” ในระดับชั้นประถมปีที่ 3-4 ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดรวม 74 ชิ้น

“ช่วงเวลา ‘เดี๋ยว’ นานเท่าใด?” ของเด็กชายโซอิชิโร คาวามูระ ได้รับรางวัลชนะเลิศ!

เมื่อทราบผลตัดสิน เขาตอบคำถามของผู้สื่อข่าวอย่างซื่อๆ ว่า “ตอนแรกผมตกใจมากจริงๆ ครับ ตื่นเต้นที่สุด แล้วสุดท้าย…ค่อยรู้สึกดีใจมากครับ”

ศาสตราจารย์อิชิกาวา มหาวิทยาลัยชิบะ ประธานชมรมการศึกษาเรื่องเวลา (日本時間学会) (The Japanese Society of Time Studies) ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานการทำวิจัยเรื่องเวลา “เดี๋ยว” ของหนูน้อยคนเก่ง ว่า “เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก คนเรามีความรู้สึกเรื่องเวลาต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือ สภาพแวดล้อมขณะนั้น อยากให้ค้นหาคำตอบให้หลากหลายอีก”

“อยากชื่นชมหนูโซอิชิโรที่รู้จักใช้แท็บเล็ตที่ใช้ในการเรียนในโรงเรียนมาช่วยหาคำตอบในสิ่งที่สงสัย และระหว่างทางของการหาคำตอบก็กระตุ้นให้อยากรู้ อยากเห็น และน่าสนุกด้วย”

คุณแม่ของเขาไม่ได้ทำหน้าที่เพียงดูแลและเลี้ยงดูเท่านั้น คุณแม่บอกว่าทุกครั้งที่หนูน้อยสงสัย จะตั้งคำถามขึ้นมาทันที และคุณแม่ไม่เบื่อเลยที่จะตอบคำถาม พร้อมๆ กับกระตุ้นให้ค้นหาคำตอบเพิ่มเติม ยิ่งไปกว่านั้น คุณแม่พร้อมเป็น “ผู้ช่วยวิจัย”! ว่างั้นเถอะ

ชีวิตประจำวันของหนูน้อย ยุ่งไม่ใช่เล่นทีเดียว หลังเลิกเรียนแล้วมีตารางกิจกรรมสลับสับเปลี่ยนไป หลักๆ 4 อย่าง คือ เรียนเคนโด้ คาราเต้ วิชาคิดลูกคิด และเขียนพู่กันจีน

หัวข้อวิจัยต่อไปคือ “ทิศทางการร่อนของเครื่องร่อนกระดาษ” น่าสนใจอีกแล้ว!

อนาคตอยากเป็นอะไร? หนูน้อยโซอิชิโรตอบอย่างอายๆ ว่า “เป็นยูทูบเบอร์ แล้วก็…นักกีฬาเบสบอล” ตอนนี้เล่นเบสบอลอยู่หรือ? “เอ่อ…เปล่าครับ”

อ้าว! ไหงเป็นอย่างงั้นล่ะ?

กราฟแสดงผลสำรวจคนวัย 10-70 ปี รวม 135 คน