
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
เรื่องราวกลุ่มเซ็นทรัล กับตระกูลจิราธิวัฒน์ แยกกันไม่ออกแต่ไหนแต่ไรมา ความเคลื่อนไหวล่าสุด ให้ภาพตอกย้ำเช่นนั้น
เพิ่งผ่านมา บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2567) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารครั้งสำคัญ โดยแต่งตั้ง สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน ญนน์ โภคทรัพย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568
หากย้อนกลับไปเกือบ 2 ปีแล้ว บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN มีมติแต่งตั้ง วัลยา จิราธิวัฒน์ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน ปรีชา เอกคุณากูล (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
ไทม์ไลน์สำคัญข้างต้น เป็นภาพต่อเนื่องอย่างสัมพันธ์กัน ที่น่าสนใจไม่น้อย
มิติแรก เกี่ยวกับกิจการในตลาดหุ้น กลุ่มเซ็นทรัล นำบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจโรงแรมและอาหาร–บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เข้าตลาดหุ้น (ปี 2533) เป็นครั้งแรก จากนั้นตามมาด้วย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ธุรกิจสำคัญข้างเคียงในฐานะผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อค้าปลีก (ปี 2538)
ส่วนกรณีล่าสุดซึ่งเว้นวรรคมาถึง 25 ปี บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ถือเป็นบริษัทหลักสำคัญที่สุดก็ว่าได้ ใช้เวลาเตรียมการอยู่พักใหญ่ จากปลายปี 2562 จนครบกระบวนการเข้าตลาดหุ้นในต้นปีถัดมา (20 กุมภาพันธ์ 2563)
จากจุดนั้นถือได้ว่า เป็นฉากตอนใหม่ในการปรับตัวครั้งสำคัญของธุรกิจครอบครัวไทยซึ่งยาวนาน
เท่าที่ดูรายงานการเงินล่าสุด CRC มีรายได้ปีละราวๆ 250,000 ล้านบาท ขณะ CPN มีรายได้เกือบๆ 50,000 ล้านบาท อาจถือได้ว่าทั้งสองบริษัทมีความสำคัญที่สุดของเครือเซ็นทรัลเวลานี้ ส่วน CETEL ตามมาห่างๆ มีรายได้ระดับ 20,000 ล้านบาท
ภาพที่ใหญ่ขึ้น โครงสร้างบริหารข้างบนมี กลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) ในนามบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด “กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกและบริการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดำเนินธุรกิจหลากหลายแขนง อาทิ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า, ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น, ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต, ธุรกิจร้านอาหาร รวมไปถึงธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์” ภาพกว้างๆ ซึ่งอธิบายกว้างๆ อย่างเป็นทางการไว้ (อ้างมาจาก https://www.centralgroup.com/)
จากข้อมูลทางการ (อ้างแล้ว) พบว่ากลุ่มเซ็นทรัล นอกจากมีถึง 3 บริษัทซึ่งอยู่ตลาดหุ้นไทยแล้ว ยังให้ความสำคัญอีกกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า “ห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ในยุโรป” กำกับคำอธิบายสั้นๆ ไว้ “ด้วยเครือข่ายห้างสรรพสินค้าหรูในเมืองสำคัญ และสุดยอดโลเกชั่นทั่วยุโรป กลุ่มเซ็นทรัลก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ระดับโลก ด้วยอาณาจักรห้างหรูอันยิ่งใหญ่ ครอบคลุมหลายประเทศในยุโรป” มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า “40 สาขา ใน 7 ประเทศ และในเมิองใหญ่ 36 แห่ง”
พิจารณาโดยละเอียดพบว่า มีเพียงบางส่วนในนั้น อยู่ใน CRC “Rinascente ห้างสรรพสินค้าหรูในเครือเซ็นทรัล รีเทล ก่อตั้งในปี 1865 และขยายสาขาจนครอบคลุมกว่า 9 แห่งทั่วอิตาลี” ดังปรากฏในรายงาน
ภาพเป็นไปของ 3 บริษัทข้างต้นโดยเฉพาะ CRC กับ CPN จึงสำคัญ แม้ว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะมีกิจการอื่นๆ อีกไม่น้อย

อีกมิติ ให้ภาพสะท้อนพัฒนาการของกลุ่มเซ็นทรัล ขับเคลื่อนโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ ขยายกิจการอย่างคึกคัก ข้ามผ่านช่วงเวลาวิกฤตการณ์ปี 2540 มาได้ค่อนข้างดี ดูเป็นไปตามแบบแผน โดยทีมบริหารที่ต่อเนื่องที่สุดในบรรดาธุรกิจไทยด้วยโครงร่างธุรกิจครอบครัว
จากจุดเริ่มต้นโดย เตียง จิราธิวฒน์ ต้นตระกูล ผู้บุกเบิกในยุคก่อตั้ง (2499-2511) วางรากฐานสำคัญไว้ เปิดห้างเซ็นทรัลแห่งแรกที่วังบูรพา ถือเป็นต้นแบบห้างสรรพสินค้า (Department store) ในไทย (2499)
จากนั้นสู่รุ่นที่ 2 ในยุค สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ บุตรคนโตของเตียง จิราธิวัฒน์ (2511-2532) ผู้นำพาแสดงบทบาทนำในธุรกิจห้างสรรพสินค้าอย่างเด่นชัด เมื่อมีเซ็นทรัล สีลม (2511) และเซ็นทรัล ชิดลม (2516)
ตามมาด้วยยุค วันชัย จิราธิวัฒน์ (2532-2555) น้องชายซึ่งตามกันมา ได้ยกระดับไปอีกขั้น ช่วงคาบเกี่ยวการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed-Use) มีโมเดลศูนย์การค้า (Shopping mall) – เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว (2525) และโรงแรม (2526) อยู่ด้วยกัน ว่าไปแล้ว เป็นต้นแบบ และที่มาของ CPN และ CENTEL จนเห็นผล และเข้าตลาดหุ้น
นอกจากนั้น ยังเป็นช่วงเวลาขยายอาณาจักรไปอย่างกว้างขวาง ด้วยความพร้อมและมั่นใจอย่างเต็มที่ของทีมบริหารที่มีประสบการณ์ เป็นปึกแผ่น ล้วนเป็นคนในตระกูลจิราธิวัฒน์
สิ่งสำคัญ เตียง จิราธิวัฒน์ ให้ไว้ไม่เพียงเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ หากมีทายาทจำนวนมากด้วย ซึ่งต่อมากลายเป็นพลังสำคัญ จากข้อมูลซึ่งอ้างอิงได้ (จากหนังสือ “จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์” หนังสืออนุสรณ์งานศพสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ปี 2535) ระบุ เขามีบุตร-ธิดาจากภรรยา 3 คน รวมกันมากถึง 26 คน อายุห่างจากคนแรก ถึงคนสุดท้ายราวๆ 30 ปีทีเดียว
ที่สำคัญในยุคสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ได้สร้างแบบแผนการดำรงอยู่ของครอบครัวไว้อย่างเป็นปึกแผ่น เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง อย่างน้อยใน 2 มิติ
หนึ่ง-พยายามให้สมาชิกในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดี ผ่านการทำงานและแชร์ผลประโยชน์ร่วมกัน
สอง-ให้โอกาสศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ ประหนึ่งเป็นการเตรียมทีมงานที่พร้อมจะรับช่วงกิจการต่อๆ ไป ต่อมาในยุควันชัย จิราธิวัฒน์ ช่วงฝ่าวิกฤตการณ์ปี 2540 จึงกลายเป็นรูปแบบ Family Council
อันที่จริงในช่วงคาบเกี่ยวนั้น บรรดาสมาชิกจิราธิวัฒน์หลายคนได้จบการศึกษาและผ่านประสบการณ์ทำงานกันมาพอสมควร ส่งผลให้เกิดการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นระบบควบคู่ไปด้วย

ว่าด้วยผู้นำ จากตำแหน่งประธานกลุ่มเซ็นทรัล บทบาทอย่างกว้างๆ ทั้งธุรกิจ และครอบครัว จากสัมฤทธิ์ ถึงวันชัย สู่โครงสร้างใหม่ มีตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม” ดูแลธุรกิจในเครือเป็นการเฉพาะ
เท่าที่ติดตาม น่าจะมีเค้าลางมาตั้งแต่ยุคการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อรับการขยายตัวในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูก่อนวิกฤตการณ์ ด้วยปรากฏชื่อ สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ (บุตรคนสุดท้องจากภรรยาคนแรก) มีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตการณ์ ตามมาด้วย สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ (บุตรคนที่ 4 จากภรรยาคนที่ 2) มีบทบาทขึ้นมาโดยเฉพาะเป็นผู้บริหาร CPN ที่ต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ ใน Profile ของเขา ยังระบุไว้ด้วยว่า เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ในช่วงปี 2552-2556 ด้วย
เป็นจังหวะต่อเนื่องพอดีกับอีกยุค เมื่อ ทศ จิราธิวัฒน์ (บุตรคนสุดท้องของสัมฤทธิ์) ก้าวขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
โครงสร้างการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ตระกูลจิราธิวัฒน์ มีความซับซ้อนพอประมาณ ที่สำคัญดูเป็นส่วนผสมระหว่างรุ่นที่ 2 กับรุ่นที่ 3 อย่างลงตัว
โครงสร้างใหญ่ ในนาม คณะกรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งปรากฏชื่อชัดเจน (อ้างจาก https://www.centralgroup.com/) ล้วนเป็นรุ่น 3 ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับแผนการใหม่ๆ อย่างที่ผ่านมา ว่าด้วยการขบายเครือข่ายในต่างประเทศ ขณะบริษัทหลักสำคัญ – CRC กับ CPN ยังคงอยู่ในมือคนรุ่นที่ 2 เป็นไปอย่างน่าทึ่ง
วัลยา จิราธิวัฒน์ และ สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ เป็นพี่น้องจากมารดาคนเดียวกัน (ภรรยาคนที่ 3 ของเตียง จิราธิวัฒน์) หมายเลขที่ 24 และ 26 ตามลำดับ สุทธิสารมาหลังสุด ด้วยเป็นบุตรสุดท้อง เป็นคนสุดท้ายแห่งรุ่น 2
จะว่าไป ทั้งสองผ่านการบ่มเพาะ ด้วยมีความรู้ และประสบการณ์อันเชี่ยวกรำ ทั้งยังอยู่วัยที่เหมาะสม •