สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [3] วัฒนธรรมอินเดียเข้าถึงสุวรรณภูมิ

ก่อนรับวัฒนธรรมอินเดีย บริเวณสุวรรณภูมิมีชุมชนเมืองใหญ่ มีหัวหน้าเผ่าพันธุ์เป็นหญิง (อำนาจเหนือชาย) มีความเคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนค้าขายทองแดงและอื่นๆ กับพ่อค้านักเสี่ยงโชคจากอินเดียที่ทำการค้าระยะไกลทางทะเล

หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม ทำหน้าที่ (ศาสนา-การเมือง) หัวหน้าเผ่าพันธุ์ ส่วนชายเป็นบ่าวของหญิง (พิธีแต่งงานเรียกชายเป็นบ่าวของสาว หมายถึงชายเป็นข้าของหญิง)

ในการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทร บรรดานักเสี่ยงโชคทางการค้าจากอินเดียใต้ต้องเข้าหาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับหัวหน้าเผ่าพันธุ์

ต่อมาหัวหน้าเผ่าพันธุ์ว่าจ้างนักเสี่ยงโชคบางคนบางกลุ่มเป็นที่ปรึกษาเรื่องต่างๆ ทั้งด้านการค้า, การเมือง, การศาสนา ตลอดจนข้อมูลความรู้ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ โดยไม่มีอำนาจครอบงำและสั่งการใดๆ ดังพบว่าหัวหน้าเผ่าพันธุ์เลือกรับวัฒนธรรมอินเดียด้วยวิธีไม่รับทั้งหมดที่มาจากอินเดีย เช่น ไม่ลึกซึ้งในปรัชญาขั้นสูง, ไม่รับระบบวรรณะ เป็นต้น

ไม่ลึกซึ้งในปรัชญาขั้นสูง หมายถึง ไม่ลึกซึ้งในปรัชญาและวรรณกรรมชั้นสูงทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะเน้นพิธีกรรมเป็นสำคัญเหนืออย่างอื่น

ไม่รับระบบวรรณะ หมายถึง ไม่รับระบบวรรณะของอินเดีย ซึ่งมีกษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์, ศูทร (และจัณฑาล) จึงพบว่าในไทยมีระบบไพร่ของพื้นเมือง แต่ไม่มีระบบวรรณะ

แต่ไม่ตายตัวทั่วไป อาจมีชุมชนเมืองบางแห่งมีความสัมพันธ์ต่างจากนี้ก็ได้ ดังพบในเรื่องเล่าต่อไปนี้

เรือเลียบชายฝั่งที่แล่นไปค้าขายกับสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ เรือบนตราดินเผา ราวหลัง พ.ศ.1000 พบที่เมืองนครปฐมโบราณ จ.นครปฐม (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
เรือบนตราดินเผาและลายเส้นจำลอง ราวหลัง พ.ศ.1000 พบที่เมืองนครปฐมโบราณ จ.นครปฐม (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

นางนาคกับพ่อค้าอินเดีย

วัฒนธรรมอินเดียเข้าถึงสุวรรณภูมิ โดยหญิงหัวหน้าเผ่าพันธุ์เลือกรับเข้าในบ้านเมืองของตน

ดังพบเรื่องเล่าเก่าแก่บอกว่าหญิงพื้นเมืองหัวหน้าเผ่าพันธุ์ คือนางนาค (ธิดาพญานาค) ชื่อโสมา ได้ยกย่องพราหมณ์โกณฑินยะจากอินเดีย (ที่มาติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขาย) ว่าเป็นผู้ทรงภูมิในศิลปวิทยาการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงขอให้วางผังสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่ตามความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ในคัมภีร์พราหมณ์ ดังมีข้อความในจารึกภาษาสันสกฤตของรัฐจามปา เรือน พ.ศ.500-600 ดังนี้

“พราหมณ์โกณฑินยะผู้ได้รับหอกมาจากพราหมณ์อัศวัตถามันบุตรแห่งพราหมณ์โทรณะ ได้พุ่งหอกนั้นไปเพื่อสร้างราชธานี ต่อจากนั้นจึงได้สมรสกับธิดาพระยานาคผู้มีนามว่าโสมา และได้สืบเชื้อวงศ์ต่อมา”

[ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตของอาณาจักรจามปา พบในเวียดนาม]

พราหมณ์ในเรื่องเล่าหมายถึงพ่อค้านักเสี่ยงโชคชาวอินเดียผู้ทำการค้าระยะไกลทางทะเล และเป็นผู้นำเข้าวัฒนธรรมอินเดียถึงสุวรรณภูมิ

คำว่า “พราหมณ์” ในอุษาคเนย์ เป็นคำเหมารวมเรียกชาวฮินดูทั้ง 4 วรรณะ ดังนั้น พราหมณ์ในเรื่องเล่าเหล่านี้หมายถึงชาวฮินดูวรรณะไวศยะที่ทำมาค้าขายกับอุษาคเนย์ (สรุปจากการสนทนาขอความรู้จาก อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว)

นางนาคและกองทัพหญิงต่อสู้กับกองทัพโกณฑินยะจากอินเดีย [ภาพสลักหน้าบันปราสาทนครวัด กัมพูชา อายุราวหลัง พ.ศ.1650 (ภาพจากหนังสือ Khmer mythology : Secrets of Angkor. Vittorio Roveda. Bangkok : River Books, 1997.)]

นางใบมะพร้าว “เปลือย”

การรับวัฒนธรรมอินเดียมิได้ราบรื่นเสมอไปทุกแห่งในสุวรรณภูมิ เพราะบางแห่งหรือหลายแห่งอาจมีปะทะขัดแย้งรุนแรงมากบ้างน้อยบ้างระหว่างเผ่าพันธุ์พื้นเมืองกับพ่อค้าจากอินเดีย แต่เรื่องนางใบมะพร้าวดัดแปลงจากเรื่องนางนาคโสมา แล้วสร้างโครงเรื่องใหม่ให้นางนาคมาถูกปราบปรามซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้

ดังพบเรื่องเล่าจากเอกสารจีนว่านางใบมะพร้าวเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมือง รวบรวมผู้คนต่อต้านการเข้ามาของพ่อค้าอินเดีย แต่ไม่สำเร็จ เพราะถูกพ่อค้าอินเดียซึ่งมีอาวุธเหนือกว่าโจมตีกลับ นางใบมะพร้าวจึงอ่อนน้อมยอมเป็นเมียของหัวหน้าชาวอินเดีย

เรื่องเล่าจากเอกสารเป็นสัญลักษณ์การรับวัฒนธรรมอินเดียของชุมชนพื้นเมืองสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ ดังนี้

“พระราชาองค์แรกของอาณาจักรฟูนันเป็นชาวอินเดียทรงพระนามว่าฮุนเถียน (Hun-t’ien) คือโกณฑินยะ ท่านผู้นี้ได้มาจากประเทศอินเดียหรือแหลมมลายูหรือหมู่เกาะอินโดนีเซีย โดยฝันไปว่าเทวดาประจำตระกูลได้มอบศรให้ และสั่งให้ลงเรือไป

ครั้นตอนเช้าโกณฑินยะได้พบศรวางอยู่ที่โคนต้นไม้ในเทวาลัย จึงได้ลงเรือมาจนถึงอาณาจักรฟูนัน นางพญาแห่งอาณาจักรนั้นทรงนามว่าลิวเย (Liu-ye) หรือนางใบมะพร้าวก็ต้องการที่จะปล้นสะดมและยึดเรือลำนั้น โกณฑินยะจึงแผลงศรไปทะลุเรือนางลิวเย นางก็ตกใจกลัวจึงยอมอ่อนน้อมเป็นภรรยาของโกณฑินยะ

ขณะนั้นนางมิได้สวมเสื้อผ้า โกณฑินยะจึงพับผ้าเข้าและสวมลงไปบนศีรษะของนาง ต่อจากนั้นเขาก็ขึ้นปกครองประเทศและสืบเชื้อพระวงศ์ต่อมา”

[จากเอการจีนคังไถ่ และจูยิง ราวหลัง พ.ศ.700]

เรื่องเล่าไม่ใช่เรื่องจริง จึงเป็นนิทานที่เชื่อถือจริงจังไม่ได้ แต่มีร่องรอยเป็นสัญลักษณ์ดังนี้

นางใบมะพร้าว สัญลักษณ์ของหญิงเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองสุวรรณภูมิสมัยนั้น

ไม่สวมเสื้อผ้า สัญลักษณ์ของคนพื้นเมืองที่ล้าสมัยทางเทคโลยี ต่อมาถูกเรียกด้วยภาษาของอินเดียว่า “นาค” แปลว่าเปลือย ซึ่งเป็นคำด้อยค่าคนพื้นเมือง

นุ่งผ้าให้นางใบมะพร้าว สัญลักษณ์ของการรับวัฒนธรรมอินเดีย

โกณฑินยะ สัญลักษณ์ของพ่อค้ามีเรือนำเข้าวัฒนธรรมอินเดียถึงสุวรรณภูมิ •