มองไทยใหม่ : เขวา กับ เขว้า อ่านว่าอย่างไร

ปัญหาการอ่านคำที่มีพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงต่อกัน จำเป็นต้องรู้จักสระหน้า สระหลัง และสระโอะลดรูป เสียก่อน

สระหน้าหมายถึงสระที่วางอยู่ข้างหน้าพยัญชนะต้นของพยางค์ ในภาษาไทยมีอยู่ ๕ รูป คือ สระเอ สระแอ สระโอ ไม้ม้วน ไม้มลาย เช่น เจ แจ โจ ใจ ไจ

สระหลังหมายถึงสระที่วางอยู่ข้างหลังพยัญชนะต้นของพยางค์ ในภาษาไทยมีอยู่ ๒ รูป คือ สระอะ สระอา เช่น จ๊ะ จ๋า

นอกจากนี้ ยังมีสระที่ประกอบด้วยสระหน้ากับสระหลังอีก ๑ รูป คือ สระเอา เช่น เจ้า

สระโอะลดรูป คือเสียงโอะที่ไม่ปรากฏรูป เกิดขึ้นเมื่อพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงต่อ เช่น กน ขน คน

พยัญชนะต้นมีทั้งแบบพยัญชนะเดี่ยวและแบบพยัญชนะคู่ พยัญชนะเดี่ยวมีตัวเดียว ส่วนพยัญชนะคู่มี ๒ ตัวเรียงต่อกัน โดยมีวิธีอ่าน ๓ แบบ คือ แบบเคียงกันมา แบบนำกันมา หรือ แบบควบกันมา

แบบเคียงกันมา แทรกเสียงอะเล็กน้อย เช่น อาตมา อ่านว่า [อาด-ตะ-มา]

แบบนำกันมา ออกเสียงตามพยัญชนะตัวแรก เช่น วาสนา อ่านว่า [วาด-สะ-หนา]

แบบควบกันมา ออกเสียงไปพร้อมๆ กัน เช่น ปราบปราม

ปัญหาการอ่านเกิดขึ้นเมื่อผู้อ่านเกิดความสับสนว่า พยัญชนะที่เรียงต่อกันนั้น จะต้องอ่านแบบพยัญชนะเดี่ยว ๒ ตัวเรียงต่อกัน อ่านอย่างพยัญชนะคู่ หรืออ่านอย่างสระโอะลดรูป

ขอยกตัวอย่างคำจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เฉพาะกลุ่ม ก ไก่ และ ข ไข่ ดังนี้

เกรง เกร่อ เกรอะ เกลอ เกลา เกล้า เกศา เกษม แกรก แกระ แกล้ง แกลน แกลบ แกล้ม แกละ แกว่ง แกว่น โกรก โกรง โกร่ง โกร๋งเกร๋ง โกรธ โกร๋น โกลน เขดา เขนง เขม่น เขม้น เขมร เขมา เขม่า เขยก เขย่ง ขะเย้อแขย่ง เขย่า เขลง เขละ เขลา แขนง แขม แขยง แขย่ง แขวก แขวน แขวง แขวะ โขดง โขนง โขมง โขมด โขยก โขยง โขลก โขลง โขลน

ตัวอย่างข้างต้นนี้มีการอ่านทั้งแบบเคียงกันมา นำกันมา และควบกันมา

โดยทั่วไปผู้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ และเรียนการอ่านภาษาไทยในโรงเรียนไทย จะไม่แยกพยัญชนะคู่ออกเป็นพยัญชนะเดี่ยว ๒ ตัวเรียงต่อกัน ถ้าพยัญชนะตัวที่ ๒ เป็น ร ล ว ก็จะอ่านแบบควบกันมา ฉะนั้นจึงมักจะไม่อ่านคำอย่าง เกรง เกลอ แกว่ง เขลา แขวน ว่า *[เก-รง] *[เก-ลอ] *[แก-ว่ง] *[เข-ลา] *[แข-วน] ตามลำดับ เพราะไม่มีคำเหล่านี้ในภาษา (เครื่องหมาย * หมายความว่าไม่มีใช้ในภาษา) ถ้าพยัญชนะตัวที่ ๒ ไม่ใช่ ร ล ว ก็มักจะอ่านแบบเคียงกันมา หรือ แบบนำกันมา เช่น เกษม [กะ-เสม] เขดา [ขะ-เดา] เขนง [ขะ-เหนง] เขมร [ขะ-เหมน] เขยก [ขะ-เหยก]

อย่างไรก็ตาม คำว่า เกศา จะแยกเป็นสระหน้าเอ กับสระหลังอา อ่านว่า [เก-สา] ไม่ใช่ *[กะ-เสา] เพราะไม่มีคำที่อ่านว่า *[กะ-เสา] ในภาษา

คําที่จะเป็นปัญหาในการอ่านก็คือคำที่อ่านได้ ๒ อย่าง อย่างคำว่า เขมา กับ แขม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ เก็บไว้ว่า

เขม-, เขมา ๑ [เขมะ-, เข-มา] น. เกษม, ความสบายใจ, ความพ้นภัย. (ป.; ส. เกฺษม).

เขมา ๒ [ขะเหฺมา] น. โกฐเขมา. (ดู โกฐเขมา ที่ โกฐ). (ข. เขฺมา ว่า ดํา).

แขม ๑ [แขมฺ] น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Saccharum arundinaceum Retz. ในวงศ์ Gramineae มักขึ้นตามชายนํ้า ชายป่า และชายเขาที่ชุ่มชื้น, พง ก็เรียก.

แขม ๒ [ขะแม] น. คนเขมร, เขียนเป็น แขมร์ ก็มี.

คำเหล่านี้จะอ่านได้ก็ต้องรู้จักที่มาของคำเสียก่อน จะอาศัยความเคยชินมิได้

กลับมาที่ชื่อเรื่องครั้งนี้ เขวา กับ เขว้า อ่านว่าอย่างไร

คํา ๒ คำนี้เป็นภาษาถิ่น คนทั่วไปที่เป็นคนต่างถิ่นจะเดาไม่ออกว่า ข ไข่ กับ ว แหวนเป็นพยัญชนะคู่หรือพยัญชนะเดี่ยว ๒ ตัวเรียงกัน

เครื่องมือที่สะดวกที่สุดที่จะใช้ตรวจสอบได้ก็คือ application ชื่อบ้านนามเมือง ของ ราชบัณฑิตยสภา ซึ่งให้ความรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ว่า มีอำเภอ ๒ อำเภอ และตำบล ๕ ตำบล ที่เขียนแบบนี้ คือ

อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ

อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

ตำบลเขวาทุ่ง อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด

ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

ตำบลโพนเขวา อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

ตำบลลุงเขว้า อำเภอหนองบุญนาก จังหวัดนครราชสีมา

“ขว” ในคำว่า เขวา และ เขว้า เป็นพยัญชนะคู่ อ่านแบบควบกันมาทั้งสิ้น ไม่มีการแยก ข ไข่ กับ ว แหวน ออกจากกัน

การอ่านจึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนและรอบรู้