Zul Mahmod ศิลปินผู้สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Zul Mahmod

ศิลปินผู้สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี

ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024

 

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินระดับสากลอีกคนที่เดินทางมาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า ซูล มาห์ม็อด (Zul Mahmod) ศิลปินร่วมสมัยผู้ทำงานด้านศิลปะเสียง (Sound Art) ระดับแนวหน้าของสิงคโปร์ เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะที่ผสมผสานรูปทรงสามมิติเข้ากับโครงสร้างและภูมิทัศน์ของเสียง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดึงดูดผู้ชมให้ดำดิ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผลงานศิลปะ

ผลงานของเขามักกระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักรู้ต่อประเด็นด้านสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ซูลได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยในหลากหลายประเทศ รวมถึง มหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 52 ในปี 2007 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์นำเสนอผลงานศิลปะเสียงเต็มรูปแบบ

ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ซูลนำเสนอผลงาน ONAT Of Nature and Technology : A Symphony of Coexistence (2024) ที่ชี้ชวนให้ผู้ชมตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี ด้วยการนำท่อนซุงเก็บตกจากต้นไม้ที่ถูกตัดทิ้งเอาไว้ มาติดตั้งวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และตัวรับคลื่นวิทยุ FM แปลงสัญญาณออกมาเป็นเสียงให้ผู้ชมได้รับฟัง

“ผลงานชิ้นนี้ของผมมีเสียงจาก 4 แหล่ง หนึ่งคือเสียงจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดบนตัวประติมากรรมไม้ซุง สองคือเสียงจากตัวรับสัญญาณวิทยุ FM และสุดท้ายคือเสียงดนตรีทดลองที่ผมสร้างขึ้นมา เสียงเหล่านี้ถูกเปิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน แนวคิดของงานนี้คือการ ‘รับฟัง’ ที่ไม่ใช่แค่การได้ยิน เมื่อคุณเข้ามาชม (หรือฟัง) ผลงานชิ้นนี้ เสียงอาจเปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบๆ ผลงาน แนวคิดอีกอย่างของผลงานนี้คือการรับฟังธรรมชาติ”

“ตัวงานเป็นรูปแบบของการสื่อสาร หรือบทสนทนาระหว่างท่อนซุงและเทคโนโลยีที่ติดตั้งบนท่อนไม้ซุง ด้วยความที่ท่อนซุงเหล่านี้มีอายุหลายสิบปี ผ่านวงจรชีวิต กาลเวลา ภูมิอากาศ ได้สัมผัสธรรมชาติ และสังคมเมืองรอบๆ ตัว หรือแม้แต่เคยมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายอาศัยอยู่”

“ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคโควิด-19 การกักตัวของมนุษย์ทำให้ธรรมชาติหวนกลับมาเติบโต งอกงามอีกครั้ง ช่วงเวลานี้อาจทำให้เราเรียนรู้อะไรบางอย่าง อย่างเช่น การทำความเข้าใจหรือสดับรับฟังเสียงจากธรรมชาติมากขึ้น”

ซูลยังเป็นศิลปินที่มาร่วมงานในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 เพียงคนเดียว ที่เดินทางมาทำงานในพื้นที่อย่างยาวนานถึง 1 เดือน ก่อนที่พื้นที่แสดงงานและอาคาร วัน แบงค็อก จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ โดยทำงานชิ้นนี้อยู่ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างที่กำลังถูกก่อร่างสร้างขึ้นอยู่เพียงคนเดียว

“แรงบันดาลใจอีกอย่างของผมก็คือ ผมได้ทราบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่แสดงงานแห่งนี้จากภัณฑารักษ์ของเทศกาลว่า เคยเป็นสถานีวิทยุเก่า (สถานีวิทยุศาลาแดง สถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของไทย) ตอนที่เลือกสถานที่แสดงงาน ผมจึงสนใจมาทำงานในสถานที่แห่งนี้ เพราะมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดในผลงานของผม ในงานชุดนี้ผมติดตั้งตัวรับสัญญาณวิทยุ FM เข้าไป ถ้าเราปรับตัวรับสัญญาณดีๆ เราก็สามารถฟังวิทยุจากผลงานชิ้นนี้ได้ บางจังหวะถ้าลองฟังดีๆ ก็อาจจะได้ยินเสียงที่เผยแพร่ผ่านสัญญาณวิทยุด้วย”

ผลงานชิ้นนี้ของซูล ยังสื่อถึงสัญลักษณ์ของความเป็นพื้นที่สองประเภทที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง พื้นที่แรกคือพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองมากๆ อย่าง วัน แบงค็อก ที่สื่อผ่านตัวรับสัญญาณวิทยุ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ พื้นที่ที่สองคือพื้นที่ที่มีความเป็นธรรมชาติ อย่างสวนลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยต้นไม้อันร่มรื่น ที่น่าสนใจก็คือ ประติมากรรมเสียงชิ้นนี้ยังทำงานสัมพันธ์กับระดับแสงแดดที่สาดส่องเข้ามากระทบตัวงานในพื้นที่แสดงงาน ด้วยเซ็นเซอร์รับแสง ทำให้ระดับเสียงแปรเปลี่ยนไปทั้งดังและเบา สลับกันไปมาตลอดทั้งวัน

“ผลงานชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายในการกระตุ้นให้ผู้ชมหวนกลับไปฟังเสียงรอบๆ ตัวที่มีความสำคัญมากกว่าแค่การได้ยินเท่านั้น ทั้งเสียงธรรมชาติ เสียงของระบบนิเวศรอบๆ ตัว เพราะทุกวันนี้ผู้คนมักเอาแต่พูดๆๆ โดยไม่รับฟัง ผมอยากให้ผู้คนใช้เวลาสำรวจ รับฟัง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรามากขึ้น”

แต่ในขณะเดียวกัน เสียงที่เราได้ยินจากงานชิ้นนี้เอง ก็ฟังดูเหมือนเสียงที่มีแหล่งกำเนิดจากเมือง หรือแม้แต่เสียงจากระบบอุตสาหกรรม ที่อยู่ตรงกันข้ามกับเสียงจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง

“นั่นก็จริง เพราะแน่นอนว่าเสียงจากสัญญาณวิทยุและเสียงจากวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในตัวงานนี้นั้นเป็นเสียงที่มีที่มาจากเทคโนโลยี ส่วนเสียงของธรรมชาตินั้นเป็นเสียงของดนตรีทดลองที่ผสมจากเสียงของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะสิ่งที่ผมสนใจมากกว่าแหล่งที่มาของเสียง คือบทสนทนาระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี ว่ามันจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนได้ไหม”

“อีกอย่าง ตัวท่อนซุงทั้งสาม ที่ถูกนำมาสร้างผลงานเอง ก็เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องราว ความลับซ่อนเร้น และความทรงจำมากมาย เหตุผลที่ผมนำเทคโนโลยีผสานเข้าไปในท่อนซุงเหล่านี้ก็เพื่อหลอมรวมสิ่งละอันพันละน้อยต่างที่ว่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ความขัดแย้งอีกประการเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ของซูลก็คือ มันถูกติดตั้งอยู่ในพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่โตมโหฬาร ที่เซ็งแซ่ด้วยเสียงอึกทึกครึกโครม แต่ในทางกลับกัน ความอึกทึกครึกโครมเช่นนี้ก็ทำให้เราโหยหาที่จะฟังความเงียบสงัด ดังเช่นในบทเพลง 4?33? ของ จอห์น เคจ (John Cage) นักประพันธ์ดนตรีชาวอเมริกัน ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมสดับรับฟังความเงียบสงัดเป็นเวลา 4 นาที 33 วินาที นั่นเอง

“ด้วยความที่พวกเราต่างอยู่ในเมืองใหญ่ เราจึงไม่อาจหนีจากเสียงอึกทึกครึกโครมเหล่านี้ได้เป็นเรื่องปกติ แต่ผมเชื่อว่า เราสามารถหาห้วงเวลาแห่งความเงียบสงบได้ ถึงแม้เราจะอยู่ในเมืองใหญ่ก็ตาม สำหรับผม เสียงต่างๆ ที่เราได้ยินทุกเสียงนั้นมีความสำคัญ เพราะการมีอยู่ของเสียงต่างๆ นั้นหมายถึงความปกติ แต่การหายไปของเสียงต่างหาก ที่แสดงถึงความผิดปกติ เพราะแม้แต่ในบทเพลง 4?33? ของ จอห์น เคจ นั้นก็ไม่ได้เงียบสนิทอย่างสิ้นเชิง แต่ยังคงมีเสียงของบรรยากาศ เสียงขยับตัว เสียงกระแอมไอของผู้ชม หรือแม้แต่เสียงของสภาพแวดล้อมรอบตัวให้ได้ยินอยู่ดี”

ถึงแม้ซูลจะเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินเสียง (Sound Artist) แต่ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ของเขาก็เต็มไปด้วยรายละเอียดและสุนทรียะทางสายตาอันน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ต่างอะไรกับงานทัศนศิลป์ (Visual Art) อย่างงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางเลยแม้แต่น้อย

“อาจเป็นเพราะผมมีพื้นเพมาทางสายวิจิตรศิลป์ (Fine Art) ผมร่ำเรียนมาในสาขาประติมากรรม แต่ผมนำเสนอเสียงในฐานะงานศิลปะร่วมสมัย ถึงแม้ศิลปินเสียงบางคนจะนิยามตัวเองในฐานะนักดนตรี แต่ผมไม่ใช่ ผมนำเสนอตัวเองในฐานะผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัสดุ และนำเสนอเสียงผ่านวัตถุทางกายภาพที่มองเห็นและจับต้องได้ งานผมจึงมีทั้งภาพ วัตถุ และเสียง”

“ผมทำงานศิลปะเสียงมาเกือบ 20 ปี ก่อนหน้านี้ผมทำงานด้วยการบันทึกและผสมเสียง แล้วนำเสนอผ่านลำโพงหลายชนิดที่ให้เสียงที่แตกต่างกัน แต่ผมอยากท้าทายตัวเองว่าผมจะไปได้ไกลแค่ไหนในขอบเขตของการทำงานศิลปะเสียง ผมจึงทำงานทั้งเสียงทดลอง เสียงอิเล็กทรอนิกส์ ทำงานร่วมกับนักเต้น ไม่ใช่แค่การเล่นเสียงผ่านลำโพงเท่านั้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการที่ผมทดลองด้วย บางครั้งผมทำงานกับลำโพง 30 ตัว ที่แขวนอยู่บนผนัง เพื่อให้ผู้ชม (และผู้ฟัง) ได้สัมผัสกับประสบการณ์แห่งการดำดิ่งเข้าไปในมวลของเสียง”

“เวลาทำงานแต่ละชิ้นออกมา ผมไม่ได้มองถึงสุนทรียะหรือความงามเป็นอันดับแรก แต่ผมนึกถึงการใช้งานในการสร้างเสียงที่ผมต้องการมากกว่า อาจเป็นเพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผมศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของประติมากรรม เพื่อสำรวจว่าผมจะขยายขอบเขตของงานศิลปะทั้งทางสายตาและทางเสียงได้กว้างไกลแค่ไหน แต่โดยหลัก ผมจะให้ความสำคัญกับเสียงมากกว่า”

“แน่นอนว่าผมปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานชิ้นนี้ส่งผลกระทบทางสายตาต่อผู้ชมเหมือนกัน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในผลงานชิ้นนี้คือไอเดียและแนวคิดเป็นอันดับแรก และตัวท่อนซุงเองก็เต็มไปด้วยร่องรอยและรายละเอียดทางสายตาอยู่จริงๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในผลงานชิ้นนี้คือเสียงมากกว่า”

เมื่อเห็นงานเสียงที่ประกอบขึ้นจากวัสดุธรรมชาติอย่างท่อนซุงเช่นนี้ ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะอยากได้ยินสรรพเสียงของสิ่งมีชีวิตหลากชนิดที่เคยและอาจจะยังอาศัยอยู่ในท่อนซุ่งทั้งสามท่อนนี้

“แน่นอนว่ามันน่าสนใจ แต่บางครั้งเราก็มีข้อจำกัดของระเบียบในการจัดแสดง อย่างการแสดงในห้างสรรพสินค้าก็อาจจะเป็นการยากที่ให้มีสัตว์ต่างๆ หลงเหลืออยู่ในท่อนไม้เหล่านี้ เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับสถานที่ได้ อีกอย่าง เวลาผมทำงาน ผมไม่ค่อยจำลองสภาพแวดล้อมขึ้นมาใหม่ เพราะผมคิดว่ามันจะดูปลอม ผมอาจจะการบันทึกเสียงมาก็ได้ แต่ผมต้องการเสียงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริงๆ ในเวลาจริง ให้คนได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงมากกว่า”

“ด้วยความที่ผมใช้ตัวรับสัญญาณวิทยุ FM ทำให้เสียงที่ได้มาไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละช่วงเวลา บางครั้งเราจึงอาจจะได้ยินเสียงดนตรี หรือเสียงผู้คนพูดคุย และด้วยความที่ในตัวผลงานมีเซ็นเซอร์รับแสง ส่งผลให้ระดับเสียงเปลี่ยนแปลงไปตามระดับแสงในแต่ละช่วงเวลา ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนบทสนทนาที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่เสียงที่วนซ้ำไปมา ทำให้ผลงานชิ้นนี้ดูเหมือนมีชีวิตและลมหายใจจริงๆ”

ผลงาน ONAT Of Nature and Technology : A Symphony of Coexistence ของ ซูล มาห์ม็อด จัดแสดงใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567-5 กุมภาพันธ์ 2568 ณ พื้นที่แสดงงาน วัน แบงค็อก (One Bangkok) อาคาร The Storeys ชั้น 2 เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 12:00-20:00 น. ปิดทำการวันจันทร์ (เข้าชมฟรี) ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/

ขอบคุณภาพจากศิลปิน ซูล มาห์ม็อด •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์