ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
“หลวงปู่เทียม สิริปัญโญ” หรือ “พระวิสุทธาจารเถร” เป็นพระเถระที่เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และเป็นพระนักพัฒนา ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา
ช่วงวัยหนุ่ม อยู่จำพรรษาตามวัดต่างๆ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม พร้อมด้วยสรรพวิทยาคม มีโอกาสศึกษาตำรับพิชัยสงครามของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว พระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
รวมถึง “ตำรับมหาระงับแบบพิสดาร” อันเป็นต้นตำรับเดิมของวัดประดู่ทรงธรรม ที่สืบมาแต่ครั้งกรุงเก่า ที่มีสมเด็จพระพนรัตน์ เป็นปฐมบูรพาจารย์
ทำให้วัตถุมงคลที่จัดสร้างและปลุกเสก โดยเฉพาะเหรียญคณาจารย์และตะกรุด เป็นที่เลื่องลือ
สำหรับตะกรุดเป็นที่นิยมมาก สร้างตะกรุดไว้หลายอย่าง เช่น ตะกรุดรัตนมาลา ตะกรุดมหาระรวย ตะกรุดมหาระงับ และตะกรุดมหาระงับพิสดารยาว 12 นิ้ว ตะกรุดยอดกัณฑ์ไตรปิฎก
โดยเฉพาะ “ตะกรุดสี่มหาอำนาจ” ซึ่งเป็นตะกรุดที่สร้างชื่อเสียงอย่างมาก
ตะกรุดชนิดนี้ มีลักษณะเป็นตะกรุดชุด มีจำนวนทั้งสิ้น 4 ดอก ประกอบด้วย 1.มหาระงับ ระงับเหตุร้ายต่างๆ 2.มหารูด เพื่อให้เกิดความเชื่อถือในสังคม 3.มหาอุด ให้เกิดความคงกระพัน และ 4.มหานิยม เพื่อให้เกิดความนิยมแก่ตน
ตัวตะกรุด มีความยาวดอกละ 2.5 นิ้ว บ้างก็มีตะกรุดสี่มหาอำนาจที่ตัวตะกรุดแต่ละดอกมีความยาว 3 นิ้ว แต่มีจำนวนไม่มาก
สำหรับตะกรุดสี่มหาอำนาจ ทั้ง 4 ดอก จะถูกร้อยไว้ด้วยเชือก ส่วนใหญ่มักเป็นเชือกร่มมีสีแตกต่างกันไปเช่น แดง เหลือง เขียว ขาว และดำ ชุดนี้มีทั้งแบบลงรักปิดทองและถักเชือกลงแล็กเกอร์
มีอิทธิคุณด้านแคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันภยันตรายและคุณไสยมนต์ดำ
มีเรื่องเล่ากันว่า ผู้ใดที่มีตะกรุดสี่มหาอำนาจไว้ในครอบครอง หากผู้นั้นหมดบุญวาสนา ตะกรุดสี่มหาอำนาจจะหายไปเองอย่างน่าอัศจรรย์
ตะกรุดสี่มหาอำนาจ ปัจจุบันหายากและมีของปลอมทำเลียนแบบ
สำหรับวัดกษัตราธิราช ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่ และมีความสำคัญมาแต่อดีต สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้งกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ทรงสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์
เดิมชื่อ “วัดกระษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม”
ในยุคหลวงปู่เทียม มีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินบ่อยครั้ง เนื่องจากทรงโปรดปรานในปฏิปทาวัตรปฏิบัติ รวมไปถึงฝีมือในเชิงช่าง
เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 8 ปกครองดูแลวัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2496-2522
เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2447 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชาวพระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิด เกิดที่บ้านหมู่ 7 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในตระกูล “หาเรืองศรี”
อายุ 10 ขวบ เรียนหนังสือกับพระภิกษุมอน ผู้เป็นน้าชาย และอาจารย์ปิ่น พร้อมกับเรียนวิชาช่างเขียนช่างสลักไปด้วย จากนั้นไปเป็นศิษย์อาจารย์จันทร์ เรียนภาษาขอม
อายุ 20 ปี อุปสมบทที่วัดกษัตราธิราช มีพระครูวินยานุวัติคุณ (มาก อินทโชติ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมุห์กล่ำ วัดกษัตราธิราช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทองดี วัดพระงาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดเสนาสนาราม 2 พรรษา ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อศรี วัดสนามไชย, พระอาจารย์จาบ วัดโบสถ์ อ.มหาราช แล้วกลับมาศึกษากับพระอาจารย์เหม็ง วัดประดู่ทรงธรรม
พรรษาที่ 9 กลับมาอยู่วัดกษัตราธิราช โดยนำตำราพิชัยสงคราม ตำรามหาระงับพิสดาร และตำราเลขยันต์อื่นๆ ติดตัวมาด้วย
พ.ศ.2496 พระครูไพจิตรวิหารการ (บัว) ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราช จึงได้รับแต่งจตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสในปีเดียวกัน
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2508 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินามที่ พระครูพิพิธวิหารการ
พ.ศ.2514 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2517 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ “พระวิสุทธาจารเถร”
ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2509 เป็นเจ้าคณะตำบลภูเขาทอง
พ.ศ.2520 เป็นเจ้าอาวาส
เป็นพระนักพัฒนาที่ปฏิบัติหน้าที่การงานโดยเด็ดขาด ตลอดชีวิตท่านฝักใฝ่อยู่ในวิปัสสนาธุระ ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม
ผลงานมีครบครันทุกด้าน ทั้งการปกครอง การเผยแผ่ และการพัฒนา โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่ส่วนใหญ่จะลงมือทำด้วยตัวเอง
ที่ปรากฏเป็นอนุสรณ์เป็นคุณูปการแก่ชาติและพระศาสนา คือ การจัดตั้งศูนย์ฝึกวิชาชีพวัดกษัตราธิราช ตามพระราชดำริที่ทรงห่วงใยในศิลปกรรมไทยและวิชาชีพเชิงหัตถศิลป์
มีความคิดริเริ่มและแสวงหาเอกลักษณ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา มักจะเปรียบเอาธรรมะกับช่าง ให้พิจารณา โดยเปรียบช่างสิบหมู่เป็น “นาถกรณธรรม” หรือธรรมอันเป็นที่พึ่ง 10 อย่าง ที่ท่านได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ด้านวัตถุมงคลสร้างแจกเป็นส่วนใหญ่ ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ตะกรุดมหาระงับแบบพิสดาร ตำรับวัดประดู่ทรงธรรม, เหรียญรุ่นงานสมโภชวัดกษัตราธิราช, รุ่นสิทธิโชค และรุ่นนิมิตบารมี ฯลฯ
ย้อนไปในปี พ.ศ.2520 ยังสร้างเหรียญเตรียมไว้สำหรับงานศพตัวเอง ซึ่งแจกจ่ายให้ผู้มาร่วมทำบุญในวันพระราชทานเพลิง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2544
วัตรปฏิบัติแสดงให้เห็นในความสมถะถือสันโดษ ไม่ยึดถือสิ่งใดทั้งสิ้น ในวันมรณภาพ จึงไม่มีสมบัติล้ำค่าใดๆ ในกุฏิ นอกจากอัฐบริขารพร้อมทั้งสังขารที่สงบนิ่ง
มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2522 สิริอายุ 75 ปี พรรษา 55 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022