ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
ผู้เขียน | พิศณุ นิลกลัด |
เผยแพร่ |
นักวิจัยทราบมานานแล้วว่าการใช้เวลาในโซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจนำไปสู่การตั้งมาตรฐานความงามที่เกินจริง และทำให้ไม่พอใจในตัวเอง
การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร New Media & Society พบว่า ในหมู่ผู้ชายวัยรุ่น การเล่นโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok และ Instagram อาจกดดันให้ผู้ชายพยายามมีกล้ามใหญ่ขึ้น แม้ว่าตัวเองจะสุขภาพดีอยู่แล้ว
พบว่าผู้ชายที่หมกมุ่นกับการได้รับการกดไลก์และความคิดเห็นในโพสต์ของตัวเอง มีแนวโน้มที่จะมีอาการ Muscle Dysmorphia คือโรคที่คิดว่าตัวเองตัวเล็กเกินไป หรือมีรูปร่างที่ไม่แข็งแรง หรือมีกล้ามไม่ใหญ่ ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตนเอง
งานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียทำให้เกิดอาการ Muscle Dysmorphia และสร้างความหมกมุ่นที่ไม่ดีเกี่ยวกับมีกล้ามท้องหรือซิกซ์แพ็ก และกล้ามหน้าอกที่สมบูรณ์แบบ
การวิจัยก่อนหน้านี้มักมุ่งเน้นไปที่ผู้หญิง แต่ว่าผู้ชายก็มีความเสี่ยงต่อความกดดันจากมาตรฐานร่างกาย เพราะสื่อออนไลน์เช่นกัน
ลุยจิ ดอนนารุมมา (Luigi Donnarumma) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาธ์ออสเตรเลีย (University of South Australia) ที่เป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้ ทำการสำรวจผู้ชาย 95 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 34 ปี เกี่ยวกับกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียของพวกเขา
ผู้เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมดยอมรับว่า ดูเนื้อหาเกี่ยวกับคนมีชื่อเสียง แฟชั่น และฟิตเนสบนโซเชียลมีเดีย
การวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ระหว่าง Muscle Dysmorphia และโซเชียลมีเดียนั้น ชัดเจนเมื่อผู้ชายมีปฏิสัมพันธ์กับฟีดแบ็กจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียคนอื่นๆ
1 ใน 5 ของผู้ชายแสดงอาการที่เกี่ยวข้องกับ Muscle Dysmorphia ผู้ชายกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการมีความคาดหวังที่ไม่เป็นจริงเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง
ลุยจิ ดอนนารุมมา บอกว่า Muscle Dysmorphia เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ และการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียไม่ใช่เพียงแพลตฟอร์มสำหรับการนำเสนอเรื่องราว
แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการยอมรับทางสังคมที่มีพลัง ซึ่งอาจส่งผลต่อหนุ่มๆ เกี่ยวกับความรู้สึกในรูปร่างของตัวเอง
ดร.จอห์น มิงโกยา (Dr. John Mingoia) อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเซาธ์ออสเตรเลีย และผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า ผู้ชายมักเห็นค่านิยมเรื่องรูปร่างในอุดมคติทางออนไลน์ โดยเฉพาะเนื้อหาทางออนไลน์เกี่ยวกับฟิตเนสและคนดัง
เมื่อโพสต์เหล่านี้ได้รับจำนวนไลก์และความคิดเห็นเชิงบวกในปริมาณมาก จะทำให้ผู้ชายเกิดความคิดว่า รูปร่างแบบนี้นี่แหละเป็นมาตรฐานที่ผู้ชายควรทำให้สำเร็จ
เมื่อเวลาผ่านไปอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น การออกกำลังกายมากเกินไป การควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และแม้กระทั่งการใช้สเตียรอยด์
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการหยุดอาการ Muscle Dysmorphia คือการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก
นักวิจัยแนะนำให้จำกัดเวลาในการเล่นโซเชียลมีเดียครับ